ธรรมศาสตร์กับประวัติศาสตร์ ‘ชุดนักศึกษา’ จากยุคจอมพลถนอม สู่วัน‘ปลดล็อก

ธรรมศาสตร์กับประวัติศาสตร์ ‘ชุดนักศึกษา’
จากยุคจอมพลถนอม สู่วัน‘ปลดล็อก

ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดมาเพราะต้องการผลิตคนรุ่นใหม่เข้าสู่การร่วมสร้างสังคมประชาธิปไตยไทยหลังปฏิวัติ 2475

ธรรมศาสตร์เกิดขึ้นด้วยการเป็นมหาวิทยาลัยเปิด จึงโอบรับนักศึกษาจากคนหลายระดับทางเศรษฐกิจสังคมไทยที่เพิ่งหลุดออกจากระบอบเก่า

แม้ว่าธรรมศาสตร์จะถูกครอบงำด้วยฝ่ายรัฐทหารในทศวรรษ 2490s-2500s แต่นักศึกษาและอาจารย์ธรรมศาสตร์ในทุกช่วงเวลาก็มีกลุ่มพลังแนวคิดผลักดันสังคมไทยไปสู่ประตูสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะถูกลงทัณฑ์ด้วยความรุนแรงเป็นระยะๆ

Advertisement

ฝ่ายรัฐทหารประสบความสำเร็จในการสถาปนาบังคับการแต่งตัวด้วยเครื่องแบบนักศึกษาอย่างเข้มข้นในยุคพลเอกถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ 2503-2506 มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นประธานสภามหาวิทยาลัย ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อไม่ให้คอมมิวนิสต์ปะปนแฝงตัวอยู่ในหมู่นักศึกษา

และเมื่อถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจมาตรา 17 และอยู่ในอำนาจนานถึงสิบปี กฎการแต่งตัวนักศึกษาจึงถูกบังคับใช้กับมหาวิทยาลัยทั้งเก่าและใหม่ รวมทั้งวิทยาลัยครูต่างๆ อย่างไม่มีข้อแม้ ทั้งประเทศ ที่มีนักศึกษามหา’ลัยจากระดับ 4-5 พันคน มาเป็นกว่าหมื่นคนในปี 2513 และเพิ่มปริมาณด้วยนักศึกษารามคำแหงอีกกว่า 5 หมื่นคนตั้งแต่ปี 2514

แม้กระนั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์ก็ค่อยๆ แหวกกรอบรัฐทหาร ก่อน 14 ตุลา นักศึกษาซึ่งเป็นสตรีเล่าว่า พวกตนที่เป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็ไม่ได้แต่งชุดนักศึกษาไปเรียนในวันปกติแล้ว จะแต่งชุดก็ในวาระสอบและวาระพิเศษทางการเท่านั้น ซึ่งสอดรับกับการเปลี่ยนอธิการบดีมาเป็นนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้นำสายราชาชาตินิยม ที่สู้กับฝ่ายรัฐทหารด้วยแนวคิดสำคัญ คือ ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

Advertisement

บวกกับการมีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ และคณบดีเศรษฐศาสตร์ ผู้ซึ่งแต่งกายธรรมดาๆ ไม่เน้นใส่สูทแบบพวกข้าราชการทั่วไป คือการเปลี่ยนทัศนคติว่า นักศึกษาคือชนชั้นนำแบบหรูเลิศ มาเป็นชนชั้นปัญญาชนแบบตีนติดดินเรียนรู้โลกและปัญหาของประชาชน

อาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ซึ่งเข้ามาเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ปี 2517 เล่าว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์หลัง 14 ตุลา แต่งชุดธรรมดามาเรียน อาจารย์ชายก็ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวเท่านั้น อาจไม่มีเนกไทด้วย ส่วนอาจารย์ทักษ์ใส่เชิ้ตแขนสั้น ไม่มีเนกไท มาสอน

