47 ปีผ่านไป ไม่อาจลบ ‘6 ตุลา’กว่าจะเป็นประชาธิปไตย เพราะ ‘เสรีภาพ’ ไม่เคยได้มาฟรี

47 ปีผ่านไป ไม่อาจลบ
‘6 ตุลา’กว่าจะเป็นประชาธิปไตย
เพราะ ‘เสรีภาพ’ ไม่เคยได้มาฟรี

‘หุ่นจำลองห่อร่าง, ภาพวาดแขวนคอกลางท้องสนามหลวง, เก้าอี้ที่ตั้งเรียงรายนับ 30 ตัว ภาพถ่ายติดหรา รายชื่อวีรชน 6 ตุลา ถูกขีดเขียนบนป้ายผ้า ด้วยลายมือคนรุ่นใหม่ในศักราช 2566’

เหล่านี้ ไม่ใช่แค่หลักฐานหรือฉากจำลองเหตุการณ์อันเชื่อมโยงกระแสธารประวัติศาสตร์ หากยังสื่อถึงอารมณ์ร่วมของความขุ่นเคืองต่อการเมืองไทย ที่ปะทุขึ้นในช่วงสอบของนิสิต นักศึกษา กลางเดือนตุลาฯ พ.ศ.2519

วัตถุที่ถูกนำมาจัดแสดง รอบโถงอาคาร SC1 ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นประจักษ์พยานแห่งการ‘จดจำ’ ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ย้อนรอยการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่จัดขึ้นโดยองค์การนักศึกษา มธ.

Advertisement

ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต สะท้อนคำให้การของคนเดือนตุลาฯ ตอกย้ำบทเรียนที่ไม่อาจลบล้าง

⦁‘ไม่อยากให้ถูกลืม’
ปลุกความตระหนักรู้ ชูวาระแห่งชาติ
แม้ล่วงเลยผ่านไปแล้วเกือบ 47 ปี แต่ยังมีการเสียดแทงกันเพราะความเห็น

สุธาสินี ราชทอง หรือ ครีม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงลึกถึงที่มาของการจัดงานนี้ ว่าเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมเป็นหลัก

Advertisement

จากที่ผ่านมาในการจัดงาน 6 ตุลาฯ ปีอื่นๆ จัดในภายใต้แนวคิด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากรัฐกระทำต่อประชาชน ในปีนี้จึงส่งเสริมแนวคิดการจัดงานให้ไม่ใช่แค่สิ่งที่รัฐกระทำต่อนักศึกษาในวันนั้น แต่เป็นเรื่องของการขาดความตระหนักรู้ในด้านสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้ทุกคนในสังคมเกิดความเท่าเทียมกัน

เพราะไม่อยากให้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถูกลืม จึงกลายเป็นแรงผลักดัน

มองย้อนกลับไปช่วงที่ผ่านมา เกิดการกีดกันนักศึกษาที่เห็นต่างทางด้านการเมืองออกจากสังคม แปะป้ายว่าเป็นภัยต่อสังคม มีคดีความต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ท่ามกลางความพยายามทำให้ลืม ในปัจจุบัน ความเห็นต่างทางการเมืองยังคงใช้โจมตีกัน จึงควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ เคารพสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกของกันและกัน

“6 ตุลาฯ ไม่ได้ถูกทำให้ตระหนักถึงปัญหาสำคัญ ที่ทำให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกดันออกจากสังคม ซึ่งยังเห็นอยู่ได้เรื่อยๆ ยังเป็นเรื่องที่มีมุมมองต่างกัน ความเห็นต่าง ที่นำมาโจมตีกันอยู่

อยากผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้เกิดการตระหนักรู้ ให้การแสดงออกทางความคิดเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี เราจึงรวมตัวกันจัดนิทรรศการนี้ขึ้นมา” สุธาสินีเผย

น.ศ.รัฐศาสตร์ ยังมองด้วยว่า ผู้คนในสังคมยังขาดความตระหนักรู้อยู่ จึงอยากให้เข้ามาชมภายในงานนิทรรศการ เพราะหากเกิดความตระหนักรู้ จะเกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างไร ต้นเหตุที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมต่างๆ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ
รวมไปถึงเหตุการณ์ทางสังคมไทย ที่เห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้เห็นต่าง

