การทูตไทย บทบาทอาเซียน เพื่อสันติภาพเมียนมา ‘ต้องเลิกย่ำอยู่ในยุคสงครามเย็น’

การทูตไทย บทบาทอาเซียน เพื่อสันติภาพเมียนมา ‘ต้องเลิกย่ำอยู่ในยุคสงครามเย็น’
รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช (ที่ 3 จากซ้าย) บนเวทีเสวนา ‘บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา’

การทูตไทย บทบาทอาเซียน เพื่อสันติภาพเมียนมา ‘ต้องเลิกย่ำอยู่ในยุคสงครามเย็น’

‘สันติภาพ’

คำที่ผู้คนในโลกปรารถนา ทว่า ไม่เคยมีคำว่าง่ายในทางปฏิบัติ

ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หรือประวัติศาสตร์การเมืองไทย

Advertisement

16 สิงหาคม 2488 ในรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ประเทศไทยประกาศสันติภาพ

และถือให้วันนั้นคือวันสันติภาพไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานทบทวนความทรงจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรำลึกคุณูปการของขบวนการเสรีไทยที่ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมี ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง

ในวาระครบ 78 ปี วันสันติภาพไทย ธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานดังเช่นทุกปี

Advertisement
งานครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย จัดโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานในพิธี เผยว่า การประกาศสันติภาพเมื่อ 78 ปีที่แล้วนั้น แม้จะไม่ได้ประกาศที่ มธ.แห่งนี้ แต่ถนนชื่อ ‘16 สิงหาคม’ ที่ มธ. ตั้งขึ้นในภายหลังนั้นก็เพื่อระลึกถึงวันสำคัญ นั่นเพราะที่ตั้งของ มธ.ท่าพระจันทร์แห่งนี้ คือที่ตั้งที่บัญชาการของผู้นำหมายเลข 1 ของขบวนการเสรีไทย ปรีดี พนมยงค์ผู้ประศาสน์การ มธ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ในเวลานั้น ห้องทำงานของผู้ประศาสน์การคือห้องมุขหน้าโดม ส่วนสนามฟุตบอลที่อยู่หลังตึกโดมคือที่ฝึกนักศึกษาที่เป็นยุวชนทหารที่เข้าร่วมงานเสรีไทย และหน้าตึกคณะรัฐศาสตร์ สมัยสงครามก็เป็นค่ายกักกันเชลย

ขณะที่ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวย้ำว่า ‘สันติภาพ’ ไม่ได้หมายถึงเพียงช่วงเวลาที่ปลอดสงคราม หากแต่หมายถึงสภาพที่คนกลุ่มต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข ซึ่งถือความหลากหลายเป็นความงาม เราต้องเกื้อหนุนให้สันติภาพถือกำเนิดขึ้นทั้งในระดับปัจเจกชนและระดับสังคมส่วนรวม ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมีวุฒิภาวะและมีวิจารณญาณ จนถักทอกลายเป็นปัญญาร่วมรวมหมู่ของสังคม อย่างไรก็ดีสันติภาพไม่ใช่ของที่จะได้มาง่ายๆ แต่ทุกคนต้องยอมเสียสละและยึดความสงบสุขของสังคมโดยรวมเหนือประโยชน์ส่วนตน ยอมอดทนอดกลั้น และเข้าใจความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังมี กิจกรรม PRIDI Talks #22 เสวนา ‘บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์เช่นกัน

หนุนไทยเป็นผู้นำ ‘เจรจาสันติภาพ’ ยุติสงครามเมียนมา
เคยช่วยกัมพูชาสำเร็จมาแล้ว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงานความตอนหนึ่งว่า โดยหยิบยกคำของ ปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า ‘การที่ไทยและประชาคมอาเซียน ยังมีจุดยืนทางการเมืองต่อหลักการ ไม่แทรกแซงกิจการภายใน’ ทำให้การสร้างเงื่อนไขการเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอาเซียนและเมียนมา ซึ่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ก็เคยได้นำเสนอแนวทางการทูตแบบ ‘พัวพันอย่างสร้างสรรค์’ แต่รัฐบาลสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นด้วยนัก จึงปรับมาใช้แนวทาง ‘ความพัวพันอย่างยืดหยุ่น’ แทน และอาเซียนก็ใช้กรอบนี้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ดูเหมือนการทูตของไทยในยุครัฐบาล คสช.จะไม่ค่อยยึดแนวทางนี้ โดยเฉพาะเมื่อต้องกดดันให้รัฐบาลทหารพม่า ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและหยุดใช้กองกำลังปราบปรามประชาชนชาวเมียนมา ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

