พ.ต.ท. กิตติคุณ ช่างเขียน เปลี่ยน “เขาหัวโล้น” เป็น “ป่าทำกิน”

ปัญหาของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพด ซึ่งจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์นั้น ไม่เพียงเป็นการส่งเสริมทางอ้อมให้มีการตัดไม้ทำลายป่า เปิดพื้นที่ใช้ปลูกข้าวโพดเท่านั้น แต่การทำเกษตรโดยเชื่อตามคำโฆษณา ใช้ทั้งยา ใส่ทั้งปุ๋ยเคมี นอกจากเป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้ใช้โดยตรงแล้ว บรรดายาและเคมีที่ใช้ยังสะสมบนผืนดิน ดูดซึมและถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ เป็นยาพิษที่เจืออยู่ในน้ำท่าไหลลงสู่ผู้ใช้ที่อยู่ปลายน้ำ ที่มาของโรคต่างๆ ที่รุมเร้าในปัจจุบัน

แม้บริษัทรับซื้อข้าวโพดยักษ์ใหญ่จะเคยออกมาประกาศหยุดส่งเสริมการปลูกข้าวโพดบนภูสูงด้วยการไม่รับซื้อผลผลิต แต่นั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา เมื่อเกษตรกรไม่มีตัวเลือกมากนัก หลายต่อหลายรายจึงยังคงเลือกถางพื้นที่ปลูกข้าวโพดต่อไป เพราะให้ผลเร็ว ทำให้มีเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว แม้ว่าราคาจะได้เพียงกิโลกรัมละ 3-4 บาทเท่านั้น

การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์บนภูสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญ

พันตำรวจโท กิตติคุณ ช่างเขียน เป็นคนบ้านหงาว อ.เทิง จ.เชียงราย ชีวิตเริ่มต้นจากการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน ที่กองร้อย 3 ตชด.เขต 5 อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เมื่อปี 2523 ในตำแหน่งพลปืนเล็ก พอปี 2527 เมื่อเหตุการณ์ดอยยาวดอยผาหม่นสงบลง ได้รับคำสั่งให้ไปประจำชุด ชป.ฉก.326 ชม.4 ที่บ้านอรุโณทัย (หนองอุก) ทำหน้าที่ควบคุมดูแลอดีตทหารจีนชาติ (ทจช.) กองพล 93 ของนายพลเลาลี โดยมี ร.ต.ต.เดชา คำเกิด (ยศขณะนั้น) เป็นหัวหน้าชุด

Advertisement

ระหว่างที่อยู่อำเภอเชียงคำ เห็นชาวบ้านที่มามอบตัวอยู่กันอย่างยากจนเพราะไม่ได้รับการศึกษา จึงคิดอยากเป็นครู กระทั่ง 2529 ได้กลับมาอยู่ที่ อ.แม่จัน เชียงราย ซึ่งปีนั้นสมเด็จย่ามาประทับที่เชียงราย พระองค์ท่านมีพระราชกระแสให้สร้างโรงเรียน ตชด.ที่บ้านจะลอ โดยการสนับสนุนจากรองผู้บังคับหมวด ตชด.ที่ 537 ดาบตำรวจสมยศ เกี่ยวการค้า ให้ไปเป็นครูสอน โดยเริ่มต้นที่โรงเรียน ตชด.บ้านจะลอ (โรงเรียนสังวาลย์วิท 8) อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

ปัจจุบัน ในวัย 56 ปี เป็นครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอาชีวศึกษาเชียงราย-พะเยา เป็นอีกหนึ่งเรี่ยวแรงที่พยายามส่งเสริมผลักดันให้นักเรียนรวมทั้งชาวบ้านในชุมชน เขตพื้นที่ตำบลริมโขง จังหวัดเชียงราย หันมาปลูกไม้ผลแทนข้าวโพด

– จุดเริ่มต้นที่มาเป็นตำรวจตระเวนชายแดน?

