ญาติเหยื่ออุ้มหาย เสียงถึงรัฐบาลชุดใหม่ ในวันที่หัวใจยังเจ็บปวด

ญาติเหยื่ออุ้มหาย เสียงถึงรัฐบาลชุดใหม่ ในวันที่หัวใจยังเจ็บปวด

ญาติเหยื่ออุ้มหาย เสียงถึงรัฐบาลชุดใหม่ ในวันที่หัวใจยังเจ็บปวด

วันนี้ วันอาทิตย์

วันหยุดสุดสัปดาห์สำหรับครอบครัวมากมายที่ได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข

ทว่า ไม่ใช่สำหรับครอบครัวของเหยื่อผู้ถูกบังคับสูญหายอย่างไม่ทราบชะตากรรม อีกทั้งผู้ถูกสังหารอันมีเหตุจากเพียง ‘ความเห็นต่าง’

Advertisement

แม่ มารดา เพื่อนร่วมหมู่บ้าน ญาติพี่น้องของผู้คนเหล่านั้น ไม่อาจกระทำได้แม้เพียงได้ร่วมกิจวัตรประจำวันอย่างปกติธรรมดาอย่าง ‘กินข้าว’ พร้อมหน้า ล้อมวงพูดคุย พร่ำบ่นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต แบ่งปันประสบการณ์ทุกข์-สุข

“กลับสู่วันวาน กลับมากินข้าวด้วยกันนะ” คำง่ายๆ สบายๆ เต็มไปด้วยความอบอุ่น ถูกใช้เป็นชื่องานนิทรรศการในตึกแถว 4 ชั้น ชื่อว่า KinJai CONTEMPORARY เหตุผลที่ผู้จัดงานใช้สถานที่แห่งนี้ เพราะมีความหมายเชื่อมโยงกับแนวคิดของงาน คำว่า Kin หมายถึง ญาติ ส่วนคำว่า Jai หมายถึง หัวใจ จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เกิดนิทรรศการจัดแสดง ‘อาหารจานโปรดของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย’ เมื่อวันที่ 27-30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

ตึกแถว 4 ชั้น ใกล้ริมน้ำเจ้าพระยา ย่านบางพลัด กรุงเทพฯ ถูกเปลี่ยนโฉมให้มีหน้าตาคล้ายร้านอาหาร ในแนวคิด ‘กลับมากินข้าวด้วยกันนะ’ เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาย่านนั้น สัมผัสพลังความรู้สึกที่หลากหลาย จากตัวอักษรที่ส่งเสียงอยู่หน้าร้าน ให้ช่วยดึงดูดคนที่ผ่านไป-มา ตัดสินใจก้าวเท้าเข้าไปดูและลิ้มรสสิ่งที่ซ่อนอยู่ด้านใน

Advertisement

การจัดแสดงที่อาจดูธรรมดา แต่พื้นที่ทุกตารางนิ้ว ล้วนมีคุณค่าทางใจสำหรับกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ตั้งแต่

‘ชั้นลอย’ ที่ฉายสารคดีพฤษภาทมิฬ 2535 บันทึกสีดำ เหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงอำนาจเผด็จการ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ให้ทุกคนสัมผัสและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ทำให้มีผู้ถูกทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย

ชั้น 2-3 ชั้นแห่งความทรงจำ มีเสียงของญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย 8 คน เล่าเรื่อง 8 อาหารจานโปรดของผู้ถูกบังคับให้สูญหายที่เคยกินด้วยกัน อันได้แก่ แกงเลียง ของ สุรชัย แซ่ด่าน, แกงส้มใต้หมูย่าง ของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ, ผัดพริกแกงถั่วหมูสามชั้น ของ สยาม ธีรวุฒิ, ปลาดุกผัดเผ็ด ของ แวอับดุลวาเหะ บาเน็ง, แกงหน่อไม้ใส่หมึกแห้ง ของ ชัชชาญ บุปผาวรรณ, น้ำพริกมะเขือ ของ จะฟะ จะแฮ, ป่นบักเขือ ของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และ หลามในกระบอกไม้ไผ่ ของ จะหวะ จะโล ส่วนชั้น 4 บอกเล่าชีวิตของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และให้คนดูเขียนให้กำลังใจกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

