‘กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ’ Jazz ด้วยรักและเรียนรู้

กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ

การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาซึ่งความเสียใจของปวงไทยทั้งแผ่นดิน

แต่อีกแง่หนึ่ง นอกจากการทรงงานและเรื่องราวของโครงการหลวงและโครงการพระราชดำริที่เกิดขึ้นทั่วสารทิศของประเทศไทยแล้ว เรายังได้เห็นพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของพระองค์ในหลากหลายด้าน สะท้อนพระสมัญญานามที่คนไทยเชิดชูเป็น “อัครศิลปิน”

ที่โดดเด่นอย่างมาก คือ รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นทั้งนักดนตรีและนักประพันธ์ดนตรีสไตล์แจ๊ซ

ซึ่ง กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีแจ๊ซ (แซกโซโฟน) รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าหลักหมุดสำคัญของประวัติศาสตร์ดนตรีในไทย คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดดนตรีแจ๊ซ พระองค์ได้พระราชนิพนธ์เพลงแจ๊ซตั้งแต่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระอนุชา การทำให้คนไทยได้รู้จักกับดนตรีประเภทนี้ เหล่านี้ส่งผลต่อพัฒนาการและการศึกษาดนตรีแจ๊ซในปัจจุบัน

Advertisement

แม้เราจะได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ซึ่งเป็นเพลงที่จัดอยู่ในหมวดแจ๊ซตั้งแต่อ้อนแต่ออก แต่นั่นไม่ได้ทำให้กลุ่มนักฟังเพลงแจ๊ซเพิ่มขึ้นมากนัก

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล จึงจัดเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติเพื่อการเรียนรู้ ที่ไม่เพียงจัดแสดงคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ยังมีการเวิร์กช็อปจากศิลปินแจ๊ซชั้นแนวหน้าของโลก หวังให้องค์ความรู้ที่ถูกถ่ายทอด ช่วยพัฒนาศิลปินหน้าใหม่ เพิ่มจำนวนและคุณภาพกลุ่มคนฟังแจ๊ซในประเทศไทยให้มีมากขึ้น

ปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 9 แล้วจัดระหว่างวันที่ 27-30 มกราคม 2560 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

นอกจากศิลปินและนักดนตรีแจ๊ซระดับแถวหน้าของโลกที่จะมาร่วมงาน ความพิเศษของปีนี้คือนิทรรศการ “เรียนรู้แจ๊ซ ตามรอยพ่อ” จัดแสดงพระราชประวัติและพระอัจฉริยภาพทางดนตรีแจ๊ซ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการดนตรีแจ๊ซของไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้เรียนรู้ดนตรีแจ๊ซตามรอยพระองค์ท่าน

กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ
กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ

– แจ๊ซ คืออะไร ?

เป็นคำถามเบสิกที่ตอบยากมาก แม้กระทั่งหลุย อาร์มสตรอง ซึ่งเป็นนักเป่าทรัมเปตมีชื่อเสียง เป็นผู้เริ่มต้นดนตรีแจ๊ซยังไม่สามารถตอบได้เลย เพราะเป็นคำถามที่หลายคนก็ถามเขา

พอจะสรุปได้ง่ายๆ ว่าเป็นดนตรีที่เกิดจากการผสมผสานของหลายหลากเชื้อชาติที่สหรัฐอเมริกา เป็นส่วนผสมของดนตรีจากยุโรป เดินทางจากฝรั่งเศสมาอยู่ที่นิวออร์ลีน ยังมีดนตรีจากแอฟริกาที่มาเป็นแรงงานทาส ผสมผสานกันหลากหลายวัฒนธรรม เช่น มาร์ช สเปน หลักๆ คือการผสมผสานดนตรีเข้ามาอยู่ร่วมกัน จุดเด่นน่าจะอยู่ที่จังหวะสะวิง ที่ค่อนข้างเป็นจังหวะยก จังหวะขืน ทำให้ประหลาดใจ มีการเล่าเรื่อง มีการอิมโพรไวซ์ (Improvisation) หรือการด้นสด

