กว่า “40 ปี” กับ “มติชน” สมหมาย ปาริจฉัตต์

สมหมาย ปาริจฉัตต์

9 มกราคม 2560 เป็นวันที่ “หนังสือพิมพ์มติชน” จะก้าวสู่ปีที่ 40 ที่ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชน เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความเป็นจริงให้สังคม เป็นหลักและอุดมการณ์ที่ยึดถือมาตลอดไม่เสื่อมคลาย

สมหมาย ปาริจฉัตต์ หรือที่น้องๆ ในออฟฟิศ รวมถึงพี่น้องในวงการสื่อมวลชนเรียกกันติดปากว่า พี่หมายŽ ก็เป็นหนึ่งใน ”ลูกหม้อŽ” ที่เติบโต กระทั่งแผ่ร่มเงาเป็นที่พักพิงของบุคลากรรุ่นหลัง

เขาเริ่มต้นเส้นทางนักข่าวด้วยการเป็นนักข่าวที่ประชาชาติรายสัปดาห์ เมื่อ ขรรค์ชัย บุนปาน และคณะ ก่อตั้งมติชนŽโดยวางแผงฉบับแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2521 แล้ว สมหมายก็ย้ายมาทำที่นี่ เริ่มด้วยการเป็นผู้สื่อข่าวที่เชี่ยวชาญสามารถทำข่าวได้หลายแขนง โดยสนใจข่าวการศึกษาเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พี่หมาย เล่าอย่างเป็นกันเองว่าร่วมงานกับมติชน ตั้งแต่ยังเป็น ประชาชาติรายสัปดาห์Ž ในฐานะนักศึกษาฝึกงาน ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งมาเรื่อยๆ ตั้งแต่บรรณาธิการบริหาร นสพ.มติชน, บรรณาธิการ นสพ.มติชน, บรรณาธิการอาวุโส นสพ.มติชน, บรรณาธิการอํานวยการ นสพ.มติชน, กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน และรองประธานกรรมการ บมจ.มติชน

Advertisement

สำหรับ “มติชน”Ž หากเทียบกับมนุษย์ คงเป็นชายฉกรรจ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว สั่งสมประสบการณ์ มามากพอที่จะมองความจริงทางสังคมออกว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร และแน่นอนว่า แม้จะเป็นชายฉกรรจ์ แต่ก็ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป

บริษัท มติชน จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2521 เพื่อประกอบธุรกิจการพิมพ์ เป็นผู้พิมพ์หนังสือ นิตยสารต่างๆ และรับจ้างโฆษณา ได้รับอนุมัติเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2532 ก่อนแปรสภาพเป็นบริษัท มหาชน จำกัด ต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2536

ภาพรวมของการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ และสิ่งพิมพ์อื่นๆ มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ หนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ คือ มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ นิตยสารรายสัปดาห์ นิตยสารรายเดือน หนังสือเฉพาะกิจต่างๆ รับจ้างโฆษณา นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจอบรมวิชาชีพและรับจ้างพิมพ์ ธุรกิจผลิตสื่อโทรทัศน์ และงานรับจ้างจัดงาน

โดยต้นปี 2559 หลังจากดำเนินการด้านข่าวออนไลน์มาพักใหญ่ มติชนประกาศเดินหน้าเว็บไซต์ข่าวของหนังสือพิมพ์และนิตสารในเครืออย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด #MovingForward

ตลอดระยะการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์มติชน ด้วยการเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ส่งต่อความจริงให้สังคม ทำให้ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมเป็นประจำทุกปี เช่น พ.ศ.2547 ข่าวเปิดโปงข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่ว วิกฤตศรัทธาการศึกษาไทย, พ.ศ.2548 ข่าวชำแหละอาณาจักร ปิคนิคŽ ขุมทรัพย์ ลาภวิสุทธิสินŽ สู่เวทีการเมือง, พ.ศ.2549 ข่าว ผ่าขบวนการเอื้อประโยชน์ชินวัตร ขายหุ้น ชินคอร์ป 73,000 ล้านŽ, พ.ศ.2550 ข่าว เจาะทุจริตกองทุน 4 แสนล้าน ปลุกปฏิรูประบบประกันสังคมŽ, พ.ศ.2551 เปิดโปง อบจ.ทั่วประเทศฮั้วเอกชนทุจริต ซื้อตำราห่วยแจกโรงเรียน, พ.ศ.2552 ข่าว เปิดโปงทุจริตชุมชนพอเพียง ยับยั้งแผนรุมทึ้งไทยเข้มแข็ง สธ.

