Survivor ยุคดิจิทัล : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

การสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ดูจะเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน

มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในปี 2559 ที่ผ่านมาจากการคาดการณ์ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ “สพธอ.” เทียบปีก่อนหน้านั้นจะเติบโตกว่า 12% มีมูลค่าทะลุ 2.52 ล้านล้านบาท

อย่าเพิ่งตกใจตัวเลขที่มากขนาดนี้ เพราะรวมหมดทั้ง B2B, B2C และ B2G แต่ถ้าสกัดมาเฉพาะมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเภทธุรกิจที่ขายให้กับผู้บริโภค หรือ B2C จะอยู่ที่ 729,292.32 ล้านบาท

ถึงอย่างนั้นก็เพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 40%

Advertisement

ว่ากันว่า การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าวงการค้าปลีกในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเช่นกัน

ในบ้านเราอาจยังเห็นไม่ชัดเจนนักในแง่ผลกระทบกับร้านค้าปลีกแบบเดิมๆ แต่ในตลาดต่างประเทศการเติบโตของ “อี-คอมเมิร์ซ” ได้กลายเป็นฝันร้ายที่เป็นจริงของร้านค้า และห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่หลายแห่ง

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่อย่าง “เมซีส์” (Macy’s) ทยอยปิดสาขาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

Advertisement

เปิดปีใหม่มาเพียงไม่กี่วัน “เมซีส์” ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรลดขนาดธุรกิจครั้งใหญ่ด้วยการลดคนมากกว่า 6,000 ตำแหน่ง และเตรียมปิดสาขาเพิ่มอีกกว่า 60 แห่ง ภายในกลางปีนี้

หนึ่งในการปรับตัวของ “เมซีส์” คือการหันไปเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในธุรกิจที่ยังเติบโต รวมถึงขาของธุรกิจ “อีคอม-เมิร์ซ” มากขึ้นด้วย โดยจะมีการลงทุนกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลจาก “บิซิเนส อินไซเดอร์” ได้คาดการณ์มูลค่าการบริโภคของชาวอเมริกันในปี 2563 ว่าจะมาจากช่องทางออนไลน์ถึง 632,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยับเพิ่มขึ้นจาก 385,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2559 ที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายใน 3 ปี

ปัจจุบันตลาดอี-คอมเมิร์ซของสหรัฐใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน โดยในระหว่างปี 2558-2559 ที่ผ่านมา มีนักช้อป

ออนไลน์ชาวอเมริกันเพิ่มจำนวนขึ้น 20 ล้านคน รวมเป็น 224 ล้านคนทั่วประเทศ

เทียบระหว่างไตรมาสแรกปี 2558 กับปี 2559 ที่ผ่านมาจะพบว่ามูลค่าการบริโภคได้ขยับเพิ่มขึ้นจาก 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 68,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นกันกับธุรกรรมการเงินออนไลน์ที่มีมูลค่ามากถึง 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ไม่เฉพาะในสหรัฐ

ธุรกิจ “อี-คอมเมิร์ซ” ในจีนก็เฟื่องฟูไม่แพ้กัน โดยมีการคาดกาณ์ว่าภายในปี 2563 ตลาดอี-คอมเมิร์ซในจีนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 15% และมีมูลค่าสูงถึง 1.42 ล้านล้านดอลลาร์

สหรัฐ

การเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้มังกรจีนยังคงรักษาตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งในวงการค้าปลีกออนไลน์ของโลกไว้ได้เช่นเดิม จากการเติบโตของการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ต) ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2559 ที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนสูงถึง 56% ของระบบชำระเงินโดยรวม ตามด้วยเดบิตการ์ดและเครดิตการ์ด ที่มีส่วนแบ่งตลาดเท่ากันที่ 11%

การจ่ายด้วย “เงินสด” คิดเป็นสัดส่วน 8% ของการจ่ายเงินโดยรวม และสูงกว่าการโอนเงินผ่านธนาคารที่มีสัดส่วนที่ 7%

หมายความด้วยว่า ผู้ประกอบการทั้งหลายหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับมือ และทำความเข้าใจต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ “ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส”เพิ่งสำรวจผู้บริโภคกว่า 20,000 คนทั่วโลก พบว่า 54% มีการซื้อสินค้าผ่านช่องออนไลน์ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน และ 34% ยอมรับว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ

โดยผู้บริโภค 67% ระบุว่า มีการค้นข้อมูลจากการรีวิวบนอินเตอร์เน็ตก่อนซื้อสินค้า

เมื่อศึกษาลงไปในรายประเทศจะพบด้วยว่า ชาวอเมริกัน 40% ซื้อของตามที่ได้อ่านหรือดูรีวิวจากผู้ใช้งาน29% เปรียบเทียบราคาผ่านโทรศัพท์มือถือ และ 36% สั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ ถ้าพบว่าได้ราคาที่ดีกว่า

ส่วนผู้บริโภคชาวจีน มี 63% ซื้อของตามที่ได้อ่านหรือดูจากรีวิวผู้ใช้งาน 38% เปรียบเทียบราคาผ่านโทรศัพท์มือถือ51% ซื้อออนไลน์จากต่างประเทศ ถ้าได้ในราคาที่ดีกว่า

ที่น่าสนใจก็คือ ชาวอเมริกันซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือเพียง 22% ขณะที่ผู้บริโภคชาวจีนสั่งซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือถึง 65%

นักวิเคราะห์หลายรายมองว่าโทรศัพท์มือถือจะกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการซื้อขาย และการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างแน่นอนจากจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของคนยุคนี้

ในบ้านเราก็ไม่ต่างกันที่มือถือได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการช้อปปิ้ง เริ่มตั้งแต่การหาข้อมูลสินค้า, ร้านค้า เปรียบเทียบราคา อ่านรีวิว ไปจนถึงสั่งซื้อสินค้า

ถึงวันนี้คงไม่ใครถามแล้วว่า ทำไมใครต่อใครถึงกระโดดเข้าสู่โลกออนไลน์

ทำให้นึกถึงคำพูดของ “อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะแดปเตอร์ ดิจิตอล จำกัด หนึ่งในดิจิทัลเอเยนซี่ที่มาแรงแห่งยุคที่บอกว่า “สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุด แต่คือสิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัว”

เขาเล่าว่า ช่วงก่อนวันหยุดปีใหม่ เพิ่งไปเวิร์กช้อปกับลูกค้ามาเรื่องที่ว่า เราจะเอาตัวรอดอย่างไรใน 3 ปีข้างหน้า

“ในมุมมองของผม คิดว่า ต้องเข้าใจคอนซูเมอร์ในยุคนี้ให้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ และมีอิทธิพลกับกลุ่มอื่นๆ ถ้าเข้าใจได้จะเริ่มง่าย และจะรู้ว่าเราต้องปรับตัวไปในทางไหน”

ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด ถ้ารู้เขารู้เรา รบกี่ครั้งก็ (มีโอกาส) ชนะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image