จากสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ถึงแบบเรียนไทย เปิดตำนาน ‘(ปี)ไก่’ ไม่ธรรมดา!

จากซ้าย ไก่สัมฤทธิ์อายุราว 3,000 ปี พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี , แบบเรียนของกระทรวงธรรมการ (ภาพจาก www. hakkapeople.com)

สวัสดีปีระกา 2560

นักษัตรที่มีสัญลักษณ์เป็นไก่ สัตว์ปีกที่ดูแสนธรรมดา

สัตว์เลี้ยงคุ้นตา เมนูคุ้นลิ้น ไปจนถึงอักษรคุ้นปากมาตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาลอย่าง ก.เอ๋ย ก.ไก่

ทว่าหากย้อนไปนานนับพันปี ในดินแดนอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement

“ไก่” สำคัญไม่ใช่เล่นๆ เพราะเป็นสัตว์ที่ใช้ในพิธีกรรมสำคัญ เป็นตัวแทนของแสงสว่างที่ขับไล่ความมืดมิด

เป็นความศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนยำเกรง

ปรากฏในวรรณคดีโบราณระดับอภิมหาตำนานอย่าง “ท้าวฮุ่งขุนเจือง” ก่อนจะมาลือเลื่องในนิทานพื้นบ้านอีกมากมาย

Advertisement

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย ก.ไก่ ก็เป็นอักษรตัวแรกในแบบเรียน

และต่อไปนี้คือเรื่องราวของไก่ ที่ห่างไกลจากคำว่า “ธรรมดา”

สัญลักษณ์แสงสว่าง ขจัดสิ่งชั่วร้าย  : ไก่ ในนิทาน ‘จ้วง’

นักโบราณคดีเชื่อว่าไก่คือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนในอดีต ดังที่พบหลักฐานประติมากรรมอายุราว 3,000 ปี อย่าง “ไก่สัมฤทธิ์” ที่บ้านดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ไหนจะภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เขาจันทน์งาม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และเขาปลาร้า อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เป็นต้น

เจนจิรา เบญจพงศ์ นักค้นคว้าอิสระ อ้างถึงงานวิจัยของ หลิว ซู่ว ตง ซึ่งศึกษาศาสนาและความเชื่อของชาวจ้วง พบว่าไก่เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ขจัดสิ่งเลวร้ายและนำเอาสิริมงคลมาให้ ดังนั้น ในการเซ่นไหว้พลีกรรมทำพิธีใดๆ จึงมักมีไก่ร่วมแจมทุกงาน ไหว้เสร็จก็ปรุงอาหารแจกแขก เป็นอันครบสูตรไม่เสียหลาย

นิทานจ้วงยังเล่าถึงเรื่องราวของผู้เป็นใหญ่แห่งท้องฟ้า มอบหน้าที่ให้ไก่เป็นผู้บอกเวลา เมื่อไก่ขันเป็นสัญญาณพระอาทิตย์จึงจะขึ้นได้ และเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ก็เป็นการนำแสงสว่างมาให้ ทำให้สิ่งน่ากลัวที่มากับความมืดหายไป ดังนั้น ไก่เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และมีอำนาจในการนำพาและบันดาลให้เกิดเรื่องดีและร้ายได้ ด้วยเหตุนี้ หากไก่ตัวไหนร้องผิดเวลา เป็นการบอกลางร้าย ต้องฆ่าทิ้งทันที หรือบางครั้งอาจต้องให้หมอมาทำพิธีแก้เคล็ด

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ไก่ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาล (ภาพจากโครงการวิจัยพหุสัมพันธ์คนกับไก่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในเจ้าชายอากิชิโนมิยะ ฟูมิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ภายใต้พระราชูปถัมภ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ไก่ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาล (ภาพจากโครงการวิจัยพหุสัมพันธ์คนกับไก่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในเจ้าชายอากิชิโนมิยะ ฟูมิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ภายใต้พระราชูปถัมภ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)

ก่อนประหารไก่ ยังต้องบอกว่า “ฟ้าฆ่าเจ้า ดินฆ่าเจ้า ไม่ใช่เราฆ่าเจ้า” จึงเชื่อว่า ความลึกลับของไก่เป็นสิ่งที่ทำให้คนเกิดความกลัว

เจนจิรายังระบุอีกว่า ในซีกโลกตะวันตก ทั้งยุโรป โรมัน เปอร์เซีย คนก็นับถือไก่ ในเรื่องการเป็นตัวแทนแห่งรุ่งอรุณและการใช้ไก่เป็นเครื่องบวงสรวงแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงเรื่องโชคลางด้วยเช่นกัน

