ศิลป์ พีระศรี กับผลงานอะไรที่ทำให้ไทย ตั้งแต่ยังไม่ได้มาเมืองไทย

ศิลป์ พีระศรี กับผลงานอะไรที่ทำให้ไทย ตั้งแต่ยังไม่ได้มาเมืองไทย
Prof. Corrado Feroci (ศิลป์ พีระศรี) ประมาณ พ.ศ.2465 ก่อนเดินทางมาสยาม (ภาพจากหนังสือ 100 ปี ศิลป์ พีระศรี นิทรรศการเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ.2535)

ศิลป์ พีระศรี กับผลงานอะไรที่ทำให้ไทย ตั้งแต่ยังไม่ได้มาเมืองไทย

ศิลป์ พีระศรี (15 กันยายน 2435-14 พฤษภาคม 2505) ชื่อเดิมตามภาษาอิตาลีว่า Corrado Feroci ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย นอกจากนี้ ยังสร้างผลงานไว้มากมาย เช่น พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ฯลฯ

เนื่องจากปี 2566 นี้ เป็นโอกาสครบรอบ 100 ปี ที่ศิลป์เข้ามาฝากผลงานในเมืองไทย และเดือนกันยายน เป็นเดือนเกิดของ ศาสตราจารย์ศิลป์ นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายน 2566 จึงนำเสนอบทความชื่อ “100 ปี เฟโรจีสู่บางกอก” ฝีมือการค้นคว้าและเรียบเรียงโดย จิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ

Advertisement

จิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ กล่าวถึง อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในมุมที่น่าสนใจยิ่ง นั่นก็คือ ผลงานของศิลป์ พีระศรี ที่ทำให้เมืองไทย ก่อนที่ท่านจะเดินทางมาเมืองไทย ซึ่งผลงาน ที่ว่าก็คือ “Medallist”

Medallist นั้น จิรศักดิ์ให้ความหมาย ถึง เหรียญที่ระลึก เข็มกลัด และงานออกแบบเครื่องประดับ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะ และหลักฐานวัตถุทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน พร้อมๆ กับการบันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ในอดีต

เหรียญดุษฎีมาลา (1882) ที่ผลิตจากบริษัทของ Wyon family (ตระกูลช่างทำเหรียญชาวเยอรมันที่อยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ) และพระบรมฉายาลักษณ์ต้นแบบ เปรียบเทียบกับผลงานของ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย เหรียญที่ระลึกการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 2425

ในยุคแรกๆ การทำเหรียญที่มีพระรูปเหมือนของเจ้านาย เกือบทั้งหมดอาศัยศิลปินหรือประติมากรผู้ปั้นชาวยุโรปเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากช่างชาวสยามยังไม่มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์งานศิลปะตามหลักวิชาแบบตะวันตก โดยมีห้างเบนซอนของหลวงรัตนานุกิจ (J. W. Benson, Ltd.) เป็นบริษัทเอกชนของอังกฤษแห่งหนึ่งที่ได้รับความไว้พระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นผู้ดำเนินการ ดังมีตัวอย่างผลงานได้แก่

Advertisement

เหรียญสตพรรษมาลา (ค.ศ.1882), เหรียญที่ระลึกหอพระสมุดวชิรญาณ (ค.ศ.1883), เหรียญจักรพรรดิมาลา (ค.ศ. 1893), เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา (ค.ศ.1893) และเหรียญราชรุจิ (ค.ศ.1897) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเหรียญที่ระลึกงานพระศพ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษรัชสมโภช (ค.ศ.1909) ฝีมือของ Georges Saulo (ค.ศ.1865-1945) ประติมากรคนเดียวกันกับที่ปั้นพระบรมรูปทรงม้า จากโรงหล่อ Susse Frres Fondeurs ในปารีส

และเหรียญที่ระลึกของพระราชโอรสองค์สำคัญที่ผลิตจากโรงกษาปณ์ Berlin ประเทศเยอรมนีอีก 2 เหรียญ คือ 1.เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีมหาไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธย (11-20 มกราคม ค.ศ.1887) สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร” ผลงานของ Friedrich Wilhelm Kullrich (ค.ศ.1821-87) และ Emil Weigand (ค.ศ.1837-1906) โดยมีหลวงปฏิบัติราชประสงค์ (Erwin Mller) เป็นผู้ช่วยดำเนินการจัดสร้าง 2.เหรียญที่ระลึกในพระราชพิธีเฉลิมพระสุพรรณบัฏ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ค.ศ.1889) ฝีมือของ Emil Weigand และ Otto Schultz (ค.ศ.1848-1911)

เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระสุพรรณบัฏ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (8 พรรษา) “กรมขุนเทพทวารวดี” (พระราชทานพระนามกรมตามชื่อเมืองตามแบบอย่างธรรมเนียมของราชวงศ์ในยุโรป)
“เหรียญจุกคู่” ที่ระลึกการเฉลิมพระสุพรรณบัฏ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ และเจ้าฟ้าจักรพงษภูวนารถ