หลัง 14 ตุลา นักศึกษาจำนวนมากได้ออกจากกรอบชุดนักศึกษา ซึ่งอาจารย์ฝ่ายบริหารมหา’ลัยก็มองข้ามสิ่งเหล่านี้ เพราะต่างเห็นว่าไม่ใช่สาระสำคัญในการเรียนการสอนในมหา’ลัย

หลัง 14 ตุลา จึงเป็นยุคการแต่งกาย 5 ย ของนักศึกษา ที่แพร่ระบาดไปทั่ว เสื้อยืด เกงยีนส์ รองเท้ายางแตะ สะพายย่าม ผมยาว เป็นการแหวกออกจากกรอบวัฒนธรรมแบบเผด็จการอำนาจรัฐทหารครั้งสำคัญ

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ฝ่ายรัฐทหารที่กลับมาปกครองประเทศ ได้พยายามบีบให้สถาบันการศึกษาหาทางบังคับให้นักศึกษาแต่งชุดมากขึ้น โดยการบีบไปที่วิทยาลัยครูและอาชีวะทั้งประเทศก่อน ส่วนพวกมหาวิทยาลัยให้ใช้การรณรงค์ด้วยการสร้างความภาคภูมิใจในชุดนิสิตนักศึกษาต่อมหา’ลัยของตน อาจารย์ฝ่ายอนุรักษนิยมขึ้นเป็นฝ่ายบริหารในระดับต่างๆ

ผมเข้ารัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปี 2524 ชีวิตในมหาวิทยาลัย 4 ปีไม่เคยมีชุดนักศึกษา ซึ่งยังเป็นมรดกเสรีภาพของนักศึกษาทั่วไปในธรรมศาสตร์ ช่วงเข้าห้องสอบ ก็แค่ใส่รองเท้าผ้าใบ กางเกงยีนส์เสื้อเชิ้ตเสื้อโปโลมีปกแขนสั้น ก็เพียงพอ ไม่มีอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่คนไหนมาจ้ำจี้จ้ำไชว่าสุภาพหรือไม่ ที่ยอมแต่งตัวแบบนี้เข้าห้องสอบ เพราะถูกใส่ความคิดจากการโปรโมตของฝ่ายมหา’ลัยว่า ให้เกียรติให้ความเคารพต่อสถานที่!

หลังจบปริญญาตรี ผมยังคงวนอยู่ในธรรมศาสตร์ โดยการทำงานวิจัยการเมืองไทยกับอาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ อาจารย์รัฐศาสตร์ 2528-30 เรียนต่อปริญญาโทประวัติศาสตร์ 2530-35 ทำงานช่วยอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ศิลปศาสตร์ 2535-37 ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงคือ การรณรงค์ที่มากขึ้นของฝ่ายมหา’ลัยกับการแต่งชุดนักศึกษา ราวปลายทศวรรษ 2530s การเข้าสอบก็ถูกระเบียบการแต่งชุดนักศึกษาจัดการทั้งมหา’ลัย แต่ในช่วงการเรียนการสอน ใครอยากแต่งตามสไตล์ของตนก็ตามสบาย

ทศวรรษ 2540s-2550s เราเห็นได้ว่าชุดนักศึกษาชายหญิงเต็มไปทั่วมหาวิทยาลัย

แต่เราจะเห็นชุดโมเดิร์นตามแฟชั่นของนักศึกษาชายหญิงเพิ่มมากขึ้นๆ ในธรรมศาสตร์

ผมได้ไปบรรยายพิเศษให้นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2550s พบว่าราวครึ่งๆ ระหว่างแต่งชุดนักศึกษาและชุดตามสบายในชั้นเรียน

ช่วงปี 2560 ผมได้ไปบรรยายวิชาพื้นฐาน TU101 ปัจจุบันชื่อ โลก อาเซียน ไทย นักศึกษาในห้องขนาด 500 ที่นั่ง ค่อนห้องใส่ชุดตามสบาย

