คอลัมน์ แท็งก์ความคิด: เลข-ยันต์-คาถา

ปีใหม่นี้ได้รับความรู้จาก กนกศักดิ์ ปิ่นแสง ที่ส่งหนังสือชื่อ “วัดพระเมรุราชิการาม” มาให้อ่าน

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสวัดหน้าพระเมรุฯ งานสมโภช 513 ปี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมปี 2559

กนกศักดิ์ ปิ่นแสง และคณะจึงเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์หนังสือรวบรวมเรื่องราวของวัด

วัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วันพระเมรุฯ” หรือบางทีก็เรียกว่า “วัดหน้าพระเมรุฯ”

Advertisement

เป็นวัดที่มีชื่อในประวัติศาสตร์การรบพุ่งระหว่างพม่ากับไทยในยุคอยุธยา

ครั้งแรก ปรากฏชื่อ “ตำบลวัดพระเมรุ” สถานที่หลั่งน้ำทักษิโณทกระหว่างพระเจ้ากรุงหงสากับพระมหาจักรพรรดิ

คราวนั้นพระเจ้ากรุงหงสาขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวรเจ้า และช้างเผือก 4 ช้างไปเมืองหงสา

Advertisement

ครั้งต่อๆ มา ปรากฏชื่อวัดเป็นชัยภูมิที่อริราชศัตรูใช้โจมตีพระนครศรีอยุธยา

อาทิ คราที่พระเจ้าอลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา แล้วปืนใหญ่แตกถูกพระองค์บาดเจ็บสาหัสจนต้องเลิกทัพ

สถานที่ตั้งปืนใหญ่ยิงใส่พระนครศรีอยุธยาก็ปรากฏชื่อ “วัดพระเมรุ”

นอกจากนี้ วัดหน้าพระเมรุยังเป็นวัดที่ไม่ถูกเผาทำลายตอนเสียกรุง

หนังสือเล่มที่จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสจัดงานสมโภช 513 ปี วัดหน้าพระเมรุฯนี้ ได้พาเที่ยววัด โดยแนะนำให้รู้จักกับ “ของดี” ของวัดหน้าพระเมรุฯ

แนะนำให้รู้จักพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ

บอกเล่าเรื่องราวสถาปัตยกรรมพระอุโบสถ ทั้งเสาในประธาน เสาระหว่างผนัง ฝ้าเพดาน หน้าบัน พระพุทธรูปในซุ้มพระบัญชร เสมาทั้ง 8 ทิศ

รวมไปถึงพระวิหารสรรเพชญ์ พระพุทธรูปศิลาเขียว จิตรกรรมฝาผนัง และอื่นๆ

และเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ยันต์”

ยันต์นี้เป็นแผ่นดินเผาติดเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถมีด้วยกัน 2 แผ่น

ปัจจุบันยันต์แผ่นจริงกรมศิลปากรนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม ส่วนที่เห็นอยู่คือแบบจำลอง

ยันต์ที่ติดมีลักษณ์เป็นสี่เหลี่ยม ภายในปรากฏเป็นตัวเลข แบ่งได้เป็น 3 ชั้น คือ ชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน

ด้านนอกสุด 4 ด้านล้อมด้วยจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าให้ฟังว่าตัวเลข ยันต์ และจารึกเหล่านี้คืออะไร

หนังสือระบุว่า ตัวเลขชั้นนอกเป็นยันต์ “โสฬสมหามงคล” ชั้นกลางเป็นยันต์ “ตรีนิสิงเห” และชั้นในเป็นยันต์ “จตุโร”

ตัวเลขที่ปรากฏในยันต์เป็นสัญลักษณ์

อาทิ ยันต์โสฬสมงคล ตัวเลข 16 เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งมงคล 16 อย่าง เลข 9 แทนโลกุตตรธรรม 9 อย่าง คือ มรรค 4 ผล 4 และนิพพาน 1 เลข 5 แทนพระโคตมะ หรือพระพุทธเจ้าในภัทรกัปป์นี้ เป็นต้น

ขณะที่ตัวเลขในยันต์ชั้นกลางก็มี อาทิ เลข 3 หมายถึง ตรีนิสิงเห หรือสิงห์สามตัว เลข 7 แทนสัตตะนาเค หรือนาคเจ็ดตัว เลข 4 แทนจตุเทวา หรือเทพทั้ง 4 หรือท้าวจตุโลกบาล เลข 8 แทน อัฎฐะ อะระหันตา หรืออรหันต์ทั้งแปด เป็นต้น

ยันต์ชั้นในก็มีตัวเลขที่ให้ความหมาย

เช่น เลข 4 หมายถึงจะตุโร เลข 5 หมายถึงปัญจะ เลข 2 หมายถึงเทวจะ เป็นต้น

ส่วนอักขระจารึกนั้น ในยันต์แผ่นแรกแปลความได้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอให้ทานศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา จงมาแก่ท่านทั้งหลาย ขอศัตรูของท่านทั้งหลาย จงหลีกลี้”

อักขระจารึกในยันต์แผ่นที่สอง แปลรวมความได้ว่า “เชิญท่านผู้เจริญทั้งหลาย คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน พร้อมทั้งเมตตาและอุเบกขา มา ณ ที่นี้ จงจับอาวุธ ขึ้นต่อยุทธ”

อักขระดังกล่าวเป็น “คาถาอาวุธ” และ “คาถาอายันตุโภนโต” หรือคาถาพระพุทธเจ้าปราบมาร

คาถานี้ได้ปิดล้อมยันต์ทั้งชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน เกิดเป็นแผ่นยันต์มหามงคล

ว้าว!

หนังสือเล่มนี้ยังมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากให้ศึกษา

แต่ที่หยิบยกเรื่องยันต์ขึ้นมา เพราะเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์อันเป็นมงคล

และในโอกาสที่เป็นมงคลเช่นขึ้นปีใหม่ จึงอยากนำสิ่งอันเป็นมงคลมาถ่ายทอด

เพื่อเป็นกำลังใจแก่ทุกคนในการเดินหน้าสู่ปีไก่ มีความพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น

พร้อมรับด้วยกายที่เข้มแข็ง ด้วยใจที่รื่นรมย์ และการกระทำอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

ขอให้ทุกคนมีความสุข ความเจริญ คิดสิ่งใดสมปรารถนาทุกประการ

สวัสดีปีใหม่ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image