อิทธิฤทธิ์ ‘ครูกายแก้ว’ ทำสังคมรีเช็กวุ่น รัวถกประวัติศาสตร์ ยันเปิดพ.ร.บ.อาคารฯ
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าประเด็น ‘ครูกายแก้ว’ จะมาไกลถึงเพียงนี้
จากประติมากรรมปริศนาที่ศีรษะติดใต้สะพานลอยขณะเคลื่อนย้ายบนถนนรัชดาภิเษก สู่ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ กระทั่งร้อนถึงกรุงเทพมหานคร ต้องตรวจสอบพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง หลังมีผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนแสดงความไม่สบายใจในหลากหลายเหตุผล

มนุษย์มีปีก เล็บสีแดงยาวเฟื้อย เขียวทองอร่าม ตกอยู่ในสปอตไลต์ในฐานะ ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามคำบอกเล่า ซึ่งหาที่มาที่ไปได้อย่างยากลำบาก ทั้งยังไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ย้อนไปเมื่อ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา งานบวงสรวง ‘เบิกเนตร’ ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ บริเวณแยกรัชดาตัดลาดพร้าว ทำรถติดยาวเหยียด
ขณะที่สังคมไทยยังถกหนักในหลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิความเชื่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงภูมิทัศน์ของเมืองกรุง
นักประวัติศาสตร์เช็กที่มา เชื่อ ก๊อบปี้ประติมากรรมฝรั่ง? ยืมคำลาวใส่สตอรี่เขมร

เริ่มจากประเด็นประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่ง รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เผยว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.รูปแบบประติมากรรมครูกายแก้ว 2.ที่มาของความเชื่อเรื่องครูกายแก้ว
“รูปแบบประติมากรรม รูปลักษณ์ของครูกายแก้ว เป็นการ Copy หรือลอกแบบจากประติมากรรมฝรั่ง ทางตะวันตก เทวดาพุทธ ไม่มีปีก ยกเว้นพญาครุฑ ส่วนเทวดาจีน ที่มีปีกคือเทพอสุนี หรือสายฟ้า นอกนั้นก็ไม่มีปีก ดังนั้น ครูกายแก้วจึงผิดขนบ
สำหรับภาพสลักที่ปราสาทนครวัด ซึ่งอ้างกันว่าเป็นภาพครูกายแก้ว ก็ไม่ใช่ เพราะภาพสลักดังกล่าวมีจารึกกำกับไว้อย่างชัดเจน เนื้อหาไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับครูกายแก้ว นอกจากนี้ ศักราชในจารึกตรงกับรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ไม่ได้เก่าแก่ไปถึงสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่อ้างว่ามีครูชื่อกายแก้ว
ส่วนที่มีผู้มองว่าเป็นปีก ก็ไม่ใช่อีก เพราะเป็นพัด แส้ หรือผ้าที่สะบัดขึ้นมา ไม่ใช่ปีกแต่อย่างใด
ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งปรากฏนามในจารึกปราสาทพระขรรค์ กัมพูชา ก็ไม่ได้ชื่อครูกายแก้ว ฟังชื่อก็รู้ ไม่ใช่ภาษาเขมร แค่ภาษาก็ไม่ใช่แล้ว กล่าวคือ กาย มาจากภาษาบาลี ส่วนแก้ว เข้าใจว่าเป็นภาษาตระกูลไท-ลาว
เรียกว่าความเชื่อเรื่องครูกายแก้วนี้ คนไทยคิด ยืมภาษาลาว แต่เป็นผีเขมร” รศ.ดร.รุ่งโรจน์อธิบาย
สำหรับประเด็นเรื่องที่มาของความเชื่อ รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผยว่า เดิมสังคมไทยเชื่อขนบ ‘ผู้มีบุญ’ แบบลังกา กล่าวคือ ผลบุญในชาติที่แล้วจะส่งผลถึงชาตินี้ แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน หากหวังรวยในชาตินี้ จะทำอย่างไร ก็ต้องหาสิ่งใหม่มาทดแทน เพราะฉะนั้น จึงมีการสร้างความเชื่อใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยนำความเชื่อเรื่อง ‘ผี’ มาผนวก