ปี 2566 เพิ่งไปสอน TU 101 นักศึกษาส่วนใหญ่ใส่ชุดตามสบาย

สภานักศึกษาธรรมศาสตร์เล่าว่า พวกตนได้รณรงค์เรื่องยกเลิกชุดนักศึกษามาต่อเนื่องหลายปี รวมทั้งการแต่งชุดเข้าห้องสอบ ซึ่งในที่สุด ฝ่ายบริหารก็ตกผลึกทางความคิดในเดือนตุลาคม 2566 ในสมัยอธิการบดี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ จากสายพาณิชย์บัญชี ที่มองเห็นโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และยอมรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นใหม่ในสังคม ที่ต่อสู้กับทรงผมและชุดมาตั้งแต่ในระบบโรงเรียนมัธยม เพราะคนมีความหลากหลายเพศและชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นผลผลิตของฝ่ายอำนาจนิยมกดบังคับความคิดจิตใจ

นักเรียนมัธยมโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพราวมิถุนายน 2566) ไม่มีชุดนักเรียนแบบเสื้อขาวกางเกงดำกางเกงน้ำตาลรองเท้านักเรียนแบบที่เราเห็น มีเพียงเสื้อโปโลมีสัญลักษณ์โรงเรียนสองตัวที่ทางสาธิตจะขอให้ร่วมมือใส่ในวันที่กำหนด แต่โดยทั่วไปนักเรียนแต่งชุดตามสไตล์ของตนเอง รวมทั้งรองเท้า

สาธิตธรรมศาสตร์ได้ปลดล็อกชุดนักเรียนตั้งแต่เปิดโรงเรียนเมื่อปี 2559 เพื่อแสวงหาหนทางการเรียนให้นักเรียน มีความสุขในการมาเรียน แสดงออกอัตลักษณ์ของตน มุ่งเน้นไปสร้างสรรค์ทางความคิด ปัญญา และการแสวงหาหนทางของแต่ละคน เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ ไม่มาตรึงกันมาทะเลาะกันลงโทษกันระหว่างครูกับนักเรียนด้วยเรื่องระเบียบชุดนักเรียนแบบที่เป็นปัญหาเดิมๆ ของโรงเรียนทั้งประเทศ

ที่กล่าวถึงโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ในเรื่องชุดนักเรียนนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ได้สร้างครูรุ่นใหม่ที่เชื่อในสิทธิเสรีภาพและตระหนักยอมรับถึงความหลากหลายของบุคคลเข้าสู่สังคมไทยมาเกือบสิบปีแล้ว ไม่ใช่สอนกันด้วยอำนาจบังคับแบบเดิมๆ ซึ่งนี้คือพลังการเปลี่ยนแปลงทางความคิดความเชื่อที่เติบโตในหมู่อาจารย์และผู้บริหารมหา’ลัยธรรมศาสตร์

การปลดล็อกชุดนักศึกษาโดยให้แต่งแบบใดที่ “สุภาพ” ที่ขอเพียงไม่ไปรบกวนบุคคลอื่น รวมทั้งชุดในการเข้าห้องสอบของธรรมศาสตร์ครั้งนี้ กล่าวได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสังคมไทย เพราะเมื่อธรรมศาสตร์นำ มหาวิทยาลัยรัฐอื่นๆ ซึ่งก็ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมก็จะสามารถกล้าที่จะเดินออกจากกรอบเดิมๆ ได้ และมหา’ลัยเอกชนก็จะสามารถออกจากกรอบชุดนักศึกษาได้ด้วยเช่นกัน

“ธำรงศักดิ์โพล” ซึ่งเป็นการสำรวจทัศนคติคน Gen Z ที่เรียนในมหาลัย ด้วยคำถามว่า เห็นควรยกเลิกชุดนักศึกษาหรือยัง (เผยแพร่ มติชนออนไลน์ 26 พ.ย.2565) นักศึกษาส่วนมากถึงร้อยละ 65.3 เห็นควรยกเลิกชุดนักศึกษา มีเพียงร้อยละ 23.5 ที่ยังสนับสนุนให้คงชุดนักศึกษาไว้ อีกร้อยละ 11.2 ไม่แสดงความเห็น