“ขณะที่ไทยนั้น สงวนท่าทีต่อการคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อกดดันให้เกิดการคืนอำนาจให้ประชาชนมีการเลือกตั้ง ให้เป็นอิสระและยุติธรรม นอกจากนี้ไทยยังควรมีบทบาทเชิงรุกในการทำให้เกิดการเจรจาสันติภาพในเมียนมา แต่รัฐบาล คสช.ก็ไม่ได้ใส่ใจกับบทบาทดังกล่าว ที่จะรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนชาวเมียนมาผู้บริสุทธิ์ รักษาความสงบ สันติภาพ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้ง 2 ฝั่งชายแดน

การปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา จะเป็นผลโดยตรงของความมุ่งมั่นและจริงจังของกลุ่มพลังต่างๆ ภายในประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงให้เกิด ‘สันติธรรมประชาธิปไตย’ ในเมียนมานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากอาเซียน ไทย และนานาชาติ รวมทั้งสหประชาชาติ การที่เปลี่ยนประเทศที่ปกครองด้วยเผด็จการทหาร ให้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ประเทศที่มีสงครามกลางเมือง เป็นประเทศที่มีสันติธรรม ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอน” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ชี้ว่า การมีแนวทาง ‘พัวพันอย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์’ ต่อเมียนมา ของไทยและอาเซียน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

“อาจเริ่มต้นให้มีการหยุดยิงแล้วเจรจากันก่อน บทบาทของไทยนั้นสำคัญ และไทยเคยทำสำเร็จมาแล้ว กรณีเจรจาสันติภาพ และยุติสงครามกลางเมืองในกัมพูชา และมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย จากสนามรบเป็นสนามการค้า การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาสมรรถนะการเมืองการปกครอง เป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างเงื่อนไข ว่าคุณต้องพัฒนาประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพของระบบการปกครอง ต้องมาพร้อมกับระบบการเมืองที่เปิดกว้าง การยึดถือชีวิตของมนุษย์ทุกๆ คนว่ามีคุณค่า” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

ปรับ ‘จุดยืนการทูต’ ชงเปิด ‘ระเบียงมนุษยธรรม’ ช่วยผู้ลี้ภัย

กัณวีร์ สืบแสง

ด้าน กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพ มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัย ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองว่าบทบาทของรัฐบาลไทยที่ควรทำมี 2 ด้านคือ 1.ด้านมนุษยธรรม 2.ด้านความมั่นคง

ด้านแรก ‘มนุษยธรรม’ หลังจากรัฐประหารเกิดขึ้น ทหารได้ดึงอำนาจของประชาชนกลับมาใส่มือของตัวเอง มีการเรียกร้องเคลื่อนไหวเชิงอสิงหา ประชาชนออกมาเรียกร้องทวงอำนาจคืน มีการลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากมาย

“ปลายปี 2564 มีผู้พลัดถิ่นประมาณ 1 ล้านกว่าคนเรียบร้อยแล้ว กว่า 3 แสนคนอยู่ติดกับชายแดนไทย ผมอยู่บริเวณชายแดนไทยเมียนมา ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา น่าจะมีผู้พลัดถิ่นในประเทศมากกว่านี้ แล้วเราเห็นว่ามีผู้ลี้ภัยข้ามเขตแดนมาอยู่ในไทย ในศูนย์พักพิงชั่วคราวกว่า 900 คน แต่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการมากกว่านั้น หลักหมื่นแน่นอน ฉะนั้นบทบาทของไทยที่จำเป็นต้องดูแล ชัดเจนตรงที่ว่าไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางด้านจุดยืนทางการทูตของไทยเสียก่อน เพราะไม่อย่างนั้นสิ่งที่ผมเสนอไปจะไม่สามารถทำได้เลย

