ด้วยรักและระลึกถึง บรูซ แกสตัน ‘ศิลปินคนหนึ่งที่ควรมีอนุสาวรีย์’

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานเครือมติชน พร้อมด้วยเสถียร เสถียรธรรมะ แห่งคาราบาวกรุ๊ป นำพวงมาลัยคล้องอนุสาวรีย์บรูซ แกสตัน เมื่อแรกติดตั้ง ณ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง พระราม 3 ช่วงต้นปี 2566

“อาจารย์บรูซเป็นคนหนึ่งที่น่าจะมีอนุสาวรีย์” คือคำตอบของ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ต่อคำถามถึงแนวคิดการสร้างประติมากรรมของบุคคลระดับตำนาน นาม บรูซ แกสตัน ผู้ล่วงลับ

ไม่เพียงในฐานะศิลปินผู้ก่อตั้ง ‘วงฟองน้ำ’ เมื่อ พ.ศ.2524 บุกเบิกการผสมผสานระหว่างดนตรีไทยและตะวันตกจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล หากแต่ในฐานะ ‘เพื่อน’ ที่มีความรักใคร่สนิทสนมอย่างยาวนาน เริ่มต้นจากการได้ยินชื่อเสียง เคยพบปะตามวาระต่างๆ กระทั่งได้รู้จักเป็นการส่วนตัว และกลายเป็นเพื่อนในชีวิตจริง

ย้อนความผูกพัน เพื่อนผู้อัจฉริยะ ‘คิดถึงก็ไปหาได้’

วงฟองน้ำ ในวาระครบรอบ 1 ปี โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง พระราม 3 เมื่อ 10 กันยายน 2543 จากซ้าย ชัยภัค ภัทรจินดา, เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี, ครูละมูล เผือกทองคำ และบรูซ แกสตัน (ภาพจาก ‘วงฟองน้ำ’)

“อาจารย์บรูซเป็นเพื่อน เป็นอัจฉริยะด้านดนตรี มีความสามารถสูงในการประยุกต์ดนตรีเข้ากับเพลง ประยุกต์เพลงเข้ากับดนตรี” หัวเรือใหญ่เครือมติชน กล่าวถึงมุมมองต่อปูชนียบุคคลผู้ฝากไว้ซึ่งผลงานมากมาย ประทับไว้ในความทรงจำของผู้คนที่เคยสดับตรับฟังสุ้มเสียงดนตรีอันมีเอกลักษณ์จากแห่งหนต่างๆ ทั่วไทย รวมถึง ‘โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง’ ของ เสถียร เสถียรธรรมะ กัลยาณมิตรผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งบรูซ แกสตันและวงฟองน้ำ เล่นประจำบนเวทีตั้งแต่ พ.ศ.2542 จนกลายเป็นเสน่ห์ของโรงเบียร์ที่มีแฟนเพลงติดตามมากมายตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ

Advertisement

ด้วยความเป็นเพื่อนที่ผูกพันทั้งต่อ บรูซ แกสตัน และเสถียร เสถียรธรรมะ ที่ขรรค์ชัยเผยว่า ‘เป็นเพื่อนรักกันมานาน’ จึงดำริจัดสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงอาจารย์บรูซ มอบให้เสถียร แห่งคาราบาวกรุ๊ป

ปัจจุบันตั้งตระหง่าน ณ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขาพระราม 3 สง่างามด้วยโลหะสัมฤทธิ์

นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนผู้สร้างความสุขผ่านทุกตัวโน้ตที่เคยสร้างสรรค์

Advertisement

เตรียมประกอบพิธี ‘เบิกเนตร’ ในวันพุธที่ 8 พฤศจิกายนนี้ โดยมีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธาน

“อนุสาวรีย์นี้เมื่อสำเร็จออกมาแล้ว ทุกคนดีใจ ปลื้มใจ ปีติในใจ ใครคิดถึงอาจารย์บรูซก็ไปหาได้” ขรรค์ชัยกล่าวพร้อมรอยยิ้ม ก่อนย้อนเล่าถึงไทม์ไลน์ชีวิตที่มีอาจารย์บรูซเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

“รู้จักกันตั้งแต่ก่อนอาจารย์บรูซกับวงฟองน้ำไปเล่นที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ความรักความผูกพันมีมาก่อนแล้ว อาจารย์บรูซเคยไปร้องเพลงเล่นดนตรีให้ที่บ้านริมคลองมอญ ไม่เคยขอเพลง แต่เล่นให้เอง จับอะไรก็ไพเราะทั้งนั้น เจอกันก็มีแต่รอยยิ้ม ความสนุกสนาน”

