โฉมหน้า ‘ขาขึ้น’ สื่อกระดาษ แสงที่วาบขึ้นกลางวิกฤต

ท่ามกลางกระแสขาลงของสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลก ในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ไทยเองก็เกิดภาพสะท้อนผ่านการปิดตัวของนิตยสารหัวต่างๆ ยิ่งสร้างความหวาดหวั่นให้คนในวงการสื่อเมื่อหนังสือพิมพ์เก่าแก่เกือบครึ่งศตวรรษประกาศปิดตัวไปเป็นรายแรก

รวมไปถึงการประกาศตัวเลขผลกำไรที่ไม่น่าพิสมัยนักสำหรับบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ โดยปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และการเติบโตอย่างรวดเร็วของสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าผ่านทางสมาร์ทโฟน

ขณะที่สื่อกระดาษกำลังตายลงอย่างช้าๆ สำนักข่าวหลายหัวมีการปรับตัวเน้นมาทำตลาดในช่องทางออนไลน์มากขึ้น เมื่อจำนวนของลูกค้าที่เข้าถึงหนังสือพิมพ์น้อยลงไปทุกวัน

กระทั่งในวันประกาศผลลอตเตอรี่ บรรดานักเสี่ยงโชคไม่จำเป็นต้องตรวจเลขผ่านกระดาษหนังสือพิมพ์อีกต่อไป เพียงแค่ใส่คำค้นหาในมือถือ รูดนิ้วไม่กี่ครั้งบนหน้าจอสัมผัสก็สามารถเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ต้องให้นิ้วเปรอะหมึก

Advertisement

ที่สำคัญ การมาถึงของสื่อออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์ ทำให้หลายคนไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าน้ำมันรถตระเวนหาร้านขายหนังสือพิมพ์ที่เริ่มน้อยลงไปทุกวัน

โฆษณาบนสื่อกระดาษยังเย้ายวนเสมอ

สื่อหลายสำนักทั่วโลกพยายามหาทางออกและทางรอดให้กับธุรกิจสื่อ บ้างหันมาลงทุนมากขึ้นในออนไลน์ บ้างบอกละทิ้งกระดาษหันสู่โลกออนไลน์เต็มตัวเช่น นิตยสารนิวส์วีก (Newsweek) นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ชื่อดังจากสหรัฐอายุกว่า 80 ปี ตัดสินใจยกเลิกฉบับกระดาษและผลิตข่าวผ่านสื่อดิจิทัลเพียงอย่างเดียวในปี 2555

แต่ในปี 2557 เมื่อนิตยสารนิวส์วีกเปลี่ยนมือไปเป็นของบริษัทไอบีทีมีเดีย ผู้ผลิตสื่อออนไลน์ก็ตัดใจส่งนิวส์วีกกลับสู่สนามรบสิ่งพิมพ์อีกครั้ง โดยมีเหตุผลหลักเรื่องการขายโฆษณาบนหน้าสิ่งพิมพ์ที่ดึงดูดใจมากกว่าโฆษณาบนโลกไซเบอร์ และแน่นอนว่าทำกำไรได้มากกว่า

Advertisement

นอกจากเรื่องการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลแล้ว การหาวิธีดึงโฆษณาบนหน้ากระดาษไม่ให้หายไปยังเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยผลักดันขับเคลื่อนสื่อสิ่งพิมพ์ให้มีลมหายใจอยู่ ดั่งที่เห็นว่าหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั่วโลกขยับมาทำหนังสือพิมพ์ฟรีแจกตามจุดที่คนพลุกพล่าน

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่สื่อต้องปรับตัวเช่นนี้ ยังคงจะมีอีกหลายกลยุทธ์หลายกระบวนท่าที่ต้องขุดมาใช้กันให้เห็นต่อไป

003

อนาคตที่สดใสของสื่อสิ่งพิมพ์อเมริกาใต้

ทั้งนี้ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ยังมีศักยภาพพอที่ดำเนินกิจการต่อ โดยไม่จบชีวิตลงอย่างรวดเร็วเมื่อเจอความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เหมือนการส่งโทรเลขที่ตายลงอย่างสมบูรณ์แบบในยุคที่การติดต่อสื่อสารช่องทางอื่นทำได้รวดเร็วและมีราคาถูกกว่า

