ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน

ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน

ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ
จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน

ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ: จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน
คือหนังสือที่จะมาชวนผู้อ่านย้อนกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่สมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในบริบทยุคสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศไทย ก่อนจะมุ่งเล่าไปยังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และทิ้งท้ายถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ผลงาน รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ นอกจากจะเป็นหนังสือในวาระ 50 ปี 14 ตุลาฯ แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งเล่มในซีรีส์หนังสือประวัติศาสตร์อ่านง่าย มาในรูปแบบเนื้อหาที่ออกแบบอย่างสร้างสรรค์ ตีพิมพ์ 4 สีทั้งเล่มพร้อมภาพประกอบที่มาช่วยคลี่ขยายหน้าประวัติศาสตร์ให้หลากสีหลายแง่มุมมากขึ้น

14 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์การต่อสู้ของประชาชนกับเผด็จการทหารครั้งประวัติศาสตร์ที่มีผู้บอกเล่าและเขียนวิเคราะห์อย่างกว้างขวางแทบทุกมิติ ด้วยสายตาที่ทั้งชื่นชมและกังขา ไม่ว่าแต่ละคนเลือกที่จะรับรู้และจดจำเหตุการณ์นี้อย่างไร ผลสะเทือนจาก 14 ตุลาฯ ยังคงถูกนำมากล่าวถึงอยู่เสมอ แม้กาลจะล่วงผ่านมากว่า 50 ปีแล้วก็ตาม

Advertisement

ความน่าสนใจของเล่มนี้คือการเล่าด้วยมุมมองการเมืองทัศนา (visual politics) มิได้หยิบยกเพียงข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาเล่าแต่เพียงอย่างเดียว กล่าวคือ มีการวิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองผ่านสื่อต่างๆ ที่ปรากฏในพื้นที่ทางวัฒนธรรม เช่น ภาพถ่ายจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือเก่า โปสเตอร์ ป้ายประท้วง ผลงานศิลปะ ฯลฯ เพื่อที่จะเข้าใจความซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ช่วงชั้นทางสังคม ความหมายทางการเมือง ตลอดจนเห็นภาพของการแข็งขืนและการต่อต้านอำนาจที่แสดงออกมาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้แจ่มชัด และสะท้อนภาพจำ ความทรงจำ ความรู้สึกนึกคิด เสียง และอารมณ์ในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติอันแสนสั้นออกมา

รศ.ดร.บัณฑิตเผยว่า หนังสือเล่มนี้ ตั้งใจเขียนเนื่องในวาระ 50 ปี 14 ตุลาคม 2516 ชวนให้กลับไปดูภาพและความหมายของเหตุการณ์ดังกล่าว ว่า 50 ปีผ่านไป เรายังรู้สึกแบบเดิมหรือไม่ เรายังต้องการความเปลี่ยนแปลง เรายังต้องการสังคมไทยที่ก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ด้วยการมีสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดีกว่าเดิมหรือไม่

Advertisement

“นี่คงเป็นสิ่งที่จุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ ว่า 50 ปีผ่านไป เราอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน การชวนท่านผู้อ่านมาอ่านจิตวิญญาณของวีรชน 14 ตุลาฯผ่านภาพเหล่านี้อาจชวนให้เรารำลึกถึงสิ่งที่เคยผ่านพ้นไปแล้ว และเราอาจจะหลงลืมมันไป ว่า 14 ตุลาคมเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของขบวนการประชาธิปไตยในสังคมไทย” รศ.ดร.บัณฑิตกล่าว
ไม่ใช่เพียงการเล่าเหตุการณ์ผ่านตัวอักษร ทว่ายังผสมผสานไปกับการตีความ ‘ภาพ’ เพื่อฉายหน้าประวัติศาสตร์ที่ยังดูมืดมิด หรือเก็บซ่อนความนัยบางอย่างไว้ออกมา ดังที่ ‘คำนำเสนอ’ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ระบุไว้ตอนหนึ่ง

