แท็งก์ความคิด : ควรแก้ปัญหาอะไร

ควรแก้ปัญหาอะไร

ควรแก้ปัญหาอะไร

มติชนกับเดลินิวส์จัดทำโพลอีกครั้งหลังจากได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง
ครั้งแรกที่มติชนและเดลินิวส์ทำโพลเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง และสอบถามถึงนายกฯที่ใช่ และพรรคที่ชอบ

ผลการสำรวจพบว่า ทั้งนายกฯและพรรคนั้น ก้าวไกลได้รับความนิยม

ทั้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ได้รับการขานรับ

Advertisement

แล้วผลการเลือกตั้งก็ออกมาว่า พรรคก้าวไกลได้ ส.ส. 151 คน มากที่สุดในสภา

แต่ด้วยกลไกรัฐธรรมนูญทำให้ทุกอย่างมิได้เป็นไปตามคาดหวัง

รัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศกลายเป็นพรรคเพื่อไทย เพราะวุฒิสภาซึ่งมีเพาเวอร์ในรัฐสภาไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ

Advertisement

ขณะนี้ประเทศไทยจึงมีนายกรัฐมนตรีชื่อ เศรษฐา ทวีสิน และมีรัฐบาลภายใต้พรรคเพื่อไทย

ขณะที่รัฐบาลเพื่อไทยพอเข้ารับตำแหน่งก็เดินหน้าทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

แต่ด้วยระยะเวลา 4 ปีตามวาระของรัฐบาล ได้เกิดข้อสงสัยว่า ประชาชนคนไทยต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาอะไรก่อนหลัง

ท่ามกลางบริหารงานของรัฐบาลจากการเลือกตั้งเช่นนี้ อยากทราบว่าประชาชนผู้เลือกต้องการให้แก้ไขปัญหาด้านใดก่อน

ปัญหาด้านการเมือง หรือปัญหาด้านเศรษฐกิจ

ด้วยความสงสัย และเชื่อว่าเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยควรมีตลอดเวลา

มติชนกับเดลินิวส์จึงจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนอีกครั้ง

ตั้งคำถามง่ายๆ ว่า รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ไขปัญหาอะไร

แก้ปัญหาการเมืองก่อน หรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน

ถ้าเลือกว่าควรแก้ปัญหาการเมืองก่อน แล้วปัญหาอะไรล่ะที่ประชาชนอยากเห็นรัฐบาลรีบแก้

รัฐธรรมนูญ หรือปฏิรูปกองทัพ หรือสร้างรัฐสวัสดิการ หรืออะไร

แล้วถ้าอยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องก่อน แล้วประชาชนอยากเห็นรัฐบาลทำอะไร

แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แก้หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ เพิ่มค่าแรง ลดค่าไฟ หรืออื่นๆ

ปัญหาที่ประชาชนสะท้อนจะช่วยทำให้รัฐบาลรับทราบว่า อะไรคือสิ่งที่ประชาชนต้องการให้ทำก่อน

ปัญหาประเทศที่มีมากมาย และรัฐบาลเองก็นำเสนอวิธีแก้ไขเยอะแยะนั้น

กลุ่มประชาชนที่เข้ามาตอบโพลออนไลน์ของมติชนและเดลินิวส์นั้น ต้องการเห็นอะไรได้รับการแก้ไขก่อน

คำตอบที่ออกมาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล

น่าจะช่วยให้รัฐบาลมองเห็น

และการตอบโพลก็จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ

ยืนยันความเข้มแข็งตามระบอบประชาธิปไตยที่ถือประชาชนเป็นใหญ่

นี่เป็นอีกโอกาสของฝ่ายประชาชน ที่จะได้แสดงความคิดเห็น

ถือเป็นโพลที่ตรวจการบ้านรัฐบาลที่เคยหาเสียงไว้

โพลมติชนและเดลินิวส์จึงเป็นเรื่องดี แต่โพลจะประสบความสำเร็จได้ดีต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

จากรัฐบาล จากฝ่ายราชการ ภาคเอกชน และประชาชน

เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม แล้วตอบคำถาม

แค่ตอบคำถาม ทุกคนก็จะได้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ

โพลนี้เปิดโหวตออนไลน์ ฝ่ายรัฐบาลก็สามารถร่วมโหวตได้

รวมทั้งหากเห็นประโยชน์ที่กำลังจะเกิดขึ้น สามารถบอกต่อให้ผู้คนมาร่วมโหวต

ตอกย้ำว่ารัฐบาลต้องฟังความต้องการของประชาชน

หลังการปิดโหวต วันที่ 31 ตุลาคม มติชนและเดลินิวส์ ได้เชิญนักวิชาการมาร่วมวิเคราะห์ผล

เพื่อบอกความต้องการของประชาชนที่ร่วมโหวต

เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา มติชนและเดลินิวส์ได้ตั้งวงเสวนา มีนักวิชาการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

อาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ฟังความคิดเห็นแล้วทราบว่า ทุกท่านเห็นด้วยกับการทำโพล

อาจารย์ศิโรตม์มองว่าโพลนี้จะเป็นการตรวจการบ้านรัฐบาล เช่นเดียวกับ ผศ.อัครพงษ์มองว่าผลโพลจะช่วยรัฐบาลและช่วยประชาชน เพราะทุกคนต้องไม่ผิดหวังกับสิ่งที่เลือกมา

ขณะที่ ศ.ดร.อรรถจักร์เชื่อว่าผลโพลจะสะท้อนความคาดหวัง และทำให้รัฐบาลและสังคมมองเห็นว่าหนทางที่อยากเดินไปข้างหน้า

ทุกอย่างที่วงเสวนาพูดในวันนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น

แต่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ ทุกคนต้องร่วมโหวตแสดงความคิดเห็น

สะท้อนความต้องการที่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหา

ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม ช่วยกันบอกรัฐบาลด้วยการโหวตโพลมติชน-เดลินิวส์

เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดจากสื่อเครือมติชนและเดลินิวส์

แล้วตอบคำถาม “รัฐบาลเศรษฐา ควรแก้ปัญหาอะไร”

จากนั้นมาร่วมลุ้นว่า รัฐบาลสนองตอบความต้องการของประชาชนอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image