ดนตรีแจ๊ซเข้ามาในไทยเร็วมาก ประมาณปี 1920 เริ่มมีการบันทึกเสียงจากอเมริกา ประเทศไทยก็มีการเอาแผ่นเสียงมาเล่นที่โรงแรมโอเรียนเต็ลประมาณปี 1930 มีนักดนตรีไทยที่เริ่มเล่นแจ๊ซเป็นลักษณะเพื่อความบันเทิง เพื่อเต้นรำและมีนักดนตรีที่ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศอย่างครูเอื้อ สุนทรสนาน

– หลักหมุดสำคัญของดนตรีแจ๊ซในประเทศไทยคือ?

หลักหมุดสำคัญคือในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดดนตรีแจ๊ซ ตอนศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์พระองค์ท่านทรงมีโอกาสได้เรียนกับครูที่สอนเครื่องเครื่องเป่า พระองค์ท่านทรงโปรดแผ่นเสียงแจ๊ซ โปรดสไตล์ดิกซีแลนด์ (Dixieland Jazz) เมื่อนิวัติกลับมาประเทศไทยตั้งแต่ครั้งที่ดำรงพระอิสริยยศพระราชอนุชา พระองค์ท่านก็พระราชนิพนธ์เพลงแจ๊ซตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่เราได้ฟังตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันอาจจะมีหลายประเภท เช่นเพลงสถาบัน เพลงปลุกใจ แต่ส่วนใหญ่เพลงของพระองค์ท่าน เป็นเพลงลีลาของแจ๊ซ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราน่าจะคุ้นเคยกันดี

ขณะเดียวกันวงสุนทราภรณ์ก็มีการเล่นแจ๊ซ สถานที่ลีลาศจะมีการเอาเพลงแจ๊ซ เพลงละตินมาเล่น กระทั่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของดนตรีมาเป็นท่วงทำนองไทย กลายเป็นบทเพลงสากลมาตรฐานของไทยที่เรารู้จักกันดี คือ แปลงลายจากแจ๊ซผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย กลายมาเป็นดนตรีไทยที่พวกเราถือว่าเป็นมรดกของชาติ

– ระยะเวลาในการวิวัฒนาการจากต่างชาติ จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเพลงไทย?

พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ซึ่งตลอดที่เราได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ตั้งแต่เพลงแรกจนถึงปัจจุบัน คิดว่านี่เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่พวกเราแทบไม่รู้เลยว่ามีเนื้อหา มีสำเนียง ท่วงทำนองของแจ๊ซอยู่เยอะมาก แล้วเราก็ร้องตาม

ถ้าย้อนกลับไปยุคแรกๆ บทเพลงพระราชนิพนธ์อาจไม่คุ้นหูชาวไทยเพราะว่ามีเสียงประหลาดๆ เสียงครึ่งเสียง ซึ่งสมัยก่อนเราอาจจะไม่รู้ว่าเป็นบลูส์โน้ต “จุดเทียนบวงสรวงปวงเทพเจ้า…” ซึ่งแม้กระทั่งครูเอื้อเองก็รู้สึกว่าทำนองอาจจะไม่คุ้นหูชาวไทยมากนัก รัชกาลที่ 9 จึงปล่อยเพลงแรกคือ “สายฝน” ที่ฟังง่ายในสเกลไดอาโทนิค (Diatonic) เพราะกลัวว่าถ้าปล่อย “แสงเทียน” เป็นเพลงแรก คนไทยอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ

เป็นความตั้งพระราชหฤทัยที่พระองค์เคยตรัสไว้ หลังจากนั้นเมื่อคนไทยเริ่มคุ้นเคยกับเพลงแจ๊ซ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียงหรือเพลงร่วมสมัยที่มีโน้ตเหล่านี้อยู่ พระองค์ก็ทรงเผยแพร่ออกมาจนพวกเราคุ้นเคย กระทั่งปัจจุบันนักร้องอาร์แอนด์บี ริธึ่มแอนด์บลูส์จากค่ายต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีโน้ตเหล่านี้ทั้งสิ้น

– เอกลักษณ์หนึ่งของดนตรีแจ๊ซคือการด้นสด?