“การจัดนิทรรศการนี้ขึ้นก็หวังว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนตระหนักรู้ประเด็นเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น กิจกรรมภายในงานยังมีการปราศรัยจากองค์การนักศึกษาต่อรัฐบาล ในเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้และการสร้างมาตรการที่ช่วยให้ผู้คนมีความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างข้อจำกัดของรัฐไม่ให้กระทำความรุนแรงแก่ผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ เผยความตั้งใจ

⦁ตอกย้ำ ‘เสรีความคิด’
ตีแผ่หลักฐานชั้นต้น สู่สายตาประชาชน
สำหรับงานนี้ เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน นำโดย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาอิสระ กลุ่มล้อการเมืองแห่ง ม.ธรรมศาสตร์ องค์กรภาคประชาสังคมอย่าง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และพิพิธภัณฑ์สามัญชน

ภายในงานเต็มไปด้วยหลักฐานชั้นต้น ไม่ว่าจะ หนังสือพิมพ์ในยุคสมัยที่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ถูกตีพิมพ์ขึ้นมาเพื่อโจมตีนักศึกษาในยุคนั้น, ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้าน เป็นกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านนักศึกษาโดยให้เหตุผลว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์

นอกจากนี้ ยังมีการยืมวัตถุจัดแสดงจากพิพิธภัณฑ์สามัญชน ได้แก่ ชามข้าวสังกะสี เขียนข้อความโฆษณาชวนเชื่อ ต่อต้านคอมมิวนิสต์, ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้าน องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519, อาร์มของกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านนักศึกษา ซึ่งมีบทบาทในเหตุการณ์เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้น
หลากหลายแนวทาง หลากหลายวิธีคิด แต่มีจุดประสงค์เดียวกัน คือไม่อยากให้วันที่ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นแค่อดีต รวมไปถึงเป้าหมายที่อยากผลักดัน อย่างการแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องมีความผิด

“ประเด็นของรัฐ กับการแสดงออกทางความคิด ที่ควรเป็นเรื่องเสรี เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราควรมี เราจึงรวมตัวกันจัดนิทรรศการนี้ขึ้นมา แม้ว่าหลายคนจะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่พวกเราก็มองเห็นประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ” สุธาสินีเผย

ในนิทรรศการ ยังนำเสนอเรื่องการต่อสู้ทางประชาธิปไตยในปัจจุบัน ว่านักศึกษาต้องเจออะไรบ้าง และการต่อสู้นั้นไม่ได้มาด้วยความสะดวกสบาย สิ่งที่ต้องแลกเต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า บางคนถึงขั้นต้องแลกด้วยชีวิต ไม่ต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

‘ไม่มีเสรีภาพไหน ได้มาด้วยการไม่ต่อสู้’

ป้ายข้อความขนาดใหญ่ปูกลางพื้น ชักชวนเข้าไปค้นหา นำเสนอภาพจำลองเหตุการณ์ ทางเดินของการต่อสู้ ว่าคุณจะต้องแลกด้วยอะไรบ้าง ซึ่งมีทั้งความยากลำบากในชีวิตที่ต้องเดินไป มีทั้งระเบิด กระสุนปืน

ปิยะรินทร์ ใจชูพันธ์ หรือ มีน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมงาน อธิบายถึงการจำลองสถานการณ์ในวันนั้น เริ่มจากภาพนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

“คนที่เลือกสู้ พวกเขาก็ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย และอีกทางเดินหนึ่ง คือบุคคลที่นั่งอยู่ในห้องสมุดเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งที่ข้างนอกมีการต่อสู้ ยิงกันเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้เดินออกมาดู

“สิ่งที่นิทรรศการต้องการจะสื่อก็คือ หากคุณไม่สู้ ก็สามารถเดินตามทางปกติได้ แต่หากคุณอยู่ในสถานการณ์ในวันนั้นแล้วคุณเลือกที่จะสู้ในทางที่คนอื่นเขาต่อสู้ การต่อสู้ตอนนั้นก็อาจจะง่ายเหมือนกันก็ได้ จะไม่ถูกตีกรอบและกำจัดเสรีภาพ” ปิยะรินทร์อธิบาย