“เมื่อสิ่งใหม่ถูกสร้างขึ้นมา คนขอพร ขอหวย สักพักหนึ่งพอเริ่มไม่ได้ผล ถูกหวยกิน ความนิยมดร็อปลง เสื่อมลง ก็ต้องสร้างความเชื่อใหม่ขึ้นมา เหมือนกรณี ไอ้ไข่ พอเริ่มไม่ถูกหวยมากเข้า ศรัทธาลดลง
ท้าวเวสสุวรรณก็มา พอดร็อปลงอีก ก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่เกิดขึ้นมาอีกไม่มีวันหมด” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว
เมื่อถามว่า เหตุใดความขลังส่วนใหญ่ต้องโยงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ‘เขมร’
รศ.ดร.รุ่งโรจน์ตอบว่า ความทรงจำที่อยู่ในสังคมไทยนั้น เขมรเป็นเจ้าแห่งเวทมนตร์คาถา ชุดความรู้เรื่องเวทมนตร์คาถามาจากเขมร
“ใครจะเชื่อก็เชื่อไป ถ้าไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน ใครเชื่อแล้วถูกหวยก็ยินดีด้วย แต่ถ้าถูกกินก็เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจส่วนบุคคล (หัวเราะ)
ในเศรษฐกิจแบบนี้ ในความไม่แน่นอนของสังคม คนขาดที่พึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ต้องผลิตวัตถุทางความเชื่ออย่างนี้ออกมาเรื่อยๆ ที่สำคัญคือพุทธศาสนาช้าไปสำหรับแนวคิดเรื่องทุนนิยม”
แห่ยื่น ‘ย้าย’ ครูกายแก้ว ชาวพุทธเช็กแล้ว ‘ไม่มงคล’
กระแสการตั้งคำถามถึงครูกายแก้ว มีมากขึ้นตามลำดับ ไม่เพียงในโลกออนไลน์ หากแต่หลายกลุ่มองค์กรพากันยื่นจดหมายถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหารโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมดังกล่าว ไปจนถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม.
16 สิงหาคม พลภาขุน เศรษฐญาบดี ตัวแทนผู้ประสานงาน คณะราษฎรไทยแห่งชาติ (ครช.) มีหนังสือถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ร้องเรียน ‘กรณีมีกลุ่มลัทธิประหลาดนำวัตถุรูปน่ากลัวมาตั้งในชุมชน’ ขอให้สั่งย้ายประติมากรรมดังกล่าวไปไว้ในที่มิดชิด หรือทำลายเสีย โดยให้เหตุผลว่า สร้างความหวาดกลัวแก่ชุมชน และเป็นที่วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม โดยเห็นว่าคณะบุคคลที่จัดนั้นอาจประสงค์ในการมัวเมาคนที่ไม่อาจแยกแยะดีชั่วให้ไปกราบไหว้เพื่อหวังในเงินจากเครื่องบูชา ข้าฯเห็นว่าเป็นภัยสังคม และเห็นว่าสร้างความหวาดกลัววิตกที่อาจจะนำมาซึ่งเภทภัยแก่ส่วนรวมได้ และยังเป็นการทำลายวัฒนธรรมความเชื่ออันดีของท้องถิ่น
18 สิงหาคม ผู้แทนคณะกรรมการสภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ และองค์กรเครือข่าย ชาวพุทธ ยื่นหนังสือต่อผู้บริหารโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก ให้พิจารณาย้ายครูกายแก้วออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยให้เหตุผลว่า
การนำรูปปั้น ที่มีลักษณะแปลกประหลาด และส่อไปในทางน่ากลัว มาตั้งให้คนได้สักการะขอพร ที่ดูเป็นเรื่องผิดกาลเทศะทางพระพุทธศาสนาและเทววิทยา แม้จะเป็นควาเชื่อสิทธิส่วนบุคคล และเป็นสิทธิของเอกชนก็ตาม แต่เมื่อเกิดการเผยแพร่ในทางที่ไม่ดีไม่งามไม่เป็นสิริมงคลอย่างกว้างขวางและมีการนำมาตั้งในทางสัญจรไปมาได้พบได้เห็นได้ชัดเจน อาจทำให้เกิดความวิตก กังวล และความหวาดกลัวเกิดขึ้นต่อขวัญและกำลังใจของประชาชนจำนวนมากได้
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ทางสภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯในฐานะหน่วยเผยแพร่ศีลธรรม ในความอุปถัมภ์กรมการศาสนาฯ ได้รับการร้องเรียน และความคิดเห็นต่างๆ จากพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ทั้งศิลปิน และบุคคลในสังคม เป็นจำนวนมาก