พ.ศ.2557 ทีมข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์มติชน ขึ้นรับรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวชมเชย ผลงานข่าว ผ่าขบวนการทุจริตครูผู้ช่วย อัปยศครั้งใหญ่วงการศึกษาไทยŽ จากนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานมูลนิธิอิศรา อมันตกุล เนื่องในวันนักข่าว ที่โรงแรมสุโกศล เมื่อวันที่ 5 มีนาคม

พ.ศ.2558 ผลงานข่าว แฉขบวนเขมือบงบสร้างสนามฟุตซอล 17 จังหวัด เหนือ อีสาน เสียหาย 689 ล้านŽ ของ มติชนŽ คว้ารางวัล อิศรา อมันตกุลŽ เปิดโปงขบวนการทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล ในวันนักข่าว 5 มีนาฯŽ

ขณะเดียวกัน ก็เป็นสถาบันที่ตอบแทนสังคม โดยมีเส้นทางความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนี้

พ.ศ.2521-2530 โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ศาลากลางน้ำ วัดศรีโคมคำ กว๊านพะเยา

พ.ศ.2531-2540 โครงการรณรงค์อนุรักษ์คลองแสนแสบสัมมนาสัญจร เวทีสาธารณประชาชาติเศรษฐกิจการเมือง (รณรงค์เลือกตั้ง)

พ.ศ.2541-2550 โครงการระดมหนังสือเข้าห้องสมุด, ห้องสมุดพร้อมปัญญา และโครงการโรงเรียนไอซียู

พ.ศ.2551-2556 โครงการจุดประกายปัญญา, ตู้อักษรซ่อนปัญญา, แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง, โครงการร่วมฟื้นฟูประเทศไทย และช่วงปี 2555-2556 โครงการรณรงค์ฟื้นฟูคลองเปรมประชากร ปลูกป่า บูรณะศาลาการเปรียญไม้สักเก่า 150 ปี วัดแก้วไพฑูรย์ บูรณะพระประทานพระอุโบสถวัดพระบรมธาตุ จ.ชัยนาท

ล่าสุด พ.ศ.2557-2558 โครงการ แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง

น่าติดตามว่าวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2560 นี้ มติชนŽ จะมีทิศทางการดำเนินงาน และการทำงานเพื่อสังคมอย่างไรต่อไป

– รู้สึกอย่างไร เมื่อก้าวสู่ปีที่ 40 ?

ในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนและบริษัทมติชน ก้าวสู่ปีที่ 40 คงเน้นที่ตัวหนังสือพิมพ์เป็นหลักมากกว่า เพราะว่าเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญ ส่วนตัวบริษัทเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

ใจกลางสำคัญ จึงเป็นหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์มติชน ไม่เพียงเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร นำเสนอบทความ บทวิพากษ์วิจารณ์ ความคิดเห็น การเสนอแนะ การท้วงติงต่างๆ เปิดเผยข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เผยเบื้องหลังเบื้องลึกของเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวทุจริตคอร์รัปชั่น

นั่นคือบทบาทของสื่อ นสพ.มติชนที่โดดเด่นมาถึงปัจจุบัน

– บทบาทมติชน นอกจากการเสนอข่าว ?

ภายใต้บทบาทนี้ มติชนŽ มิใช่เพียงหนังสือพิมพ์ แต่เป็นสถาบันทางสังคม สถาบันสาธารณะ สถาบันทางปัญญา เป็นแสงสว่างให้แก่สังคม นอกจากเป็นที่พึ่งพิงให้คนที่เดือดร้อน เป็นที่ระบายออกของความไม่ถูกต้อง ความเหลื่อมล้ำในสังคม ความพิกลพิการในสังคม ก็ยังเป็นสถาบันที่สะท้อนความคิดความอ่าน เป็นเวทีทางปัญญาเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกและทางออกในการแก้ไขปัญหาของสังคม

นี่เป็นความภูมิใจที่สถาบันแห่งนี้ดำเนินมาตลอด แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในแง่เทคโนโลยี การสื่อสารเปลี่ยนแปลงจากสิ่งพิมพ์เป็นสื่อดิจิทัล สื่อออนไลน์ สื่อใหม่ แต่สิ่งที่เป็นสาระหรือใจความสำคัญคือ เนื้อหาสาระ

สถาบันแห่งนี้ยังผลิตบุคลากร ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมาโดยตลอด

อีกด้านหนึ่งมติชน ยังเป็นสถาบันการศึกษานอกระบบ สถาบันทางการศึกษาตามอัธยาศัย ที่เข้าถึงผู้คนที่ด้อยโอกาสทุกสถานะ ให้คุณค่าทางความคิดและทางปัญญา ตรงนี้เป็นสิ่งที่มติชนได้ดำเนินมาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้

-บทบาทด้านการ “สร้างคน” ?

