คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน: เราต่างมีลิ้นชักของตัวเอง

“เวลา วารี ไม่เคยคอยใคร” ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นผู้กล่าวคำนี้ไว้ แต่เป็นเรื่องจริงที่ยอมรับกันได้ เพราะในชีวิตของคนเราต้องทำอะไรต่างๆ มากมาย

บางครั้งทำเพราะหน้าที่

บางครั้งทำเพราะเขาให้ทำ

หรือบางครั้งทำเพราะไม่มีใครทำ

Advertisement

ปีหนึ่งๆ ก็เป็นอยู่อย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้คืออะไรกันแน่ เพราะเคยชินกับการทำงานอย่างนี้มาทั้งชีวิต

โดยไม่เคยตั้งคำถามถามตัวเองเลยว่า…สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้มันใช่เราหรือเปล่า?

เป็นสิ่งที่เราต้องการในชีวิตจริงหรือ?

Advertisement

หรือมันใช่ความฝันที่เราอยากมาอยู่ในจุดนี้จริงหรือ?

ตลอดช่วงปีใหม่ผ่านมา ผมเปิดเฟซบุ๊กอ่านข้อความของเพื่อนๆ หลายคน พบข้อความคล้ายๆ กันว่า… เราจะเริ่มต้นใหม่ ที่ผ่านมาเราไม่เคยทำเพื่อตัวเองเลย ต่อแต่นี้จะขอทำเพื่อตัวเอง และดูแลคนรอบข้างให้มีความสุขบ้าง

หรือในทำนองต่อแต่นี้ไปจะขออุทิศตนทำงานเพื่อสังคมบ้าง

หรือต่อแต่นี้จะขอทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และฝันมาแต่วัยเด็กบ้าง

ซึ่งอ่านแล้วก็ทำให้นึกถึงอะไรหลายๆ อย่าง อย่างแรกเลยคำพูดของ “อาจารย์ศิลป์ พีระศรี” ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีวลีอมตะบอกว่า?พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว

เป็นคำพูดสั้นๆ แต่ตรงใจมาก

ทำให้คนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งหยุดการกระทำอย่างนั้นทันที หรือทำให้คนที่ชอบฝันลมๆ แล้งๆ ที่อยากจะเป็นโน่นเป็นนี่ หรืออยากทำโน่นทำนี่หยุดฝันแล้วหันมาลงมือทำได้แล้ว

เพราะความฝันจะเป็นความจริงได้ต้องเกิดจากการปฏิบัติ

ฝึกฝนอยู่เสมอ

ถึงจะทำให้คุณถึงฝั่งฝันนั้น

ที่ผ่านมา ผมมีเพื่อนพี่น้องจำนวนมากที่อยากจะเป็นนักเขียน บางคนถึงกับไปเสียเงินอบรมการเขียนเรื่องสั้น นวนิยายจากสมาคมต่างๆ

เพื่อต้องการเป็นนักเขียน

ซึ่งผมไม่รู้ว่าการไปอบรมจะทำให้เขาเป็นนักเขียนได้หรือไม่ เพราะเท่าที่อ่านหนังสือชีวประวัติของนักเขียนแต่ละคน ทั้งในอดีต และปัจจุบัน

การเป็นนักเขียนเกิดขึ้นจากความรักในการอ่านหนังสือก่อน

อ่านมาตั้งแต่เด็กๆ

อ่านหนังสือทุกชนิด

และอ่านโดยไม่รู้ว่าวันหนึ่งตัวเองจะกลายเป็นนักเขียน

แต่กระนั้น ผมก็ไม่อยากไปว่าเขาหรอก เพราะการที่พวกเขาไปอบรมอาจทำให้เขาได้เทคนิค หรือเรียนลัดจากคนที่เป็นนักเขียนจริงๆ จนทำให้เขากลายเป็นนักเขียนในอนาคตก็ได้

กี่เปอร์เซ็นต์ผมไม่รู้

เพราะอย่างที่ทราบ คนที่เป็นนักเขียน นอกจากจะมีพื้นฐานจากการอ่านหนังสือแล้ว เขาจะต้องมีจินตนาการเจือปนอยู่ด้วย

ถามว่าจินตนาการเกิดจากอะไร?