โทรเช็กผู้บริหารโรงแรม เผย ‘ไม่ได้บังคับใครกราบไหว้’
จากองค์กรทางความเชื่อ นักข่าวสายเศรษฐกิจ ยังต้องยกหูหา ไพโรจน์ ทุ่งทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก จำกัด ถึงประเด็นนี้ โดยได้คำตอบว่า ไม่ได้เป็นผู้บริหารโครงการดังกล่าวมาเป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้ว หลังจากบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบันโครงการบริหารโดยทีมผู้บริหารชุดใหม่ มี ชาญ ตุลยาพิศิษฐ์ชัย เป็นประธานกรรมการบริษัท แม้ว่าตนจะยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ 80% เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท แต่ไม่มีอำนาจในการบริหาร เพราะยังอยู่กระบวนการฟื้นฟู ต้องรอวันที่ออกจากแผนถึงจะกลับมาบริหารใหม่
“ผมไม่รู้เรื่องดังกล่าว พอมีข่าวออกมามีคนโทรมาหาผมเยอะมาก วันนี้ (17 สิงหาคม) 100 กว่าสาย ถ้าผมยังมีอำนาจบริหารอยู่ คงไม่คิดและนำเข้ามาในพื้นที่แน่นอน เพราะเราสายขาวอยู่แล้ว ไม่ยุ่งอยู่แล้วเรื่องแบบนี้ เกิดมาก็เพิ่งเคยได้ยินตอนที่เป็นข่าว” ไพโรจน์กล่าว
ด้าน ชาญ ตุลยาพิศิษฐ์ชัย ให้คำตอบสั้นๆ ว่า ใครจะมายื่นหนังสือ ก็เป็นสิทธิ เช่นเดียวกับผู้ที่จะมากราบไหว้ ก็มาด้วยจิตศรัทธาของเขาเอง
“ทุกคนจะมากราบไหว้ ผมไม่ได้ให้มา ทุกคนมีจิตศรัทธามาเองไม่ใช่ของผม ของอาจารย์หน่อย (อาจารย์หน่อย พลิกฟ้า หรือสมสฤษดิ์ รัตนสุข ลูกชายของสุชาติ รัตนสุข) เขา เอาแค่นี้ก่อน”
กทม.เช็ก พ.ร.บ.อาคาร พบ ‘ไม่ผิดกฎหมาย’
อีกหนึ่งหน่วยงานที่อยู่นิ่งไม่ได้ ผายมือไปยัง กรุงเทพมหานคร
ภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าฯกทม. ควง ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. และพรเลิศ เพ็ญพาส ผอ.เขตจตุจักร เข้าหารือกับ ชาลี นพวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการประธานกรรมการโรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก เมื่อ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา
ภิมุข กล่าวภายหลังการหารือว่า จากการตรวจสอบสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นรูปปั้นครูกายแก้ว มีความสูง 5 เมตร ไม่เกิน 10 เมตร ตามกฎกระทรวงที่กำหนดไว้หากมีสิ่งปลูกสร้างความสูง เกิน 10 เมตร จะต้องเข้าข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร ที่จะต้องขออนุญาต ดังนั้นหากตั้งอยู่ในสถานที่ของเอกชน ก็ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพียงแต่ติดปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชนกลุ่มที่คัดค้าน ที่เดินทางผ่านไปผ่านมาเกิดความไม่สบายใจ มองเห็นแล้วรู้สึกไม่ดี
กทม.จึงต้องแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ศรัทธา และกลุ่มที่ไม่สบายใจ โดย กทม.ดูแลทั้ง 2 กลุ่ม กลุ่มที่ศรัทธา สามารถเดินทางมากราบไหว้ได้ เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ส่วนกลุ่มที่ไม่สบายใจ
กทม.ช่วยแก้ปัญหา เบื้องต้นหารือกับโรงแรม ในการหาสิ่งปิดบังไม่ให้คนภายนอกได้เห็นรูปปั้นที่ชัดเจน เพื่อความสบายใจ จะเห็นเพียงคนที่ตั้งใจเข้ามากราบไหว้เท่านั้น โดย กทม.จะเข้ามาช่วยดูความถูกต้องในกระบวนการก่อสร้างต่างๆ หากยื่นแบบมาแล้ว ไม่มีข้อติดขัดทางกฎหมาย ก็สามารถก่อสร้างได้