จุดที่โดดเด่นของมติชน คือบุคลากร ที่ได้รับฝึกฝน ได้รับการหล่อหลอม แนะนำ อบรม บอกกล่าว และสืบทอดกันมาโดยตลอด ว่าความจริง ความเป็นธรรม ความถูกต้องสมบูรณ์ ความยุติธรรม เป็นหัวใจสำคัญ นี่เป็นสิ่งที่เรายึดถือมาตลอด คู่กับสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายืนหยัดมาโดยตลอด ทั้งเสรีภาพในการแสวงหาความจริง เสรีภาพในการรายงานความจริง เสรีภาพในการเปิดเผยสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้สังคมได้รับรู้และช่วยกันแก้ไขปัญหา

คนของมติชนถูกหล่อหลอมมาให้เป็นคนตั้งคำถามตลอดเวลา ไม่เชื่ออะไรไว้ก่อน สงสัยตลอดเวลา ว่าความจริงที่เราเห็นเบื้องหน้า เบื้องหลังมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้นหรือเปล่า มีความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในระบบการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมต่างๆ หรือไม่

– แนวคิดเกี่ยวกับข่าวและบทความต่างๆ ?

มติชนได้หยิบประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบโครงสร้างของประเทศมานำเสนอตลอด แม้กระทั่งรายละเอียดในแต่ละกรณีที่เกิดขึ้น สิ่งที่ยืนยันผลงานตรงนี้อย่างต่อเนื่อง เห็นชัดที่สุดคือ ข่าวŽ และรายงานต่างๆ โดยเฉพาะข่าวที่ได้รับรางวัลจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล มาโดยตลอด ทุกด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านมนุษยธรรม ด้านเด็กและเยาวชน ด้านผู้หญิง

นี่คือความโดดเด่นของเนื้อหาสาระที่เผยแพร่ออกไปภายใต้บุคลากรที่มีความเข้มแข็ง และมีความคิด แนวทางชัดเจน มีการฝึก อบรม แนะนำ และปฏิบัติกันมาโดยตลอด

– มติชน กับการเมือง

บทบาทของหนังสือพิมพ์มติชนที่ผ่านมาในสังคมการเมืองจะถูกมอง และเป็นอย่างนั้น

มติชนทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงของคนเล็กคนน้อย คนนอกระบบ คนที่ห่างไกล ฉะนั้นจึงมักถูกมองเป็นฝ่ายค้านที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล คอยค้าน ท้วงติง อาจจะทำให้เป็นปัญหา เกิดการกระทบกระทั่งบ้างสำหรับผู้บริหารบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม เหล่านี้เป็นไปเพื่อเจตนาดี เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุขและเกิดสันติภาพมาโดยตลอด

เรามักจะถูกเพ่งมองจากฝ่ายต่างๆ ที่มีอำนาจ ว่าเราเป็นอุปสรรคของผู้มีอำนาจต่างๆ แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป มีสงครามกีฬาสีเกิดขึ้น ก็ถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างนู้นเข้าข้างนี้ แต่หลักยึดของเราคือ ความจริงŽ ความจริงเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะสีอะไรก็แล้วแต่ ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่เราไม่ส่งเสริมความก้าวร้าวรุนแรง การสร้างให้เกิดความเกลียดชังการสวมหมวกให้คนนั้นคนนี้ เราถือเอาความจริงและผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก ภายใต้การพูดคุย ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยน หาทางออกด้วยแนวทางสันติด้วยกัน เรายึดหลักอันนี้

เรายึดหลักความเป็นกลาง แม้บางคนจะมองว่าความเป็นกลางไม่มีในโลก ฉะนั้น เราจึงเป็นทั้งกระจก ตะเกียง เทียนไข เป็นคนที่ขุดเจาะข้อเท็จจริงออกมา เอาความจริงมาวางให้สังคมตัดสิน เราจะไม่ชี้นำ ครอบงำและทำตัวเป็นศาสดา นี่คือสิ่งที่เรายึดถือและดำเนินมาโดยตลอด พี่สมหมาย (4)

– 40 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับจุดเปลี่ยนต่างๆ ของสังคมอย่างไรบ้าง ?

