ลุยถกเส้นทาง ‘รัฐธรรมนูญใหม่’ เริ่มได้เลย ไม่ต้องรอ

ลุยถกเส้นทาง ‘รัฐธรรมนูญใหม่’
เริ่มได้เลย ไม่ต้องรอ

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2520 ในยุคที่ประชาชนถ่ายเอกสารสิทธิชุมชนมาแปะข้างฝา แล้วใช้ต่อสู้กับนโยบายรัฐบาล เรายังผ่านมาแล้ว”

คำบอกเล่าในวงเสวนา ตอกย้ำว่าภาคประชาชนเห็นความสำคัญ ตื่นรู้ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อน ออกมาเดินขบวนเรียกร้องในสิ่งเดียวกันกระทั่งถูกจับในข้อหา ‘กบฏรัฐธรรมนูญ’ ตามมาด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วันประกาศตัวของคนไทยว่าหวงแหนสิทธิ รักในเสรีภาพ เคลื่อนไหวให้ได้มาซึ่งกฎหมายสูงสุดที่ยึดโยงกับประชาชน

14 ตุลาฯ ในปี 2566 ยังวกกลับมาจุดหมายเดิม

Advertisement

ในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน บนถนนลูกหลวง ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล การปักหลักเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาชาวบ้านยังคงดำเนินไป คืนนั้นตัวแทนพรรคและภาคประชาสังคม นัดถกปมร้อน ‘50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่’ ในวงล้อมเต็นท์ของชาวบ้าน ท่ามกลางสแลนขึงกันแดด-ฝน ทนนอนบนถนนร่วมสัปดาห์ รอวันผู้มีอำนาจเห็นใจ

⦁อย่าหวังไทยเปลี่ยน
ถ้าไม่แก้โครงสร้าง ไปพร้อมปากท้อง
เกริ่นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้ไทยต้อง ‘ร่าง แล้วฉีก’ มาตลอด 50 ปี

สำหรับ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ร่ายปาฐกถา ‘จาก 14 ตุลา 16 ถึงอึ่งไข่-ด้อมส้ม: 50 ปี การร่าง-ฉีกรัฐธรรมนูญ’ ชวนมองว่า เฉลี่ย 5 ปีมี 1 ฉบับ มีเพียง 2 ฉบับที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ที่เหลือเผด็จการจองเรียบ โดยฉบับปี 2517 และ 2540 ก็มาจากการเสียสละเลือดเนื้อของประชาชนทั้งสิ้น แล้วพลังประชาชนแบบไหนที่จะผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เปลี่ยนไทยได้อีกครั้ง ?

Advertisement

“50 ปีที่ผ่านมา วัฏจักรอุบาทว์นี้ยังวนเวียนอยู่ แต่ก็ได้สร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ด้านบวกคือ ทำให้เห็นว่าประชาชนค่อยๆ รุกคืบกัดกินอำนาจของเผด็จการ ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจก็ปรับเปลี่ยนเล่ห์กล รวมทั้งชุดคำอธิบายใหม่ๆ เพื่อต่อกรกับประชาชน เช่นกัน” นักสังคมวิทยา ชี้ให้เห็นเกลียวคลื่นความขัดแย้งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เสมอ ทว่า พลังของคนรุ่นใหม่ที่ก่อตัวขึ้น ก็มีมิติที่น่าสนใจหลายมุม

ด้านแรก คนรุ่นใหม่ใน พ.ศ.นี้ คือมรดกทางอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ในอดีต

ด้านที่ 2 เห็นพลังการแพร่กระจายของขบวนการประชาชนครอบคลุมไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ใช่แค่ กทม.