บทบาท จุดยืนทางการทูตของไทย ณ ปัจจุบันนี้ ยังย่ำอยู่ในสมัยสงครามเย็น การทูตอนุรักษนิยมที่มุ่งเน้นเฉพาะทวิภาคี และการมีปฏิสัมพันธ์ รัฐต่อรัฐ ซึ่งเราเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลไทยโดยเฉพาะช่วง คสช.จนถึงปัจจุบันนี้ ยังให้ความสำคัญกับความสะพันธ์ระหว่างทหารต่อทหารเป็นหลัก เรามีความสัมพันธ์กับกลไกต่างๆ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ทั้ง TBC RBC รัฐบาลต่อรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว แต่ทำไมเราไม่ยอมข้ามกระบวนทัศน์ตรงนี้ไปให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม”

สำหรับบทบาทที่รัฐบาลไทยสามารถทำได้ในมุมมองของเลขาธิการพรรคเป็นธรรม คือ 1.พิจารณาเปิดระเบียงมนุษยธรรม บริเวณชายแดนไทยทั้งหมดติดกับเมียนมา ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี รวมไปถึงระนอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่การชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน เป็นการเปิดประตูเพื่อให้มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะให้ความช่วยเหลือเรื่องมนุษยธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ ให้เข้ามาอยู่ตรงนี้

2.ต้องใช้กรอบ ‘พหุภาคี’ เพราะการพูดคุยอย่างเดียวไม่เพียงพอ แม้ทราบดีว่ามีความพยายามของทุกองค์กร ทุกระดับ ตั้งแต่สหประชาชาติ สถานเอกอัคราชทูต รัฐบาลต่อรัฐบาล ที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในเมียนมา แต่ไม่มีผล ต้องสร้างพื้นที่ในการหารือ เปิดประตูนี้ก่อน

3.ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่ หากเปิดระเบียงมนุษยธรรมนี้ได้แล้ว เรามีทรัพยากรจำกัด ควรใช้จังหวะนี้เชิญองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประชุม ว่าจะทำ 5W ว่าคุณมีทรัพยากรอะไร มีแผนอะไรในการให้ความช่วยเหลือ หากเกิดเหตุการณ์ผู้ลี้ภัยทะลักเข้ามากว่า 3 แสนคน ในไทย ต้องเตรียมความพร้อมก่อน หากมีการโจมตีทางอากาศ ไทยต้องช่วงชิงจังหวะนี้ เป็นผู้นำในการ Coordinate วางแผนไว้ หากเกิดเหตุไทยต้องเป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

สุดท้ายคือ ‘บทบาทด้านความมั่นคง’ ทำอย่างไรไม่ให้ผู้ลี้ภัยเดินทางออกจากประเทศเมียนมา

“เราต้องกระโดดเข้าไปในรองเท้าบู๊ตของทหารเมียนมา ว่าเขาคิดอย่างไรต่อบริบทชายแดนของประเทศตัวเอง เขาพยายามทำให้สถานการณ์ชายแดนเงียบที่สุด แต่ไม่เคยเงียบ ดังนั้น ไทยสามารถใช้บทบาทนี้สร้างการพูดคุย ตั้งโต๊ะเจรจา โดยเป็นผู้นำ ใช้กรอบอาเซียนก็ได้ คุยกับลาว จีน อินเดีย ว่าจะทำอย่างไรให้สถานการณ์ชายแดนไทยสงบ นี่คือบทบาทของไทยอย่างเร่งด่วน” กัณวีร์กล่าว

วางพวงมาลัยรำลึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ปรีดี พนมยงค์ มีบทบาทสำคัญ

