เริงโลกด้วยจิตรื่น : ความอยากกับปัญญา

เริงโลกด้วยจิตรื่น : ความอยากกับปัญญา

ถึงที่สุดแล้วการจัดการกับทุกเรื่องราวมี 2 แบบ

หนึ่ง เป็นไปตาม “ความอยากที่ให้เป็น” เป็นแบบถูกความเคยชินกำหนด เคยได้อย่างไรก็อยากได้อย่างนั้น เคยสำเร็จด้วยวิธีไหนก็จะใช้วิธีนั้น เกิดความเชื่อว่าทำด้วยวิธีเดิมจะได้ผลเหมือนเดิม

สอง เป็นไปตามที่ “ควรจะเป็น” เป็นแบบที่คิดเป็นครั้งๆ ว่า ควรจะจัดการเรื่องนั้นแบบไหน ใช้ความเหมาะสมกับความเป็นจริงแต่ละคราวว่าจะกำหนดวิธีการแบบไหนมาจัดการ เพื่อให้ได้ผลตามที่ควรจะได้

Advertisement

การเลือกวิธีการจัดการเป็น “สิ่งสำคัญของชีวิต”

เพราะหากเลือกแบบแรก คือ “ตามความอยาก” มีความเป็นไปได้สูงที่ปล่อยให้ความรู้ ความสามารถเดิมๆ เป็นเครื่องมือในการจัดการโดยอัตโนมัติ โดยถูกความเชื่อว่าหากจัดการเหมือนที่เคยทำ จะสำเร็จเหมือนที่เคยเป็นมา แบบนี้โอกาสที่จะผิดหวังมีอยู่ไม่น้อย เพราะทุกเรื่องราวที่ต้องจัดการล้วนแล้วแต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเงื่อนไขที่แตกต่าง

เป็นไปได้ที่การจัดการแบบอัตโนมัตินี้จะเอาความคุ้นเคยเก่าๆ มาเป็นเครื่องมือประเมิน และจัดการไป โดยมองไม่เห็นว่าหลายปัจจัยที่มาประกอบเป็นเรื่องราวนั้นแปรเปลี่ยนไปเป็นอื่นแล้ว

Advertisement

การจัดการด้วยวิธีเป็นไปตาม “ความอยากให้สำเร็จ” นี้ นำความดีใจหรือเสียใจมาให้ ตามความสมหวังหรือผิดหวัง

มีโอกาสว่าเมื่อไม่สมหวังจะเกิดอารมณ์ที่ดันทุรังให้ได้อย่างใจ เพราะไม่เชื่อว่าวิธีที่เคยสำเร็จจะล้มเหลว

นั่นหมายถึงโอกาสที่จะนำสู่ความยุ่งยากมากกว่าเดิม หรือที่เรียกว่าบานปลายกันไปใหญ่โตได้

ว่าไปแล้วถือเป็นวิธีการที่เสี่ยงที่จะนำความเสียหายมาให้ ทั้งต่อจิตที่เกิดความผิดหวัง หรือการตีอกชกลมโทษโน่นโทษนี่ คนโน้นคนนี้ว่าเป็นต้นเหตุให้ผลลัพธ์เปลี่ยนไป

หรือกระทั่งประสบความสำเร็จ ก็ยังส่งผลให้เกิดการยึดติดกับวิธีการนั้น ด้วยความเชื่อแบบเป็นสูตรสำเร็จ และนำมาใช้อีกในทุกครั้ง ซึ่งโอกาสที่จะผิดหวังรออยู่

ส่วนการจัดการแบบ “ตามที่ควรจะเป็น” คือการตั้งสติ อย่างมีปัญญาที่จะมองเห็นองค์ประกอบของเรื่องราวที่ต้องจัดการตามความเป็นจริงในขณะนั้น มองเห็นว่าเรื่องราวที่เหมือนเดิมนั้น มีองค์ประกอบที่เปลี่ยนไปบ้างหรือไม่ และนำความรู้และประสบการณ์อย่างรอบด้านมาประเมินว่าจะจัดการจากความเป็นจริงนั้น ให้เกิดผลอย่างที่ “ควรจะเป็น” อย่างไร

เป็นการจัดการอย่างมีสติรู้ความเป็นจริง

จัดการสำเร็จก็แค่รู้ว่าเป็นการเลือกวิธีที่ถูกต้อง เหมาะสมกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป โดยไม่ติดกับความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเชื่อเฉพาะวิธีการเดิมๆ พร้อมจะปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

และหากไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะพิจารณาว่าวิธีการนั้นบกพร่อง ไม่เหมาะสมกับเงื่อนไขและปัจจัยอย่างไร พร้อมจะคิดใหม่ ทำใหม่ ให้เป็นวิธีการที่ถูกต้องลงตัว

การเลือกจัดการแบบนี้ เมื่อสมหวังก็ไม่ดีใจจนเกิดความเชื่อและยึดติด เนื่องเพราะแก่นแกนของการจัดการคือการใช้ความคิดในมิติของสติปัญญาที่อิงอยู่กับความเป็นจริงเป็นครั้งๆ ซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงก็เข้าใจตามความเป็นไปอยู่เสมอ และปรับการจัดการไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้น

สรุปแล้วการก้าวพ้นความเคยชิน มาสู่การจัดการตามความเป็นจริง เป็นเรื่องสำคัญต่อการใช้ชีวิตในเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม

ทว่าจะมีสักกี่คนที่หลุดจากความเคยชินอันเป็นวิธีการอัตโนมัติ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image