ทัศนา ‘วัดราษฎร์บูรณะ’ กราบ ‘พระพุทธศิลา’ ศักดิ์สิทธิ์ ทำบุญรักษามรดกอยุธยาตอนปลาย

ทัศนา ‘วัดราษฎร์บูรณะ’ กราบ ‘พระพุทธศิลา’ ศักดิ์สิทธิ์ ทำบุญรักษามรดกอยุธยาตอนปลาย
โบสถ์วัดราษฎร์บูรณะ และหลวงพ่อใหญ่ พระประธานภายในโบสถ์ และฉัตรสีขาวที่รอดจากการถูกไฟไหม้อย่างน่าอัศจรรย์

ทัศนา ‘วัดราษฎร์บูรณะ’ กราบ ‘พระพุทธศิลา’ ศักดิ์สิทธิ์
ทำบุญรักษามรดกอยุธยาตอนปลาย

ยังจำได้หรือไม่ เมื่อคืนวันที่ 21 ธันวาคม 2565 มีเหตุเพลิงไหม้ภายในอุโบสถวัดราษฎร์บูรณะ แขวงบางปะกอก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นนอกจากพระประธานที่โดนไฟลามไหม้ดำไปทั้งองค์แล้ว

ยังมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มอดไหม้ไปในกองเพลิงด้วยแบบไม่เหลืออะไรเลย แต่ที่น่าประหลาดใจคือ ฉัตรสีขาวห้าชั้นเหนือเศียรองค์พระประธานกลับไม่เป็นอะไร แม้แต่เขม่าดำก็ไม่ปรากฏให้เห็น เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ชาวบ้านผู้พบเห็น

เวลาล่วงผ่านไปเกือบปี พระอุโบสถได้รับการซ่อมแซมบูรณะโครงสร้างทั้งหมดจนกลับมามีสภาพหมือนเดิม รวมทั้งองค์พระประธานและพระสาวกบนฐานชุกชีที่ได้รับการปิดทองบูรณะใหม่ งดงามเหลืองอร่ามไปทุกองค์ งานบูรณะอุโบสถและก่อสร้าง “วิหารพระพุทธศิลา” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เขตราษฎร์บูรณะและเป็นที่เคารพศรัทธาของชุมชนใกล้เคียง เสร็จเรียบร้อยลงอย่างน่าปลื้มปีติ พร้อมทั้งจะมีพิธีบวงสรวงและส่งมอบอาคารในวันที่ 22 ตุลาคม 2566 เวลา 08.30 น. ที่มณฑลพิธีหน้าวิหารพระพุทธศิลา วัดราษฎร์บูรณะ

Advertisement
หลวงพ่อใหญ่ พระประธานภายในโบสถ์

“วัดราษฎร์บูรณะ” ตั้งอยู่บนถนนราษฎร์บูรณะใกล้กับที่ทำการเขต ห่างแค่เพียงข้ามถนนมาอีกฝั่ง ใกล้ๆ กันมีประตูน้ำเปิด-ปิดเพื่อระบายน้ำเข้าไปในคลองที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อ “คลองราษฎร์บูรณะ”

คลองสายนี้มีความสำคัญอย่างมากในสมัยโบราณ เนื่องจากที่ดินย่านนี้เป็นเรือกสวนไร่นาทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนปลูก “ต้นหมาก” น่าจะคู่กับ “สวนพลู” ที่กลายมาเป็นตลาดพลูย่านฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน

ความหมายของชื่อวัดไม่ซับซ้อนมากนัก มาจากคำว่า “ราษฎร” บวกกับคำว่า “บูรณะ” รวมกันเป็น “ราษฎร์บูรณะ” แปลว่า “วัดที่ราษฎรหรือชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้น ซ่อมแซมขึ้น หรือช่วยกันค้ำจุนส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรือง”

Advertisement

ตามประวัติเดิมของวัดที่ปรากฏ ระบุว่าวัดราษฎร์บูรณะเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เริ่มสร้างประมาณ พ.ศ.2310 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยมีชาย 3 คนพี่น้องชื่อ สวน ทัด และทอง เป็นผู้สร้างวัดไม่ปรากฏว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกเมื่อใด แต่ครั้งที่สองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2539 ชาวบ้านเรียกว่า “วัดนอก” หรือ “วัดปากคลอง” เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองราษฎร์บูรณะพอดี
ในวิกิพีเดียได้ระบุเพิ่มเติมว่า ชื่อของวัดได้รับการเอ่ยถึงในโคลงนิราศชุมพร แต่งโดย พระพิพิธสาลี สมัยรัชกาลที่ 1 และเอ่ยถึงในโคลงนิราศพระยาตรัง ซึ่งพระยาตรังแต่งขึ้นเองในสมัยรัชกาลที่ 2 ทั้งสองเอกสารระบุชื่อวัดว่า “วัดราชบุรณะ” จึงอาจเป็นไปได้ว่าวัดสร้างขึ้นโดยกษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ตามความหมายชื่อ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดราษฎร์บูรณะ” ในสมัยใดสมัยหนึ่ง

