คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว: เวทีเมสเสจ

บนเวทีประกาศรางวัลลูกโลกทองคำ ซึ่งเป็นเวทีภาพยนตร์ของฝั่งสหรัฐอเมริกา ชื่อชั้นรองมาจากเวทีรางวัลออสการ์

ปีนี้มีประเด็นการเมือง (อีกแล้ว) จากเวทีรางวัลทางภาพยนตร์

ไฮไลต์ตกเป็นของ “เมอรีล สตรีพ” นักแสดงหญิงมากฝีมือ ชื่อชั้นเข้าชิงสารพัดรางวัล กลายเป็นประเด็น “การเมือง” ที่ถูกพูดถึงกันในหน้าข่าวต่างประเทศ

การกล่าวสุนทรพจน์ 6 นาทีของเธอ ในการรับมอบรางวัล Cecil B. DeMille Awards ซึ่งเป็นรางวัลที่จะมอบให้นักแสดงและบุคคลในวงการบันเทิงอเมริกันที่มีผลงานทรงคุณค่าในโลกภาพยนตร์ กลายเป็น “วาทะ” ที่ทำให้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐออกมาทวีตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวตอบโต้

Advertisement

แม้ “สตรีพ” จะไม่ได้พูดชื่อ “ทรัมป์” ออกมา แต่แน่นอนว่า สาระในสิ่งที่พูด กำลังเอื้อมไปถึงนโยบายกีดกันต่างด้าวของ “ทรัมป์” นั่นเอง

อาจแปลความได้ว่า เธอและฮอลลีวู้ดส่วนหนึ่ง มีแนวทางไม่สนับสนุน “ทรัมป์”

ด้วยคำพูดเปรียบเปรยว่า ส่วนประกอบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใน “ฮอลลีวู้ด” คือที่รวมของเหล่าผู้คนจากหลากแหล่งที่มา การศึกษา การเลี้ยงดู โดยยกตัวอย่างบรรดานักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดังทั้งหลาย ที่มีหลายสัญชาติ ผิวขาว ผิวสี เม็กซิกัน อเมริกาเหนือ เกิดในเยรูซาเลม เคนยา ว่าแต่ละคนมีแบ๊กกราวด์ที่มาแตกต่างกันไป

Advertisement

แนวคิด “กีดกัน” จึงไม่ใช่คำตอบ…

แม้ “ทรัมป์” จะตอบโต้ว่า “สตรีพ” ไม่รู้จักเขาและโจมตีเกินไป ขณะที่ตอกแรงว่า “สตรีพ” เป็นลูกไล่ของ “ฮิลลารี คลินตัน” เท่านั้น

ประเด็นอีกมากของสตรีพที่ได้กล่าวบนเวทีนี้…มีทั้งคนฟังแล้วชอบกับไม่ชอบ สามารถหาชมหาอ่านลงรายละเอียดตามเว็บไซต์ข่าวทั่วไปได้

เรื่องราวจากเวทีลูกโลกทองคำ เป็นอีกหนึ่งในหลายกรณีบนเวทีรางวัลด้านภาพยนตร์ของอเมริกาที่หลายต่อหลายครั้ง กลายเป็นเวทีแสดงทัศนคติทางสังคม การเมืองของศิลปินดาราที่มีต่อประเด็นสาธารณะ

ทุกปีเราจะได้ยินประเด็นที่ดาราออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึง “ล้อเลียน”

ที่โด่งดังไม่กี่ปีก่อนและยังจำกันได้ คือ สุนทรพจน์รับรางวัลนักแสดงนำหญิงออสการ์ของดาราหญิง “แพทริเซีย อาเคว็ตต์” ในปี 2015

เธอพูดเรียกร้องสิทธิในประเด็น “ค่าจ้างแสดง” ของนักแสดงในฮอลลีวู้ดที่มี “ช่องว่าง” ในลักษณะไม่เป็นธรรม ระหว่างนักแสดงหญิงกับนักแสดงชาย

หรือล่าสุด “ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ” นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมปีก่อน ที่เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมานาน พูดบนเวทีตอนรับรางวัลกระตุ้นให้โลกใส่ใจปัญหาโลกร้อนให้มากขึ้น

ฟากศิลปินอย่าง จอห์น เลเจนด์ ที่ชนะสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมชี้ปัญหาของสหรัฐที่มีอัตรานักโทษต่อประชากรสูงที่สุดในโลก และข้อห่วงใยที่มีชาวแอฟริกันอเมริกันถูกจำคุกมากกว่าจำนวนทาสในสหรัฐเมื่อปี 1850

ข้างต้นเป็นตัวอย่างเวทีรางวัลของสหรัฐ ด้านหนึ่งเป็นเวทีแสดงจุดยืน ทัศนคติต่อประเด็นสาธารณะ ซึ่งก็ได้ผลในแง่การประชาสัมพันธ์ และ “ส่งสาร” ต่อผู้คนที่รับชม รวมถึงสื่อที่จะนำไปถ่ายทอด

ที่แน่ๆ มักจะได้ผลในเชิงการนำไปขบคิดต่อยอด

ไม่ลงเอยดราม่าแบบบ้านเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image