ด้านที่ 3 ประชาชนได้สรุปบทเรียนและเลือกแล้วว่า วิถีทางต่อสู้ต้องวางอยู่บนการเมืองของการเลือกตั้ง สันติและไร้ความรุนแรง

ด้านที่ 4 การเคลื่อนไหวในปัจจุบันสัมพันธ์กับเงื่อนไขร่วมสมัย ไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง กระจายอำนาจ แต่ยังรวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ทางเพศ ฯลฯ

“สุดท้ายอยากย้ำว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้วางโครงสร้างอำนาจที่ฝังเผด็จการครึ่งท่อนเอาไว้ในตัว โจทย์สำคัญของการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่เพียงจะต้องตอบโจทย์ปากท้อง ซึ่งจะต้องวางโครงสร้างอำนาจให้เอื้อต่อการใช้อำนาจของตัวแทนได้

การตอบโจทย์ปากท้อง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการวางอำนาจให้ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ถ้าคุณไม่แก้ไขโครงสร้างอำนาจ ไปพร้อมๆ กับปากท้อง อย่าหวังเลยว่าเราจะมีประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าได้” ยุกติ ทิ้งท้ายหนักแน่น

⦁จะเอาแบบนี้เหรอ?
ย้ำหลักการ อำนาจทำคลอด
สิ้นเสียงนักวิชาการ ผู้แทนราษฎรเขยิบมานั่งใกล้ชิดตัวแทนชาวบ้าน สนทนาหา ‘เส้นทางสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและเห็นหัวประชาชน’

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26 ตอกย้ำทิศทางของพรรค เห็นด้วยว่าควรร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ยืนอยู่บนหลักการสุงสุด ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’ สถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชน

“พูดง่ายๆ เหมือนการทำคลอด เมื่อเป็นลูกของเรา อยากจะให้ออกมาเป็นหน้าตาเป็นอย่างไร เรามีอำนาจสูงสุดในการกำหนด ผ่าน ส.ส.ร. เมื่อมีอำนาจสูงสุด จะทำใหม่ทั้งฉบับ ทำไมจะทำไม่ได้” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ทวนตรรกะ พร้อมขอแรงช่วยกันผลักดัน

แต่ด้วยตอนนี้พรรรคไม่ได้เป็นรัฐบาล จะสามารถขยับอะไรได้บ้าง ?

ชัยธวัช ยืนยันว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ ที่ทำไปแล้วในสภา คือการเสนอญัตติค้างไว้ ขอให้ ครม.ทำประชามติ ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. ถ้าในสภา ส.ส.โหวตเห็นชอบ ก็จะผ่านไปยัง ส.ว. ซึ่งครั้งที่แล้วก็ผ่าน

“ผมเชื่อว่าถ้า ส.ส.เห็นชอบโดยพร้อมเพรียง แล้วเสียงประชาชนสนับสนุน ส.ว.ก็น่าจะตาม ส่งให้รัฐบาลทำประชามติ ขณะที่รัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด”

“ทางก้าวไกลไม่ได้ส่งตัวแทน เข้าไปร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ เพราะเรามีคำถามว่า สิ่งที่รัฐบาลจะทำในการศึกษาทำประชามติฯ ยืนอยู่บนหลักการใหญ่ 2 เรื่องที่ก้าวไกลผลักดันหรือเปล่า ถ้ายืนอยู่บนหลักการใหญ่ เราก็พร้อมเข้าร่วมเพื่อจัดทำรายละเอียดกันว่าจะเดินไปสู่ตรงนั้นอย่างไร” ผู้นำฝ่ายค้านชูจุดยืน

ย้ำว่าแม้พรรคไม่ได้เข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาฯ แต่ไม่ได้เป็นศัตรูกัน พร้อมเสมอที่จะเสนอความคิด เพราะอยากเห็นรัฐธรรมนูญใหม่อยู่แล้ว ซึ่งข้อดีของการไม่ร่วม คือมีระยะห่างในการตรวจสอบคณะกรรมการชุดนี้ของรัฐบาล

⦁‘ขยับได้เลย’
เอาให้ชัดเรื่องอำนาจ ไม่ต้องยัดทุกอย่าง
“ในส่วนของเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าสุดท้ายกระบวนการจะออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนก็ต้องเตรียมตัวเอาไว้”