ส่วนเหรียญที่เป็นผลงานของช่างชาวสยามมีปรากฏให้เห็นบนเหรียญจุกคู่ (ค.ศ.1892) ทั้ง 2 เหรียญ คือเหรียญที่ระลึกการเฉลิมพระสุพรรณบัฏ “เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ และเจ้าฟ้าจักรพงษภูวนารถ” กับเหรียญที่ระลึกการเฉลิมพระสุพรรณบัฏ “เจ้าฟ้าสมมติวงษ์วโรทัย และเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร” โดยทั้ง 2 เหรียญนี้ใช้รูปบุคคลที่ปรากฏอยู่บนด้านหน้าเหรียญร่วมกัน คือพระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงพระเยาว์ ทรงเครื่องโสกันต์ 2 พระองค์ เป็นรูปสัญลักษณ์ (เปลี่ยนเฉพาะพระนามที่ปรากฏบนเหรียญ)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรปเมื่อ ค.ศ.1914 ต่อมา ค.ศ.1917 สยามประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1917 และโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารอาสาจำนวนกว่าพันนายไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป

เมื่อทหารอาสาสยามเสร็จสิ้นภารกิจ เดินทางกลับถึงพระนครเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม และวันที่ 21 กันยายน ค.ศ.1919 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “เหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป” แก่ทหารอาสาสยาม (จำนวน 1,260 เหรียญ) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ และได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพล จากนั้นพระราชทาน “เหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป” แก่ทหารอาสาทุกนาย

แต่ราชสำนักสยามในขณะนั้นขาดแคลนประติมากรผู้สร้างสรรค์ผลงานรูปเหมือนบุคคลตามหลักวิชาศิลปะแบบตะวันตก (หลังจากที่ Alfonso Tonarelli และ Vittorio Novi หมดสัญญาและเดินทางกลับอิตาลีใน ค.ศ.1916) รัฐบาลสยามจึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลอิตาลีให้ช่วยจัดหาประติมากรมาปฏิบัติงานในสยาม โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการสรรหา และคัดเลือก

“เหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป” ที่พระราชทานให้แก่ทหารอาสาสยามนั้นมี 2 แบบ ด้วยกันคือ

เหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปแบบที่ 1 พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็ก บนเหรียญด้านหน้า มีลักษณะและรูปแบบทางศิลปกรรมคล้ายกับฝีมือช่างไทยที่ยังไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะของพระพักตร์ออกมาให้สมจริงตามหลักกายวิภาคได้ ตราพระราชลัญจกรที่ด้านหลังของเหรียญนั้น จัดวางลวดลายเป็นระเบียบเรียบร้อย ประณีตบรรจง ตามขนบประเพณี ส่วนลายประกายสายฟ้าใช้เทคนิคเซาะร่องให้เกิดลวดลาย (หรือที่ในวงการนักสะสมเหรียญเรียกว่า “สายฟ้าจม”)

ภาพเปรียบเทียบเหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปทั้ง 2 แบบ ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์ไปเบื้องซ้าย กับพระบรมฉายาลักษณ์ต้นฉบับ, ด้านหลังเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รูปวชิระเปล่งรัศมีเป็นประกายสายฟ้า ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าเหนือพระแท่น ขนาบข้างด้วยเบญจปฎลเศวตฉัตร กับภาพลายเส้นพระราชลัญจกรฝีพระหัตถ์สมเด็จครู

เหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปแบบที่ 2 องค์ประกอบต่างๆ ของพระบรมรูปที่ปรากฏบนเหรียญด้านหน้ามีรายละเอียดของสัดส่วนชัดเจน ลงตัวเหมาะสมกลมกลืนไปกับรูปทรงของพระพักตร์ แลดูมีชีวิตชีวา เครื่องประดับยศแลดูมีพลัง องอาจสง่างาม ตราพระราชลัญจกรที่ด้านหลังของเหรียญดูไม่ค่อยเป็นแบบแผน หรือพิถีพิถันประณีตเท่าแบบที่ 1 แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วในการขึ้นรูป ลวดลายที่เกิดขึ้นแลดูเป็นอิสระ แต่ด้วยปริมาตร (Volume) และการวางสมดุลขององค์ประกอบที่พอเหมาะ ทำให้องค์วัชระแลดูโดดเด่น เปล่งประกาย

เหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปแบบที่ 1 นั้น สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของช่างชาวสยาม ส่วนเหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปแบบที่ 2 นั้นสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของ ศิลป์ พีระศรี ส่วนจิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ ใช้อะไรเป็นเหตุผล หรือหลักฐานอะไรในการตัดสินเช่นนั้น ขอได้โปรดติดตามอ่านในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายนนี้

วิภา จิรภาไพศาล
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image