เราเป็นองค์กรหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่เหมาะสม ให้ความคิดกับผู้ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการบ้านเมืองแทบจะทุกระบบ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม การศึกษา มีส่วนช่วยนำเสนอสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทั้งข้อมูล ข่าวสาร และความคิดเห็นต่างๆ นี่เป็นบทบาทอีกด้านหนึ่งที่ทำให้สังคมมีทางเลือกมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เราดำรงมาตลอด

– เริ่มงานตั้งแต่เป็นนักศึกษาฝึกงาน ?

ตอนนั้นเป็นประชาชาติรายสัปดาห์ แล้วก็เกิดมติชน แต่ผมก็เดินไปเดินมาระหว่าง 2 กลุ่มองค์กรนี้ ผมก็ไปหัดเป็นเด็กฝึกงานตั้งแต่ตอนนั้นเรื่อยมา พอย้ายมารายวัน ผมยังอยู่รายสัปดาห์ กระทั่งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมก็เลยกลับมาอยู่กับมติชน

ตอนนั้นมติชนเป็นหนังสือพิมพ์ที่ก้าวหน้า เสนอข่าวลึก และกว้างขวาง โดยเฉพาะข่าวในเชิงระบบ เชิงนโยบายสำคัญๆ เชิงมหภาค ฉีกจากข่าวสารทั่วไป มติชนเป็นข่าวสารที่มีสาระ น่าจะเป็นทิศทางที่ดำเนินมาตลอด นี่เป็นจุดเด่นของมติชน ได้ทำงานในส่วนนี้เรื่อยมา

ถ้าเทียบกับหนังสือพิมพ์อื่นๆ ในขณะนั้น ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้สิทธิเสรีภาพถูกบั่นทอนไป หนังสือพิมพ์ก็ต้องหาทางเสนอข่าวเบา ไม่กระทบกระเทือนต่อผู้มีอำนาจ แต่ขณะเดียวกันกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ดำรงความมีสาระ ข่าวหนักŽ ซึ่งหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวหนักในขณะนั้นมีไม่กี่ฉบับ คือสยามรัฐ ก่อนนั้นมี นสพ.ประชาธิปไตย นสพ.ประชาชาติ เมื่อมติชนนำเสนอข่าวคุณภาพ ข่าวมีสาระ เป็นที่ตอบรับของสังคม และเป็นเวทีให้กับนักคิด นักเขียน นักวิชาการ มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นศูนย์กลางที่แสดงออก ขยายไปตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา บรรยากาศก็คลี่คลาย เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของการเมืองและเศรษฐกิจ

– เติบโตสู่ผู้บริหาร ?

ผมเติบโตมาจากนิตยสารรายสัปดาห์ ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกสายงานทั้งสายงานตำรวจ อาชญากรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม การคมนาคม การพาณิชย์ เพราะมันเป็นนิตยสารสุดสัปดาห์ เมื่อมาทำรายวันแล้วก็สามารถทำได้หลายที่เพราะเราทำมาหลายสายงาน เช่น กรมตำรวจ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงศึกษาธิการ ที่อยู่นานที่สุดคือกระทรวงมหาดไทย รองลงมาคือกระทรวงศึกษาธิการเพราะส่วนตัวสนใจเรื่องการศึกษา

กระทั่งได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 แล้วเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 จากนั้นเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว บรรณาธิการข่าว กระทั่งได้เป็นบรรณาธิการบริหาร

เมื่อเราเป็นบรรณาธิการบริหารแล้ว ต้องมองกว้างขึ้น ทั้งเนื้อหาสาระที่จะนำเสนอ ทั้งบุคลากรที่ดูแลรับผิดชอบว่าการทำงานเป็นอย่างไร ความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ ความทุกข์สุขเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังต้องดูระดับบริษัทว่าองค์กรมีทิศทางอย่างไร มีแนวนโยบายอย่างไร ลักษณะการประกอบการ การดำเนินธุรกิจอย่างไร ต้องเอามาสอดประสานกัน เพราะหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีแค่กองบรรณาธิการอย่างเดียว แต่ยังมีฝ่ายโฆษณา ฝ่ายจัดจำหน่าย เอเยนต์ขายหนังสือ เอเยนซี่ขายโฆษณา คนเป็นบรรณาธิการต้องดูลึกลงไปอีก เหนือกว่าบรรณาธิการข่าวไปอีก

– เห็นเส้นทางของมติชนตลอด 40 ปีมานี้เป็นอย่างไร ?