หัวเรือฝ่ายค้าน ยืนยันในหลักการว่าเนื้อหาไปว่ากันใน ส.ส.ร. แต่ควรเริ่มต้นด้วยการสรุปบทเรียนจากรัฐธรรมนูญธงเขียว

“สำหรับพี่น้องประชาชน ขยับได้เลย ทำงานความคิดกันตั้งแต่วันนี้ ว่าอยากเห็นเนื้อหาหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าให้ดีส่งตัวแทนไปสมัคร ส.ส.ร.ยิ่งดีไปใหญ่”

ชัยธวัชลองออกแบบ อันดับแรกคิดว่าอย่าไปยัดทุกอย่างลงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ควรจะกระชับ

“เน้นเรื่องอำนาจเอาให้ชัดว่าอำนาจอยู่ตรงไหน ไม่ต้องยัดนโยบายทุกอย่าง การเมืองภาคประชาชนต้องรักษาไว้เพราะหวังฝากแค่ในระบบไม่ได้ อาจจะต้องคิดเพิ่มมากขึ้นว่าต้องทำคู่ขนานหรือไม่ คิดถึงการมีตัวแทนเข้าไปใช้อำนาจมากขึ้น” ชัยธวัช ตอบจากบทเรียนในอดีต ที่ประชาชนไม่เคยคาดหวังได้ว่าการเมืองในระบบจะรับใช้

“ทุกวันนี้ยื่นข้อเรียกร้อง ตั้งคณะกรรมการ ยุบสภา มายื่นข้อเรียกร้อง ตั้งคณะกรรมการ เราจะเอากันแบบนี้หรอ วันนี้เรื่องสำคัญคือที่ดิน-ป่าไม้ เฉพาะหน้าไปขอ ครม.แก้ปัญหา แต่ระยะยาวเราต้องร่วมจับมือกันรื้อกฎหมายป่าไม้ที่ดินใหม่ ผลักดันเรื่องกระจายอำนาจ ต้องทำทั้งระดับรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เรื่องการชดเชยต้องเข้าไปใช้กลไกของรัฐมากกว่านี้” ผู้นำฝ่ายค้าน สื่อสารกับภาคประชาชน

⦁ทุกข์ยากหมักหมม
เหตุผลต้องเร่งร่าง
ไพฑูรย์ สร้อยสด เลขาธิการสมัชชาคนจน เห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เอื้อให้พี่น้องกินดีอยู่ดี เพราะทำหลักการสำคัญหล่นหาย ที่ว่าต้องเป็นเครื่องมือที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ควบคุมกำกับการใช้อำนาจของรัฐ

“แต่กลับกลายเป็นว่า เน้นย้ำความมั่นคงของรัฐ มากความมั่นคงของประชาชน” คือปฐมบทของการเริ่มต้นจัดเวที-สำรวจความเห็นทั่วทั้งประเทศ กระทั่งเกิดเป็นตัวร่างรัฐธรรมนูญคนจน

6 ตุลาคมที่ผ่านมา ไพฑูรย์เล่าว่าหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ยื่นรัฐบาล คือขอให้เร่งรัดคณะกรรมการ ในการศึกษาแนวทางทำประชามติให้แล้วเสร็จใน 60 วัน

“เหตุที่ต้องเร่งด่วนขนาดนี้ เพราะสิ่งที่ประจักษ์ต่อหน้า คือความทุกข์ยากของพี่น้องที่หมักหมมสะสมมาภายใต้รัฐธรรมนูญ 60”

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ได้เพียงแค่ขัดขวางการแก้ไขปัญหา แต่ยังเพิ่มอำนาจและสร้างความแตกแยก

“อย่างเช่นการออกกฎหมายป่าไม้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 มีข้อหนึ่งที่บอกว่าเจ้าหน้าที่อุทยานสามารถเข้าไปค้นบ้านของชาวบ้าน แค่สงสัยว่าจะกระทำผิด จากแต่ก่อนจะเข้าได้ต้องมีหมายจับ อุทยานเป็นแค่คนชี้เป้า แต่อันนี้สามารถกระทำการได้เลย ไม่ต้องรอ” เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชาวบ้านต้องเผชิญ

⦁เริ่มได้เลยไม่ต้องรอ
ประชาชนพร้อมนานแล้ว
น่าจับตา ว่าแอ๊กชั่นต่อไปของขบวนการภาคประชาชนจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อ?

