คอลัมน์โลกสองวัย : รักลูกอย่าตีลูก

แฟ้มภาพ

เป็นอย่างไรบ้างน้องหนู หยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พร้อมกับหยุดชดเชย วันที่ 2-3 มกราคม 2560 รวมเป็น 4 วันซ้อน วันนี้วันพุธที่ 4 มกราคม เปิดเรียนตามปกติ

เริ่มต้นปีใหม่ เริ่มต้นชีวิตใหม่ เรื่องหนึ่งที่ต้องเน้นย้ำให้ซึมซับเข้าไปในหัวจิตหัวใจทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและครู คือ เรื่องการลงโทษเด็กในปกครองของพ่อแม่และนักเรียนในปกครองของครู

ว่าด้วยพ่อแม่กับผู้ปกครองก่อน เพราะเด็กอยู่กับพ่อแม่ตั้งแต่แรกเกิด อยู่กับผู้ปกครอง เมื่อเด็กคนนั้นไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือกับคนใดคนหนึ่ง หากแต่ต้องไปอยู่กับผู้ปกครองที่เด็กคนนั้นอยู่ด้วย ทั้งโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือ นิตินัย และโดยที่พ่อแม่ให้ดูแลแทน คือ พฤตินัย

เรื่องหนึ่งที่พูดกันไม่รู้จบ คือ การลงโทษเด็กในปกครอง ทั้งพ่อแม่และผู้ปกครอง

Advertisement

การลงโทษเด็กที่ใช้กันถึงทุกวันนี้ คือ การลงโทษด้วยการ ตีŽ ทั้งด้วยการลงมือลงไม้เสมือนการทำร้ายร่างกายเด็ก โดยเฉพาะพ่อแม่และ

ผู้ปกครองที่ใช้อารมณ์ลงโทษเด็ก รุนแรงมากน้อยขึ้นกับอารมณ์ขณะนั้น

แม้แต่พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีการศึกษาดี แต่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ยังใช้ความรุนแรงลงโทษลูกและเด็กในปกครองเป็นประจำ เรียกว่าทุกครั้งที่เห็นเด็กทำผิด หรือไม่ทำตามที่ตัวบอก หรือทำไม่ถูกตามที่ต้องการมักลงโทษลูกและเด็กด้วยความรุนแรง เช่น การตี เป็นนิจ

Advertisement

การลงโทษเด็กมีหลายสิบหลายร้อยวิธี โดยที่เด็กไม่ได้รับความเจ็บปวดจากการลงโทษนั้น เหมือนการตี การทำร้ายร่างกายเด็ก ว่ากันสั้นๆ ง่ายๆ คือการพูดจาให้เด็กได้รู้ว่าที่เด็กทำนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ควรทำเช่นนั้น ให้เด็กเห็นโทษของการกระทำนั้น

ขณะที่หลายครั้งบอกว่าเด็กดื้อ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพ่อแม่ผู้ปกครอง

ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้เลยหรือว่า เด็กคือคนเช่นเดียวกับเราท่านทั้งหลาย มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง ต้องการทำอะไรก็ตามที่ตัวเองคิดว่าทำได้ เหมือนกับเราท่านเมื่อเป็นเด็ก

จำไว้ว่าเด็กไม่ได้ดื้อ เพียงแต่ไม่ทำตามที่เราสั่งเท่านั้น

แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กทำตามที่เราสั่ง ประการสำคัญ เรื่องที่เราต้องการให้เด็กทำต้องเป็นไปด้วยเหตุผล ไม่ใช่ตามใจตัวเรา หรือตามอารมณ์ของตัวเอง

เด็กต้องการทำโน่นทำนี่ทดลองโน่นทดลองนี่ด้วยตัวเองทุกคน

หากเพียงแต่พ่อแม่คอยจับตาดูว่าสิ่งที่เด็กทำนั้นไม่เป็นอันตรายกับตัวเด็กเอง เช่น หยิบสิ่งของสกปรกเข้าปาก ต้องร้องห้าม และหยิบของนั้นออกจากมือ ประการสำคัญคือทำบริเวณที่เด็กเล็กอยู่ให้สะอาดไม่มีขยะมูลฝอย หรือของสกปรกอยู่บนพื้น นอกจากของเล่น อย่างนี้ โอกาสที่เด็กจะหยิบสิ่งของเหล่านั้นเข้าปากแทบว่าไม่มี ทั้งในบริเวณที่เด็กเล็กพอจะคลานจะคืบได้ต้องไม่มีปลั๊กไฟอยู่ตรงที่เด็กจะใช้นิ้วแหย่เข้าไปได้ หรือมีของร้อนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และต้องไม่ให้เด็กเข้าไปใกล้ในบริเวณนั้น หรือเอื้อมมือถึงทั้งบนพื้น ทั้งบนโต๊ะ

ภริยาของข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ผูกข้อเท้าลูกให้คืบคลานอยู่ในรัศมีของเชือกเส้นนั้น ไม่ให้ไกลหูไกลตา

หากเผลอให้เด็กเข้าไปใกล้อันตราย ต้องร้องห้ามด้วยเสียงดังแล้วนำเด็กออกจากบริเวณนั้น อย่างน้อยให้เด็กได้ยินเสียงดังห้ามนั้น จะได้รู้ว่าไม่สมควรทำอะไรตามที่ต้องการ

กระทั่งเด็กโต หากเด็กไม่ทำตามที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการ ใช้วิธีอธิบายให้เด็กฟังว่าทำไมไม่ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยเหตุด้วยผล พูดกันให้รู้เรื่อง เมื่อเด็กรับฟังแล้วรู้ว่าไม่ควรทำตามที่ต้องการ รู้ด้วยเหตุด้วยผล ต่อไปเด็กจะไม่ทำตามนั้นอีก แต่หากไม่ให้เด็กทำด้วยการลงโทษ ต่อไปเด็กทำอย่างนั้นอีก ทั้งที่รู้ว่าทำแล้วจะถูก ตีŽ ซึ่งไม่รู้ว่าตีทำไม แต่รู้ว่าถูกตีแล้วเจ็บเท่านั้น

การตีเด็กตั้งแต่เป็นทารกถึงเติบโตขึ้นมาเข้าวัยรุ่น ไม่มีผลดีแต่อย่างใด ขอให้เชื่อข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เถิดว่า การไม่ตีเด็ก แต่เมื่อเห็นว่าเด็กทำผิดให้พูดคุยชี้แจงแสดงเหตุผลสักครั้งสองครั้ง รับรองว่าเด็กจะเชื่อฟัง

ขอให้ทิ้งเสียเถอะครับ ภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตีŽ เพราะลูกไม่ใช่วัวใช่ควาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image