คืบหน้าแต่เต็มไปด้วย‘หลุมพราง’ 7 ปี‘ทวงคืน’โบราณวัตถุชาติ สรุปสถานการณ์ 2560-66

ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และเขาโล้น ถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมี อิทธิพล คุณปลื้ม เจ้ากระทรวง วธ. เป็นประธานบวงสรวง เมื่อ 31 พฤษภาคม 2564

ในช่วงปี 2559-60 ได้มีการรณรงค์โดยกลุ่มนักวิชาการอิสระและชาวบ้านในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา และสระแก้ว ให้รัฐบาลทวงคืนโบราณวัตถุของชาติหลายชิ้นที่ได้ถูกลักลอบขุด หรือขโมยออกจากโบราณสถานของชาติและได้ถูกลักลอบส่งออกไปยังต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย สื่อมวลชนทุกแขนงได้ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกับสื่อมวลชนจัดสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องของพระประติมากรรมสำริดกลุ่มประโคนชัยหลายองค์ ที่ถูกลักลอบขุดออกไปจากปราสาทปลายบัด 2 จังหวัดบุรีรัมย์ ในปี พ..2507 และได้ไปปรากฏแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายแห่งในอเมริกา 

โพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จากเขาปลายบัด บุรีรัมย์ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก หนึ่งในรายการ ‘ทวงคืน’

พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2560 แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ได้มีการเรียกร้องจากภาคประชาสังคม นั่นคือ คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย มีกรรมการรวม 32 ท่าน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน และมีอธิบดีกรมศิลปากรเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 

ในปี 2561 การดำเนินการของคณะกรรมการภายใต้การนำของ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น ได้มีมติที่ประชุมคณะกรรมการฯให้ทวงคืนทับหลัง 2 ชิ้น นั่นคือ ทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้นที่โด่งดังมาจากการเรียกร้องของภาคประชาสังคม โดย อนันต์ ชูโชติอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ได้ส่งหนังสือฉบับที่ 1 ขอความร่วมมือผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ให้ดำเนินการประสานงานและทวงคืนทับหลัง 2 ชิ้นนี้ 

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแห่งชาติ หรือ Department of Homeland Security ซึ่งมีหน่วยงานย่อยชื่อ Homeland security investigation (HSI) มาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย 

Advertisement

หน่วยงานนี้ที่มีพันธกิจหนึ่งที่ติดตาม สืบสวน ดำเนินคดี (ร่วมกับอัยการกลาง) ในทางศาล เพื่อปราบปรามการค้าและครอบครองโบราณวัตถุผิดกฎหมายในประเทศของเขาอยู่แล้ว ภายใต้การดำเนินงานของนักสืบของ HSI ที่รับผิดชอบงานของประเทศไทย ในวันที่ 28 ..2564 ทับหลังสองชิ้นดังกล่าวถูกส่งกลับคืนมายังประเทศไทย 

ในต้นปี 2562 ในสมัยที่ วีระ โรจน์พจนรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้มีการส่งหนังสือถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกาฉบับที่ 2 เพื่อขอให้ประสานงานและทวงคืนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ รวม 32 รายการ จาก 7 พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักสืบของ HSI และอัยการกลางได้นำขึ้นสู่ขั้นศาลในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย และยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเบื้องต้นกับทั้ง 7 พิพิธภัณฑ์ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ต้องแสดงหลักฐานว่าเขามีหลักฐานการครอบครอง (Provenance) ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โบราณวัตถุตามรายการทวงคืนแต่ละชิ้นจะถือว่าถูกกฎหมายได้ก็ต้องมีหนังสืออนุญาตให้นำออกจากราชอาณาจักรไทยที่เซ็นรับรองโดยกรมศิลปากร ฯลฯ 