ก็เกิดจากความช่างสังเกต ประสบการณ์ของแต่ละคน และการใช้ชีวิตในเรื่องต่างๆ จนกลายเป็นข้อมูลชั้นดี ที่ทำให้เขานำมาเขียนเป็นตัวอักษร ภาษานักเขียนบอกว่า…เราต่างมีลิ้นชักของตัวเอง

ดังนั้น เมื่อนักเขียนติดกับดักภาษาในเรื่องอะไร เขาก็จะเปิดลิ้นชักของตัวเอง เพื่อนำภาษาที่เขามี มาทดแทนกับดักภาษาที่เขาติดขัดได้

ผมไม่รู้ว่าผู้ที่เข้าอบรมนั้นเขามีลิ้นชักของตัวเองหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ การที่จะเป็นนักเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์เขาจะต้องผ่านประสบการณ์จากการอ่านมาเสียก่อน

อ่านแล้วเกิดจินตนาการ

อ่านแล้วมีความรู้สึกว่าอยากเขียนหนังสือบ้าง ที่เหลือจากนั้นคือลงมือเขียนอย่างสม่ำเสมอ หรือในภาษากีฬาบอกว่าต้องซ้อม

ในเรื่องของการซ้อม ทำให้ผมนึกถึง “ไทเกอร์ วู้ดส์” อดีตนักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก ที่ครั้งหนึ่งนักข่าวฝรั่งถามเขาว่า…เคล็ดลับความสำเร็จของคุณคืออะไร?

เขาบอกว่า…ซ้อม ซ้อม ซ้อม และก็ซ้อม ซ้อม ซ้อม

เท่านี้เอง

ไม่มีอะไรเลย

คุณอยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต, คุณอยากจะเป็นอะไร, หรือคุณตั้งใจจะทำอะไรต่อจากนี้ คุณต้องลงมือทำทันที อย่ามัวแต่ฝัน

และก็ต้องซ้อม ซ้อม ซ้อม

เท่านั้นจะทำให้เราถึงฝั่งฝันในวันหนึ่ง

ผมถึงเชื่อไงว่า “เวลา วารี ไม่เคยคอยใคร” จริงๆ

เผลอแป๊บเดียวก็ปีแล้ว

เผลอแป๊บเดียวก็สิบปีแล้ว

เพราะฉะนั้น หากคุณอยากจะทำอะไร อยากเป็นอะไร ลงมือทำเสียแต่วันนี้เลย แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว แต่สักวันจะประสบความสำเร็จ

เพราะอย่างที่ทราบความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ

ต่างมีองค์ประกอบมากมายที่จะทำให้เราเดินไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จนั้น เพียงแต่ระหว่างทางที่เกิดขึ้นอาจเจออุปสรรคบ้าง อาจทำให้เราท้อถอยบ้าง หรืออาจทำให้เราไม่อยากไปต่อแล้ว ก็ขอให้จงอดทน

อดกลั้น

และปลุกปลอบใจตัวเองอยู่บ่อยครั้ง

ก็จะทำให้เรามีกำลังใจขึ้น

เมื่อมีกำลังใจจะทำให้เรามีแรงที่จะเดินต่อไป แม้จะเจอฝนบ้าง พายุบ้าง หรือลมกระหน่ำพัดบ้าง ก็อย่าพึ่งไปท้อถอย

ลองสู้กับมันสักตั้ง

ให้มันรู้ไปเลยว่าใครจะชนะ

ระหว่างความสำเร็จกับความล้มเหลว

อะไรจะหอมหวานกว่ากัน?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image