Advertisement

ตำรวจตระเวนชายแดนเป็นอาชีพในฝันของผมตั้งแต่เล็กๆ เมื่อก่อนบ้านผมอยู่ติดสนามบิน มีทั้งทหารไทยและทหารฝรั่งขึ้นๆ ลงๆ เดินถือปืนใส่แว่นตาดำ ตอนนั้นผมเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ ทหารแถวนั้นเอ็นดูผมก็มักจะมีของมาฝากเป็นประจำ ผมเลยมีความคิดอยากจะขับรถถังนั่งรถยนต์ นั่งเครื่องบิน อยากเป็นอย่างเขา

เรียนหนังสือจนจบ ม.3 ที่โรงเรียนเทิงวิทยาคม จ.เชียงราย ตอนนั้นสอบก็ไม่ได้ พ่อเลยบอกให้ไปสอบเป็นครู พอดีที่วิทยาลัยครูเชียงรายกำลังเปิดรับสมัคร แต่ไม่อยากเป็นครู อยากเป็นทหารตำรวจ เมื่อก่อนมี ผกค. มีอะไรต่างๆ เราอยากจะเป็นรั้วของชาติ อยากทำงานด้านความมั่นคง แต่ไม่มีสิทธิสอบเพราะอายุน้อยเกินไป ต้องไปเรียน มศ.4-5 ที่โรงเรียนเชียงคำวิทยาคม สมัยนั้นยังเป็นอำเภอพะเยา จ.เชียงราย พออายุได้ 18 ปี ก็ไปสมัครสอบ ตชด. วิชาสุดท้ายฟุบคาห้องสอบเป็นไข้มาลาเรีย เพื่อนต้องหิ้วปีกไปโรงพยาบาล ปรากฏว่าสอบได้ พอไปฝึกอบรมก็ได้เงินเดือน ฝึกอบรม 1 ปี เงินเดือน 900 บาทสมัยนั้น

– สิ่งที่ได้จากการเป็น ตชด.?

ทำให้เราแกร่งขึ้น เพราะไปอยู่ตามหมวดสนาม อยู่กับชาวบ้าน คือเขาส่งมาอยู่สนามชายแดน ตอนปี 2523 เป็น ตชด. และอยู่เชียงใหม่ ซึ่งตอนตุลาคมปีนั้น ผมมีโอกาสได้ถวายอารักขาสมเด็จย่า

พอปี 2524 ก็กลับมาอยู่สนามชายแดน ซึ่งตอนนั้นแม้นโยบาย 16/23 จะออกมาแล้ว แต่ในพื้นที่ยังคุกรุ่น ยังยิงมีการปะทะกันอยู่ ผม ทหารพราน และทหารรับจ้าง ก็มาคุ้มกันรถแทรกเตอร์ที่ตัดทางระหว่างบ้านปากคาดขึ้นมาที่ อ.เวียงแก่น มีเรียกว่า “เส้นทางยุทธศาสตร์” พี่น้องม้งที่เป็น ผกค.ไม่สามารถจะลงไปข้างล่างได้ เสียชีวิตเยอะครับแถวนี้

จนกระทั่งมีการมอบตัวเมื่อ 2525 ก็ได้มาเห็นว่า ในหมู่บ้านต่างๆ มีเด็กมีวัยรุ่นต่างๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ เราสื่อภาษาไปบางทีเขาก็ไม่รู้เรื่อง ตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นไทยหรือเป็นพม่า เป็นลาวหรือเป็นอะไรก็ไม่รู้ เลยคิดว่าทำอย่างไรเราจะเป็นประโยชน์กับชุมชนกับสังคม ไปอยู่ชายแดนไทยลาว ไทยพม่า

ได้ถวายอารักขาสมเด็จย่า?

ครับ ตอนนั้น พ.ศ.2531 สมเด็จย่าแปรพระราชฐานมาอยู่พระตำหนักดอยตุง ผมก็มีโอกาสได้ถวายอารักขาได้เฝ้าพระองค์ท่าน และพระองค์ท่านมีพระราชกระแสจะจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่บ้านจะลอ ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ผมก็อาสาไป