คนไทยอาจรู้จักเพลงแจ๊ซ รู้จักท่วงทำนองแจ๊ซ แต่คนไทยอาจจะไม่รู้เรื่องการด้น หรือ Improvisation ซึ่งเป็นบริบท เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของดนตรีแจ๊ซ ดนตรีทุกชาติพันธุ์บนโลกนี้ล้วนมีเรื่องของการด้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของไทยเองก็มีการด้นสดเป็นเอกลักษณ์ของไทย แต่แจ๊ซจะมีลีลาเฉพาะในการด้นในภาษา สำเนียง รูปแบบแจ๊ซ ซึ่งตรงนี้คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคย แม้แต่พระเจนดุริยางค์ผู้วางรากฐานดนตรีสากลและการศึกษาดนตรีสากลในประเทศไทย ยังไม่ให้ลูกศิษย์ไปเรียนแจ๊ซ เพราะท่านมองว่าเป็นดนตรีที่หนวกหู เอ็ดตะโร โวยวาย อาจไม่เหมือนดนตรีคลาสสิก

– ดนตรีแจ๊ซได้รับการยอมรับ ก็เมื่อถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา?

ในสหรัฐอเมริกาดนตรีแจ๊ซได้รับการยอมรับมากขึ้น จากดนตรีที่เป็นเพื่อการบันเทิง พัฒนาเป็นดนตรีเพื่อการฟัง เริ่มเต้นรำไม่ได้ แต่พัฒนาเนื้อที่ลึกขึ้นในเชิงของอาร์ตฟอร์ม เชิงสุนทรียศาสตร์ด้านดนตรี กระทั่งได้รับการยอมรับว่าดนตรีแจ๊ซนั้นมีเรื่องราว มีคุณค่า มีการพัฒนาของตัวมันเองกระทั่งกระโดดเข้ามาอยู่ในวงการศึกษาในอเมริกา กว่าที่แจ๊ซจะได้รับการยอมรับในสถาบันการศึกษาของอเมริกาก็กินเวลายาวนานมากนะ

กว่าแจ๊ซจะได้รับการยอมรับก็ 1950-60 ที่เริ่มมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนดนตรีแจ๊ซ ตอนนั้นสถาบันดังๆ อย่างจูลิอาร์ด (The Juilliard School) ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาดนตรีระดับชาติยังไม่ยอมเปิดแจ๊ซ กระทั่งปัจจุบันเขาเปิดและเป็นสาขาที่สำคัญมาก จูลิอาร์ดเป็นเมืองหลวงของแจ๊ซไปแล้ว

เมื่อได้รับการยอมรับในสถาบันการศึกษา ดนตรีแจ๊ซก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ด้านดนตรีในแวดวงอาชีพเองก็พัฒนาดนตรีของเขาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นดนตรีแจ๊ซไม่เป็นเพียงมรดกสำคัญของศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีของชาติที่อเมริกา แต่กลายเป็นว่าแจ๊ซได้เผยแพร่ไปทั่วโลกกระทั่งเป็นภาษาสากล กลายเป็นดนตรีของโลก

– วิวัฒนาการการศึกษาดนตรีแจ๊ซในไทย?

ในไทยเองคงไม่ต่างจากอเมริกา แต่ก่อนมีวิทยาลัยครู โรงเรียนนาฏศิลป์ทั่วประเทศ ระดับอุดมศึกษาก็เปิดสอนดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่มหาวิทยาลัยที่เปิดสาขาแจ๊ซแห่งแรกคือที่ ม.มหิดล ต้องยอมรับว่าเป็นวิสัยทัศน์ของ ดร.สุกรี เจริญสุข เพราะที่อื่นเขาก็ไม่อยากเปิด เบื้องต้นอาจเป็นการเงื้อง่าไปมา คงรู้สึกเหมือนพระเจนดุริยางค์ ว่ามาแล้วจะดีเหรอ อาจทำลายดนตรีคลาสสิกที่มีอยู่ ที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้วหรือเปล่า

