เริงโลกด้วยจิตรื่น : วัฒนธรรม‘ความคิด’

เริงโลกด้วยจิตรื่น : วัฒนธรรม‘ความคิด’

ในโลกปุถุชน “ความคิด” เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต เพราะเป็นธรรมดาที่ความคิดเป็นตัวกำหนดคำพูด การกระทำ

ใครคิดอะไรก็จะพูดหรือทำไปตามนั้น

ที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือคนที่ได้ชื่อว่า “ปากกับใจตรงกัน” หรือ “ทำอย่างที่พูด” ซึ่งหมายถึงว่า “คิดอย่างไรก็พูดหรือทำอย่างนั้น”

Advertisement

“ความคิด” เป็นตัวกำหนด

แม้จะเป็นจำพวกที่ได้ชื่อว่า “ปากกับใจไม่ตรงกัน” หรือ “พูดอย่างทำอย่าง” ที่คล้ายกับว่า “ไม่ทำตามที่พูดหรือทำตามความคิด” แต่หากมองให้ลึกลงไปจนเห็นความซับซ้อนของความคิด จะพบว่าที่สุดแล้วการพูดกับการทำยังขึ้นอยู่กับอิทธิพลของความคิดอยู่ดี เพียงแต่เป็นความคิดที่ซับซ้อนขึ้น อยากให้เป็นอย่างหนึ่ง แต่เกิดความคิดว่าต้องจัดการตรงๆ ไม่ได้ ต้องพลิกแพลงบางอย่างเพื่อให้ผลเป็นไปตามที่คิด

ทำให้เป็นไปแบบ “คิดไว้อย่างหนึ่งกลับพูดให้เข้าใจไปอีกอย่าง เพื่อให้ไปอีกอย่าง” แต่ที่สุดแล้วเจตนาให้ผลจากการพูดและการกระทำเป็นไปอย่างที่คิดไว้

Advertisement

เป็นการแค่พูดหรือทำตามความคิดที่ซับซ้อน

อย่างที่บอกว่าธรรมดาของโลกปุถุชน “ความคิด” เป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรม

มีความพยายามมองลึกไปกว่านั้นว่า “ความคิดเริ่มต้นจากไหน” และ “อะไรเป็นตัวกำหนดความคิด”

เพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องนี้ ย่อมจะต้องพิจารณาไปที่ปรากฏการณ์ที่ว่า เมื่อมีเรื่องราวหนึ่งเกิดขึ้น แต่ละคนที่รู้ต่างเกิดความคิดต่อเรื่องเดียวกันนั้นไม่เหมือนกัน

คนหนึ่งคิดอย่างไร

นั่นหมายความว่าในแต่ละคนมีตัวกำหนดความคิดที่แตกต่างกัน

อะไรเป็นเงื่อนไขให้เกิดความแตกต่างในทางความคิดของแต่ละคน

คำตอบคือ ประสบการณ์ที่ก่อปมถูกใจ-ไม่ถูกใจไว้ในความทรงจำ สร้างแรงปรารถนาให้เกิดขึ้นเมื่อสัมผัสเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก่อความพอใจ ไม่พอใจ และความรู้สึกนั้นสร้างความคิดต่อเรื่องราวนั้นขึ้นมา

ประสบการณ์และปมในใจที่ต่างกัน สร้างความคิดที่ต่างกัน ตามด้วยการพูดและการกระทำที่ต่างกัน

นี่เป็นเรื่องธรรมดาในโลกของปุถุชน

หากทำใจยอมรับว่า “ความคิดที่แตกต่าง” เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดขึ้น ทุกอย่างก็จบ

ความวุ่นวายอยู่ที่การไม่ยอมรับ ปุถุชนส่วนใหญ่มักยึดเอาความคิดของตัวเองว่าถูก และมองความคิดของคนอื่นว่าผิด จากนั้นมีความพยายามจัดการให้คนอื่นต้องคิดเหมือนตัวเอง

นั่นเป็นที่มาของความขัดแย้ง แตกแยก ก่อความยุ่งยากในการอยู่ร่วมกัน เป็นปัญหาที่ไม่รู้จบ

ความพยายามที่จะสื่อถึงกันว่า “ต้องอยู่ร่วมแบบยอมรับความคิดที่แตกต่าง” นั้น จะเป็นไปได้ต้องเป็นสังคมที่อยู่ในวัฒนธรรม “เสรีนิยม” ที่ต่างคนต่างเคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกัน

สำหรับสังคมที่มีวัฒนธรรม “อนุรักษนิยม” ตีค่าความแตกต่างของความคิดเป็น “ความถูก ความผิด” การยึดถือ “ความคิดของตัวเอง” ว่า “ถูก” และมองที่ “ไม่เป็นอย่างตัวเองคิด” เป็น “ผิด” และมีความพยายามใช้อำนาจบังคับให้คนอื่นคิดอย่างตัวเอง

ความยุ่งยากย่อมเกิดขึ้น เพราะอย่างที่ว่าธรรมดาของปุถุชนย่อมมีความคิดที่แตกต่างอยู่ อย่างไม่มีทางที่จะเป็นอื่น

การเริ่มต้นที่ยอมรับความจริงของความเป็นปุถุชนจึงเป็นเรื่องจำเป็นของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

ความคิดที่ “ถูกต้อง” หรือ “ความคิดที่แตกต่าง” หรือ “ความคิดเป็นเพียงการปรุงแต่งของประสบการณ์”

น่าพิจารณาว่าแบบไหนคือความจริง

อย่างไหนเป็นประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image