ที่สำคัญคือการจำลองสถานการณ์เหตุการณ์ ห้องเรียนในวันนั้นซึ่งตรงกับช่วงสอบพอดี จึงนำเสนอเป็นรายชื่อผู้เสียชีวิตในวันนั้น เหมือนกับเป็นบุคคลที่เสียสละให้กับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างเช่น ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง เป็นบุคคลที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา และมีการแปะรายชื่อกว่า 30 รายชื่อ พร้อมแนบทั้งประวัติ สาเหตุการเสียชีวิตในเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งมีการเขียนชื่อผู้เสียชีวิตด้วยลายมือลงบนป้ายด้วยหมึกสีดำ ตามธีมของงานที่เป็น สีแดง-ดำ

⦁มรดก 6 ตุลา
ในส่วนของ ‘ไอลอว์’ ก็ได้ร่วมจัดนิทรรศการ ‘112 มรดก 6 ตุลา’ เป็นเรื่องราวของประชาชนที่โดนคดี จากการเรียกร้อง แสดงความคิดเห็นทางการเมือง

เต็มไปด้วยเสื้อยืดสกรีนใบหน้าแกนนำ รวมสัญลักษณ์กฎหมายต่างๆ จดหมายที่ประชาชนเขียนถึงผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เพื่อนำส่งกำลังใจไปยังเรือนจำต่างๆ รวมทั้งมีการจัดจำหน่ายหนังสือ ห้องเช่าหมายเลข 2, NEVER STOP คนและคดียังไปต่อ นอกจากนี้ ยังมีโปสเตอร์แจกฟรีแก่ผู้มาร่วมงาน อีกด้วย

ในบริเวณใกล้เคียงกัน นักศึกษานำป้ายผ้ามาปูบนโต๊ะ เปิดพื้นที่ชักชวนให้ประชาชน นิสิต นักศึกษาผู้มาร่วมงาน เข้ามาร่วมเขียนแสดงความคิดเห็นลงบนผ้าสีขาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง เรื่องการเรียน หรือเรื่องอื่นๆ ก็สามารถร่ายลงไปได้ตามใจ

เรียกว่าเป็นการเปิดพื้นที่ ทำให้การมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องปกติในสังคม

⦁‘คนตุลาฯ’ ในสายตาปัจจุบัน
ผู้คนยุค 6 ตุลา ถูกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ กันอย่างไรบ้าง ? เป็นประเด็นที่น่าค้นหา

ในวันงานยังมีทั้ง คน 6 ตุลา และคนรุ่นใหม่ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน ว่าวันที่ 6 ตุลาฯ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพกันอย่างไรบ้าง นำประชาชนมาร่วมรับรู้ถึงมุมมองของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ไปจนถึงพัฒนาการหลังจาก 47 ปีผ่านไป

ประวัติศาสตร์ในวันนั้น ประเทศไทยมีการพัฒนาการเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างไรบ้าง มีการพัฒนาขึ้นหรือมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิม ? คนรุ่นใหม่รุมแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่

เป็นหนึ่งในงานรำลึกเดือนตุลาฯ ที่ไม่ควรพลาด โดยนิทรรศการ 112 มรดก 6 ตุลา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-14 ตุลาคมนี้ ซึ่งไฮไลต์อยู่ที่ 6 ตุลาคม มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 47 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ‘กว่าจะเป็นประชาธิปไตย’

เสวนาล้อมวงลงลึกถึงคนเดือนตุลาฯ อาทิ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้จัดทำสารคดี ‘เถื่อน ทราเวล’, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ นักเคลื่อนไหว, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย คณะก้าวหน้า,
กัณวีร์ สืบแสง นักสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองจากพรรคเป็นธรรม ในการเสวนาหัวข้อ ‘คน 6 ตุลา’ ช่วงเวลา 18.30 น. ที่โถงอาคาร SCI ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

“ขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาร่วมงาน 47 ปี 6 ตุลา ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และศูนย์รังสิต เพราะมีหลายกิจกรรมที่ไม่เคยจัดมาก่อน

งานนี้มีทั้งการแสดงงิ้วล้อการเมือง, การเสวนา, การวอล์กกิ้งทัวร์ มีทั้งกลุ่มกิจกรรมทะลุฟ้า ไอลอว์ กลุ่มอิสระล้อการเมือง มาร่วมด้วย” ปิยะรินทร์ ชักชวนพลเมืองไทย มาร่วมใช้เสรีภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image