มีผลอย่างไร? สมัยก่อนมีคนเคยพูดกับผมว่า ถ้าไม่ใช่คนผิวดำ ผิวขาว ญี่ปุ่น ไม่มีทางเล่นแจ๊ซได้ หรือหากเล่นก็ได้แค่ผิวๆ ไม่มีทางเก่งได้ แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่าการที่เราเปิดสอนวิชาแจ๊ซ ได้เห็นว่าการศึกษามีพลังจริงๆ มันสามารถเปลี่ยนแปลง ผลิตนักดนตรีที่ไม่น่าเชื่อว่าคำพูดนั้น พอมาถึงปัจจุบันมันกลายเป็นเรื่องตลก ทั้งที่เมื่อก่อนเราอาจจะคล้อยตามคำพูดนั้น

ปัจจุบัน ไม่มีใครคิดอย่างนั้นแล้ว เด็กสมัยนี้เก่งขึ้นเร็วมากๆ ชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าเด็กไทย ณ วันนี้จะเก่งด้านแจ๊ซขนาดนี้ แม้กระทั่งคนที่มาเยี่ยมเยียนงานเทศกาลดนตรีแจ๊ซ หลายคนตกใจว่าทำไมพัฒนาไปเร็วขนาดนั้น แม้กระทั่งเด็กเราไปแข่งที่ต่างประเทศด้านแจ๊ซ เขาก็ตกใจไม่คิดว่าบ้านเราจะพัฒนาเร็วขนาดนี้ กระทั่งคนที่มาร่วมงานจากต่างประเทศในละแวกเพื่อนบ้าน กล่าวไว้ในงานเลยว่าเมืองไทยจะเป็นศูนย์กลางของแจ๊ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

-มองว่าปัจจัยใดที่ทำให้ดนตรีแจ๊ซเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน?

ผมเชื่อว่า 1.มาจากในหลวง เพราะพระองค์ทรงทำให้การศึกษาในประเทศไทยยอมรับเรื่องแจ๊ซมากขึ้น โดยที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบ ระบบประเพณีดั้งเดิมเหมือนในอดีตที่ผ่านมา 2.เมื่อการยอมรับมากขึ้น เนื่องจากแจ๊ซเป็นดนตรีที่เป็นภาษาสากลที่ได้รับการยอมรับ ฉะนั้นโอกาสที่จะทำมาหากินหรือเห็นการเจริญเติบโตในแวดวงต่างๆ ก็มากขึ้น จึงมีเด็กรุ่นใหม่สนใจเข้ามาเรียนมากขึ้น

บิล อีแวนส์ นักเปียโนแจ๊ซชาวอเมริกัน เคยพูดไว้ว่าดนตรีแจ๊ซคงไม่ตายหรอก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีการยอมรับในความเปลี่ยนแปลง และด้วยตัวเนื้อหาดนตรีของมันได้ดึงดูดเอาเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสนใจอยากจะท้าทาย เข้ามา

หลังจากการเปิดสาขาแจ๊ซมาถึงวันนี้เปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ทั้งในเชิงการผลิตนักดนตรีรุ่นใหม่ มาตรฐานการเล่นของนักดนตรี ผลงานด้านแจ๊ซจากนักดนตรีไทยที่เพิ่มมากขึ้น นักดนตรีแจ๊ซชาวไทยที่สามารถไปเรียนในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนแจ๊ซในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย ตอนนี้สถาบันต่างชาติรู้จักและยอมรับ มีเด็กของเราไปเรียนมากขึ้น หรือแม้กระทั่งมีอาจารย์ของเรา (คม วงศ์สวัสดิ์) มีโอกาสได้เล่นใน “Blue Note” แจ๊ซคลับในนิวยอร์กที่มีชื่อเสียงระดับตำนาน ซึ่ง ชาร์ลี พาร์กเกอร์ นักแซกโซโฟนแจ๊ซ, ไมล์ส เดวิส หัวหน้าวงดนตรีแจ๊ซชาวอเมริกัน ล้วนแจ้งเกิดบนเวทีนั้นทั้งสิ้น

เป็นเรื่องเหลือเชื่อเหมือนกัน

– อีกแง่หนึ่ง การสร้างผลงานดีๆ ยังเป็นปัญหาอยู่?