ในสมัยที่ อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและประธานคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย (10 ..2562-1 ..2566) ในช่วงกลางปี 2564 ก็ได้มีการชื่นชมกับการที่ไทยเราได้รับทับหลังสองชิ้นคืนมา อันเป็นผลงานของการทำงานของคณะกรรมการ แต่ไม่ได้มีการส่งหนังสือทวงคืนอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมอีก ในยุคของรัฐมนตรีอิทธิพล มีการเปลี่ยนอธิบดีกรมศิลปากร 3 คน คนแรกมาจากสายงานโบราณคดี คือ ประทีป เพ็งตะโก ซึ่งโฟกัสงานการทวงคืนโบราณวัตถุในระดับดีมาก 

Advertisement
แบรดเลย์ กอร์ดอน นักกฎหมายชาวอเมริกัน (ภาพถ่ายที่เกาะแกร์ กัมพูชา โดย Thomas Cristofoletti)

แทคติคเกี้ยเซี้ยของมิวเซียมในอเมริกา

ในช่วงต้นปี 2564 ทางมิวเซียมที่ครอบครองทับหลังปราสาทหนองหงส์และเขาโล้น พยายามติดต่อกับอธิบดีประทีป ขอเปิดการเจรจากับกรมศิลปากรโดยตรง ไม่ผ่าน HSI (คล้ายๆ จำเลยขอเกี้ยเซี้ยกับโจทก์ โดยไม่ผ่านหรือไม่ให้ทนายรู้) แต่ HSI ทราบว่ามิวเซียมจะมีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมา และ HSI ได้ยืนยันมาตลอดในการทำงานตามหนังสือทวงคืนของรัฐบาลไทยว่า เขากำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการนำมิวเซียมที่ครอบครองโบราณวัตถุของไทยตามแจ้ง ขึ้นสู่ขบวนการทางศาล ดังนั้น ทางมิวเซียมจะต้องเจรจากับ HSI เท่านั้น จะข้ามไปเจรจาเกี้ยเซี้ยกับรัฐบาลไทยไม่ได้ 

งานนี้อธิบดีประทีปรู้ทันเกมและไม่เปิดโอกาสให้มิวเซียมมาเจรจาโดยตรง หลังจากนั้นสักพักเมื่อ HSI พบว่ามิวเซียมมีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมาจริง จึงขอหมายศาลยึดทับหลังทั้งสองชิ้นมา และส่งต่อคืนให้รัฐบาลไทย 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อธิบดีประทีปเกษียณอายุราชการในปี 2564 จนถึงปัจจุบันเปลี่ยนอธิบดีแล้ว 2 คน โดยคนแรกคือ กิตติพันธ์ พานสุวรรณ อยู่เพียงหนึ่งปีก็เกษียณและมีการประชุมกรรมการติดตามฯเพียงครั้งเดียวในเดือนมิถุนายน 2565  

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2565 พนมบุตร จันทรโชติ ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร โดยยังไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการติดตามฯเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงปลายสมัยของรัฐบาลประยุทธ์ จึงพูดได้ว่าไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมการติดตามฯมารวม 1 ปี 3 เดือนโดยประมาณ 

ดังนั้น เป็นที่คาดหวังว่าเมื่อรัฐบาลใหม่เริ่มทำงาน เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนปัจจุบัน จะได้เรียกประชุม ศึกษางานและกิจกรรมการทวงคืนสมบัติชาติที่ผ่านมาว่า ในหนังสือทวงคืนฉบับที่ 2 ที่ HSI ดำเนินการอยู่นั้น ไปถึงไหนแล้ว

มิวเซียมทั้ง 7 เขามีแทคติคและลูกเล่นอะไรที่จะทำให้การเจรจาที่ HSI รับผิดชอบให้ไทยอยู่ เดินไปในทางไม่ตรงไปตรงมาในรูปแบบไหน หรือไม่? อย่างไร? 