ลดความดื้อ ‘ทหารพม่า’ แก้เกมโรคระแวงต่างชาติ
อีกประเด็นน่าสนใจ มาจากมุมมองของ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ว่า พม่าเต็มไปด้วยสีสันความหลากหลายของชาติพันธุ์หลายกลุ่ม แต่ก็เต็มไปด้วยรอยร้าวและเหลี่ยมคม เหมือนการแตกกระจายของกระจกสี เพราะแต่ละกลุ่มมีความขัดแย้งกัน ชนกลุ่มน้อย-ใหญ่ รัฐบาลพม่ากับฝายต่อต้าน สถานการณ์ค่อนข้างสลับซับซ้อนและแตกต่างจากไทยมาก เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ยากจะแก้ถอน แต่น่าสนใจยิ่งเมื่อย้อนไปราว 12 ปีที่แล้ว มีความก้าวหน้าในกระบวนการสันติภาพ เมื่อพม่าปฏิรูปการเมืองขนานใหญ่ ในสมัยประธานาธิดีเต็ง เส่ง และตามมาด้วยรัฐบาล NLD ที่นำโดยออง ซาน ซูจี 10 ปีโดยประมาณ

“ผมเห็นว่ารัฐพม่ามีกระบวนการสร้างสันติภาพและทำให้กระบวนการนั้นมีความเป็นสถาบันมากขึ้น รัฐบาลพม่าตั้งทีมงานสันติภาพ ตั้งคณะเจรจาขึ้นมา มีตัวแทนจากภายนอก องค์การระหว่างประเทศเข้ามาให้ทุนช่วยเหลือในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติภาพ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์เองจากที่แตกกระจายออกไป ก็มีการรวมกลุ่มกันเป็นแนวร่วมเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทหารพม่า

จุดหักเหในประวัติศาสตร์คือตุลาคม 2015 ซึ่งช่วงนั้นมีการเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ ที่น่าสนใจยิ่งคือมีกองกำลังชาติพันธุ์ 8 กลุ่มเข้าร่วมลงนามสันติภาพ และตอนหลังก็มี 2-3 กลุ่มตามมาอีกที ทางฝ่ายรัฐบาลน่าสนใจ เพราะในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ 2015 เขาเอารัฐบาลพม่ากับกองทัพพม่า และรัฐสภา มารวมเป็นฝ่ายเดียว เรียกว่าฝ่ายรัฐบาล อีกฝั่งคือกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ดังนั้นตัวแสดงมี 2 กลุ่ม” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลไทยควรทำอะไรอย่างเร่งด่วน เพื่อเมียนมาและอาเซียน?

รศ.ดร.ดุลยภาค ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า เกิดจากระบบคิดและความชินชาในการทำสงครามสังหารประชาชนของทหารพม่า

“แล้วทหารพม่าเป็นตัวแสดงที่ดื้อมาก การที่จะทำให้คณะนายพลดูเชื่อง น่ารักขึ้น มันต้องอาศัยศิลปะทางการทูตอย่างมากทีเดียว ผมมองว่าทหารพม่าเป็นโรคหวาดระแวงต่างชาติ เขากลัวการแทรกแซงกิจการภายใน กลัวแม้กระทั่งมหาอำนาจยกทัพทางชายหาดตามแนวชายฝั่งทะเล แล้วบุกรุกเข้ามา เห็นได้ชัดตอนที่นายพลตาน ฉ่วย ขึ้นบริหารประเทศ แล้วจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐอเมริกา บอกพม่าในทำนองว่า เป็นรัฐนอกคอก เป็นด่านหน้าแห่งทรราช

เขาแก้เกมโดยการไปตั้งศูนย์บัญชาการลับที่เนปยีดอ มีการขุดอุโมงค์ใต้ดิน มีการเชิญช่างเทคนิคเกาหลีเหนือมาช่วยวางโครงข่ายป้องกันทางอากาศ มีการตั้งกองพันนิวเคลียร์ขึ้นมา แล้วส่งนายทหารไปที่รัสเซีย เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นพอควร

