250 ปี ‘เสียกรุง’ พระเอก ผู้ร้าย และเค้กชิ้นใหญ่ของ ‘อยุธยา’

การจัดระเบียบแผงค้าเป็นปัญหาเรื้อรังนับสิบปี

พระพุทธศักราชได้สองพันห้าร้อยหกสิบพระวัสสาในปีนี้

ครบรอบพอดิบพอดีกับการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310

การศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐสำคัญแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา และการดูแลมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งนี้ ควรเดินหน้าไปในทิศทางใด ?

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า สิ่งที่อยากเห็นคือ การที่สังคมไทยรู้เท่าทันอำนาจของประวัติศาสตร์ อย่ามองใครเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย และคาดหวังว่าการศึกษาไทยในอนาคตจะเป็นดังเช่นอุดมคติเชิงวิชาการของตน

Advertisement

“ถ้าย้อนเวลาได้ ไม่อยากให้กรุงศรีอยุธยาเสียกรุง เพราะคุณอุบลจะได้ไม่ถูกคุณอัคนีฆ่าตายเพื่อเฝ้าสมบัติ และคนไทยคงไม่มีปมอคติต่อพม่า ฟังดูตลก แต่ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์มันคือสายโซ่ของความต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบันก็จริง ทว่าเราแก้ไขอดีตไม่ได้หรอก มันเป็นแค่จินตนาการที่แก้ความรู้สึกบาปหรือผิดพลาด หน้าที่ของเราคือทำความเข้าใจอดีตเพื่อนำทางเราสู่อนาคตที่ดีกว่า

สิ่งที่อยากเห็นตามอุดมคติแบบนักวิชาการก็คือ อยากให้สังคมไทยรู้เท่าทันอำนาจของประวัติศาสตร์ที่กำกับความคิดของเราให้รักใครหรือเกลียดใคร ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องพม่าเท่านั้น แต่รวมถึงการมองว่าใครเป็นพระเอกหรือเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทยด้วย หวังว่าการตระหนักรู้ปัญหาเช่นนี้ในอนาคตจะปรากฏในระบบการเรียนการสอนของไทยในไม่ช้า”

ส่วนปัญหาเรื้อรังอย่างการจัดการอยุธยาในฐานะมรดกโลก ซึ่งได้รับ “สัญญาณเตือน” จากยูเนสโกมาหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุด ในช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา สัญญาณเตือนเหล่านี้จะแก้ไขกันอย่างไร อาจต้องย้อนไปที่สาเหตุของปมปัญหา

Advertisement
หนังสือพิมพ์รายวัน พ.ศ. 2499 เรื่องการลักลอบขุดกรุ ทำให้สัมคมไทยหันมาสนใจอยุธยาในฐานะเมืองเก่าที่ร่ำรวยอารยธรรมอีกครั้ง
หนังสือพิมพ์รายวัน พ.ศ. 2499 เรื่องการลักลอบขุดกรุ ทำให้สัมคมไทยหันมาสนใจอยุธยาในฐานะเมืองเก่าที่ร่ำรวยอารยธรรมอีกครั้ง

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง แจกแจงว่า อยุธยาเหมือน “ขนมเค้ก” ชิ้นโต เพราะมีผลประโยชน์เรื่องการท่องเที่ยวมาเกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะกรมศิลปากร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และอื่นๆ ทั้งปมปัญหาและการแก้ไขจึงมีมิติที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น เว้นแต่ประเด็นที่ชัดเจน เช่น ปัญหาการบูรณะโบราณสถานที่ถูกสะกิดว่าซ่อมผิดแบบ ซึ่งแน่นอนว่ากรมศิลปากรต้องรับไป

เรื่องของ "ชาวบ้าน" ถูกละเลยในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์อยุธยา (จิตรกรรมวัดเขียน อ่างทอง ภาพจากหนังสือ อยุธยา โดยมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย)
เรื่องของ “ชาวบ้าน” ถูกละเลยในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์อยุธยา (จิตรกรรมวัดเขียน อ่างทอง ภาพจากหนังสือ อยุธยา โดยมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย)

ส่วนปัญหาที่พยายามแก้ไขกันมานานนับปีอย่างเรื่องการจัดระเบียบแผงค้า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ถึงกับเผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊ก ขอให้นักท่องเที่ยวซื้อของจากร้านค้า อย่าช้อปปิ้งจากแม่ค้าเร่

อาจารย์บอกว่า ดูเผินๆ เหมือนเป็นปัญหาหยุมหยิม แต่แก้ไขยาก เพราะสังคมอยู่กับแม่ค้าหาบเร่ มองในมุมย่อยคือบางวัดที่ไม่ใช่วัดร้าง ก็มีแผงของวัด รวมถึงแม่ค้าหาบเร่ของวัดอีกต่างหาก

วนกลับมาปิดท้ายที่เรื่องของการศึกษา นักประวัติศาสตร์ท่านนี้ระบุว่า อยุธยาในแบบเรียน มีแต่การรบราฆ่าฟัน ไม่มีวิถีชีวิตและความคิด ความเชื่อของผู้คน ใครไปเที่ยวอยุธยา ก็มักได้ฟังการบรรยายเพียงว่า เจดีย์ หรือวัดนั้นๆ ถูกสร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์พระองค์ใด และการถูกพม่าเผาทำลายจนพินาศ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงมายาคติที่คลาดเคลื่อน

“สิ่งที่ต้องมองในการครบรอบ 250 ปีจากวันที่กรุงศรีอยุธยาแตก คือการนำประวัติศาสตร์มาใช้ว่ามันคือบทเรียน ต้องระวังการเน้นย้ำเรื่องความเกลียดชัง การระบบภายในสังคมอยุธยาตอนปลายก่อนเสียกรุงก็เหมือนฝีที่เป่งเต็มที่ สะกิดนิดเดียวก็แตก ควบคุมเลกไพร่ไม่ได้ พม่าตีกรุงศรีอยุธยาจริง แต่ไม่ได้เผาจนวอดวายทั้งหมด ข้อมูลและความเข้าใจในชุดนี้ถูกสร้างขึ้นทีหลังในช่วงไม่ถึง 100 ปีที่ผ่านมา เป็นมายาคติที่ควรได้รับการแก้ไข เราต้องมองว่า กับประเทศเพื่อนบ้าน ควรรักกันให้ได้เสียที”

เหล่านี้คือความเห็นของนักประวัติศาสตร์ที่วาดหวังต่อสังคมไทย แน่นอนว่าไม่ง่าย แต่คงไม่ยากเกินไป หากเริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้

 พระสงฆ์ จากบันทึกลาลูแบร์
พระสงฆ์ จากบันทึกลาลูแบร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image