พระครูปลัดจำเนียร กิตติสาโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เล่าถึงอาคารภายในพระวิหารที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีปัจจัยเพียงพอในการตกแต่งเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี ที่มาที่ไปของวัดยังไม่กระจ่างชัด “พระครูปลัดจำเนียร กิตติสาโร” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเลขานุการเจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ ทำหน้าที่อธิบายเพิ่มเติม พร้อมพาเดินสำรวจรอบวัด โดยพระครูปลัดจำเนียรเล่าว่า ประเด็นที่มาของวัดว่าเป็นวัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย น่าจะเชื่อได้เช่นนั้น เพราะมีสิ่งของหลายอย่างเกี่ยวข้องเป็นหลักฐานแม้ว่าปัจจุบันไม่สามารถพบเห็นแล้วก็ตาม แต่พระผู้ใหญ่อดีตเจ้าอาวาสได้เล่าต่อๆ กันมา นับตั้งแต่อุโบสถหลังแรกเริ่ม ก่อนมีการรื้อสร้างใหม่ในปี 2538 มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นท้องสำเภา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์สมัยอยุธยา และยังสันนิษฐานอีกว่าน่าจะมีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่และสร้างเจดีย์ด้านหลังพระอุโบสถในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากเจดีย์ที่ปรากฏเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งเป็นศิลปะที่มีในสมัยอยุธยาตอนกลางเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ที่เชื่อว่าเป็นรัชกาลที่ 3 เพราะอุโบสถหลังนั้นมีหน้าบันเป็นปูนปั้นประดับด้วยเครื่องกระเบื้อง และยังมีตราสิงห์ปรากฏอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังมีกรณีประตูอุโบสถของเดิม เป็นประตูทางเข้าทางเดียวหรือที่เรียก “มหาอุด” บนประตูมีพระพุทธรูปขนาด 2 นิ้ว เนื้อทองลูกบวบวางเรียงไว้ 3 องค์ เป็นพระสามสมัย คือ ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนที่ซุ้มใบเสมาได้ขุดพบพระพุทธรูปไม้บุเงิน เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา

อย่างไรก็ตาม สิ่งของทั้งหมดได้สูญหายไปหมดสิ้น มีทั้งนำเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัว หรือหน้าบันก็ถูกนำไปเป็นคันกั้นดินกั้นน้ำ จึงไม่เหลืออะไรให้เชื่อมโยงศึกษาได้ถึงความเป็นมาของวัด ได้แต่เป็นข้อสันนิษฐาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก อีกทั้งข้อมูลก่อนหน้านั้นก็หายากมาก อดีตเจ้าอาวาสที่พอจะรู้เรื่องได้มรณภาพไปหมดแล้ว

“ตอนนั้นอาตมาก็ยังเด็กๆ พอจะมารู้ข้อมูลก็ในปี 2536 เมื่อมีการบูรณะพระอุโบสถสร้างใหม่เป็นคอนกรีต เพราะของเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก เนื่องจากเป็นเครื่องไม้

“บังเอิญว่าอาตมาเป็นคนชอบของเก่า ตอนรื้อโบสถ์มีความรู้สึกว่าโบสถ์สมัยเก่าน่าจะมีท่อนซุงรองรับใต้ฐานหรือเปล่า เพราะบริเวณนั้นเป็นดินเลน ถ้ามีซุงจะได้นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ จึงให้ช่างเอาไม้สักลงไปในดิน ปรากฏว่าไม่มีต้นซุง แต่พอสักลงไปที่ใต้ฐานพระประธาน เจอก้อนหินดังกึกๆ ก็ให้ช่างขุดขึ้นมา พบว่าเป็นก้อนศิลาแลงมีลายเป็นเส้นๆ คล้ายสังฆาฏิ จึงให้ช่างค่อยๆ ทยอยขุด ได้ชิ้นส่วนครบเป็นองค์พระ ขาดแค่ช่วงต้นแขนไปนิดเดียว เลยถามพระผู้ใหญ่ว่าจะทำยังไงดี

