แท็งก์ความคิด : เกียรติยศ

เกียรติยศ

เกียรติยศ

ทุกวิชาชีพล้วนมีการเชิดชูผู้ทำงานในหน้าที่ได้ดี
วงการหนังสือก็เช่นกัน

วันก่อนมีพิธีมอบรางวัลบรรณาธรเกียรติยศปีล่าสุด

ทั้ง จตุพล บุญพรัด เรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ สุภาวดี หาญเมธี และ สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

Advertisement

รางวัลบรรณาธรเกียรติยศ พิธีมอบไปจัดขึ้น ณ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ขอบันทึกคำประกาศเชิดชูเกียรติเอาไว้ ณ ที่นี้

เริ่มจาก จตุพล บุญพรัด เป็นบรรณาธิการผู้มุ่งมั่น ผลักดันวรรณกรรมไทยให้ก้าวหน้ามากว่า 3 ทศวรรษ ด้วยความพิถีพิถันกับทุกตัวอักษร เจียระไนทุกผลงาน

Advertisement

ก่อนก้าวสู่บรรณาธิการ จตุพลเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนและกวีนามปากกา ชีวี ชีวา มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ หญิงสาวแห่งสายน้ำไม่ไหลกลับ, คืนหวานบนโค้งสะพานฝัน, ประวัติศาสตร์ไม่กี่หน้า, ลมใต้ที่พัดผ่าน

จากจุดเริ่มต้นที่สร้างสรรค์ผลงานตัวเอง ขยับไปทำงานเบื้องหลังในกองบรรณาธิการ และสวมหมวกบรรณาธิการให้แพรวสำนักพิมพ์

ทำงานร่วมกับนักเขียนและกวี ขัดเกลาผลงาน เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้อ่าน

ทุกวันนี้ จตุพลยังทำงานเบื้องหลัง เป็นกรรมการกองทุนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และกรรมการตัดสินรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์

คนต่อมา คือ เรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ บรรณาธิการ คนทำหนังสือ และนักกิจกรรมวรรณกรรม

เป็นเสมือนพลังเงียบ เสริมส่งให้วรรณกรรมไทยส่งเสียงกึกก้องบนทุกเวทีการประกวด โดยเฉพาะ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ผจญภัย ซึ่งเขาเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง บรรณาธิการบริหาร คณะบรรณาธิการ และผู้ออกแบบรูปเล่ม มีผลงานได้รับรางวัลมาอย่างต่อเนื่อง

เรืองกิตติ์เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะนักกิจกรรม ผู้จัดงาน “มหกรรมหนังสือทำมือและสื่อทางเลือกแห่งประเทศไทย” ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2546

มีการประกวดหนังสือทำมือ Thailand Indy Book Awards สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการหนังสือ และเป็นโอกาสให้นักเขียนหลายคนได้มีผลงานเล่มแรก

และยังเป็นผู้ก่อตั้ง “เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย” “กลุ่มใบไม้ป่า” “สำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ” เป็นบรรณาธิการ ทำหนังสือ และยังทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเขียนให้เด็กๆ บนพื้นที่ชายขอบ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

ปัจจุบัน เรืองกิตต์เป็นเสมือนกัปตันเรือสำนักพิมพ์ผจญภัย ที่พยายามนำพาวรรณกรรมไทยไปในทุกน่านน้ำให้ไกลที่สุด

อีกคนคือ สุภาวดี หาญเมธี บรรณาธิการ คนทำหนังสือ และนักกิจกรรมวรรณกรรม

เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา เด็กและครอบครัว มานาน

เป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ก่อตั้งรางวัลรักลูกอวอร์ด องค์ความรู้แบบ EF (Executive Function) กิจกรรมสร้างเสริมศักยภาพการเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง ในพื้นที่ชุมชน ทั้งเมืองและชนบท ใน 9 จังหวัด 90 ชุมชน เป็นต้น

สุภาวดี หาญเมธี เริ่มทำงานตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสารรักลูก และนิตยสารในเครือ

เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด มีผลึกความคิด สร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยใช้สื่อและทุกกระบวนการเท่าที่เป็นไปได้

สร้างการเรียนรู้แก่ผู้คนเพื่อคนรุ่นใหม่ มีปรัชญาการทำงาน ยึดหลักการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ

ตลอด 41 ปีในการทำงาน ยึดมั่นในอุดมการณ์ และมีจิตวิญญาณในจรรยาบรรณวิชาชีพบรรณาธิการ เป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั่วไป และมีผลงานปรากฏเป็นที่ยอมรับ

และคนสุดท้ายเป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของเครือมติชน

นั่นคือ สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สุวพงศ์เริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ขยับไปทำหน้าที่บรรณาธิการมติชนรายวัน จากนั้นได้สวมหมวกบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์กระทั่งปัจจุบัน

สุวพงศ์มีปณิธานการทำงานโดยยึดแนวทาง และจรรยาบรรณของวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ มุ่งความเที่ยงธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่แสวงหาประโยชน์จากอาชีพ

รวมทั้งพร้อมเป็นสื่อกลางที่จะนำข่าวสาร ความรู้ ไปสู่ประชาชน

มีความพยายามทำให้หนังสือเป็นเวทีเปิดกว้างให้บุคคลฝ่ายต่างๆ ใช้เป็นพื้นที่แสดงออก

พยายามให้มีความหลากหลายในเนื้อหา ตอบสนองความต้องการผู้อ่านให้มากที่สุด

และยังมีส่วนร่วมกับมติชนและสื่อในเครือดำเนินโครงการสร้างสรรค์สังคมแก่คนรุ่นใหม่ เช่น รางวัลมติชนอวอร์ด, มอบหนังสือความรู้สู่ชุมชน

ตลอดระยะ 38 ปีในการทำงานด้วยความศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพบรรณาธิการ เป็นแบบอย่างแก่เยาวชน

แต่ละคนแต่ละท่านล้วนมีความโดดเด่นเฉพาะตัว

ทั้งงานเขียน งานบรรณาธิการ กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน สร้างสรรค์สังคม

และทำเช่นนี้มาเป็นเวลานาน

ทุกคนจึงได้รับรางวัลบรรณาธรเกียรติยศ ประจำปี 2566

ขอแสดงความยินดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image