ซึ่งในปี 2532 ทางขึ้นพระธาตุดอยตุงทุรกันดารยังลำบากมาก ทางคดเคี้ยว จะไปที่พระธาตุผาช้างมูบ เดินเท้าขึ้นไป ไปตามเขตชายแดนพม่า พอดีรองผู้บังคับหมวด ดาบตำรวจสมยศ เกี่ยวการค้า (เสียชีวิตแล้ว) บอกว่า เอ็งเหล้าก็ไม่กิน บุหรี่ก็ไม่สูบ เอ็งอยู่กับฐานนี้ก็ไม่มีประโยชน์ ไปเป็นครูสอนหนังสือแล้วกัน สมเด็จย่าท่านจะสร้างโรงเรียนเอ็งไปสำรวจข้อมูล ไปอยู่กับชาวบ้านก่อน

ตอนนั้นผมเดินเท้าไปเรื่อยๆ ตามตะเข็บชายแดน เจอเด็กเลี้ยงวัวกลุ่มหนึ่ง อายุประมาณ 12-13 ปี คุยกันเป็น 10-15 นาทีก็ไม่รู้เรื่อง บอกเธอนี่ไม่รู้อะไรเลย ภาษาไทยก็ไม่รู้จัก เป็นคนไทยยังไงเนี่ย ฉันจะมาเป็นครูสอนเธอ เป็นครูสอนบ้านจะลอ พอคำว่าครูหลุดออกจากปากเท่านั้น เด็กเฮ ทิ้งวัวทิ้งควายเลย ล้อมหน้าล้อมหลัง ช่วยหิ้วเป้หิ้วอะไรไปส่งบ้านผู้นำหมู่บ้าน ก็ได้เริ่มต้นชีวิตเป็นครูเมื่อวันเกิดพอดี 3 มีนาคม 2532

 

– เด็กๆ อยากเรียนหนังสือ?

อยากเรียนหนังสือมาก ที่นี่ไม่มีครู ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีหน่วยงานราชการใดๆ เข้าไปถึง ตอนกลางคืนต้องจุดตะเกียง ตอนกลางวันสอนเด็กนักเรียน สอนแบบตอนที่เราเป็นเด็กแจกลูกสะกด เอาประสบการณ์ความรู้จากที่เราเรียนมาสอน ตอนกลางคืนก็ขอตะเกียงเจ้าพายุมาจุดสอน มีชาวบ้านที่เป็นผู้ใหญ่มาเรียนกันมาก เพราะตอนนั้นใครที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จะไม่ให้สัญชาติไทย ชาวบ้านก็เลยมาหัดเรียนเขียนอ่านต่างๆ เป็นกุศโลบายที่เราจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ตอนนั้นสนุกมากสอนทั้งผู้ใหญ่และเด็กวัยรุ่น

– เด็กๆ มาจากหลายชนเผ่า สื่อสารกันอย่างไร?

ใหม่ๆ เราก็ใช้ภาษากาย พอเขารู้ภาษาไทยแล้วเราก็จะเรียนภาษาเขาไปด้วย ตอนนี้ผมพูดได้หลายภาษา แต่ไม่มากพอจะสื่อสาร ก็มีภาษาจีน ภาษาอาข่า ภาษาม้ง ลีซอ มูเซอ

– เป็นตำรวจตระเวนชายแดนที่บ้านจะลอนานแค่ไหน?

6 ปี ตั้งแต่ 2532 ถึง 2538 จากนั้นย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่บ้านสามัคคีเก่า โรงเรียน ตชด.ศรีสมวงศ์ ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จย่า เนื่องจากคุณสมวงศ์ ศรีสมวงศ์ พ่อของคุณสมภพ ศรีสมวงศ์ โปรโมเตอร์และผู้จัดการนักมวยถวายเงินสมเด็จย่า แล้วท่านก็พระราชทานให้ ตชด.มาสร้างโรงเรียน และยังเสด็จมาเปิดโรงเรียนในปี 2509 ที่บ้านจะลอ พร้อมกับท่านผู้หญิงเบ็ตตี้ พระสหายที่อยู่สวิส

– หลังจากนั้น?