บนดาดฟ้า ถูกใช้เป็นพื้นที่ส่งเสียงเรียกร้องของกลุ่มญาติผู้ถูกบังคัญสูญหาย เพื่อให้เรื่องราวของเขาไม่ถูกลืมเลือนไปจากสังคม เมื่อแตกสลายจะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือ คือชื่องานเสวนา ความหวังของผู้จัดคือการเปิดโอกาสให้กลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายได้เล่าเรื่องราวอาหารในความทรงจำ และเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากภาครัฐในการทำให้รู้ชะตากรรมหรือทำให้ผู้ถูกบังคับสูญหายกลับสู่สภาพเดิม หวังตอกย้ำวันครบรอบ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

สำหรับประเทศไทย รายงานประจำปี 2565 ของคณะทำงานการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance) ระบุจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 76 กรณี ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

รายงานของภาคประชาสังคม ระบุว่า มีการบังคับสูญหายของประชาชนระหว่างช่วงการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การบังคับบุคคลให้สูญหายช่วงสงครามยาเสพติด การปราบปรามการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบังคับสูญหายนักปกป้องสิทธิ กรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เช่น เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 รวมถึงการบังคับสูญหายของผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมกลุ่มญาติที่ถูกบังคับสูญหายทุกคน หวังว่ารัฐบาลชุดนี้และชุดต่อๆ ไป จะเปิดเผยความจริงให้กับญาติผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งหมด และทำทุกกรณีเป็นมาตรฐานเดียวกันในการตามหาความจริง ทำให้ทุกครอบครัวทราบชะตากรรม และกลับสู่สภาพเดิม ด้วยการเป็นรัฐบาลที่มีความกล้าหาญ ไม่เช่นนั้นจะมีคนจะถูกคลุมถุงดำ เข้าค่ายทหาร เมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ต้องไม่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเพิ่มอีก

และนี่คือส่วนหนึ่งของความในใจญาติผู้ถูกบังคับสูญหายที่อยากสื่อสารต่อรัฐบาลและสังคมไทยในวันนี้

อังคณา นีละไพจิตร

“รัฐควรบอกเราว่าพลเมืองของรัฐหายไปได้อย่างไร คนคนหนึ่งจะหายไปได้อย่างไรจนไม่เหลืออะไร ช่วงต้นครอบครัวคนหาย เงินช่วยเหลือมีความสำคัญมาก เพราะการเป็นหัวหน้าครอบครัวหน้า มันมีภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับ ต่อมาก็คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมที่รัฐต้องทำให้กับเหยื่อ

ทุกวันนี้ต้องมีชีวิตอยู่กับการถูกคุกคามและรู้สึกไม่ปลอดภัย วันผู้สูญหายสากล คือการระลึกถึงเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหาย เป็นเหมือนวันรวมญาติ หลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกพบผู้ถูกบังคับสูญหายกว่า 6 หมื่นคน มีคดีคลี่คลายไปแล้วเพียง 104 คดี บางคนพบอยู่ในเรือนจำ บางคนถูกนำตัวไปไว้ตามรัฐต่างๆ ในต่างประเทศ ขณะที่บางคนมีข้อมูลว่าเสียชีวิตแล้ว

‘การเยียวยา’ ที่ดีที่สุดคือการรู้ชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย สิ่งนี้คือ มนุษยธรรม ที่กลุ่มผู้ถูกบังคับให้สูญหายต้องการมากที่สุดจากหน่วยงานรัฐ การพบ 104 คดี ที่คลี่คลายทั่วโลก เมื่อเปรียบเทียบกับเหยื่อที่มีอยู่ทั้งหมด ถือว่าเป็นความสำเร็จที่น้อยมาก จากสิ่งที่คาดหวังเอาไว้ ปัจจุบันหลายประเทศพยายามทาบทามให้เหยื่อถอนเรื่องร้องเรียนจากคณะทำงาน ซึ่งในประเทศไทยก็มีความพยายามลักษณะนี้เช่นกัน