ในกลุ่มของนักวิชาการอิสระที่ได้ทำงานประสานงานใกล้ชิดกับนักสืบของ HSI ที่รับผิดชอบการทวงคืนของไทยอยู่ ทราบมาว่า มีขบวนการล็อบบี้ให้อย่าทวง หรือจะขอเจรจาข้าม HSI อีก แทคติคต่างๆ เหล่านี้เป็นอะไรพื้นๆ ที่เขาใช้กันมากับหลายประเทศที่เคยทวงคืนโบราณวัตถุในอดีตหลายต่อหลายครั้ง และได้เคยมีการนำมาเปิดเผย หรือเขียนเตือนกันในมติชนรายวันก็หลายครา  

 

เจ้าหน้าที่สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐหรือ HSI ตรวจสอบทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น ก่อน
ส่งมอบแก่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เมื่อ 24 พฤษภาคม 2564

4 ปี บริบทโลกเปลี่ยน กฎหมายเอื้อทวงคืน 

อย่าให้เกิดเรื่องตลกระดับโลก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีปรากฏการณ์และกระแสใหม่ๆ เกิดขึ้นในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการทวงคืน การค้าโบราณวัตถุลักลอบขุดและผิดกฎหมายหลายอย่าง ที่ทำให้ขั้นตอนการทวงคืนโบราณวัตถุของชาติต่างๆง่ายขึ้นกล่าวคือ 

1.ข้อกฎหมายพื้นฐานในอเมริกาที่เอื้อการทวงคืน หรือการติดตามสืบสวนยึดคืนโบราณวัตถุผิดกฎหมายโดย HSI และอัยการกลาง ด้วยทางรัฐบาลกลางของอเมริกาได้สรุปว่า การค้าโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบขุด ขโมยและส่งออกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่รุ่มรวยอารยธรรมในอดีตอย่างผิดกฎหมาย มาเป็นตลาดการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายที่ใหญ่โตในประเทศของเขา เป็นแหล่งฟอกเงินและเลี่ยงภาษี โดยมีขั้นตอนที่มีมิวเซียมชั้นนำต่างๆ เป็นเสมือนตัวร่วมดำเนินการ ด้วยมิวเซียมในอเมริกาเกือบทั้งหมดเป็นองค์กรแบบ NGO หรือมีรูปแบบคล้ายๆ มูลนิธิ

ดังนั้น มิวเซียมจึงมีความต้องการรับบริจาคและบางครั้งซื้อโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลป์ โดยบุคคลทั่วไปสามารถซื้อโบราณวัตถุมาบริจาค แล้วมิวเซียมจะให้ภัณฑารักษ์ หรือนักวิชาการอื่นๆ มาตีราคาตลาด แล้วมิวเซียมออกหนังสือรับรองราคานั้นๆ ส่วนใหญ่แล้วพบว่าการตีราคาของจะสูงกว่าราคาซื้อขายจริงหลายเท่า หลักฐานนี้ผู้มอบของให้มิวเซียมนี้สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ และการตีราคาสูงเกินจริงนี้ผู้บริจาคอาจได้รับเงินลดหย่อนภาษีที่มากกว่าราคาซื้อจริง คือกลับทำกำไร เป็นต้น 

ดังนั้น รัฐบาลกลางของอเมริกาจึงมองว่านี่คือขบวนการฟอกเงินที่เขาต้องการปราบปราม หน่วยงาน HSI และอัยการกลางจึงได้รับหน้าที่ในการสืบสวนและปราบปราม 