ตอนนี้ดนตรีไม่ว่าสาขาใดก็แล้วแต่มันต้องเติบโตไปพร้อมๆ กันหลายภาคส่วน 1 ผู้ผลิตคือนักดนตรีผู้สร้างผลงาน 2 ผู้ฟังซึ่งผู้ฟังบ้านเราคนที่ชอบแจ๊ซยังน้อย หรือแม้แต่ในอเมริกาเองคงไม่ต่างกัน 3 อุตสาหกรรมดนตรี พร้อมที่จะสนับสนุนหรือเปล่า 4 สื่อมวลชน อย่างน้อย 4 ส่วนนี้ต้องไปพร้อมกัน

ตอนนี้ ในนักดนตรีหรือผู้ผลิตงานมีจำนวนมากขึ้น ทำอย่างไรให้ยอดของผู้ฟังโตตามขึ้นมาได้ นี่จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องเรียนรู้แจ๊ซให้เข้าใจ เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนา

สมมุตินักดนตรีผลิตผลงานขึ้นมา คนยอมรับยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อให้เขายังชีพได้ สร้างงานได้ มันก็โตขึ้นไปเรื่อยๆ คนผลิตก็มีกำลังใจที่จะสร้างงาน สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเนื้องานของเขาเอง นักฟังชาวไทยก็จะได้ผลงานดีๆ จากชาวไทยและเป็นผลงานที่เข้าถึงหัวใจคนไทยมากกว่า เข้าใจบริบทของคนไทยมากกว่า และถ้าคนไทยเล่น คนไทยฟัง กระทั่งคนไทยรักเพลงที่คนไทยเล่นเหมือนสุนทราภรณ์เคยทำไว้แล้ว เมื่อมาถึงจุดนั้นปุ๊บโลกจะตามมาฟังเอง

– เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาดนตรีแจ๊ซในไทยของอาจารย์คืออะไร?

ถ้าเราสามารถผลิตผลงานได้เหมือนที่สุนทราภรณ์เคยทำและกลายเป็นมรดกของชาติได้ นั่นคือจุดสูงสุดแล้ว และเราก็สามารถที่จะมีศิลปวัฒนธรรมที่คนไทยด้วยกันชื่นชมเอง มีนักดนตรีที่ผลิตผลงานเอง ก็จะนำไปสู่สังคมแห่งความสุข คำขวัญของเทศกาลจึงเป็น “เรียนรู้แจ๊ซ เพื่อสังคมแห่งความสุข” เพราะว่าปลายทางของเรานั้นไม่ใช่แค่พัฒนานักดนตรีให้เก่งในระดับชาติเฉยๆ แต่ทำอย่างไรให้นักดนตรีเหล่านั้นสามารถที่จะสร้างผลงานให้สังคม สังคมสามารถเรียนรู้ และอิ่มเอมกับดนตรีเหล่านั้น และทำให้สังคมมีความสุขในท้ายที่สุด

– งานเทศกาลดนตรีแจ๊ซ ส่วนหนึ่งคือสร้างให้คนฟังได้เรียนรู้ และขยายตัวออกไปมากขึ้น?