ระหว่างขั้นตอนสร้าง ตั้งแต่ยังเป็นโมเดลดินน้ำมัน ขรรค์ชัย ติดตามความคืบหน้ามาตลอด กระทั่งแล้วเสร็จตามความมุ่งหวังในช่วงต้นปี 2566 ก็เดินทางไปในวันติดตั้ง โดยเผยถึงความรู้สึกในนาทีแรกที่ได้พบอาจารย์บรูซอีกครั้งในฐานะอนุสาวรีย์ ว่า

“มันมีจิตวิญญาณ มองแล้วรู้สึกว่าเป็นอาจารย์บรูซที่คุ้นเคย”

จำลองเท่าตัวจริง ดำดิ่งถึงจิตวิญญาณ
ไม่ปล่อยผ่านแม้ ‘ปอยผม’

ทุกขั้นตอนดำเนินการเป็นไปอย่างประณีต ฝีมือประติมากรชั้นครู สมศิลป์ แพทย์คุณ อาจารย์วิทยาลัยช่างศิลป

กว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ที่งดงามราวกับมีชีวิต รอพิธี ‘เบิกเนตร’ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

สุลักษณ์ บุนปาน บรรณาธิการบริหาร นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เล่าว่า หลังอาจารย์บรูซเสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2564 ท่านประธานขรรค์ชัยมอบหมายให้หาประติมากรมือดีมาปั้นอนุสาวรีย์แบบลอยตัว โดยได้ประสานหารือไปยัง เสถียร แห่งคาราบาวกรุ๊ป ถึงช่วงวัยและอิริยาบทที่เหมาะสม ได้ข้อคิดเห็นว่า น่าจะปั้นรูปอาจารย์บรูซขณะเล่นฆ้องวง โดยใช้แบบจากภาพถ่าย

“คุณเสถียรบอกว่าน่าจะเป็นรูปเล่นฆ้องวง ซึ่งอาจารย์บรูซชอบมาก โดยอยากให้ตั้งที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขาพระราม 3 ซึ่งอาจารย์บรูซเล่นเป็นสาขาแรก เมื่อโจทย์เป็นอย่างนั้น จึงไปสำรวจสถานที่ เพื่อพิจารณาขนาดของอนุสาวรีย์ซึ่งโดยปกติการทำรูปเหมือนจะปั้นขนาด 1 เท่าครึ่ง แต่เมื่อไปดูจุดติดตั้งพบว่าด้านในไม่เหมาะ เพราะเป็นพื้นที่ขาย จุดที่เหมาะกว่าคือทางเข้าด้านหน้า อย่างไรก็ตาม ท่วงท่าการตีฆ้องวงเป็นอิริยาบทนั่ง ซึ่งติดตั้งไว้ต่ำไม่ได้ เพราะจะดูไม่สง่า เลยคิดว่าขนาด 1 เท่าครึ่งสูงใหญ่เกินไป เนื่องจากต้องยกขึ้นให้สูงในระดับเอว เพื่อให้อยู่ในระดับสายตา จึงตัดสินใจลดลงเป็นขนาดเท่าตัวจริง”

จากนั้น สุลักษณ์ ติดต่อไปยัง สมศิลป์ แพทย์คุณ อาจารย์ประจำวิชาประติมากรรม วิทยาลัยช่างศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปั้นรูปบุคคลอย่างยิ่ง โดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย

“อาจารย์สมศิลป์เริ่มต้นด้วยการสเกตช์แล้วปั้นดินน้ำมันจากรูปถ่าย ส่งให้ท่านประธานดูก่อน ว่าเป็นที่พอใจหรือไม่ แล้วค่อยลงมือปั้นชิ้นใหญ่เท่าตัวจริง ช่วงที่ใกล้จะแล้วเสร็จ ผมก็ไปดูแล้วคอมเมนต์จนโอเคจึงมีการถอดพิมพ์ ทำขี้ผึ้งเพื่อเตรียมกระบวนการหล่อ โดยเลือกโรงหล่อธรรมรังษี บางใหญ่ เดิมอยู่ตรงวัดดงมูลเหล็ก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี กระทั่งเสร็จในช่วงต้นปี 2566 ส่วนฆ้องวง ซื้อของจริงจากร้านเครื่องดนตรีไทย”

เมื่อถามว่า จุดที่ชี้แนะให้ปรับแก้คือจุดใด ได้คำตอบที่สะท้อนถึงความประณีตใส่ใจในทุกรายละเอียดของสุลักษณ์อย่างแท้จริง

“อาจารย์สมศิลป์ปั้นดีอยู่แล้ว แต่คอมเมนต์ไปเรื่องผมที่ดูแล้วยังค่อนข้างตรง เพราะอาจารย์บรูซผมหยักศก”

จากภาพถ่าย สู่อนุสาวรีย์ ‘ผมปั้นด้วยความรู้สึกข้างใน’