ในรายงาน แนวโน้มธุรกิจสื่อโลกพีดับเบิลยูซี 2016-2020 : ผ่านแนวโน้มสำคัญ 6 ประการ (PwC’s global media outlook 2016-2020 : six key trends) ของบริษัทพีดับเบิลยูซี หรือไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ระบุว่ารายได้ของสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกจะมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับสื่อสิ่งพิมพ์ในทวีปอเมริกาใต้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

และในรายงานยังระบุต่อว่า ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีตัวเลขการเติบโตด้านการลงทุนในสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่าตัวเลขจีดีพี รวมถึงกลุ่มประเทศละตินอเมริกาที่มีตัวเลขการเติบโตด้านการลงทุนธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใกล้เคียงกันทั่วภูมิภาค

ขณะที่ประชากรในเมืองแถบละตินอเมริกามีการขยายตัว มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ตลาดผู้อ่านกว้างขึ้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลของสหประชาชาติว่า ภายในปี 2563-2593 ประชากรร้อยละ 90 ของบราซิลจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และร้อยละ 89 ของจำนวนประชากรในอาร์เจนตินา ชิลี และอุรุกวัย จะเริ่มใช้เมืองใหญ่เป็นฐานการอยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเมืองคือการแจกหนังสือพิมพ์ฟรีสำหรับชาวเมืองผู้ต้องใช้เวลาเดินทางระหว่างบ้านและที่ทำงานโดยรถประจำทาง

ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ดูมีแนวโน้มสดใสในกลุ่มประเทศเหล่านี้ เว็บไซต์ Trendwatching.com ระบุว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศที่มีวัฒนธรรมละตินอเมริกา ยกตัวอย่างหนังสือพิมพ์ ADN ของโคลอมเบีย มีการอัดโฆษณาและการจัดรายการวิทยุออกอากาศบนรถประจำทางสายทางไกลที่เชื่อมระหว่างกรุงโบโกตาเมืองหลวงโคลอมเบียกับชานเมือง เพื่อจับกลุ่มคนเมืองที่เดินทางโดยรถประจำทางทุกวัน ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเรื่องที่จัดรายการมักจะเป็นเรื่องที่คนเมืองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงินการออมส่วนบุคคล ภาษาอังกฤษ และเรื่องเพศศึกษา ล้วนแล้วเป็นประเด็นที่สามารถอ่านต่อได้ในหนังสือพิมพ์ของค่าย ADN

นับเป็นการปรับตัววิธีหนึ่งที่ดึงเอาสื่อวิทยุเข้ามาร่วมด้วย

แต่ก็ใช่ว่าอนาคตจะดูสดใสไปเสียหมด เพราะสื่อบางหัวในอเมริกาใต้ ตามรายงานจากศูนย์วิจัยไนท์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส (Knight center) เผยว่าหนังสือพิมพ์เก่าแก่ ลา นูเอวา La Nueva ในอาร์เจนตินา รับมือกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อคนอ่านเคลื่อนย้ายไปสู่ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยเริ่มจากลดตัวเลขการพิมพ์สำหรับหนังสือพิมพ์ที่วางขายวันเสาร์ อาทิตย์ และจันทร์ รวมถึงใช้เนื้อข่าวจากนักข่าวอิสระมากขึ้นเพื่อลดรายจ่ายในการจ้างนักข่าว

ฟรีก๊อบปี้ อนาคตสื่อสิ่งพิมพ์?

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือการแจกจ่ายหนังสือพิมพ์ฟรีในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งในกรุงเทพฯเองก็สามารถหาได้ไม่ยากตามสถานีรถไฟฟ้า แต่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในออสเตรเลียอาศัยกลยุทธ์มากกว่านั้น โดยสำนักข่าวเอบีซีรายงานอย่างน่าสนใจว่า หนังสือพิมพ์คาโนวินดรา ฟินิกซ์ สื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองเล็กๆ ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ที่ตีพิมพ์ราว 1,300 ฉบับต่อสัปดาห์ ใช้กลยุทธ์ที่สำคัญคือ ส่งตรงถึงบ้านฟรีทุกวัน ดังนั้น ชาวนาชาวไร่ที่อยู่ไกลตัวเมืองออกไปต่างได้รับหนังสือพิมพ์แจกฟรีเหมือนกับคนเมืองทุกประการ