หลังรัฐประหาร กลายเป็นว่าทหารพม่าดูหลังจะชนฝามากขึ้น เนื่องจากใครๆ ก็ไม่เอาทหารพม่า มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าเมื่อใดก็ตามที่ประเทศวุ่นวาย จะต้องใช้ยุทธศาสตร์สงครามประชาชนเข้ามา แม้ว่าจะมีการบุกรุกจากต่างประเทศ ด่านสุดท้ายเขาจะเอาประชาชนเป็นแนวร่วม แต่คำถามปัจจุบันคือ จะไปเอาประชาชนมาร่วมรบได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนก็ไม่เอาเผด็จการ ประกาศทำสงครามปฏิวัติเพื่อสร้างสาธารณรัฐประชาธิปไตย สิ่งนี้ทำให้ทหารพม่ารู้สึกหลังชนฝามากขึ้นเรื่อยๆ และมีแรงกดดันว่าจะถูกแทรกแซง ล้มระบบทหารขึ้นเรื่อยๆ ทางแก้ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่น่ากลัวทีเดียว

“ทางแก้คือ ให้กองทัพพม่าเป็นรัฐแสนยานุภาพ สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย ดองกับเกาหลีเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ของพม่า ทำให้เขาเล่นเกมนี้ได้ และประสบความสำเร็จแบบสม่ำเสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีแรงกดดันจากตะวันตก จากอาเซียน เขาก็จะสไลด์เข้าหารัสเซีย จีน หรือแม้กระทั่งอินเดีย ผมคิดว่าทหารพม่ามีทางเลือก ถ้าอาเซียนข่มขู่รุนแรงหรือขับพม่าออกจากการเป็นสมาชิกอาเซียน ผมทำนายได้เลยว่าเขาก็เข้าหารัสเซีย เกาหลีเหนือ แนวร่วมอื่นๆ และไม่ง้ออาเซียนมากขึ้นด้วยซ้ำ”

แล้วอย่างนี้ เราจะแก้เกมอย่างไรกับผู้นำทหารที่เป็นโรคหวาดระแวงต่างชาติ ผมว่าการแก้เกมคือ กดดันได้ แต่กดดันแบบทีละขั้นตอน ผ่อนสั้นผ่อนยาว เช่น ตอนนี้พม่ามีลักษณะเหมือนรัฐล้มเหลว ธรรมชาติอย่างหนึ่งคือตัวรัฐบาลไม่สามารถส่งมอบบริการสาธารณะให้กับประชาชนได้ เพราะรัฐเอาไปทำสงครามและเป็นศัตรูกับประชาชน” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

สำหรับบทบาทของอาเซียนกับไทย ในฐานะมนุษยธรรม ถ้าประชาชนพม่าได้รับความเดือดร้อนและรัฐบาลไม่มีสมรรถนะที่พอเพียงในการทำงานสาธารณะ ทำไมไม่ระดมทรัพยากร หรืองบประมาณมา Empower ให้กับเครือข่ายรัฐบาล NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ) หรือรัฐบาลของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ เช่น KNPP KNU ซึ่งเขาก็มีโครงสร้างจำลองคล้ายๆ กับรัฐบาลขนาดย่อม

“ทำไมเราไม่ขู่ทหารพม่าในลักษณะแบบนี้ รังแกประชาชนใช่ไหม เราจะไปช่วยเหลือผ่านรัฐบาล NUG เพื่อดูแลประชาชน ทำเศรษฐกิจชายแดน ทีนี้ถ้ารัฐบาลพม่าไม่อยากให้เราไปช่วยเหลือตรงนี้ ก็ต้องลดความรุนแรงในการข่มขู่ประชาชน และทหารพม่าต้องดื้อน้อยลง มาเอนเกจกับทางอาเซียน หรือสหประชาชาติ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แบบนี้ผมว่าพอทำได้” รศ.ดร.ดุลยภาคชี้ ก่อนย้อนอดีตย้ำด้วยว่า

สถานการณ์ในไทยเอง เราเป็นรัฐด่านหน้า ตั้งแต่ยุคสงครามกัมพูชาแล้ว

อธิษฐาน จันทร์กลม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image