ภาพลายเส้นรูปสัตว์ปีกคล้ายไก่ คัดลอกจากภาพเขียนสีอายุราว 2,000 ปีที่ถ้ำสูง ภูถ้ำมโหฬาร บ้านหนองหิน ต.หนองหิน อ.ภูกระดึง จ.เลย
ภาพลายเส้นรูปสัตว์ปีกคล้ายไก่ คัดลอกจากภาพเขียนสีอายุราว 2,000 ปีที่ถ้ำสูง ภูถ้ำมโหฬาร บ้านหนองหิน ต.หนองหิน อ.ภูกระดึง จ.เลย


เสี่ยงทาย ‘กระดูกไก่’  : อำนาจ ปัญญา โหราศาสตร์

มาดูหลักฐานเกี่ยวกับไก่ของคน “ไท” นอกเขตประเทศสยาม รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งล้วนมีพิธีการเสี่ยงทายด้วยอวัยวะของไก่ อย่าง ชนชาติต่างๆ ในจีน และเวียดนาม เช่น จ้วง และชนกลุ่มน้อยบนที่สูงของไทย เช่น ม้ง กะยัน มูเซอดำ เป็นต้น ยังมีพิธีการเสี่ยงทายด้วยไก่ ซึ่งแต่ละท้องที่จะใช้ส่วนต่างๆ ของไก่ที่แตกต่างกัน เช่น กระดูก หัว ลิ้น ตับ หรือไข่ไก่ เป็นต้น โดยมีวิธีการ เช่น การเสี่ยงทายกระดูกไก่ จะนำไก่มาทำพิธีเซ่นไหว้พร้อมกับอธิษฐาน แล้วจึงดูว่าตรงกับกระดูกไก่หรือไม่ การเสี่ยงทายเหล่านี้ใช้ได้ในพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่การเจ็บป่วย การพยากรณ์เรื่องดี-ร้ายในชีวิต

ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา ระบุว่า กลุ่มคนไทบันทึกเรื่องการเสี่ยงทายไก่ไว้ในวรรณกรรมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งตำนานปรัมปราและพงศาวดาร อย่าง “อาหมบุราญจี” ในตำราเล่มเล็กที่เรียกว่า “สัญจี 5” ทั้งยังมีตําราทํานายกระดูกไก่ต้นฉบับลายมือเขียนหลายฉบับอยู่ในตระกูลนักบวชหรือหมอหลวง

ไก่ตัวแรกชื่อว่าไก่แสง หรือ “ไก่แสงฟ้า”

นักคติชนวิทยาชื่อดังท่านนี้ยังบอกว่า การตีความตำนานทำให้เห็นความสำคัญของไก่เสี่ยงทายในฐานะสัญลักษณ์ของอำนาจและปัญญา โดยเฉพาะตำนานทำนายกระดูกไก่ ซึ่งมีลักษณะเป็น “อักษรภาพ” เช่นเดียวกับตำราโหราศาสตร์อื่นของคนไท กระดูกขาไก่จึงอาจเป็นตัวอักษรไทโบราณรุ่นแรกที่เป็นอักษรภาพเช่นเดียวกับอักษรจีนก็เป็นได้

 

กลุ่มชาติพันธุ์มากหมายมีการเสี่ยงทายด้วยกระดูกไก่ (ภาพจากโครงการวิจัยพหุสัมพันธ์คนกับไก่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในเจ้าชายอากิชิโนมิยะ ฟูมิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ภายใต้พระราชูปถัมภ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
กลุ่มชาติพันธุ์มากหมายมีการเสี่ยงทายด้วยกระดูกไก่ (ภาพจากโครงการวิจัยพหุสัมพันธ์คนกับไก่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในเจ้าชายอากิชิโนมิยะ ฟูมิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ภายใต้พระราชูปถัมภ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)


วรรณคดีก็มีไก่

เขยิบเข้าใกล้เขตประเทศไทยมาที่ดินแดนชิดใกล้อย่างล้านช้าง ก็มีเรื่องราวของพิธีเสี่ยงทายกระดูกไก่ในวรรณกรรมมหากาพย์ “ท้าวฮุ่งท้าวเจือง” ตอนที่ท้าวซึ่งแต่งคนไปเชิญท้าวฮุ่งมาช่วยป้องกันเมืองจากท้าวกว่าชาวแกว ได้มีการเลี้ยงผีด้ำ และนำ “หมอไก่” มาเสี่ยงทายกระดูกไก่ ความตอนหนึ่งว่า

