คอลัมน์ ประสานักดูนก: คลองแสง (2)

วันที่ 23 ธันวาคม ทีมปล่อยเหยี่ยวรุ้งและนกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา เดินทางถึงสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งจะเป็นพยานร่วมปล่อยนกนักล่าสองตัวนี้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง

เช้าวันที่ 24 ธันวาคม ทั้งทีมเดินทางด้วยเรือหางยาวจากท่าเรือของสถานีวิจัย ผ่านผืนน้ำกว้างใหญ่ของกุ้ยหลินเมืองไทยในอุทยานแห่งชาติเขาสก ใช้เวลา 2 ชั่วโมง โดยประมาณ กาบเรือก็แตะขอบแพลอยน้ำของหน่วยพิทักษ์ป่าคลองหยาในเขตคลองแสงซึ่งเป็นหน่วยลึกที่สุด ตั้งอยู่บนสามแยกระหว่างทะเลสาบเหนือเขื่อนรัชชประภา หรือเชี่ยวหลานในอดีต คลองหยาและคลองแสง เมื่อสมาชิกในทีมพักทานอาหารกลางวัน นายธนกร ชนะอักษร จนท.ของเขตก็นำพวกเรานั่งเรือเข้าป่าไปตามลำน้ำคลองแสง เมื่อถึงหาดกรวดเกลี้ยงกลม น้ำตื้นแค่ครึ่งน่อง เป็นพื้นที่เปิดโล่งริมป่าดิบ เหมาะต่อการปล่อยเหยี่ยวรุ้ง Ku363 ซึ่งเป็นเหยี่ยวรุ้งพันธุ์มลายู ที่มีขนาดตัวเล็กมาก แค่กึ่งหนึ่งของเหยี่ยวรุ้งพันธุ์พม่า หรือพันธุ์จีนที่อพยพมาจากประเทศจีนและเวียดนาม

เจ้า KU363 ส่งมาจากสวนสัตว์เขาเขียว ที่รับมาจากประชาชน ด้วยสภาพขนสำหรับบินหักยับเยิน และขาดอาหาร ในชุดขนวัยรุ่น เมื่อส่งมาฟื้นฟูสุขภาพที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นเวลา 10 เดือน จนผลัดขนเข้าสู่ชุดขนเต็มวัย และขนสำหรับบิน (ขนปลายปีก ขนกลางปีก และขนหาง) งอกใหม่สมบูรณ์ พร้อมบิน แถมด้วยฝึกให้ล่าและกินเหยื่อในธรรมชาติ ได้แก่ งู และหนูในกรงฝึกบิน เมื่อตรวจสุขภาพด้วยการตรวจร่างกายและตรวจเลือด อาทิ ปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น จำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเอนไซม์ต่างๆ ที่บ่งบอกการทำงานของอวัยวะภายในสำคัญ เช่น ตับ ไต ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกทั้งเจ้า Ku363 ปลอดจากเชื้อไวรัสก่อโรคสำคัญในนกและสัตว์ปีก คือ โรคไข้หวัดนกและโรคนิวคาสเซิล จึงควรแก่กาลในดุลพินิจของสัตวแพทย์ว่าพร้อมจะปล่อย ให้กลับไปดำรงชีวิตด้วยตนเองในฐานะนักล่าผู้ควบคุมประชากรของสัตว์เหยื่อในธรรมชาติ

ด้วย KU363 เป็นเหยี่ยวรุ้งพันธุ์มลายูที่มีรายงานอาศัยอยู่ในป่าดิบภาคใต้ จึงเลือกป่าคลองแสง เป็นบ้านหลังใหม่ของนก KU363 สวมห่วงขาของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ขาขวา และสวมธงโลหะสีเหลือง หมายเลข F06 เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามตัวหลังการปล่อยในอนาคต first flight ของ KU363 จึงเป็นบ่ายวันที่ 24 ธันวาคม นกบินขึ้น ผละจากอุ้งมือของ จนท. เขตคลองแสง โผไปเกาะต้นไม้ที่ชายป่า เราปล่อยให้มันต้องปรับสภาพ ทำความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นบ้านหลังใหม่ในอนาคตไปอีกชั่วชีวิตของมัน

Advertisement

การปล่อยนกนักล่าเช่นนี้ เรียกว่า hard release คือ เตรียมนกให้พร้อมในแง่สุขภาพ และประสิทธิภาพการบิน คัดเลือกถิ่นที่อยู่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อชนิดพันธุ์ของนก และในไทยที่ต้องเน้นคือ มีการปกป้องคุ้มครองสัตว์ป่าที่จะปล่อย ด้วยคนบางคนยังคิดเบียดเบียนสัตว์ป่าโดยไม่จำเป็น ด้วยการล่าเล่น หรือดักจับมาขายอย่างผิดกฎหมาย ในโสตนี้ ป่าคลองแสงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ในวันรุ่งขึ้น ทีมปล่อยทราบจากไกด์นำชมธรรมชาติ ที่พานักนิยมธรรมชาติชาวต่างชาติ เข้าไปชมธรรมชาติในป่าคลองแสง พบเจ้า KU363 เกาะคอนบนต้นไม้ ใกล้บริเวณจุดปล่อย ก็หวังว่า นับจากนี้ด้วยสัญชาตญาณนักล่าจะกระตุ้นให้ KU363 ต้องยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเอง หลังจากได้รับ second chance จากความเมตตาของมนุษย์ผ่านทางโครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะมนุษย์ เราได้กระทำในสิ่งที่ควรกระทำเท่าที่ทำได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image