เราแตกสลายไม่ต่างจากคนอื่น แต่สิ่งที่เยียวยาใจเราได้คือการทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ ในระดับไหนก็ได้ที่เราทำงานได้มากขึ้น เราดีใจที่ได้ทำงานระดับชาติและระหว่างประเทศได้มากขึ้น มันเยียวยาใจเราได้ เราอาจตายไปกับการไม่รู้ความจริง แต่อย่างน้อยเราช่วยคนอื่นให้เปิดปาก ส่งเสียง ขอความเป็นธรรม ตัวเราเองก็ต้องเยียวยาใจตัวเองตลอด เราไม่ได้เข้มแข็งอะไรมากมาย ไม่มีใครก้าวผ่าน เพราะถ้าหากว่าเราไม่รู้ชะตากรรม คนก็ไม่มี หลุมศพก็ไม่มี ตายก็ไม่ตาย ศพก็ไม่อยู่”

อังคณา นีละไพจิตร
เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ 2562
ภรรยา ทนายสมชาย นีละไพจิตร

สีละ จะแฮ

“สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประกาศสงครามกับยาเสพติด ในตอนนั้นมีทหารเข้าไปในหมู่บ้านของชาวลาหู่ที่บ้านโป่งไฮ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่จำนวนมาก สิ่งที่น่ากลัวและหดหู่ คือการที่ชาวลาหู่จำนวนมากถูกควบคุมตัวไปโดยไม่มีหมายจับ เจ้าหน้าที่อ้างว่าทำตามกฎอัยการศึก ภาพที่เห็นคือ เด็ก ผู้ใหญ่ถูกทรมาน ถูกยึดทรัพย์สินที่มีในบ้านไปหมด หลายคนสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ยิ่งทำให้ยากต่อการเจรจา เหตุการณ์ในตอนนั้นทำให้ชาวลาหู่จำนวนมากจากบ้านไปแล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย

ผมมีวันนี้ได้เพราะมีอดีตที่โหดร้าย ทุกข์ทรมาน และมีปัจจุบันเพื่อแก้ไขอนาคต เรื่องราวเหตุการณ์ในอดีต สงครามปราบปรามยาเสพติดไม่ใช่เราไม่เห็นด้วย แต่อยากให้รัฐบาลใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรมและนิติรัฐ

ถ้าเจ้าหน้าที่ตั้งใจหาพยานหลักฐาน เพื่อสืบค้นหาคนทำผิดที่บังคับให้ชาวลาหู่สูญหายก็สามารถทำได้ เพราะพี่น้องหลายคนถูกจับไปต่อหน้าต่อหน้า

บางคนไม่สารภาพก็หายตัวไป การหายตัวไปไม่ได้หายครั้งละคนสองคน แต่เกิดสามสี่คน ไม่กลับมาอีกเลย พ่อแม่ครอบครัวไม่กล้าติดตามเพราะกลัวอำนาจ กลัวว่าถ้าติดตามจะมีความผิดไปด้วย ทำให้เรื่องราวของคนถูกบังคับสูญหายเจือจาง ไม่ใช่ไม่อยากตามหาข้อเท็จจริง

เรื่องราวการถูกบังคับให้สูญหายทั้งหมดของชาวลาหู่สมัยสงครามยาเสพติดชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้แจ้งความ จึงไม่มีคดีความเกิดขึ้น แต่หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ในวันที่ อดีตนายฯกทักษิณกลับมาเมืองไทย จะสานต่อและเยียวยาญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกคน”

สีละ จะแฮ
นายกสมาคมลาหู่เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

กัญญา ธีรวุฒิ

“คิดถึงมาก ลูกใคร ใครก็รัก ไม่น่าสูญเสียหรือจากกันด้วยวิธีการนี้ ไม่เข้าใจว่าไทยทำอะไรอยู่ ทำมาหากิน ไล่ฆ่า จับคนที่คิดไม่ตรงกับตัวเอง