01 ภาพ AP

สิ่งพิมพ์อินเดียพุ่งต่อเนื่อง ไม่แคร์โลก

แม้สื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกกำลังพยายามเอาตัวรอดจากวิกฤตรอบนี้ด้วยกลยุทธ์อันหลากหลาย แต่ในบางประเทศสื่อกระดาษกลับโตสวนทางไม่เกรงใจกระแสโลก

และตัวเอกที่สำคัญของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์คือประเทศอินเดีย โดยสำนักข่าวดิ อีโคโนมิสต์ รายงานถึงตัวเลขการเติบโตในสื่อสิ่งพิมพ์ว่าโตถึงร้อยละ 8 ในช่วงปี 2557-2561 สวนทางกับหลายประเทศ

ทั่วโลก ประกอบกับตัวเลขการเติบโตของโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ที่ตัวเลขการลงทุนโตกว่าร้อยละ 43 และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต

ดูเหมือนว่าภาพของสื่อหนังสือพิมพ์ในอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วท่ามกลางโลกที่พัฒนาด้วยความแรงของอินเตอร์เน็ตที่ดูสดใส ซึ่งในรายงานของดิ อีโคโนมิสต์ อ้างรายงานผลสำรวจการอ่านของอินเดียประจำปี 2557 ว่าเหตุผลที่สื่อสิ่งพิมพ์เติบโตส่งผลมาจากการอ่านออกเขียนได้ที่เพิ่มขึ้น บวกกับประชากรที่มากมายกว่า 1,200 ล้านคน ประกอบกับความน่ารำคาญของเว็บไซต์อินเตอร์เฟซ หรือพื้นที่บนหน้าเว็บไซต์ของสำนักข่าวที่มีทั้งการโฆษณารบกวนบดบังเนื้อหาข่าว ลิงก์ข่าวปลอม รวมไปถึงลิงก์ที่เสียอยู่บ่อยๆ

และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการนำเสนอข่าวผ่านทีวีมักจะดูไม่น่าเชื่อถือ ทำให้หนังสือพิมพ์กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับคนที่ต้องการหาความจริงในข่าว

สื่อหนังสือพิมพ์ในอินเดียยังมีเสน่ห์อยู่ตรงที่ว่า ผู้อ่านสามารถตัดรายการโปรโมชั่นลดราคาสินค้าด้านหลังของหนังสือพิมพ์ไปใช้และยังสามารถเอากระดาษหนังสือพิมพ์เก่าไปขายได้

หนังสือพิมพ์ยังมีค่าทางวัฒนธรรมและสังคม เนื่องจากยังมีชาวอินเดียอยู่มากที่ชื่นชอบการนั่งอ่านข่าวบนหน้ากระดาษข้างถนนที่จอแจเต็มไปด้วยผู้คน

ดูเหมือนว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะยังไม่ลาโลกนี้ไปง่ายๆ แม้ว่าความรวดเร็วของข่าวสารบนโลกออนไลน์จะมัดใจคนหมู่มากได้ แต่ความถูกต้อง แม่นยำ ความน่าเชื่อถือ และเสน่ห์ของการละเลียดข่าวผ่านการพลิกหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ดูเหมือนว่าจะยังไม่เสื่อมคลายเหมือนกับชะตากรรมของธุรกิจสิ่งพิมพ์

แต่กระนั้น ในสังคมที่ผู้คนอ่านแค่หัวข้อข่าวและไม่สนใจค้นหาข้อเท็จจริงของข่าว ทำให้เว็บไซต์ข่าวกำมะลอเติบโตและได้รับความนิยม จำพวกเว็บข่าวปลอมเพื่อปั่นยอดคลิกหรือเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง ข่าวที่ใช้หัวข้อล่อให้คลิกหรือคลิกเบต (Clickbait) กระทั่งสำนักข่าวต่างๆ ที่ลดคุณภาพข่าว ไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ใช้วิธีการลอกข่าวและบทความไปเผยแพร่ต่อง่ายๆ เป็นวิธีที่ไม่เสียต้นทุนในการทำข่าว แต่กลับสร้างความเสียหายทั้งในแง่ความถูกต้องเหมาะสมและผลเสียเมื่อผู้อ่านรับข่าวที่ถูกบิดเบือน

เกมนี้อาจต้องวัดกันด้วยคุณภาพ คนที่ยืนระยะได้นานต้องรักษาคุณภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ ขณะที่ต้องขยับตัวเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้ทันคนอ่าน

ไม่ง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีหวัง

ppmr3ndxhsm-eepeng-cheong

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image