รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ย้อนถามสังคม ‘เรามาไกลพอแล้วหรือยัง’? 50 ปี 14 ตุลา โลกไม่ได้เป็นสีเดียว

ขึ้นแท่นยืน 1 หนังสือขายดีวันแรกของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นที่เรียบร้อยอย่างไม่เกินความคาดหมาย สำหรับเล่มไฮไลต์ ‘ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน’

ผลงาน รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง และรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีคิวนำชมนิทรรศการรอบปฐมฤกษ์ ‘50 ปี 14 ตุลา เจ้าฝันถึงโลกสีใด’ จัดโดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)

ผู้คนแน่นฮอลล์ 5-7 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เช่นเดียวกับความตื่นตัวของประชาชนบนเส้นทางการเมืองร่วมสมัย

บรรทัดจากนี้ คือปากคำของนักรัฐศาสตร์ท่านนี้ ที่มีต่อประวัติศาสตร์ระยะใกล้และความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยในรอบครึ่งศตวรรษ

Advertisement

“เมื่อพูดถึง 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ สำหรับเราในฐานะนักรัฐศาสตร์ หรือคนรุ่นใหม่ก็ตาม สิ่งที่ต้องยอมรับ คือ มันเปลี่ยนโฉมหน้าความรับรู้ของคนไทยที่บอกว่าไม่มีสำนึกทางการเมือง ไม่ตื่นตัวทางการเมือง มันลบข้อกล่าวหานี้ทั้งหมดแต่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนทั่วไป นิสิตนักศึกษาที่เรียนหนังสืออยู่มีสำนึกทางการเมือง ต้องการความเปลี่ยนแปลงแล้วออกมาชุมนุมโดยสงบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐ และนำไปสู่การล้มล้างอำนาจของเผด็จการที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี

หากต้องถอดบทเรียนเหตุการณ์ดังกล่าว ปีนี้ปี 2566 ผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว เรายังพูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การจัดสัมพันธภาพทางอำนาจ

สำหรับเหตุการณ์ 14 ตุลา มันมีความหมายในแง่ของการสร้างแรงบันดาลใจต่อคนรุ่นปัจจุบันว่า ผ่านมา 50 ปีแล้ว เราพอใจกับสิ่งที่เรามีหรือไม่ มันควรจะไปได้ไกลกว่านี้หรือเปล่า

Advertisement

ฉะนั้นการกลับไปดูเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ผ่านมา 50 ปี มองถึงการคืนชีวิต คืนความฝันให้คนรุ่นนั้น ว่าชีวิตของพวกเขามีความหมายสำหรับเรา การให้ความเคารพ ให้ความรำลึกถึงเพื่อคืนความฝันของเขา ด้วยการจับตาการร่างรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็น ผมคิดว่า 50 ปี 14 ตุลา มีความหมายในแง่นี้

ตอนนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มาจากการยอมรับของพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีความรู้สึกคับข้องใจของคนจำนวนไม่น้อยว่าการเปลี่ยนแปลงในรอบนี้ ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรัฐบาลของประชาชนที่แท้จริง

ประชาชนมีความคาดหวังว่าจะต้องร่างกติกาใหม่ เพราะฉันนั้นในบริบทนี้ จึงต่างไปจากสมัยก่อน

14 ตุลา เป็นปฏิกิริยาที่ปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง การมีมาตรา 17 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จ มีอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้คนไม่พอใจเป็นอย่างมาก

รวมถึงการร่วมอำนาจของกลุ่มตระกูลชนชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของกองทัพที่ทำให้คนไม่พอใจ แต่ปีนี้อย่างน้อยสุดเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีนายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์ มีคณะรัฐมนตรี ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่เคยร่วมกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่างน้อยมันมีการผ่อนคลายความตึงเครียดในระดับหนึ่ง

แรงโฟกัสในปีนี้ มันจะพุ่งมาที่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นธรรม ให้เป็นประชาธิปไตย และเหมาะสมกับยุคสมัย ตอบรับกับความเปลี่ยนแปลง

รัฐธรรมนูญ 60 เป็นรัฐธรรมนูญที่หลายคนต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นอุปสรรค เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลไหนทำไม่ถูกใจ ฝ่ายรัฐบาลก็จะถูกใช้อำนาจส่วนต่างๆ ที่วางไว้ดึงลงจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ในการเปรียบเทียบทบทวนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา

ความสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ คือ ความชอบธรรม ที่ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด เพราะฉะนั้นการที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้ง มีคณะผู้ร่างที่มีความรู้ความชำนาญ เข้าใจ และยอมรับการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้จะเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับ และมีความชอบธรรม

เมื่อรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม มันก็จะทำให้ความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ และรัฐธรรมนูญควรยืดหยุ่นได้บ้าง โดยเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตอบรับต่อความเปลี่ยนแปลงภายนอก เพราะถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ ไม่ให้ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลง รัฐธรรมนูญก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง มันก็จะถูกฉีก ถูกแก้ไข

หากเราวางรากฐานหลักการของรัฐธรรมนูญไว้ดีแล้ว มันก็จะทำให้สังคมยึดโยง และเคารพ เขียนเป็นกฎหมาย แต่คนไม่เคารพก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร สิ่งที่สำคัญ คือ การทำให้ตัวบทกฎหมายและเจตนารมณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แยกขาดออกจากกัน หรือไม่ถูกทำให้เป็นแค่พจนานุกรมส่วนขยาย ซึ่งรัฐธรรมนูญควรถูกตีความโดยเจตนารมณ์ ไม่ใช่โดยพจนานุกรม ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