ชีวิตทุกวันนี้เหมือนชื่องาน คือ แตกสลายและไม่รู้จะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือไม่ เพราะ 9 ปีที่ผ่านมาหลังจากลูกชายถูกบังคับให้สูญหาย ไม่พบความเคลื่อนไหวหรือความคืบหน้าจากรัฐบาลเลย สิ่งที่ต้องการที่สุดคือการรู้ชะตากรรมของลูก รวมถึงการเยียวยาด้านจิตใจและการเงิน เพราะต้องสูญเสียเสาหลักของบ้านไป ทำให้ต้องทำมาหากินมาใช้จ่ายในครอบครัว และใช้หนี้สินแทนลูกชาย

อยากขอร้องรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น ช่วยเหลือเยียวยาครอบครัว ที่ถูกบังคับให้หายตัวไป สืบข้อเท็จจริงให้ปรากฏขึ้นในสังคม เพื่อครอบครัวจะได้ไม่ทุกข์ทรมาน เพราะคิดถึงเรื่องนี้ทีไรน้ำตาไหลทุกที”

กัญญา ธีรวุฒิ
แม่ของ สยาม ธีรวุฒิ

ชาลิสา สุขประเสริฐภักดี

“ต้องบอกว่าการที่คนคนหนึ่งถูกบังคับให้สูญหายไป มันมีความหวังที่ไม่สามารถคาดหวังได้ เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ

การที่คนในครอบครัวต้องเสียชีวิต เพราะไปใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเห็นต่างจากรัฐ ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล สิ่งที่อยากให้เหมือนเดิมคือความปกติสุขของครอบครัว แม้จะรู้ดีว่าการกลับมาเหมือนเดิม คิดได้แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะเขาตายไปแล้ว พอเห็นคนอื่นเดือดร้อนจากการถูกบังคับให้สูญหายหลายคน จึงหวังว่าสักวันหนึ่งฟ้ามีตา เจ้าหน้าที่จะสืบเรื่อง จับคนผิด มาดำเนินคดีได้

เนื่องในวันผู้สูญหายสากล แม้จะไม่ได้มีคนสูญหายในบ้าน แต่เข้าใจความรู้สึกของคนที่รอคอยอย่างไม่มีสิ้นสุด เพราะตอนที่ตามหาความจริงเกี่ยวกับสหายภูชนะ ก็ทุกข์ทรมานมากเช่นกัน ทำให้ตัดสินใจทำอาหารอีสาน มาเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงรัฐบาล ให้ช่วยทำให้เรื่องผู้ถูกบังคับให้สูญหายคืบหน้า ไม่ถูกลืม และทำความจริงให้ปรากฏ”

ชาลิสา สุขประเสริฐภักดี
ภรรยา ชัชชาญ บุปผาวรรณ หรือ สหายภูชนะ ผู้ถูกพบเป็นศพในแม่น้ำโขง

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

“เวลาใช้ชีวิตแล้วเห็นอาหารที่สามีชอบกิน ยิ่งทำให้สะท้อนใจและตั้งคำถามว่า การที่คนคนหนึ่งเห็นต่างทางการเมือง ทำไมต้องถูกจองล้าง จองผลาญ ถึงขั้นเอาชีวิตคนคนหนึ่งไปจากครอบครัว วันผู้สูญหายปีนี้ อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ไม่เพิกเฉยกับกฎหมายทรมาน-อุ้มหาย จะต้องทำให้ทุกครอบครัวได้รับความยุติธรรม เพราะบางคนต้องเจอพิษเศรษฐกิจ มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงอยากให้รัฐสนใจเรื่องการเยียวยา ควบคู่กับการตามหาความจริงด้วยการทำให้ญาติรู้ชะตากรรม

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ มีความจริงใจ กระตือรือร้น สืบสาวราวเรื่อง รื้อฟื้นคดี ตามหาความยุติธรรมให้ญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหายที่ได้รับผลกระทบทุกคน เพราะคนที่หายไปส่วนใหญ่ เป็นกำลังและเสาหลักของครอบครัว ทุกคนจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ เพื่อให้รู้ชะตากรรม และได้รับสิ่งอื่นๆ ที่สูญเสียไป”

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์
ภรรยา สุรชัย แซ่ด่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image