ว่าแล้ว สอบถามไปยัง สมศิลป์ แพทย์คุณ อาจารย์สอนปั้นชั้นครูผู้ฝากฝีไม้ลายมือไว้บนทุกอณูของอนุสาวรีย์บรูซ แกสตัน โดยรับว่า เมื่อปรับเน้นเรื่องผมหยักศกตามที่ได้รับคำแนะนำ ทำให้ผลงานออกมาดียิ่งขึ้น

“มีคอมเมนต์ว่าผมอาจารย์บรูซหยักศกเป็นลอนแบบเฉพาะตัว อยากให้เน้นตรงนี้นิดหนึ่ง เพราะผมของท่านมีความพิเศษ มีเอกลักษณ์ ถ้าปรับตรงนี้ จะดีขึ้น จึงเพิ่มเติมเข้าไป ซึ่งทำให้งานดูดียิ่งขึ้นจริงๆ”

แน่นอนว่า ความละเอียดลออไม่ได้มีเพียงแค่จุดดังกล่าว หากแต่เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการ ‘ดรออิ้ง’ จากภาพถ่าย จากนั้นขึ้นรูป ‘สามมิติ’ ลอยตัวด้วยดินน้ำมันขนาดย่อส่วน สูงราว 8 นิ้ว ในท่านั่งตีฆ้องวง

เฉพาะขั้นตอนที่กล่าวมานี้ กินเวลาราว 1 เดือนเต็ม

“ถือว่าเป็นขั้นตอนที่ใช้ความละเอียด ต้องดูลักษณะท่าทางของท่านอย่างรอบด้าน เพื่อให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด จึงต้องใช้เวลา”

อนุสาวรีย์บรูซ แกสตัน หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ภาพก่อนเคลื่อนย้ายไปติดตั้งยังโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

ข้อจำกัดซึ่งเป็นความท้าทายของขั้นตอนนี้ คือการต้องดำเนินการจาก ‘ภาพถ่าย’ ซึ่งมีเพียงมิติเดียว ต่างจากการปั้นแบบจากคนจริงที่มองเห็นได้รอบด้าน

อาจารย์สมศิลป์ จึงทำการสืบค้นภาพถ่ายจำนวนมากเพื่อนำมา ‘ประมวล’ จนได้มุมต่างๆ อย่างครบถ้วนที่สุด

“โจทย์ที่ได้มาคือ อาจารย์บรูซขณะนั่งตีฆ้องวง แต่ผมใช้วิธีหารูปอื่นของท่านมาประกอบ เพราะการสเกตช์ภาพให้ได้ด้านข้าง ด้านหลัง ต้องหาอิริยาบทหลายๆ ด้าน นำมาผสมผสานกัน เพื่อหาท่วงท่านั่งจากภาพอื่นๆ อย่างภาพขัดสมาธิบางภาพมองไม่เห็นเพราะฆ้องบังอยู่ ก็ต้องไปหารูปอื่นมาดูเพื่อสร้างประติมากรรมลอยตัวที่มองเห็นรอบด้าน แล้วปั้นโมเดลเล็กๆ ด้วยดินน้ำมัน”

ต่อมา คืออีกขั้นตอนสำคัญคือการปั้นขนาดเท่าจริง ซึ่งไม่เพียงดำเนินการตามส่วนสูงจริงตามข้อมูลที่มี ยังหาบุคคลที่มีความสูงและรูปร่างใกล้เคียงกับอาจารย์บรูซมาทดลองนั่งเป็นแบบด้วย

นอกเหนือจาก ‘เทคนิค’ ซึ่งอาจารย์สมศิลป์เชี่ยวชาญอย่างไม่มีข้อสงสัย ‘จิตวิญญาณภายใน’ คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของศิลปินที่ถ่ายทอดผ่านสองมือ กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ประติมากรท่านนี้ภาคภูมิใจยิ่ง

“อาจารย์บรูซเป็นบุคคลสำคัญ เมื่อทราบว่าจะได้ปั้นรูปท่าน ก็ดีใจมาก รู้สึกมีพลัง อยากปั้นออกมาให้ดีที่สุดด้วยความประทับใจในชีวิตและผลงาน ซึ่งแม้ไม่รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว แต่ได้ฟังบทเพลงของวงฟองน้ำตลอดมา จึงมีความเชื่อมโยง ผูกพันทางใจ

ผมปั้นออกมาด้วยความรู้สึกข้างในจริงๆ สะท้อนผ่าน texture ต่างๆ บนประติมากรรมที่หล่อจากบรอนซ์ หรือโลหะสัมฤทธิ์ ซึ่งวัสดุก็มีส่วนช่วยให้ดูดีขึ้น ยิ่งเวลานำไปติดตั้ง มีแท่น ดูสวยงาม มีฆ้องประกอบ ถือเป็นผลงานที่พอใจ ประกอบสถานที่ติดตั้งคือโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงซึ่งเข้ากับบรรยากาศ” อาจารย์สมศิลป์ทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของที่มา กว่าจะเป็นอนุสาวรีย์บรูซ แกสตัน อันงามสง่า หนักแน่น และเต็มไปด้วยจิตวิญญาณ

