คารวะ ‘จิ๋ว บางซื่อ’ : คอลัมน์ โลกสองวัย

แพทย์หญิง โชติศรี ท่าราบ “จิ๋ว บางซื่อ”

จากพ่อแม่ผู้ปกครองมาถึงคุณครูของน้องหนู

กระทรวงศึกษาธิการเคยมีคำสั่งห้ามใช้ไม้เรียวลงโทษนักเรียนมานานหลายปีแล้ว และยังไม่ยกเลิกคำสั่งนั้น แต่ยังมีครูลงโทษนักเรียนด้วยการใช้ไม้เรียว หรืออุปกรณ์อย่างอื่นลงโทษนักเรียน

รายล่าสุด เมื่อปลายปี นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 อายุ 9 ขวบ ถูกครูลงโทษด้วยการใช้ไม้เรียวตีบริเวณแผ่นหลังจนแตกทั้งแผ่นหลัง ไม่ต้องรู้ว่าถูกลงโทษด้วยการทำความผิดอะไรก็ได้ เพราะเมื่อนักเรียนทำผิด จะลงโทษด้วยการตีนักเรียนกระทำไม่ได้และมีความผิดอยู่แล้ว

การลงโทษเด็กด้วยการตี ไม่ว่าจะตีด้วยอะไร ไม้เรียว หรืออุปกรณ์ที่อยู่ในมือครู ด้วยฝ่ามือของครู หรือด้วยเท้าเตะ หรือด้วยอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของครูที่กระทำกับนักเรียน ไม่ว่ากรณีใด ครูย่อมมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายนักเรียน ต้องได้รับโทษทางกฎหมายอาญา นักเรียนหรือผู้ปกครองฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ฐานละเมิด และครูต้องถูกลงโทษทางวินัยมีโทษถึงไล่ออก ไม่มีบำเหน็จบำนาญ อีกโสดหนึ่ง

Advertisement

เรื่องการลงโทษตีนักเรียนด้วยไม้เรียว แม้จะมีมานาน มีข้ออ้างจากผู้ใหญ่หลายคนในยุคสมัยนี้ว่าได้ดีเพราะไม้เรียวครู ทุกครั้งที่มีงานชุมนุมนักเรียนเก่า ทั้งเป็นเฉพาะรุ่น ทั้งเป็นของโรงเรียน บรรดาผู้ได้ดีมียศฐาบรรดาศักดิ์ มักจะพูดคุยต่อหน้าต่อตาเพื่อนและคุณครูว่าที่มีวันนี้ได้เพราะคุณครูอบรมสั่งสอนมา

อดีตนักเรียนที่ได้ดีเหล่านั้น ไม่เคยรู้หรือแกล้งไม่รู้ว่า เพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกันที่สอบตกซ้ำชั้นเรียน ต้องตกระกำลำบาก เพราะถูกลงโทษไม่เว้นแต่ละวัน ด้วยเหตุที่ทำเลขผิด ไม่ส่งการบ้าน อาจเกเรหนีโรงเรียนบ้าง หลายคนมีอาชีพธรรมดาทั่วไป ไม่เคยมางานโรงเรียน เพราะไม่มีฐานะทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป พ่อแม่ผู้ปกครองยุคหลังใหญ่กว่าครูไม่ว่าจะเป็นครูน้อยหรือครูใหญ่ จะมาตีลูกนายพลนายพันได้อย่างไร จนคุณครูต้องเกรงใจและเกรงกลัวนายพลนายพัน นักการเมืองคนนั้น ไม่กล้าตีเด็ก

ตั้งแต่นั้น กระทรวงศึกษาธิการสั่งเลิกลงโทษด้วยไม้เรียว ไม่ใช่เพราะได้ดีหรือไม่ได้ดีด้วยไม้เรียว

แต่เพราะครูสมัยหลังลงโทษนักเรียนด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล จึงเกิดเหตุใช้ไม้ตีเด็ก 9 ขวบหลังแตก

บอกมาให้คุณครูรู้ว่า วิธีลงโทษมีหลายร้อยวิธี และการตีนักเรียนมีโทษทั้งอาญา แพ่ง และวินัยครับ

อนึ่ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม ขึ้นปีใหม่ 2560 พวกเราชาวโลกสองวัยที่สำนักมติชน ได้รับทราบข่าวด้วยใจอันสงบว่า แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ คุณหมอที่พวกเราให้ทั้งความรัก ความเคารพ ได้จากพวกเราและแฟนข้อเขียนทั้งเรื่องเพลงและเรื่องภาษาไปแล้วเมื่อเวลา 03.00 น. วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม ก่อนวันส่งท้ายปีเก่า 2559 เพียงวันเดียว สิริอายุ 97 ปี 2 เดือน 24 วัน

คุณหมอเป็นทั้งแพทย์ และนักเขียนหลากหลายนามปากกา ตั้งแต่ “จิ๋ว บางซื่อ” ใช้เขียนเรื่องดนตรีในคอลัมน์กลางกรุง นิตยสารชาวกรุง เขียนเรื่องสั้นในนาม “ณ เพ็ชรภูมิ” เขียน “ยามภาษา” ในชื่อ “เนือง” และอื่นๆ ในนาม “หนูเหน็ง” “แกลตา” เป็นต้น

หนังสือ “หมอเพลงบรรเลงภาษา 90 ปี โชติศรี ท่าราบ” เรื่อง “แม่หมอของคนยาก” ขรรค์ชัย บุนปาน บันทึกไว้ว่า “แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ มีชื่อเล่นว่า จิ๋ว เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2462 ตรงกับล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นลูกสาวพระยาสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)…”

เป็นประวัติที่อ่านสนุก รู้เรื่องทั้งประวัติหมอจิ๋ว ประวัติการทำงานบางเวลาของผู้เขียน และประวัติที่เกี่ยวข้องกับคุณหมอ เรื่องของญาติ เรื่องของงานเขียน และเรื่องของนามปากกาที่มีนามปากกาของบางคนล้อเลียนไว้ด้วย

ขรรค์ชัย จบประวัติคุณหมอ “จิ๋ว บางซื่อ” ในหนังสือ “หมอเพลงบรรเลงภาษาฯ” ไว้ว่า

“ธรรมที่ไม่ต้องนิยาม อันเป็นขุมปัญญาแท้ชนิดเช่นนี้

“ผู้เยาว์ประเภทนักเลงหนังสือข้างถนนอย่างผมยินดีเปิดหมวกค้อมหัวจดพื้นให้ 3 ครั้ง”

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ขอน้อมคารวะคุณหมอไว้ ณ ที่นี้ด้วยคนหนึ่งขอรับกระผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image