เห็นการพัฒนามาโดยตลอด แม้จะมีภาวะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ในด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันไปบริโภคสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่ความเป็นสาระ คุณค่า และบุคลากรที่ได้สั่งสมประสบการณ์มาโดยตลอด ก็ยังมีความแข็งแกร่ง ยืนหยัดได้ ผมยังเชื่ออย่างนั้น

การปรับองค์กร ปรับตัว เป็นเรื่องปกติธรรมดาในภาวะความเปลี่ยนแปลง สื่อทั่วโลกเจอปัญหาแบบเดียวกัน ซึ่งเรายังสามารถรักษาความเป็นเอกภาพ เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของเราเอาไว้ได้ นี่เป็นแก่นสำคัญ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบุคลากร แต่หลักใหญ่สำคัญยังดำรงอยู่ได้ คนรุ่นใหม่จะสืบสานตรงนี้ต่อไปได้ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค เศรษฐกิจ และสังคม

นี่เป็นสิ่งที่อยู่ที่คนรุ่นใหม่ๆ จะดำรงรักษามันอย่างไร และดำรงรักษาตัวเองอย่างไรให้อยู่คู่องค์กรและตัวผลิตภัณฑ์ของพวกเรา

คิดว่ายังน่าจะสู้ต่อไปได้ เพราะเราปรับตัวมาโดยตลอด

– กิจกรรมอื่นๆ ของมติชนที่ผ่านมา?

ได้รับการตอบรับมาโดยตลอด ผู้ที่มาร่วมทำกิจกรรมอย่างนี้ ยังมอบความไว้วางใจและเต็มใจที่จะสนับสนุน เพราะเราทำหลายแขนง ทั้งการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม มีความหลากหลาย ซึ่งการทำแต่ละครั้งก็จะมีจุดเด่นของแต่ละโครงการที่สามารถจุดประกาย ทำให้หลายๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดทำด้วยตัวเองได้

จริงอยู่ในอดีตจะมีการบริจาคหนังสือ แต่ของมติชนจะมีจุดของความแหลมคม โดดเด่นในตัวโครงการ สามารถสะท้อนแนวคิดที่โดดเด่น เป็นตัวเอง เช่น โครงการ I SEE U-ไอซียู เป็นการแปลจากคำว่าไอซียูŽ ที่พบเห็นในโรงพยาบาลว่าเป็นห้องสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสาหัส ปรับมาเป็น ผมมองเห็นคุณŽ โรงเรียนที่ประสบปัญหา เราก็เห็นและไปช่วยกัน

ทุกโครงการของมติชนจึงมีลักษณะแปลกมีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์พิเศษ เช่น โครงการที่คุณขรรค์ชัย ทำ เช่น แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลองŽ มีลักษณะที่แปลกกว่าที่อื่นๆ เพราะสะท้อนความคิด สะท้อนไอเดีย ความเฉียบคม เป็นโครงการที่ไม่ใหญ่โตมาก แต่ เฉียบŽ และ คมŽ เหมือนการพาดหัวข่าว ในข่าวเดียวกันแต่เราพาดหัวได้เฉียบกว่า นี่คือลักษณะพิเศษของโครงการแต่ละโครงการ มีเสน่ห์ และความน่าสนใจอยู่ในแต่ละโครงการที่มติชนทำ เพราะเราระดมความเห็นกันตั้งแต่ท่านประธาน ลงมาจนถึงน้องๆ ทุกคน ในที่สุดก็พบความลงตัว และในความเป็นกวีของคุณขรรค์ชัย ก็สามารถตั้งชื่อต่างๆ ได้เฉียบ เช่นหนังสือ ประทับใจในราษฎร์Ž กับ สถิตในใจชนŽ ท่านลงมาให้แนวทาง ให้ไอเดีย ให้ถ้อยคำ นี่เป็นสิ่งที่ไม่เหมือนที่อื่น

– ความเห็นต่อมติชน?

มันเป็นหนังสือโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เป็น NEWSPAPER เป็นสถาบันทางความคิดทางปัญญา เป็นนามธรรม ความรู้ ความคิด ความเหมาะสม ความถูกต้อง ความเป็นธรรม

ถ้าเปรียบเทียบ มติชน เป็นจิตวิญญาณของความถูกต้อง จิตวิญญาณของคนที่ต้องการมีอิสรภาพ-เสรีภาพ ความเท่าเทียม จิตวิญญาณของความงดงามทางปัญญา จิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่ควรจะสมบูรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรม

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทุกคนจะเอาความจริง ความถูกต้อง ความเท่าเทียม ความเสมอภาค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image