“จากนี้ กทม.จะตรวจสอบและรวบรวมข้อร้องเรียนหรือข้อกังวลของประชาชน เพื่อจะแก้ไขปัญหาร่วมกัน และยืนยันว่า กทม.พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย อะไรที่ผิดระเบียบก็จะเข้ามาดู แต่เบื้องต้นตอนนี้ ยังไม่มีอะไรที่ขัดต่อระเบียบของ กทม. ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อร้องเรียน สามารถยื่นมาที่ กทม.ได้เช่นกัน เพราะ กทม.จะยึดข้อร้องเรียนเป็นหลัก หากพบว่าผิด ก็จะเข้ามาพูดคุย” ภิมุขกล่าว
ด้าน ชาลีกล่าวว่า โรงแรมพร้อมให้ความร่วมมือกับ กทม.ทุกประเด็น เพื่อหาทางออกให้กับทั้งผู้ที่ศรัทธาและผู้ไม่ศรัทธา โดยจะหารือกับผู้เช่าสถานที่ในเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะจุดที่ตั้งของครูกายแก้วมีเอกชนมาดำเนินการจ่ายค่าเช่าให้กับโรงแรม แต่การออกแบบโครงสร้างทางภูมิสถาปัตยกรรมดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้ความเห็นชอบของโรงแรมและโรงแรมยินดีช่วยเรื่องงบประมาณ ส่วนสิ่งใดก็ตามที่อาจจะขัดต่อกฎหมาย เช่น การนำสัตว์มาบูชาตามความเชื่อนั้น โรงแรมจะยกเลิกสัญญาการเช่าทันที ทั้งนี้ ทางโรงแรมมองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่หากสิ่งใดที่ทำให้ผู้คนไม่สบายใจก็พร้อมที่จะปรับปรุง

จ่อเช็กกรมการศาสนา-สำนักพุทธ ขัดศีลธรรมหรือไม่?
ในวันเดียวกัน ชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. บอกสื่อมวลชนที่รุมถามในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ถึงประเด็นที่ว่า ผ่านมา กทม.เคยดำเนินการทางกฎหมายกับทัศนอุจาดในสถานที่เปิดโล่งบ้างหรือไม่?
ชัชชาติตอบว่า ต้องไปดูเรื่องข้อกฎหมาย บางทีคำนิยามมีความแตกต่างกัน กทม.ไม่สามารถใช้อำนาจเกินกฎหมายได้ เบื้องต้นจะดูเรื่องของความปลอดภัย ว่าจะล้มทับประชาชน หรือเกิดอันตรายหรือไม่ ซึ่งจะดูเรื่องนี้ในขั้นต้น ส่วนเรื่องทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือทัศนียภาพ คงต้องมีการพูดคุย
“รูปปั้นมีคนทำหลายรูปแบบ ทั้งรูปยักษ์ รูปอะไร ในมิติหนึ่งต้องดูให้รอบคอบด้วย แต่ถ้าเกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน ขอให้แจ้งเข้ามา จะได้นำหลักฐานไปพิจารณา” ชัชชาติกล่าวในวันนั้น
กระทั่งวันรุ่งขึ้น 19 สิงหาคม ชัชชาติ ร่วมกิจกรรม ผู้ว่าฯกทม. สัญจรยังสำนักงานเขตภาษีเจริญ แน่นอนว่า ยังคงมีคำถามเรื่องครูกายแก้ว ซึ่งผู้ว่าฯกทม. เผยว่า ได้ขอความร่วมมือให้ทางโรงแรมช่วยหาสิ่งปิดบังสายตา พร้อมกับทำหนังสือขอความเห็นไปยังกรมการศาสนาและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่
“เบื้องต้นช่วยลดทัศนวิสัยที่กระทบกระเทือนกับผู้ที่ไม่สบายใจ กทม.ไม่ได้ละเลย ก็พยายามดำเนินการตรงนี้อย่างเต็มที่”
ล่าสุด ยังมีมุมมองน่าสนใจในความเห็นแย้งกรณีแห่จี้เคลื่อนย้ายครูกายแก้ว โดยบางส่วนมองว่า อาจ ‘ล้ำเส้น’ เกินไปหรือไม่ ทั้งการจัดวางบนพื้นที่เอกชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งด้านความเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ควรก้าวก่าย หากไม่สร้างความเดือดร้อน
ส่วนวันนี้และวันต่อๆ ไป จะยังต้องเช็กประเด็นอื่นใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ยังคงต้องติดตาม
สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์
ศศวัชร์ คมนียวนิช