คอลัมน์ ประสานักดูนก: คลองแสง (3)

ภารกิจปล่อยนักล่าคืนป่าดิบครั้งนี้ ทีมงานพักค้างแรมที่หน่วยพิทักษ์ป่าคลองหยา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งจุดตั้งของหน่วยเป็นสามแยกรอยต่อระหว่างคลองแสง คลองหยาและทะเลสาบด้านนอกอันเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสก

บรรยากาศอันเงียบสงบ น้ำสีเขียวมรกต นิ่งเนิบน้อยครั้งจะมีคลื่นไหว เพียงแค่เรือน้อยลำเคลื่อนผ่านไปมา เหมาะต่อบรรยากาศสันโดษยิ่ง บนเกาะซึ่งเดิมคือ ยอดเขา หรือยอดควนที่น้ำเขื่อนสูงท่วมทับนั้นยังอุดมด้วยไม้ยืนต้นของป่าดิบปักษ์ใต้

ริมเกาะ เด่นโดดด้วยตอไม้ยืนตายซากเพราะถูกน้ำท่วมตลอดปี เป็นจุดเกาะพัก จับคอนของนักล่าปลาหลายชนิด ทริปนี้พบนกนักล่า 6 ชนิด 4 ชนิดนั้นเป็นนักล่ากินปลา อาทิ เหยี่ยวปลา 2 ชนิด นกออก และเหยี่ยวออสเปร นักล่าปลาเหล่านี้มีเทคนิคจับปลาเป็นเหมือนกัน คือ บินลงต่ำ ละเลียดพื้นน้ำแล้วยื่นกรงเล็บลงตะครุบตัวปลาที่ลอยขึ้นมาปริ่มผิวน้ำ

ยกเว้น เหยี่ยวออสเปร ที่จะทุ่มตัวดิ่งลงใต้น้ำ ทำให้น่าตื่นเต้นกว่าเหยี่ยวปลาหรือนกออกมากนัก หากนักล่าย่อมต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ในคลองซอย จะพบปลาตายลอยเท้งเต้งขึ้นมา คาดว่าคงจะเจอกับสภาพน้ำที่เปลี่ยนไป เหยี่ยวออสเปรก็เจอของตายง่ายๆ ไม่ต้องทุ่มให้ตัวเปียก เพียงแค่บินเรียดน้ำ ยื่นตีนและกรงเล็บลากไปบนน้ำ เสมือนกรีดน้ำ ล้างตีนไปในตัว ก็ตะครุบปลาตายได้ง่ายๆ ไม่ต้องเปียกปอนไปทั้งตัว

Advertisement

ส่วน นกออก ซึ่งเป็นเสมือนอาคันตุกะร่อนเร่ เพราะพบนกวัยรุ่น ที่คงหย่ารังมาจากพ่อและแม่ที่ชายทะเลห่างไปไม่กี่กิโลเมตร ทำให้ต้องรุกล้ำเข้ามาอาณาเขตของเหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา นักล่าประจำถิ่นที่หวงถิ่น หวงบ้าน จะบินไล่นกออก ที่อาจจะเผลอหรือตั้งใจบินเข้ามาเกาะหาทำเลเหมาะๆ จับปลากินบ้าง

แต่ด้วยผืนน้ำกว้างใหญ่ ปลามากมาย แม้ต้องโดนไล่ไปมา นกออกก็ยังคงจับปลาได้ ประเมินจากนกออก 4 ตัวที่พบ ตลอดการล่องเรือสำรวจ หลายกิโลเมตรตลอดวัน แต่ละตัวแข็งแรง บินคล่องว่องไว บางตัวยังโชว์สกิลการจับปลาตายบนผิวน้ำให้ชมอีกด้วย

สภาพแวดล้อมของป่าคลองแสง จึงมีเสน่ห์ ต่างจากทะเล เมื่อส่องดูนกออก เพราะโดยปกติแล้ว มักจะพบเห็นนกออกในทะเลมากกว่าบนบก หรือในผืนแผ่นดิน แต่เป็นเรื่องปกติเช่นกัน ที่จะพบนกออกวัยเด็ก หรือวัยรุ่น ระเหเร่ร่อนเข้าแผ่นดิน มีรายงานว่านกออกบินไปถึงทะเลสาบเชียงแสน จังหวัดเชียงรายด้วยซ้ำ คาดว่าคงลัดเลาะไปตามแม่น้ำสายใหญ่ๆ อีกทั้งเป็นนกอินทรีทะเลที่ปีกยาวกว่า 2 เมตร ดังนั้น แค่บินในระยะ หลายสิบกิโลเมตรต่อวันคงไม่ใช่เรื่องยากของนักล่าปลาตัวใหญ่เช่นนกออก

Advertisement

ส่วนเจ้าถิ่น เช่น เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา กลับมีนิสัยต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าเทียบกับนกออก ต้องบอกว่าเหยี่ยวปลาเป็นพวกรักบ้านหลงถิ่น ไม่มีพฤติกรรมบินไกล ร่อนเร่ไปไหนห่างจากลำห้วย ลำคลองในป่าดิบเลย ทุกที่ทุกถิ่นอาศัยที่พบเหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา เป็นป่าดิบที่ยากต่อการเข้าถึง อาทิ ป่าต้นน้ำแม่กลองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ ป่าห้วยขาแข้ง และป่าคลองแสง

เจ้าปลาใหญ่หัวเทาๆ ชนิดนี้จึงเสมือนนักล่าช่างเลือก ทำให้มันต้องอาศัยป่าดิบอย่างยิ่งยวด จึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพราะป่าดิบ บ้านหลังใหญ่ถูกทำลาย กลายเป็นอย่างอื่นๆ ไปเรื่อย

จนตกอยู่ในสถานภาพ ใกล้ถูกคุกคาม หรือ Near threatened

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image