ปี 2540 ผมก็ย้ายไปครูใหญ่ที่ รร.ตชด.บ้านนาโตก

วปรอ.344 อุปถัมภ์ ซึ่งหมู่บ้านนี้เป็นบ้านไทยใหญ่ ประกอบด้วยจีนฮ่อ มูเซอ มีชาวบ้านอยู่ประมาณ 70-80 หลังครัวเรือน และยังมีอาข่าแถวๆ ห้วยกระ ตรงนั้นมีนักเรียนอยู่กันเยอะ 300 กว่าคน มีหลากหลายเผ่ามาอยู่รวมกัน แต่เราเอาระเบียบวินัยมาจับ นักเรียนที่เคยทะเลาะกันก็รักกัน ขณะเดียวกันสมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริ โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริทางการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ให้เด็กๆ ได้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ทำอาหารกลางวันกินกันในโรงเรียน ก็ทำให้นักเรียนมีความรักสามัคคีกัน

กิตติคุณ ช่างเขียน

– โครงการแรกที่มาช่วยชาวบ้านทำกิน?

โครงการฝึกอาชีพ เนื่องจากชาวบ้านมีรายได้น้อย เราก็จะประสานกับทางเกษตร วิทยาลัยเทคนิคอาชีพ วิทยาลัยการอาชีพ มาอบรมความรู้ระยะสั้นกับชาวบ้าน เช่น จักสาน ปักผ้า ส่งเสริมอาชีพต่างๆ เครื่องเงิน การทำตลาด ให้ฝึกและนำสินค้ามาขายผ่านสหกรณ์บ้าง เวลาสมเด็จพระเทพฯ เสด็จจะให้เจ้าหน้าที่มาดู บางชิ้นก็สามารถไปขายในร้านภูฟ้าของพระองค์ได้ โดยทางโรงเรียนก็จะประสานให้ชาวบ้านส่งสินค้าไปที่ร้านภูฟ้า

เราทำมาตั้งแต่เป็นครูอยู่ รร.ตชด. ยังมีโครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์สำหรับนักเรียนที่เรียนดี จบ ป.6 เราคัดนักเรียนไปสอบรับทุนพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ เพื่อให้นักเรียนที่ยากจน แต่สติปัญญาดีได้เรียนต่อ บางคนก็กลับมาเป็นครูที่โรงเรียนต่อ และมีโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้ก็สำคัญ ทำอย่างไรจะให้เขาตระหนัก ทำลายน้อยลง ใช้ให้คุณค่า อนุรักษ์ต้นไม้ พาเด็ก น.ร.ไปดูผืนป่าปลูกฝังความคิดเรื่องการอนุรักษ์ให้เข้าไปในสายเลือด ซึ่งชาวบ้านที่นั่นจะรักป่า ช่วยกันดูแล ทำฝายทำอะไร

– สอนเด็ก ผู้ใหญ่ นอกจากเรื่องภาษาปัญหาที่พบเห็น?

ส่วนใหญ่ที่พบเห็นบนภูเขา คือ เรื่องการทำกิน เพราะยังทำมาหากินแบบดั้งเดิมอยู่ แต่สังคมเปลี่ยนไป ความต้องการก็มีมากขึ้น ที่ทำกินมีเท่าเดิม บางทีเขาทำเกษตรโดยทำลายธรรมชาติมากเกินไป ก็ทำให้พี่น้องลำบากยากจนเหมือนกัน โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด ทำให้ป่าไม้ทางภาคเหนือถูกทำลายมากขึ้น ช่วงระยะเวลา 20 ปีผมว่าหมดไปสัก 50% ได้

– ปัจจุบันปัญหาการศึกษาไทย?

มี 2 อย่าง 1.ระบบ 2.การบริหาร ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนตามผู้บริหาร เช่น ให้อ่านหนังสือโดยการจำเป็นคำ มันไม่ได้ เพราะรากศัพท์ของแต่ละภาษามันแตกต่างกัน ทำไมเราท่องแบบแจกลูกสะกดคำ เพราะทำให้สะกดคำอ่านกันได้ แต่พอให้ใช้การจำในทุกเรื่อง ทำให้เด็กปัจจุบันไม่มีเครื่องคิดเลขทำไม่ได้ ถ้าไม่แก้ไขก็จะเป็นแบบนี้ อาเซียนมี 10 ประเทศ ไทยอยู่เกือบที่ 10 แล้ว เขมรพม่านำเราไปแล้ว

