9 มกราคม วันเกิด ‘มติชน’ ย้อนอ่าน ทะลุอนาคต 4 ทศวรรษ กับ นักคิด นักเขียน นักวิชาการ

ขรรค์ชัย บุนปาน, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์, เสถียร จันทิมาธร, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ

เดินทางมาอย่างยาวนานก้าวเข้าสู่ปีที่ 41 ในวันนี้ สำหรับหนังสือพิมพ์มติชน

มาหยุดพัก ทบทวนความหลัง ก่อนจะเดินหน้ากันต่อไปในทิศทางที่สอดคล้องกับพัฒนาการของโลก

รากฐานของมติชน ไม่ได้มีเพียงแค่นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ แต่ประกอบด้วย คนทำงานข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนหลากหลายแนว คนทำงานด้านวรรณกรรม กวี ปัญญาชน นักวิชาการ

มีแนวคิดคล้ายๆ กัน คือ รักอิสรภาพ เสรีภาพ ในการคิดการเขียน

Advertisement

บางคนผ่านการพิสูจน์อุดมคติเหล่านี้ จนสูญเสียเสรีภาพ หรือต้องสละความสุขสบาย ไประหกระเหินต่อสู้ในสภาพอันยากลำบาก

นับจากมติชนรายวันฉบับแรกออกสู่สายตาผู้อ่าน เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2521 จนถึงวันนี้

จากหนังสือพิมพ์รายวัน งอกงามเป็นนิตยสารหลายหัวหลากแนว คือการเติบโตบนพื้นฐานดังกล่าว

Advertisement
งานบวงสรวง จากซ้าย ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์, ขรรค์ชัย บุนปาน, พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร
งานบวงสรวง จากซ้าย ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์, ขรรค์ชัย บุนปาน, พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร

หมุนเข็มนาฬิกา ย้อนกลับไปในยุคแรกตั้ง

ขรรค์ชัย บุนปาน ผู้เป็นที่รู้จักมากกว่าดีกรีบัณฑิตคณะโบราณคดี จากรั้วศิลปากร ด้วยชื่อเสียงด้านงานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ทั้งบทกวีและเรื่องสั้น

เช่นเดียว สุจิตต์ วงษ์เทศ เพื่อนซี้ที่จูงมือกันผลิตผลงานป้อนนักอ่านจนได้ฉายา “สองกุมารสยาม”

แล้วเบนเข็มแบบแพคคู่จากหลุมขุดค้น สู่แวดวงเหยี่ยวข่าวที่สำนักสยามรัฐ ก่อนมีเหตุให้ออกแบบงงๆ แล้วตัดสินใจเปิดโรงพิมพ์ “พิฆเณศ” ย่านแพร่งสรรพศาสตร์ เมื่อปี 2515 รับจ้างพิมพ์หนังสือทุกชนิด ต่อมาหลัง 14 ตุลาฯ 2516 จึงออกหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติรายสัปดาห์” ร่วมกับเดอะ เนชั่น โดย สุทธิชัย หยุ่น แล้วมี พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ร่วมด้วยอีกราย ก่อนขยับขยายเป็น “ประชาชาติรายวัน” ก่อนจะเป็น “มติชน” จนถึงทุกวันนี้

แน่นอนว่าเมื่อสรุปรวบตึงในไม่กี่บรรทัด เส้นทางสายนี้ดูเหมือนง่ายดาย แต่ในความเป็นจริงเต็มไปด้วยรายละเอียดที่มีสีสัน ก้อนอิฐ ดอกไม้ ขวากหนาม สลับสับเปลี่ยนกันไป แต่ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนความตั้งใจของการทำหนังสือพิมพ์

ซ้าย- มติชนรายวันฉบับแรก 9 มกราคม 2521 ราคา 1 บาท 50 สตางค์
ซ้าย- มติชนรายวันฉบับแรก 9 มกราคม 2521 ราคา 1 บาท 50 สตางค์
กองบรรณาธิการมติชน สมัยเริ่มแรกก่อตั้งบริษัท
กองบรรณาธิการมติชน สมัยเริ่มแรกก่อตั้งบริษัท