“จัดป่าให้หมอไก่ มาพลัน

เฮาจัก ปองตัวดีด่วนถอง เถิงด้ำ”

 

นอกจากนี้ ใน “หนังสือผูก” หรือคัมภีร์ใบลานอีสาน ก็มีเรื่อง “ไก่แก้วหอมฮู” ที่มีไก่เป็นตัวละครสำคัญ ปัจจุบันนิทานเรื่องนี้ยังถูกนำมาใช้เล่นในมหรสพ เรียกได้ว่ามีบทบาทอย่างไม่ถูกตัดตอนในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ชาวอีสานแต่เดิมก็เซ่นไหว้ศาลปู่ตาหรือผีบรรพชนด้วยไก่ ยังไม่ใช้หัวหมูอย่างในปัจจุบัน

ส่วนภาคเหนือก็มีวรรณกรรมที่สะท้อนความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับไก่ อย่าง “ค่าวซอเรื่องเจ้าสุวัตร” ซึ่งให้หมอไก่มาทำนายโดยนำกระดูกไก่แห้งแช่น้ำ เอาไม้แหลมปักในรูกระดูกถึง 5 ครั้ง แม้ในปัจจุบันจะไม่มีพิธีนี้อีกแล้วในกลุ่มไทยยวนล้านนาทางภาคเหนือของไทย แต่ร่องรอยในวรรณคดีก็บันทึกไว้ถึงการ(เคย)มีอยู่ของพิธีกรรมดังกล่าว

ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นชื่อวีรบุรุษในตำนานสองฝั่งโขง ข้ามพรมแดนชาติพันธุ์เพราะคนทุกชาติพันธุ์ยกย่องเป็นบรรพชนของพวกตนต่อมามีผู้แต่งประวัติเป็นโคลง ปรากฏเรื่องราวการเสี่ยงทายโดยมี "หมอไก่" ทำพิธี (ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด กัมพูชา)
ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นชื่อวีรบุรุษในตำนานสองฝั่งโขง ข้ามพรมแดนชาติพันธุ์เพราะคนทุกชาติพันธุ์ยกย่องเป็นบรรพชนของพวกตนต่อมามีผู้แต่งประวัติเป็นโคลง ปรากฏเรื่องราวการเสี่ยงทายโดยมี “หมอไก่” ทำพิธี (ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด กัมพูชา)


‘ปล่อยไก่’ ในกฎมนเทียรบาล

มาต่อกันที่ความเชื่อเรื่องไก่ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสืบทอดมาจากความเชื่อดั้งเดิมในภูมิภาคอุษาคเนย์ ดังปรากฏชัดใน “กฎมนเทียรบาล” ที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2011 ระบุถึงการ “ปล่อยไก่” ให้ช่วยพาเสนียดจัญไรออกนอกพระนคร

ข้อความตอนหนึ่งมีดังนี้

“อนึ่ง วิวาทตบตีฟันแทงกัน ให้โลหิตตกในพระราชวังก็ดี แลหญิงสาวใช้ทาษไทผู้ใด คลอด แท้ง ลูกในพระราชวังก็ดี ท่านให้มันพลีวังท่าน ให้ตั้งโรงพิทธี 4 ประตู ใบศรี 4 สำรับ บัด 5 ชั้น 4 อัน ไก่ประตูละคู่ ให้วงด้าย คา รอบพระราชวังนิมนพระสงฆสวดพระพุทธมนต์ 3 วัน ให้หาชีพ่อพราหมณซึ่งรู้พลีกรรม มากระทำบวงสรวงตามทำเนียม ให้มีระบำรำเต้นพินพาทฆ้องกลองดุรยดลตรี ประโคมทัง 4 ประตู ครั้นเสรจ์การพิทธีแล้ว จึ่งให้เอาไก่นั้นไปปล่อยเสียนอกเมือง ให้มันภาสะเดียดจัญไรไภยอุปัทว ไปให้พ้นพระนครท่าน”

กฎหมายตราสามดวง

ก.ไก่ ใน ‘แบบเรียน’

ตัดฉากมาในยุคปัจจุบัน ที่หนูน้อยอนุบาลสัญชาติไทยร่ำเรียนพยัญชนะตัวแรกคือ ก.ไก่ ซึ่งบรรจุในแบบเรียนอย่างเป็นทางการ