75 ปีแห่งชีวิต บรูซ แกสตัน ผลงานไม่เคยตาย

บรูซ แกสตัน ขณะเล่นฆ้องวง หนึ่งในภาพที่ถูกเลือกใช้เป็นหลักในการทำแบบสร้างอนุสาวรีย์

บรูซ แกสตัน (Bruce Gaston) มีชื่อไทยว่า บุรุษ เกศกรรณ เกิดเมื่อ พ.ศ.2489 ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หัดเล่นดนตรีตั้งแต่ 3 ขวบ กระทั่งเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย โดยเลือกเรียนสาขาวิชา ทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลง และปรัชญาจนจบปริญญาโทด้วยวัยเพียง 20 ต้นๆ ในยุคสงครามเวียดนาม

เมื่อ พ.ศ.2512 เดินทางสู่ประเทศไทยเพื่อเป็นครูสอนดนตรี ที่โรงเรียนผดุงราษฎร์ จังหวัดพิษณุโลก

ต่อมา ย้ายไปเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเปิดหลักสูตรดนตรีระดับปริญญาตรี ในช่วงเวลานี้เอง บรูซ แกสตัน เกิดความสนใจในดนตรีไทย โดยขอเรียนรู้จากชาวบ้าน แม้ต้องกลับไปยังสหรัฐ แต่สุดท้าย ตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง โดยศึกษาดนตรีล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

ครั้นเมื่อ กรมศิลปากรเปิดวิทยาลัยนาฏศิลป วิทยาเขตเชียงใหม่ จึงได้หัดระนาดเอกกับ สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ และหัดปี่พาทย์รอบวงจาก โสภณ ซื่อต่อชาติ ศิษย์เอก หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

ต่อมา ได้ทดลองประยุกต์ดนตรีไทยเข้ากับดนตรีสากล และเริ่มทำอุปรากรเรื่อง ‘ชูชก’ โดยใช้วิธีขับร้องประสานเสียงร่วมกับวงดนตรีปี่พาทย์ กังสดาล และการออกแบบประติมากรรมขนาดใหญ่รูปชูชกกินจนท้องแตก จากนั้น เข้าฝากตัวกับ บุญยงค์ เกตุคง ครูระนาดชื่อดัง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสานระหว่างดนตรีแบบตะวันตกที่ใช้ระบบตัวโน้ตในการถ่ายทอด กับการเรียนดนตรีแบบไทยที่ต้องมีครูต่อเพลงแบบตัวต่อตัว

พ.ศ.2522 บรูซ แกสตัน ร่วมกับครูบุญยงค์ ก่อตั้ง ‘วงฟองน้ำ’ โดยมี จิรพรรณ อังศวานนท์ และนักดนตรีไทยรวมถึงสากล สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการดนตรีไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

ตัวอย่างผลงานที่มีชื่อเสียง อาทิ ‘เจ้าพระยาคอนแชร์โต’ ในงานฉลองกรุงเทพมหานครอายุครบ 200 ปี เมื่อ พ.ศ.2525, ประพันธ์เพลง ‘อาหนู’ สำหรับ Prepared Piano ระนาดทุ้ม และดนตรีไฟฟ้า แสดงในงานรำลึกจอห์น เคจ ณ เมืองนิวยอร์ก สหรัฐ ในปีเดียวกัน รวมถึงการนำวงดนตรีฟองน้ำเข้าร่วมเทศกาลมหกรรมดนตรีราชสำนัก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.2530 รวมถึงการประพันธ์เพลง ‘Thailand the golden Paradise’ ใน พ.ศ.2530 เพื่อเฉลิมฉลองปีท่องเที่ยวไทย และถือเป็นเพลงหลักในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยทั่วโลกนับแต่นั้นมา

พ.ศ.2542 บรูซ แกสตันและวงฟองน้ำ เริ่มเล่นประจำ ณ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง โดยมีแฟนเพลงติดตามมากมาย กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของโรงเบียร์กว่า 20 ปี

ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ ผศ.สารภี แกสตัน อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรชายคือ ธีรดล ธีโอดอร์ แกสตัน (เท็ดดี้) มือกีตาร์วงฟลัวร์ โดยมีลูกศิษย์ลูกหาที่มีชื่อเสียงมากมาย

ได้รับรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำปี 2552

บรูซ แกสตัน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2564 สิริอายุได้ 75 ปี

(ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก ‘หอศิลป์ร่วมสมัย ราชดำเนิน’)

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image