ความว่า

“…ผู้เขียนอาศัยแนวคิดมโนทัศน์ก้าวหน้าของนักคิดมาร์กซิสต์ชาวเยอรมนี วอลเตอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin) ในทฤษฎีประวัติศาสตร์วัตถุนิยม ข้อสำคัญคือการที่เขาเสนอว่า ‘การทำให้อดีตชัดเจนในทางประวัติศาสตร์ไม่ได้หมายความว่ามันคือการรับรองว่า มันเคยเป็นอย่างที่มันเป็นจริง’ อย่างนั้นมาก่อน ตรงกันข้ามเขาอธิบายว่ามันหมายถึงการยึดกุมความทรงจำตามที่มันวาบขึ้นมาในห้วงเวลาแห่งอันตราย

วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ปรารถนาที่จะเก็บรักษาภาพลักษณ์อันนั้นของอดีตซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างไม่คาดคิดแก่คนที่ถูกคัดออกมาโดยประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาแห่งอันตราย ภาวะอันตรายนั้นมีผลกระเทือนต่อทั้งเนื้อหาของประเพณีและผู้รับมันไว้ ภยันตรายอันเดียวกันนั้นครอบอยู่เหนือทั้งคู่ กล่าวคือ การเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง ในทุกยุคสมัยความพยายามจะต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อช่วยนำจารีตประเพณีออกจากการเป็นลัทธิทำตาม (conformism) ที่กำลังจะมีอำนาจเหนือมัน มีแต่นักประวัติศาสตร์เท่านั้นที่จะมีพรสวรรค์ในการพัดเปลวไฟของความหวังในอดีตให้ลุกโชติช่วงขึ้นมา เขาเป็นผู้ที่เชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าแม้กระทั่งคนตายก็จะยังไม่อาจปลอดภัยจากศัตรูถ้ามันชนะ และเจ้าศัตรูนี้ไม่เคยหยุดที่จะเป็นผู้ชนะ

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีสภาพของ ‘ห้วงเวลาแห่งอันตราย’ ที่ผลสะเทือนของมันยังครอบงำทั้งเนื้อหาของการกระทำที่เป็นประเพณีและตัวผู้รับผลการกระทำนั้นไม่อาจปลดปล่อยตัวเองออกมาได้ คงไม่มีเหตุการณ์ไหนเกินกว่าอุบัติการณ์ทั้งวันที่ 14 และ 6 เดือนตุลาคม แม้ว่าเหตุการณ์แรกบรรลุผลของการได้รับชัยชนะระดับหนึ่ง ขณะที่เหตุการณ์หลังนำมาสู่ความพ่ายแพ้และการปิดตายความจริงของมันอย่างแน่นหนานี่เองจึงเป็นภารกิจของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ที่จะยกก้อนหินแห่งความมืดมิดออกไปจากวาบหนึ่งของความทรงจำที่ยังสามารถหาได้…”

สัมผัสเล่มจริงสุดพรีเมียม พิมพ์สีทั้งเล่ม จำนวน 256 หน้า ได้ที่โรงภาพยนตร์ ‘มติชน(ด)รามา’ บูธ J47 งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 ตั้งแต่วันที่ 12-23 ตุลาคมนี้ จันทร์-พฤหัสบดี เวลา 11.00-22.00 น. ศุกร์-อาทิตย์ 10.00-23.00 น.

นิทรรศการ ‘50 ปี 14 ตุลา เจ้าฝันถึงโลกสีใด’

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
เชิญชม นิทรรศการ ‘50 ปี 14 ตุลา เจ้าฝันถึงโลกสีใด’
ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28
เสวนา 50 ปี 14 ตุลา เจ้าฝันถึงโลกสีใด โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุรชาติ บำรุงสุข และ รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ เวลา 16.00-17.00 น.
พร้อมนำชมนิทรรศการรอบพิเศษ เวลา 17.00-18.00 น.
สำหรับเสาร์ที่ 21 ตุลาคม นำชมโดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เวลา 16.00-17.00 น.
เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถ Walk-in เข้าร่วมกิจกรรมได้เลย

ติดตามทุกช่องทางของสำนักพิมพ์มติชนที่
Line : @matichonbook
Youtube : @MatichonBooks
Tiktok : @matichonbook
Twitter : @matichonbooks
Instagram : matichonbook

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image