ย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า “อักษรไทย”


เดิมยังไม่ได้เรียกพยัญชนะตัวนี้ว่า ก. ไก่ เพราะเพิ่งถูกกำกับไว้เมื่อครั้ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมธรรมการ โดยทรงพระนิพนธ์หนังสือแบบเรียนเร็ว 3 เล่ม เพื่อใช้แทนแบบเรียนหลวง “มูลบทบรรพกิจ” ที่ต้องใช้เวลาเรียนนานพอดู

โดยในแบบเรียนเร็ว เล่มที่ 1 ตอนต้น มีคำกำกับพยัญชนะ ก ไก่ ข ไข่ ฃ ฃวด ค ควาย ฅ ฅน ไปจนถึง ฮ นกฮูก ครบ 44 ตัวเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2442

คำกำกับชื่อพยัญชนะในภาษาไทยมีครบทั้งหมด 44 ตัวเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2442 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมธรรมการ ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือแบบเรียนเร็ว 3 เล่ม

ไก่ปรากฏในวรรณคดีมากมายตั้งแต่สมัยโบราณและยังมีบทบาทมาจนถึงปัจจุบัน, แบบเรียน ก ไก่ ชั้นเตรียม (ภาพจาก www.lungkitti.com)
ไก่ปรากฏในวรรณคดีมากมายตั้งแต่สมัยโบราณและยังมีบทบาทมาจนถึงปัจจุบัน, แบบเรียน ก ไก่ ชั้นเตรียม (ภาพจาก www.lungkitti.com)

ส่วนคำกลอนที่คนรุ่นก่อนท่องกันติดปากว่า ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่ มาหา ฃ ฃวด น้องชาย ค ควายเข้านา ฅ ฅนขึงขัง ฆ ระฆังข้างฝา นั้น มาจากฝีมือ “ครูย้วน ทันนิเทศ” ซึ่งแต่งเพื่อเผยแพร่ในหนังสือแบบเรียนไว พ.ศ.2473

นับแต่นั้น ไม่ว่าแบบเรียนภาษาและอักษรไทยจะถูกปรับเปลี่ยนไปเช่นไร แต่คำว่า ก ไก่ ก็ยังคงถูกใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเรื่องราวของไก่ ที่ไม่ใช่แค่ปีนักษัตร หากแต่มีความสำคัญต่อผู้คนในภูมิภาคของเรามาเนิ่นนานนับพันๆ ปี สืบเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ครูย้วน ทันนิเทศ
ครูย้วน ทันนิเทศ


“ไก่บ้าน” กับหนึ่งพันฤดูใบไม้ร่วงและจำนวนปีที่นับไม่ถ้วนความสุขยืนยาวตลอดกาล

ข้อมูลจากบทความเรื่อง “ไก่แสง : ไก่เสี่ยงทายในตำนานปรัมปราของชนชาติไท” โดย ศ.สุกัญญา สุจฉายา เล่าถึงหลักฐานที่นักสัตววิทยายืนยันว่า ไก่บ้านทั่วโลกวิวัฒนาการมาจากไก่ป่าขนแดง (red jungle fowl; Gallus gallus) กำเนิดในป่าดงดิบแห่งดินแดนอุษาคเนย์เมื่อ 8,000 ปีก่อน ณ บริเวณที่เรียกว่าประเทศไทย ลาว และเวียดนามในปัจจุบัน ก่อนแพร่พันธุ์สู่แดนมังกร

แผ่นอิฐจีน
ข้อมูลทางชีววิทยานี้สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีสมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อมีการขุดพบแผ่นอิฐรูปสี่เหลี่ยมแผ่นหนึ่งซึ่งมีภาพลายเส้นรูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจําทิศต่างๆ

ได้แก่ มังกรสีฟ้า ประจําทิศตะวันออก

เสือขาว ประจําทิศตะวันตก

นักรบสีดำ เต่า และงู ประจําทิศเหนือ

นกสีแดง ประจําทิศใต้ พร้อมอักษรโบราณ 8 ตัว มีความว่า “หนึ่งพันฤดูใบไม้ร่วงและจำนวนปีที่นับไม่ถ้วนความสุขยืนยาวตลอดกาล” แผ่นอิฐนี้จึงเป็นหลักฐานสําคัญที่ยืนยันว่าทิศใต้เป็นถิ่นที่อยู่ของนกสีแดงหรือไก่ป่าขนสีแดง ไก่จึงไม่ใช่สัตว์พื้นเมืองของจีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image