คน Gen Z ที่เห็นว่าควรยกเลิกกฎระเบียบและการบังคับใส่เครื่องแบบของนิสิตนักศึกษา ให้เหตุผลว่า จะได้ใช้ชุดที่มี ไม่ต้องใช้เงินไปซื้อใหม่, การซื้อชุดนักศึกษาเป็นต้นทุนของครอบครัว, การไปเรียนไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเครื่องแบบ, ใส่ชุดได้เสรี ชีวิตก็มีเสรี, ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเป็นของตัวเอง, ให้เป็นเรื่องของส่วนบุคคล, แต่ละคนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง, อิสระในการแต่งตัว, ใส่เสื้อผ้าตามความมั่นใจของตนเอง, คนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน, สิ้นเปลือง, ชุดนักศึกษาเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบที่ไม่มีประโยชน์, ชุดนักศึกษาไม่ได้ช่วยให้มีระเบียบมากขึ้นอย่างที่หลายคนคิด, ชุดนักศึกษาเผางบของผู้ปกครอง, ร่างกายเป็นของเรา ชุดใส่ย่อมต้องเป็นของเราที่เราเลือกเอง

ส่วนคน Gen Z ที่เห็นว่ายังไม่ควรยกเลิก ให้เหตุผลว่า ชุดนักศึกษาสร้างความเป็นระเบียบ, ลดความเหลื่อมล้ำ, ไม่วิ่งตามแฟชั่น, รู้ว่าอยู่สถาบันใด, ใส่แล้วมีเกียรติ.

การปลดล็อกชุดนักศึกษาของธรรมศาสตร์ครั้งนี้ คือการตอบโจทย์ต่อสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เป็นสภาวะเสื่อมสลายระเบียบรัฐทหารที่ครองอำนาจนำมาอย่างยาวนานลง

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

*****************

จะเรียน จะสอบ แต่งกายอย่างไรก็ได้
ขอเพียงไม่รบกวนผู้อื่น

21 ตุลาคม เฟซบุ๊กสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แจ้งว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เซ็นประกาศมหาวิทยาลัย เรื่องแนวทางการแต่งกายของนักศึกษา พ.ศ.2566 เพื่อออกมานิยามว่าการแต่งกายแบบใดถือว่าไม่สุภาพ เพื่อลดช่องโหว่ในการตีความของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบของนักศึกษา พ.ศ.2564

ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง แนวทางการการแต่งกายของนักศึกษา พ.ศ.2566 ระบุว่าเพื่อให้การปฏิบัติในเรื่องการแต่งกายของนักศึกษาสอดคล้องกับข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบของนักศึกษา พ.ศ.2564 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 (1) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558 และข้อ 10 วรรค

สอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบของนักศึกษา พ.ศ.2564 อธิการบดีจึงออกประกาศไว้ ดังนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง แนวทางการการแต่งกายของนักศึกษา พ.ศ.2566” ข้อ 2 การแต่งกายในลักษณะต่อไปนี้ ถือเป็นการแต่งกายที่ไม่สุภาพเรียบร้อย (1) การแต่งกายในลักษณะที่ก่อให้เกิดการรบกวนสมาธิของบุคคลอื่นในการเรียน การสอบและการเข้ารับบริการอื่นจากส่วนงานของมหาวิทยาลัย (2) การแต่งกายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอน เจ้าหน้าที่คุมสอบหรือบุคลากรผู้ให้บริการ เช่น การแต่งกายที่ไม่สามารถระบุตัวตนหรือไม่สามารถตรวจสอบการกระทำทุจริตของนักศึกษาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image