กฎหมายของโจรที่มิวเซียมในอเมริกากลัว ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้อัยการได้นำกฎหมาย National Stolen Property Act หรือกฎหมายของโจรมาใช้กับการฟ้องร้อง โดยคร่าวๆ กฎหมายนี้ระบุว่า ผู้ครอบครองของที่ลักขโมยมาจะต้องนำเสนอหลักฐานมาแสดงว่าของนั้นๆ เขาได้ครอบครองอย่างถูกกฎหมาย มิได้เป็นของถูกลักขโมยมา (กฎหมายนี้เริ่มต้นถูกเขียนขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อนเพื่อแก้ปัญหาการขโมยรถยนต์แล้วนำรถนั้นไปอยู่ต่างรัฐ) ในปัจจุบันภาครัฐมักจะยังไม่นำข้อกฎหมายนี้มาใช้ในการเริ่มนำคดีขึ้นศาล เพราะบทลงโทษของ NSPA นี้มีบทลงโทษต่อผู้ครอบครองของที่ลักขโมยนี้สูงมาก คือถึงที่สุดแล้ว ถ้าผู้ครอบครองของโจรผิดจริงจะมีโทษถึงขั้นจำคุก ดังนั้น ถ้าเริ่มต้นบรรยายฟ้องด้วยกฎหมายนี้ ผู้ครอบครองโบราณวัตถุผิดกฎหมายในมิวเซียมตามกฎหมายคือกลุ่มคณะกรรมการ หรือบอร์ดของมิวเซียม ซึ่งจะก่อความวุ่นวายในระดับสูงแก่วงการมิวเซียมของอเมริกามาก ดังนั้น จึงมีขั้นตอนอะลุ่มอล่วยในเบื้องต้นของขั้นศาลที่ให้โจทก์และจำเลยไปพูดคุยเจรจากันเองก่อนถ้าไม่มีหลักฐานการครอบครองที่ถูกกฎหมายแล้วยังดื้อ ขั้นตอนทางศาลก็จะดำเนินไปถึงที่สุด บทลงโทษจะรุนแรงถึงขั้นผู้ครอบครองของโจรนี้ติดคุกได้

ดังนั้น คณะกรรมการติดตามฯ หรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธาน และอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการติดตามฯ จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถ่องแท้ มิฉะนั้น อาจจะกลายเป็นเหยื่อของขบวนการล็อบบี้จากกลุ่มมิวเซียมทั้ง 7 ชักจูงให้ไปสมยอมเกี้ยเซี้ย ข้าม HSI และอัยการกลางที่กำลังทำงานในนามรัฐบาลอเมริกาที่รัฐบาลไทยเราขอความร่วมมือไปอย่างเป็นทางการ 

ถ้าการเกี้ยเซี้ยนี้เกิดขึ้นจริงก็จะเป็นตลกระดับโลก และเป็นที่กล่าวขวัญอ้างอิงกันโดยสื่อใหญ่ต่างประเทศที่กำลังติดตามกรณีการทวงคืนของไทยเราอยู่ เช่น Denver post, New York Times, ABC, BBC เป็นต้น

2.ตั้งแต่มีเรื่องข้อมูลลับระดับโลกรั่ว ตั้งแต่เรื่อง WikiLeaks ตามมาด้วยข้อมูลลับจาก Pandora paper กลุ่มนักหนังสือพิมพ์และนักข่าวระดับโลกได้ตั้งเครือข่ายการสืบสวนสอบสวนเฉพาะเรื่องที่เรียกตัวเองว่า International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) ตั้งเว็บไซต์ทำงานสืบสวนสอบสวนและตีพิมพ์เปิดเผยเรื่องลับๆ ของขบวนการมิจฉาชีพ คอร์รัปชั่น และขบวนการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายที่ทำให้ข้อมูลลับของพ่อค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมาย ขบวนการค้าและเชื่อมโยงในและระหว่างประเทศได้ถูกเปิดเผยและขยายผลโดยสื่อระดับโลก เช่น BBC และ ABC นำไปสู่การจับ ยึด คืนโบราณวัตถุอย่างกว้างขวางทั่วโลก

โฉมหน้าของผู้ที่เป็นตัวจักรใหญ่ที่ลักลอบส่งโบราณวัตถุสมบัติชาติที่ถูกลักลอบขุด หรือขโมยออกจากกัมพูชา หรือของไทยเราไปยุโรปและอเมริกาที่เป็นชาวอังกฤษและฝังตัวทำธุรกิจเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทยมาร่วม 50 กว่าปีได้ถูกเปิดเผย นั่นคือ ดักลาช แลชฟอร์ด ซึ่งมีชื่อไทยว่า ภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์ (เสียชีวิตไป 3 ปีแล้ว) เขาเป็นผู้ค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมาย ที่เมื่อ 4-5 ปีก่อนอัยการกลางที่รัฐนิวยอร์กได้ฟ้องศาลดำเนินคดีข้อหาค้าของโจร และทำใบสำแดงการครอบครองโบราณวัตถุที่เป็นเท็จโดยมี เอ็มม่า บังเกอร์ (เสียชีวิตไป 2 ปีเศษแล้ว) อดีตภัณฑารักษ์ของ Denver Art Museum เป็นผู้ร่วมสมคบ 