ถูกต้อง… อาจจะต้องทำความเข้าใจกับเรื่องของการเรียนรู้นิดหนึ่ง เป็นคำถามที่ทุกคนถามเลยว่าฟังแจ๊ซแล้วต้องปีนบันไดฟังหรือเปล่า ฟังยาก ฟังไม่รู้เรื่อง เป็นดนตรีที่ไม่คุ้นเคยเลย ทั้งๆ ที่เราฟังเพลงในหลวงมาตั้งแต่เกิด

ทั้งนี้ อย่าว่าแต่ดนตรีแจ๊ซเลย ถามว่าคนไทยฟังเพลงไทยเดิมรู้เรื่องสักกี่คน ถ้าไม่มีคนอธิบาย เรายังฟังเพลงไทยที่เป็นเพลงของชาติเราเองไม่เป็นเลย เรารู้จักแต่ลาวดวงเดือน เขมรไทรโยค ค้างคาวกินกล้วย หรือเพลงที่โกโบริได้ฟังอังสุมาลินเล่น (นางครวญ) เรารู้จักดนตรีของเราดีหรือยัง? นั่นเพราะเราไม่ได้เรียนรู้

เราจะสามารถชื่นชมศิลปะได้ ต้องมีกระบวนการการเรียนรู้ประกอบและทำให้เข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่ความยาก แค่เรียนรู้ว่าเป็นอย่างไร แล้วเราก็จะมีความอิ่มเอม มีสุนทรียะดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่ามากขึ้น มันเป็นเรื่องธรรมดาของการเรียนรู้

กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ
กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ

เกียรติสูงสุด

นับเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิตกับบทบาท “แซกโซโฟน โซโลอิสต์” หน้าพระพักตร์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของ อ.กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ หรือที่นักเรียนนักศึกษาสาขาดนตรีแจ๊ซเรียกกันติดปากว่า “อ.วิลเลียม”

การแสดงดนตรีออเคสตราบทเพลงพระราชนิพนธ์ในงาน “ศิริราชคอนเสิร์ต เทิดไท้องค์อัครศิลปิน” ณ หอประชุมราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ 27 กันยายน 2553 ครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเป็นการส่วนพระองค์

คอนเสิร์ตครั้งนั้นจัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็นเอกอัครศิลปิน โดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) อำนวยการดนตรีโดย อาจารย์สุกรี เจริญสุข วาทยกร นายกุดนี่ เอมิลสัน และ พ.ต.ประทีป สุพรรณโรจน์ จัดแสดงเพลงพระราชนิพนธ์ ทั้งสิ้น 19 เพลง

หนึ่งในนั้นคือเพลง ไร้เดือน เดี่ยวแซกโซโฟน โดย อ.กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ ส่วนเพลง ชะตาชีวิต ที่ขับร้องโดย อ.เชอร์รีล เฮยส์ อาจารย์สาขาวิชาการขับร้องและละครเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล

“ผมอาจจะโคตรโชคดี ที่วิทยาลัยเปิดโอกาสให้ผมได้เล่นกับวงทีพีโอหน้าพระพักตร์ที่หอประชุมโรงพยาบาลศิริราชเมื่อปี 2553 ตอนที่เล่นคิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้พระองค์ท่านทรงรู้สึกเกษมสำราญ จากพระอาการประชวรที่อยู่โรงพยาบาลมาอย่างยาวนาน

“อ.สุกรี ให้ผมเป็นโซโลอิสต์ ตอนนั้นคิดว่าเล่นให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุดก็ดีแล้ว

“พี่แต๋ง ภูษิต ไล้ทอง หัวหน้าทีมถ่ายทำเดินมาบอกว่า ‘วิลเลียม นายถือเป็นตัวแทนของนักแซกโซโฟนชาวไทยทั้งประเทศเลยนะ’ ผมนี่

ขนลุก ไม่ได้คิดมาก่อน ทั้งงานวงออเคสตราเป็นร้อยคน มีผมแซกโซโฟนคนเดียว แล้วพระองค์ทรงยกกล้องขึ้นมาถ่าย ผมก็ไม่กล้ามองกล้อง ก้มหน้าก้มตาเล่นอย่างเดียว

“คิดว่าเราโชคดีมาก เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเล่นให้ดีที่สุด สอนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”


สำหรับคนที่สนใจเข้าร่วมคอนเสิร์ต สามารถดูรายการการแสดงได้ที่ www.tijc.net

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image