ณัฐพร อาจหาญ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มองเห็นจังหวะการเคลื่อนไหวที่สำคัญ เฉพาะแค่ในปี 2534 เห็นพี่น้องคนจนทางอีสาน มาลงกลางถนน ได้รับผลกระทบจากโครงการ คจก. ที่จะจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนฯเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะจะมีการยื่นแย่งยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านจำนวนมหาศาลตามภูมิภาคต่างๆ

“ชาวบ้านเขายอมไม่ได้ รวมตัวกันครั้งใหญ่ ปิดปากช่อง เจรจาให้แก้ไขปัญหา”

ในขณะที่ปี 2535 ก็เกิดกระแสลุกฮือเพราะความเดือดร้อนจากกลไกที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน หรืออย่างในปี 2538 นายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ได้รับเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เพราะไปสัญญาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญประชาชน

“เมื่อเป็นพรรคที่ฟังเสียงประชาชน ก็ได้รับเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เมื่อไม่ได้ตระบัดสัตย์ ก็ดำเนินการร่าง ซึ่งไม่ง่ายเพราะกลุ่มอำนาจเดิมไม่ยอม แต่ยังเกิดขึ้นได้ในปี 2540 ทำไมเราสามารถเขียนคำว่า ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ระบุในรัฐธรรมนูญได้ เรื่องสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมกัน เพราะพี่น้องประชาชนไม่มีใครถอย ชูธงเขียวรณรงค์ เรายอมไม่ได้อีกแล้ว ต้องมีรัฐธรรมนูญประชาชนเท่านั้น”

“พรรคที่พยายามเสนอนโยบายประชานิยมจ๋าๆ แล้วไม่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง คงชนะถล่มทลายไปแล้ว ประชาชนบอกให้เห็นว่าไม่ใช่แค่นั้น พี่น้องมองออกว่ามันสัมพันธ์กัน คุณจะให้เฉพาะพักหนี้ 3 ปีแต่ไม่มีคำว่า ‘สิทธิเกษตรกร’ รับรองในรัฐธรรมนูญ ?”

ณัฐพร แอบกังวลที่มีการตั้งคณะกรรมการ ไม่อยากให้เป็นอย่างที่เขากล่าวอ้างว่าจะมา ‘เตะถ่วง’ คาดหวังว่าจะมีข้อสรุปเพื่อนำไปสู่การเขียนใหม่อย่างเร็วที่สุด

มั่นใจว่าประชาชนพร้อมแล้ว ช่วยกันปูทางร่วมลงชื่อกว่า 200,000 รายชื่อเสนอคำถามประชามติแล้ว ว่าต้องการเขียนใหม่ทั้งฉบับและเลือกตั้ง ส.ส.ร.100%

“พี่น้องประชาชนพร้อมแล้วที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ผลักดันเขียนรัฐธรรมนูญ ฉบับสมัชชาคนจนก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 สิ่งเหล่านี้เดินหน้าไปได้เลย ไม่ต้องรอยืดเยื้อ ยาวนานต่อไป” ตัวแทนภาคประชาชนส่งเสียง

⦁‘จริงใจ’ แต่ถูกใจไหมไม่รู้
หน้าที่นักการเมือง ทวงคืนให้
ตัดภาพมาที่ นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการ และโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ หนึ่งในกุนซือมืออรหันต์ แสดงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาความเห็นต่าง เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ 2560