รัฐธรรมนูญที่จะยั่งยืนและยาวนาน มันต้องมาจากการที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีส่วนในการออกความคิดเห็น การสร้างการยอมรับของประชาชน ที่คับข้องใจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มสมัชชาคนจน อยากจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับคนจน หมายความว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เคารพต่อสิทธิชุมชน เคารพต่ออำอาจของประชาชน ไม่ใช่ว่าในนามของการพัฒนาประชาชนต้องย้ายออก ด้วยแนวคิดของรัฐที่ต่างไป แค่สร้างรัฐธรรมนูญที่คุ้มครอง ปกป้องเสียงของประชาชน

หากสังเกตรัฐธรรมนูญที่เรามีมากว่า 20 ฉบับ แต่มีการพูดถึงบ่อยครั้งไม่เกิน 5 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489, รัฐธรรมนูญฉบับ 2517, รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็น 3 ฉบับเท่านั้นที่ประชาชนพูดถึง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับนี้ มีส่วนร่วมจากประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการคุ้มครองประชาชน

ผมคิดว่าหัวข้อนิทรรศการครั้งนี้ มีหุ่นนกสีเหลือง เป็นการนำจิตวิญญาณของคน 14 ตุลา กลับมา ในการเปลี่ยนผ่านและต่อสู้ในยุคนั้น

14 ตุลา มันเริ่มจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ มันเกิดจากความขัดข้องใจ ความไม่พอใจในอำนาจที่พยายามจะอยู่อย่างยาวนาน โดยไม่ยอมรับฟังเสียงจากประชาชน

ฉะนั้นนิทรรศการนี้สะท้อนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะมองเห็นว่ามันมีสัญญาณอยู่หลายครั้ง เช่น กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร ที่นักศึกษาจำนวนมากออกมาประท้วงถึงความไม่ถูกต้อง คุณใช้สมบัติราชการไปล่าสัตว์ ซึ่งมีการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อเท็จจริง

ปรากฏว่าเมื่อทำหนังสือออกมา มีคนถูกลบรายชื่อ ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คน ผลก็คือคนรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม จนเกิดการชุมนุมใหญ่ก่อน 14 ตุลาคม ในเดือนมิถุนายนอย่างนี้เป็นต้น เป็นสัญญาณว่าระบบ 3 ทรราชกำลังล่มสลาย จะบ่งบอกในนิทรรศการนี้

หากใครมาชมนิทรรศการนี้ จะเห็นบางสิ่งบางอย่าง เช่น หนังสือที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด ภาพถ่าย โปสเตอร์หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมด้วยเช่นเดียวกัน

ถือว่าเป็นนิทรรศการที่เปิดพื้นที่ให้คนได้รำลึก 50 ปี 14 ตุลา มีภาพข่าวที่ถ่ายโดยอาจารย์ชิน คล้ายปาน ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่นของหอภาพยนตร์แห่งชาติ

ยุคนั้นเป็นยุคของสิ่งพิมพ์ ผมจำที่อาจารย์บางท่านเล่าให้ฟัง สมัยที่ท่านยังเป็นหนุ่ม หลังจากเกิดเหตุการณ์นั้น ท่านต้องรออ่านหนังสือพิมพ์ว่าจะมีปัญญาชน เขียนถึงเหตุการณ์นั้นว่าอย่างไร

มันสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของยุคสมัย ที่สื่อสิ่งพิมพ์มีอิทธิพล มันเกิดความละมุนละไม คนที่รอคอยก็ใจจดใจจ่อ แต่ยุคนี้ทุกคนเป็นสื่อ ทุกคนสามารถผลิตสื่อ ข่าวสารจึงรวดเร็ว แต่บางอย่างก็มีข้อมูลที่ผิดพลาดกันไป มันต่างกันตรงนี้

สมัยก่อนอยู่ต่างจังหวัดหาอ่านหนังสือพิมพ์ คนต่างจังหวัดจะได้อ่านข่าวของเมื่อวาน ที่ลงชื่อเป็นวันนี้ เป็นต้น มันต่างกันชัดเจน ซึ่งยุคนี้พอเกิดความไม่พอใจ มันเกิดความตื่นตัวทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา โพสต์ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ คนก็ออกไปค้นหาความจริงบนท้องถนน ความรวดเร็วของสื่อปัจจุบันเป็นทั้งข้อดีและข้อควรระวัง

พวกเราที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ต้องกลับไปดูว่าเจตนารมณ์ที่วีรชนเขาเดินออกไปในวันนั้น เขาต้องการอะไร เขาต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เขาต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม ปกป้อง คุ้มครองประชาชน

ผมคิดว่า 14 ตุลาคม เมื่อครบรอบ 50 ปี สังคมไทยต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรามาไกลกันพอแล้วหรือยัง ถ้าไม่ไกลพอแล้วยังต้องกลับไปที่จุดเดิม เราก็ต้องทำงานหนักในเรื่องนี้กันมากขึ้น

จากแนวคิดของนิทรรศการ ‘เจ้ามองโลกเป็นสีใด’ ส่วนตัวมองว่าเป็นสีอะไรก็ได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคแห่งการสำรวจความเป็นไปได้

คนหนุ่มสาวสมัยนี้มีเอกลักษณ์ มีอัตลักษณ์ มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง ต่างไปจากยุคหนึ่งที่จะต้องแต่งตัวเหมือนกัน พูดเหมือนกัน ทุกวันนี้สีผมก็เปลี่ยนได้ ดวงตาก็เปลี่ยนสีด้วยการใส่คอนแท็กต์เลนส์ได้

โลกมันคงไม่ได้เป็นสีเดียว มันคงมีหลายสี ซึ่งเป็นโลกของคนที่พยายามแสวงหาถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า 50 ปีผ่านไปแล้ว เราเรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งคำตอบที่ดีที่สุด คือ การที่คุณมาชมนิทรรศการ และหาคำตอบด้วยตัวเอง”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image