วิหารพระพุทธศิลา
พระพุทธศิลา พระศักดิ์สิทธิ์อายุมากกว่า 200 ปี

“สุดท้ายเลยให้ช่างมาเชื่อมชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน แล้วพอกปูนทาสีใหม่เป็นองค์พระที่สมบูรณ์ ซึ่งก็คือ หลวงพ่อพุทธศิลา ที่เรียกชื่อท่านเช่นนี้เป็นการเรียกตามองค์ท่านที่เป็นศิลาแลง คาดว่าพระองค์นี้อายุน่าจะมากกว่า 200 ปี” พระครูปลัดจำเนียรกล่าว

จากที่ตั้งของโบสถ์ซึ่งบูรณะเสร็จแล้วหลังถูกไฟไหม้ พระครูปลัดจำเนียรพาเดินไปดูวิหารด้านหลังวัด ซึ่งสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกลาง ไม่ใหญ่โตหรูหรา โดยพระครูปลัดจำเนียรบอกว่าตอนที่เห็นองค์พระขุดขึ้นมาเป็นชิ้นๆ รู้สึกหดหู่ใจ แต่เมื่อสามารถประกอบเข้าเป็นองค์ได้แล้วเกิดความคิดว่าน่าจะมีสถานที่ให้ท่านประดิษฐานโดยเฉพาะ เพื่อให้ท่านเป็นที่รู้จักของสาธุชนและคนจะได้มากราบไหว้ เพราะเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มีมานานกว่า 200 ปี และยืนยันได้ว่าเป็นพระที่สร้างมาพร้อมกับวัดตั้งแต่แรกราวสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 กาลเวลาที่ผ่านมาทำให้ท่านต้องจมอยู่ในดิน ซึ่งเวลานี้ได้สร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานเรียบร้อยแล้ว เหลือการตกแต่งภายในให้สวยงาม ซึ่งพระครูปลัดจำเนียรกล่าวว่า ยังขาดปัจจัยในการแต่งเติมอยู่อีกพอสมควร

วัดราษฎร์บูรณะนอกจากเป็นวัดสำคัญคู่กับเขตราษฎร์บูรณะ ที่ชาวบ้านให้ความศรัทธาเลื่อมใส วัดแห่งนี้ยังมีบทบาทสำคัญด้านการศึกษา มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี ซึ่งมีพระมหาสมศักดิ์ ทนฺตจิตฺโต เจ้าอาวาส ส่งเสริมอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีพระภิกษุสามเณรสนใจเข้ามาศึกษาภาษาบาลีกันมาก อีกทั้งได้เข้าร่วมสอบบาลีสนามหลวงและสอบได้ทุกปี

กรรณิการ์ ฉิมสร้อย

—————————————————

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ห้ามพลาดในวัดราษฎร์บูรณะ

1.“หลวงพ่อใหญ่” พระประธานในโบสถ์
เป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2517 หลังเกิดไฟไหม้ได้บูรณะใหม่ทั้งองค์และปิดทองงามอร่าม
ด้านหน้าพระประธานมีพระสาวก เชื่อกันว่าพระสาวกเหล่านี้เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พร้อมกับการปฏิสังขรณ์วัดในสมัยนั้น
ค้นพบได้จากบนคานใต้หลังคาโบสถ์ ตอนรื้อโบสถ์หลังเก่า หลังเกิดเหตุไฟไหม้ได้ปิดทองใหม่ทั้งหมดพร้อมกับพระประธาน

2.พระพุทธศิลา หรือหลวงพ่อศิลา
ทำจากศิลาแลง เชื่อว่ามีอายุมากกว่า 200 ปี โดยขุดขึ้นมาได้จากใต้ฐานหลวงพ่อใหญ่ พระประธานในโบสถ์ ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัด ตั้งอยู่ในวิหาร
พระพุทธศิลา ด้านหลังพระอุโบสถ สำหรับคนที่มากราบไหว้จะมีความเจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ใครขออะไรก็ได้สมปรารถนาโดยเฉพาะเรื่องงาน

ท้าวเวสสุวรรณภายในวัด

3.ท้าวเวสสุวรรณ
มี 2 ตน สูงประมาณ 2 เมตร ตั้งอยู่ด้านหน้าวัด ใกล้ประตูทางเข้า
ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร ถือเป็นเจ้าแห่งอสูรและภูตผีปีศาจทั้งหลาย ทั้งยังเป็นเทพผู้ปกป้องพระพุทธศาสนาและผู้คุ้มครองโลกมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ
สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ในตำราโบราณกล่าวไว้ว่า ผู้ใดต้องการความเจริญในลาภยศ ทรัพย์สินเงินทองเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ อำนาจวาสนา และขจัดภูตผีปีศาจ สิ่งอัปมงคล ให้บูชาท้าวเวสสุวรรณ และสวดคาถาท้าวเวสสุวรรณเป็นประจำ พร้อมปฏิบัติแต่สิ่งที่ดี มีคุณธรรม