ฉะนั้นเราตอนนี้ต้องถอยกลับมาคิด เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการศึกษาไทยต่ำลงเพราะเด็กอ่านไม่ได้ มีคำถามว่าถ้าภาษาไทยอ่านไม่ได้ ไปเรียนวิชาอื่นไม่ได้ เพราะอ่านคำถามไม่ได้ จะหาคำตอบได้อย่างไร เราจึงมีโครงการแก้ปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทยในโรงเรียน ตชด. สมเด็จพระเทพฯ โปรดมาก เนื่องจากแก้ปัญหาตรงนี้ได้ คะแนนเอ็นทีต่างๆ สูงขึ้น แม้แต่ รร.พระปริยัติธรรมต่างๆ รร.ตชด.เราไปไกลแล้ว แสดงว่าเรามาถูกทาง เราเอาเทคนิควิธีการแบบโบราณมาใช้

– นอกจากการสอนหนังสือ แล้วยังส่งเสริมให้เด็กๆ และชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มจากตรงไหน?

ที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกพืชโดยใช้สารเคมี โดยใช้สารฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช บางคนเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมี พอเข้าโรงพยาบาลตรวจเลือดพบว่ามีความเป็นพิษในเลือดสูง บางคนพ่นยาฆ่าหญ้า 2-3 วันโดยไม่มีการป้องกันตนเอง นอนเสียชีวิตเลย ชาวบ้านก็คิดว่าตายโดยธรรมชาติหรือโดยอย่างอื่น อีกประการคนบริโภคพืชผักที่ไม่ปลอดภัยก็จะทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะโรคที่เป็นตอนนี้คือ มะเร็ง ขณะนี้ในคน 10 คน มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง 2 คนจะขยับขึ้น 3 คนแล้ว

จากโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพฯ ที่เรามาทำในโรงเรียนก็ขยายไปสู่ชุมชน พยายามให้ชาวบ้านปลูกพืชผักไว้บริโภคโดยไม่ใช้สารเคมี และคนอื่นที่มาซื้อไปกินก็ปลอดภัย คนขายก็ได้สตางค์ เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นจำนวนมาก ตอนนี้จึงให้ชาวบ้านเอามาขายริมถนนทางขึ้นโรงเรียน ซึ่งเมื่อก่อนจะกระท่อม มีลานของชาวบ้านปลูกและเอาผักมาขายตลอด แต่ตอนหลังมีการขยายไหล่ทางก็มีการวางบนพื้นดินบ้าง

– คือเริ่มจากชุมชนรอบโรงเรียนก่อน แล้วจึงขยายเครือข่าย?

รอบโรงเรียนจะมี 2 หมู่บ้านคือ บ้านกิ่วกาญจน์ และบ้านกิ่วดอยหลวง ซึ่งจากชุมชนรอบโรงเรียน พอเราไปประชุม ไปเยี่ยมชาวบ้านผ่านไปทางไหน ก็แวะคุยกับชาวบ้านก็ขยายเครือข่าย แนะนำชาวบ้านทำเกษตรปลอดสารพิษ เพราะทุกคนก็รักชีวิตตนเอง ก็เป็นการเซฟตัวเอง

– ปัจจุบันมีเครือข่ายไปไกลแค่ไหน?

เราจะมีกลุ่มปลูกพืชผักแทบทุกหมู่บ้าน ซึ่งจะมาขายในตลาดในชุมชน ส่วนหนึ่งแลกเปลี่ยนกันเอง และมีการขยายเชื่อมโยงกันหมด เพราะแต่ละพื้นที่ปลูกอะไรก็จะประสานกัน อย่างบนดอยมีผลไม้ปลอดสารพิษ พื้นล่างปลูกไม่ได้ ก็มีการแลกความคิดกัน และขายสินค้า

กิตติคุณ ช่างเขียน


– การส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟรักษาป่า?