รัฐธรรมนูญที่โดยส่วนตัวก็มองว่า มัดมือมัดปากประชาชน แต่มองในความเป็นจริงว่าการผ่านวุฒิสภา 1 ใน 3 นั้นยากมาก

“แสดงว่า ส.ส.ทั้งสภา 500 คน เห็นด้วยกันหมดยังแก้ไม่ได้เลย ถ้า ส.ว. 84 คนไม่เอาด้วย ไม่ใช่ว่าชุดนี้ไม่อยู่ ยุบสภา แล้วจะหมดไป เพราะอยู่ใน ‘หมวดถาวร’ วุฒิสภาชุดหน้ามา 200 คน ก็ 1 ใน 3 และอำนาจประชาชนอยู่ที่ไหน”

ในรายละเอียดของคณะกรรมการ เจ้าตัวขอยังไม่พูดถึง แต่ในภาพรวมเห็นว่า สิทธิเป็นของประชาชน แต่ถูกเบียดบังไปนักการเมืองมีหน้าที่ไปเอาสิทธิของประชาชนมาคืนเขา

“ผมจริงใจในการทำเรื่องนี้ แต่ว่าจะถูกใจท่านหรือเปล่าไม่รู้ ถามว่าต้องแก้ตรงไหนบ้าง ผมเป็นอนุกรรมการศึกษา บทบัญญัติ ก็จะไปดูว่าตรงไหนบ้างที่มีปัญหา จะได้ตั้งธงแล้วแก้ เราตรวจสอบแล้ว หมวด 1 หมวด 2 ยังไม่จำเป็นต้องแก้เพราะไม่มีปัญหา ที่เหลือมีปัญหาหมด” นิกร ชี้

ถ้าไปคุยกับยูเอ็นคงเขิน เมื่อกฎหมายสูงสุดของบ้านเรา มีคำว่า “สิทธิ… (เว้นแต่…)”

สิทธิที่พ่วงคำว่า “ความมั่นคง” มากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขนาดนับถือศาสนา ยังไปยกเว้นหากกระทบความมั่นคง ส่วนคำว่า ‘สิทธิชุมชน’ มีอยู่จริงแต่ไร้คำนิยาม และหลักการที่ประชาชนฟ้องรัฐได้หากละเลยหน้าที่ ก็ไม่เคยมีจริง

“ปรากฏว่าสิทธิในการฟ้องไม่มี เพราะสิทธิชุมชนไม่มี ปัญหาเยอะ อย่างคำว่ากระจายอำนาจที่เราพูดถึง แม้แต่คำเดียวก็ไม่มีในรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าต้องรื้อกันทั้งระบบ จะต้องแก้หัวถึงท้าย แต่เราศึกษามาแล้ว หมวด 1-2 เราไม่แก้” นิกรกล่าว พร้อมย้ำในประเด็นที่ว่าต้องปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชน

“หัวเชื้อมาจากเรื่องอำนาจ ต้องเอากลับไปเป็นของประชาชนให้ได้ ให้มี ส.ส.ร. ถ้าเป็นของประชาชน ทุกอย่างจะดีขึ้น” หนึ่งในมืออรหันต์เชื่ออย่างนั้น

ล่าสุดถัดมา 4 วัน นิกรนัดประชุมคณะอนุกรรมการครั้งแรก 25 ตุลาคมนี้ พร้อมประสานทาง ส.ว. และ ส.ส. มาขอความเห็นชอบกรอบวาระงานเร่งด่วน ซึ่งจะนำข้อมูลการรับฟังความเห็นของประชาชน เข้าไปร่วมถกด้วย

เพราะไม่ใช่แค่ตราประทับว่าเป็นกฎหมายสูงสุด แต่คือหลักประกันสิทธิ ว่าประชาชนจะมีผืนดินให้ตั้งบ้าน มีพื้นที่ผลิตอาหาร มีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เป็นประชาธิปไตยกินได้ ชนิดที่ให้สิทธิประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image