กลุ่ม ICIJ ได้สืบสวนและรายงานว่า ดักลาสได้ตั้งบริษัทบนเกาะเวอร์จินเพื่อฟอกเงินหนึ่งบริษัท และเป็นบริษัทรองรับเก็บโบราณวัตถุที่ครอบครองอีกหนึ่งบริษัท 

การเปิดเผยของ ICIJ ได้ทำให้บุตรสาวของเขา คือ Julia Copleston หรือ นวพรรณ เกรียงศักดิ์ ผู้รับมรดกที่มีเก็บอยู่ที่บ้านในกรุงเทพฯและลอนดอน ประกอบด้วยโบราณวัตถุจากกัมพูชา (และอาจจะมีของศิลปะขอมจากดินแดนไทยด้วย) ทั้งหินแกะสลัก สำริด และเครื่องประดับทองคำ ฯลฯ รวม 125 ชิ้น สมัครใจยินยอมมอบของคืนให้กับประเทศกัมพูชา โดยมีการเจรจากับ แบรดเลย์ กอร์ดอน (Bradley Gordon) นักกฎหมายชาวอเมริกันผู้มีบริษัทกฎหมายในกัมพูชา โดยได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลกัมพูชาให้เป็นหัวหน้าทีมทวงคืนโบราณวัตถุของชาติที่ถูกลักลอบนำออกไปจากประเทศ 

แผ่นบุทองรูปพระวิษณุ จากเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์ ที่จ่อขึ้นแท่นมรดกโลก
ส่วนหนึ่งของรายการทวงคืนจากพิพิธภัณฑ์ที่ชิคาโก ในสหรัฐ

ฝากรัฐมนตรีวัฒนธรรมคนใหม่ คุยแบรดเลย์ กอร์ดอน

ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อรับของร้อยกว่าชิ้นนี้ แบรดเลย์ได้เจรจาขอข้อมูลทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ รวมถึงบัญชีอีเมล์ และการทำธุรกรรมของแลชฟอร์ด ซึ่งประสบความสำเร็จ ข้อมูลต่างๆ ของแลชฟอร์ดเป็นประโยชน์แก่กิจกรรมทวงคืนฯของกัมพูชามาก เมื่อเดือนที่ผ่านมามิวเซียมใหญ่ในออสเตรเลียยอมจำนนต่อหลักฐานในอีเมล์ของแลชฟอร์ด ที่ระบุว่า ประติมากรรมสำริดสมัยจาม ที่ถูกลักลอบขุดไปจากจังหวัดตะบองขมุม กัมพูชา มีแลชฟอร์ดเข้ามาเกี่ยวข้องและเขาเป็นคนขายให้กับมิวเซียมนี้ โดยมีข้อแม้ว่าทางมิวเซียมต้องไม่เปิดเผยชื่อของเขาว่าเป็นผู้ขาย 

แบรดเลย์ได้ประสานงานใกล้ชิดกับ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ หนึ่งในกรรมการติดตามฯ ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหอกการทวงคืนโบราณวัตถุในฐานะนักวิชาการอิสระ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปพนมเปญในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ และได้มีโอกาสทานข้าวเย็นร่วมกับแบรดเลย์ เขาได้เปิดอกคุยว่า เขายินดีที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทย และยินดีที่จะพบปะพูดคุยกับทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อร่วมมือกันทวงคืนสมบัติชาติของแต่ละประเทศ 

ที่ผ่านมาเขาได้พบและแชร์ข้อมูลบางส่วนกับนักสืบของ HSI ที่ดูแลงานของกัมพูชาและไทย มีจิตใจที่เปิดเผยและหวังดีต่อการทำงานทวงคืนฯของทั้งไทยและกัมพูชา

ฝากท่านรัฐมนตรีเสริมศักดิ์พิจารณาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเรียนรู้ขบวนการทวงคืนฯของกัมพูชาที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และนำทีมการทวงคืนฯโดยแบรดเลย์นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image