กาแฟอินทรีย์รักษาป่า เริ่มเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ผมได้ความคิดมาจากนักเรียน เมื่อก่อน รร.ตชด.บ้านดอยช้าง มีนักเรียนและชาวบ้านที่ปลูกกาแฟ ซึ่งสามารถมีรายได้พออยู่ได้ เนื่องจากกาแฟปลูกบนพื้นที่สูงไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ อาศัยแค่ตอนต้นฝนอย่างเดียวก็ให้ผลผลิต เราสามารถไปขายได้ 3 อย่าง 1.ขายผลสด ซึ่งระยะเวลาเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 3-4 เดือน นานกว่าขายข้าวโพดที่ขายได้ครั้งเดียว 2.สามารถแปรรูปเป็นกาแฟกะลาขายตอนที่ราคาดีได้ด้วย 3.แปรรูปเป็นกาแฟที่ชงกินชงขาย ก็ทำได้

ประการสำคัญคือ กาแฟเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องใช้แสงแดดมาก เราปลูกในป่าได้โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า แค่แหวกหญ้าปลูกก็ได้ ชาวบ้านปลูกกาแฟก็สามารถปลูกพืชอื่นแซมได้ด้วย เช่น สตรอเบอรี่ พืชผัก ไม้ผลอื่น โดยเฉพาะซาโยเต้ ฟักแม้ว มีเท่าไหร่คนกรุงเทพฯ ซื้อหมดและเป็นพืชที่ไม่มีแมลงรบกวน ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง

สิ่งเหล่านี้ผมก็ได้เรียนรู้จากเด็กๆ และทดลองปลูกเอง มาตอนหลังก็มาส่งเสริมให้นักเรียนและชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟ เป็นการเปลี่ยนทุ่งข้าวโพดเป็นพืชผักไม้ผล ซึ่งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น ศูนย์ส่งเสริมเกษตรที่สูงบนดอย ทางพัฒนาที่ดิน โครงการหลวงบ้าง และภาคเอกชนอย่างสโมสรไลอ้อนมาช่วย

– ชาวบ้านตระหนักถึงผลเสียของการปลูกข้าวโพดมากขึ้น?

ทุกคนรู้ แต่ที่ยังจำเป็นต้องทำอยู่ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอาชีพใดที่ได้รายได้ไว เพราะข้าวโพดปลูกแค่ 3 เดือนก็ได้แล้ว ขณะที่กาแฟปลูกต้องใช้เวลาตั้ง 3 ปี ซึ่งเราจะบอกว่ากาแฟก็ปลูกไปก่อน ระหว่างนั้นก็ปลูกข้าวโพดได้

เราต้องทำเป็นตัวอย่าง ให้รู้ให้ดูให้เห็น อย่างแปลงที่เราทดลองปลูกในเขตภูชี้เดือนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ใช้เวลา 3 ปี เริ่มจะเก็บผลผลิตได้แล้ว อย่างปีนี้น่าจะเก็บขายได้ 3-4 หมื่นบาท

เราให้แนวคิดและหากล้ากาแฟ โดยการสนับสนุนจากสโมสรไลอ้อน ซื้อเมล็ดกาแฟมาเพาะแล้วแจก โดยชาวบ้านและนักเรียนมาช่วย รวมทั้งพระและเณรในพื้นที่ก็มาช่วยเพาะกล้ากาแฟด้วย

– ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่สนใจเป็นเกษตรกร?

ยังน้อย ส่วนใหญ่เรียนหนังสือเพื่ออยากจะทำงานรับเงินเดือน แต่ก็ต้องปลูกฝังครับ เพราะประเทศไทยเป็นเมืองเกษตร ถ้าไม่ทำเกษตรแล้วจะให้ใครทำ หรือนักเรียนไปทำงานรับเงินเดือน ถามว่าแก่เฒ่าแล้วจะไปอยู่ไหน ถ้าไม่กลับมาอยู่บ้านตอนที่มีแรงอยู่แล้วจะทำเมื่อไหร่

อย่างผมไม่ได้เรียนเกษตร แต่ชอบทำเกษตรเพราะเกษตรนั้นเป็นชีวิต เพราะเราต้องกินต้องใช้ ไม่ว่าเป็นข้าว ผลไม้หรืออะไร ฉะนั้นเราต้องรู้จักวิธีการผลิต แปรรูป ถนอมอาหาร จะได้ช่วยลดรายจ่ายของเราด้วย

กิตติคุณ ช่างเขียน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image