หากหมุนเข็มนาฬิกากลับไปนานกว่าย่อหน้าที่แล้ว

ก่อนเป็นนักข่าว “คนมติชน” คือ “นักอ่าน” อันนำไปสู่การเป็นนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ในเวลาต่อมา

เสถียร จันทิมาธร ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักอ่านฉกาจฉกรรจ์ ได้รู้จักกับหลานชายนักเขียนดังอย่างสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ นามว่า เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา โดยเสถียรเป็นรุ่นพี่

เรืองชัย ผู้เป็นนักอ่านตัวยงไม่แพ้ใคร ชักชวนเสถียรและสุจิตต์ ขรรค์ชัย ซึ่งรู้จักกันมาก่อนแล้วสมัยเรียนมัธยมด้วยกันที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ทั้งหมดร่วมกันทำนิตยสารช่อฟ้ารายเดือนของวัดมหาธาตุ ชักนำทั้งหมดสู่วงการหนังสือทั้งที่ยังสวมชุดนักศึกษา

ตัดฉากมาในกว่า 40 ปีให้หลัง เสถียร คอลัมนิสต์การเมืองชื่อดังในเครือมติชน ยังคงมีงานเขียนที่คมคายไม่ทิ้งลายนักข่าวรุ่นเก่า เช่นเดียวกับเรืองชัย ที่กลายเป็นหนึ่งในกุนซือใหญ่ค่ายมติชน ส่วนสองกุมารสยามก็ยังมีผลงานเคียงคู่ทุกฉบับวันอาทิตย์ ด้วยกลอนสี่บรรทัดของสุจิตต์ และโคลงสี่สุภาพของขรรค์ชัย ยังมี อารักษ์ คคะนาท กวีรุ่นใหญ่ที่ยังไว้ลายไม่เปลี่ยน

"สองกุมารสยาม" สุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน (หันหลัง)
“สองกุมารสยาม” สุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน (หันหลัง)

ในระหว่างทางตั้งแต่วันแรก ถึงวันครบรอบ 40 ปี มีปัญญาชนโลดแล่นมาเป็นส่วนหนึ่งของตำนานแห่งมติชนจนไม่อาจกล่าวได้หมด อาทิ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์ อดีตนักการทูต และนักเขียนชื่อดังซึ่งดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาในเครือมติชนจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ยังมีนักเขียนรับเชิญมากมายในสาย “วิชาการ” ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม อาทิ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ลิขิต ธีรเวคิน, วีรพงษ์ รามางกูร, นิธิ เอียวศรีวงศ์ สุรชาติ บำรุงสุข ฯลฯ

ปัจจุบัน มติชนยังคงยึดมั่นและสนับสนุนด้านวิชาการ โดยมีการลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นำโดยหัวเรือใหญ่อย่าง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ในวันนี้ ยังอาจเดินกระทบไหล่ผู้ที่ห้อยป้ายนักข่าวในชั่วโมงทำงาน หลังจากนั้นเขาคือ “กวี”

บ้างก็เป็นนักเขียนมือรางวัลที่สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคม

บุคคลเหล่านี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในก้าวต่อไปของมติชน

จากก้าวที่ 40 ไปสู่ก้าวใหม่ๆ ในวันข้างหน้า บุคคลเหล่านี้ คือพลังสำคัญที่ขาดหายไปไม่ได้

 

สมเด็จเกี่ยว วัดสระเกศฯ เปิดแท่นพิมพ์ (ซ้ายสุด-เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์)
สมเด็จเกี่ยว วัดสระเกศฯ เปิดแท่นพิมพ์ (ซ้ายสุด-เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์)
ขรรค์ชัย บุนปาน หรือ อาจารย์ช้าง หัวเรือใหญ่มติชน นำเตะบอล
ขรรค์ชัย บุนปาน หรือ อาจารย์ช้าง หัวเรือใหญ่มติชน นำเตะบอล

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image