ไทยเรียนรู้ไทย

ไทยเรียนรู้ไทย

ไทยเรียนรู้ไทย

หนทางหนึ่งที่ทำให้คนไทยเข้าใจประเทศตัวเอง คือ การอ่านหนังสือ
ปัจจุบันหนังสือที่สื่อความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องเรียน แต่สามารถหาอ่านได้ทุกพื้นที่ทุกจังหวัด

สำนักพิมพ์มติชนก็เป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องไทยๆ ในรูปแบบที่น่าอ่าน

ทั้งในมุมมองประวัติศาสตร์ มุมมองยุทธศาสตร์ของประเทศท่ามกลางกระแสโลก มุมมองความเคลื่อนไหวทางการเมืองยุคปัจจุบัน

Advertisement

รวมไปถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา

ในแง่ประวัติศาสตร์หลายคนคงเคยได้อ่านหนังสือของสำนักพิมพ์มติชน หรือสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม มาหลายปก

ทั้งประวัติศาสตร์ภาพรวม และประวัติศาสตร์ที่เจาะลึกไปที่ตัวบุคคล หรือเหตุการณ์สำคัญๆ

Advertisement

ในแง่การเมืองได้อัพเดตสถานการณ์การเมืองและผลกระทบต่างๆ เพื่อหาคำตอบถึงปรากฏการณ์นั้นๆ

ในแง่ความรู้ทั่วไปได้นำความรู้ที่อัพเดตสถานการณ์ เช่น โรคโควิด โรคระบาด และอื่นๆ มานำเสนอ

ทุกๆ งานหนังสือใหญ่ๆ อย่างงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรืองานมหกรรมหนังสือระดับชาติ จะมีหนังสือใหม่ออกมา

เพื่อให้ผู้สนใจได้แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็เป็นเช่นนั้น

ปีนี้นอกจากหนังสือที่พิมพ์ออกมาก่อนหน้าจำนวนมากแล้ว สำนักพิมพ์ต่างๆ ได้ออกหนังสือใหม่ รวมแล้วจำนวน 3,000 ปก

ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีงานหนังสือระดับชาติมา ตอกย้ำว่าตลาดหนังสือเริ่มมีความหวัง

ความคิดเดิมที่ทำลายการอ่าน โดยเฉพาะ “คนไทยไม่อ่านหนังสือกันแล้ว” กำลังถูกท้าทาย

สำนักพิมพ์มติชนเป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่นำเสนอหนังสือปกใหม่

ถือเป็นธรรมเนียมทุกปีทุกงานหนังสือใหญ่ๆ ที่สำนักพิมพ์มติชนตั้งใจนำเสนอหนังสือใหม่ออกมา

หนังสือใหม่เหล่านั้นได้รวบรวมข้อเท็จจริงและนำเสนอสิ่งที่อัพเดตต่อสถานการณ์

หลายเล่มแม้กล่าวถึงเหตุการณ์เดิม แต่เป็นเรื่องที่ค้นคว้าใหม่ หรือนำเสนอด้วยมุมมองใหม่ จึงน่าสนใจ

อาทิ หนังสือ ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน เขียนโดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ มี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนคำนำเสนอ

ส่วนหนังสือชื่อ How TO PREVENT THE NEXT PANDEMIC เราพร้อมแล้วหรือยังกับการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป ? เขียนโดย Bill Gates แปลโดย นำชัย ชีววิวรรธน์ ได้ตั้งคำถามที่ชวนให้คิด

แต่ที่อยากยกตัวอย่างแบบยาวๆ สักเล่ม คือ หนังสือชื่อ “ความหวังที่เคลื่อนไหว” ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ

หนังสือที่ให้ความรู้ทางการเมืองแบบไม่เครียด

เปิดเรื่องด้วยการตั้งข้อสังเกต เหตุการณ์ใหญ่ 2 เหตุการณ์

นั่นคือ การโหวตประชามติของชาวอังกฤษที่ต้องการออกจากอียู และชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์

เหตุการณ์ทั้งสองได้เขย่าเสาหลักเดิม คือ โลกาภิวัตน์ ตลาดเสรีและประชาธิปไตย

และกำลังเห็นความรู้สึกชาตินิยมและอำนาจนิยม คืบคลานกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง

ความท้าทายนี้เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

อาจารย์ประจักษ์เขียนหนังสือเป็นองค์ความรู้การเมืองให้เข้าใจง่าย

เป็นการเมืองของไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เนื้อหาแต่ละบทสั้นแต่ทำให้มองเห็นภาพรวมการเมืองไทยพร้อมจุดหักเห

จากรัฐธรรมนูญฉบับแรกจวบจนมาถึงปัจจุบัน การเมืองไทยมีความผันผวน

จับอาการการเมืองจากรัฐธรรมนูญ พบว่าหลายยุคเราเคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตย

โดยเฉพาะยุคที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

แต่น่าเสียดายที่ทุกฉบับสิ้นสุดลงด้วยระบบทหาร

เนื้อหาในหนังสือยังได้อธิบายถึงระบบการเมืองประชาธิปไตย และรูปแบบการได้มาซึ่ง ส.ส.

แบบเสียงข้างมาก แบบสัดส่วน แบบผสม

จำแนกแยกแยะย่อยลงไปเป็นตัวย่อที่หลายคนคุ้นเคย ทั้งแบบ MMA ทั้งแบบ MMM ทั้งแบบ MMP

เนื้อหาอีกส่วนที่สำคัญ คือการชวนให้มองการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ส่งกระแสมาถึงไทย

กล่าวถึงการเมืองสหรัฐอเมริกา และความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ ในโลก

มองฮ่องกง มองอิหร่าน มองพม่า และสุดท้ายกลับมามองไทย

เมื่อได้อ่านกันแบบมีสติ ทำให้เห็นอนาคตเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนังสือที่สำนักพิมพ์มติชนนำเสนอ

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ยังมีถึงวันที่ 23 ตุลาคม

ช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ เพราะลดราคาแล้วยังได้ของพรีเมียมให้หิ้วกลับบ้าน

หนังสือเหล่านี้ยังหาได้จากร้านหนังสือ รวมทั้งระบบออนไลน์

หนังสือเช่นนี้ควรอยู่ในห้องสมุด ควรอยู่ในที่อ่านหนังสือหมู่บ้าน

เพราะเป็นหนังสือที่คนไทยจะได้เรียนรู้ไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image