รู้จักเขตราษฎร์บูรณะ

จากข้อมูลการสำรวจของคณะ ดร.สุรพงษ์ ชูเดช คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สรุปว่าแต่เดิมเขตราษฎร์บูรณะเป็นพื้นที่ในการปกครองของจังหวัดนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันคืออำเภอพระประแดง)

คลองราษฎร์บูรณะมีประตูน้ำที่ระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลอง ทำให้ย่านนี้กลายเป็นสวนผลไม้และสวนหมากที่อุดมสมบูรณ์ในอดีต

อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง กระทั่งนครเขื่อนขันธ์ถูกยุบไปเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ราษฎร์บูรณะจึงกลับมาอยู่ในพื้นที่การปกครองของจังหวัดธนบุรีอีกครั้ง จนกระทั่งภายหลังมีการรวมจังหวัดธนบุรีและพระนครเข้าด้วยกัน แล้วเปลี่ยนฐานะเป็นกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน รวมทั้งมีการเปลี่ยนเรียกชื่อตำบลและอำเภอใหม่ ทำให้อำเภอราษฎร์บูรณะ เป็น “เขตราษฎร์บูรณะ” ต่อมา พ.ศ.2540 กระทรวงมหาดไทยแบ่งพื้นที่ทางทิศใต้ของเขตออกไปเป็นเขตทุ่งครุ

สภาพโดยทั่วไป เขตราษฎร์บูรณะส่วนหนึ่งจะติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา คือฝั่งสวนเก่าของเขตธนบุรี พื้นที่ย่านนี้ชาวบ้านดั้งเดิมมีอาชีพทำสวนผลไม้ มะพร้าว หมาก พลู เนื่องจากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นดินตะกอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา

คนสมัยก่อนนิยมกินหมาก และหมากที่นิยมมากที่สุดในสมัยนั้น คือ “หมากบางล่าง” มีแหล่งปลูกในพื้นที่สวนแถบราษฎร์บูรณะ หมากบางล่างมีเอกลักษณ์เฉพาะคือหน้าแดง เสี้ยนละเอียด และมีรสฝาดกำลังดี จึงเป็นหมากที่มีชื่อมากที่สุดในสมัยนั้น จนทำให้คนรู้จักพื้นที่แถบราษฎร์บูรณะกันดี นอกจากเป็นแหล่งปลูกหมากที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังเป็นแหล่งดนตรีไทยที่สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นถึงปัจจุบัน และยังมีขนมไทยที่มีเอกลักษณ์รสชาติอร่อยไม่เหมือนใคร ไม่ว่าขนมมัน ขนมด้วง ขนมเล็บมือนาง ข้าวต้มมัด กล้วยบวชชี ขนมตาล ขนมเปียกปูน ขนมเกสรลำเจียก สังขยา ฯลฯ เขตราษฎร์บูรณะยังเป็นถิ่นที่มีชาวจีนอพยพและย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัย ทำให้เกิดโรงสีข้าวและการค้าขาย กลายเป็นวิถีชีวิตที่กลมกลืนไปกับชาวไทย

ปัจจุบันย่านราษฎร์บูรณะเป็นอีกพื้นที่ในกรุงเทพฯที่มีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก และจัดเป็นย่านอยู่อาศัยแบบเงียบสงบ โดยมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งหน่วยงานราชการ สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ วัดราษฎร์บูรณะ โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ความเป็นย่านการค้าของราษฎร์บูรณะ เป็นแหล่งการค้าแบบรายย่อย มีคลังสินค้าขนาดเล็กอยู่คู่ชุมชนที่อาศัย

อย่างไรก็ตาม ราษฎร์บูรณะกำลังได้รับการพัฒนาจากรัฐบาลทางด้านการขนส่งที่ต้องการกระจายความเจริญออกสู่ชานเมืองรอบนอกเชื่อมกับปริมณฑล

ร่วมทำบุญรักษามรดกศิลปกรรมอยุธยา

กาบูรณะพระอุโบสถและสร้างวิหารพระพุทธศิลา แม้โครงสร้างจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องมีการสร้างและตกแต่งเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ ซึ่งทางวัดยังขาดปัจจัยอยู่จำนวนหนึ่ง จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันทำบุญและร่วมถวายวิหารพระพุทธศิลาและพิธีบวงสรวงในวันที่ 22 ตุลาคม 2566 เวลา 08.30 น. ณ มณฑลพิธีหน้าวิหารพระพุทธศิลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image