คุยกับ’บังเกอร์ รอย’ 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลโลก ด้วย’วิทยาลัยเท้าเปล่า’ เปลี่ยนยายให้เป็นวิศวกร

แจ้งเตือนไว้ตั้งแต่บรรทัดแรก ว่าเรื่องราวต่อไปนี้ ไม่ได้มีเค้าโครงจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ไม่ใช่นิยายขายดี ไม่ใช่ละครเวทีที่ปั้นแต่งขึ้นมา

ทุกคำเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้

ชายหนุ่มผู้เกิดในตระกูลมั่งคั่ง ได้รับการศึกษาจากสถาบันที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เพียบพร้อมไปทุกด้าน

วันหนึ่ง ได้เห็นความแร้นแค้น ทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ จึงตัดสินใจละความสะดวกสบายไปตรากตรำในชนบทแล้วตั้งสถาบันการศึกษา ที่รับสมัครเฉพาะคนยากจน

Advertisement

ไม่มีการแจกใบปริญญา ไร้ซึ่งวุฒิบัตร

ทว่าฝึกหัดให้ผู้คนที่ไม่เคยแม้แต่เรียนหนังสือ กลายเป็นวิศวกร !

ชื่อของเขาคือ บังเกอร์ รอย (Bunker Roy)

Advertisement

ผู้ซึ่งต่อมาได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารไทม์ ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี เมื่อ ค.ศ.2010

ได้รับเชิญเป็นวิทยากรทั่วโลก

หนึ่งในนั้น คือ งานประชุมสมัชชาสตรีโลก 2016 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

“มติชน” พร้อมด้วยนักข่าวจากประเทศอาเซียน ได้รับเกียรติให้เข้าสัมภาษณ์พิเศษบุคคลสำคัญท่านนี้

 

รอย เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1945

ศึกษาที่โรงเรียนชายล้วน “ดูน” ระหว่างปี 1956-1962 จากนั้นเข้าสู่รั้ววิทยาลัยเซนต์สตีเฟ่น กรุงเดลี

ระหว่างนั้น ได้เป็นนักกีฬาสควอช และคว้าแชมป์ของประเทศอินเดียติดกันถึง 3 ปี

อนาคตโรยด้วยกลีบกุหลาบ มีพรมแดงปูเป็นเส้นทางให้ก้าวเดินสู่ความรุ่งโรจน์ในหน้าที่การงาน

ทว่าห้วงเวลาสำคัญที่กลายเป็นจุดพลิกผัน คือ ปี 1965 ซึ่งรอยตัดสินใจไปเรียนรู้ “ชีวิต” อันจริงแท้ในพื้นที่ประสบทุพภิกขภัยที่ร้ายแรงที่สุดในอินเดีย นั่นคือ “แคว้นพิหาร”

สถานที่ซึ่งดวงตาทั้งสองของชายหนุ่มได้มองเห็นความตายจากความหิวโหยเป็นครั้งแรก

ภาพเหล่านั้นเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

เมื่อกลับถึงบ้าน รอยเดินเข้าไปบอกมารดาว่าอยากใช้ชีวิตในชนบท เพื่อขุดบ่อน้ำบาดาลสัก 5 ปี !

แม่ไม่พูดกับเขาอีกนานนับแต่นั้น

หลังได้ทำตามความตั้งใจด้วยการเข้าไปเรียนรู้ในหมู่บ้าน เขาพบทักษะอันน่าทึ่งของผู้คนซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยรับรู้จากการศึกษากระแสหลัก ความคิดที่จะสร้างสถาบันการศึกษาสำหรับคนยากจนจึงผุดขึ้นในสมอง

ในที่สุด ปี 1986 Barefoot College หรือ “วิทยาลัยเท้าเปล่า” ก็ถือกำเนิดขึ้นที่รัฐราชาสถาน อินเดีย ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีในสถาบันการศึกษาใด

ที่นี่ รับเฉพาะคนจน ไร้การศึกษา อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ฯลฯ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่านับจากวันนั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน วิทยาลัยชื่อประหลาดนี้ฝึกให้คนมากกว่า 3 ล้านมีความสามารถในสายงานต่างๆ อาทิ ครู, ช่างทอผ้า, สถาปนิก, หมอ, พยาบาลผดุงครรภ์ รวมถึง “วิศวกรพลังงานแสงอาทิตย์” ซึ่งมีโครงการที่โด่งดังอย่าง “โซลาร์มามาส์” โดยฝึกสอนคุณย่าคุณยายในพื้นที่ห่างไกลทั่วโลก ให้กลายเป็นวิศวกรสาขาดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือน

วิทยาลัยเท้าเปล่า

รอยทำได้อย่างไร และทำไปทำไม?

ต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวน่าอัศจรรย์ของโครงการที่ไม่เพียงเปลี่ยนผันชีวิตของผู้หญิงแต่ละคน หากยังพัฒนาชุมชนอย่างที่ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะฝัน

– ทำไมจึงใช้ชื่อว่า”โซลาร์มามาส์”

เพราะเป็นโครงการที่สอนคุณย่าคุณยายให้เป็นวิศวกรพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) รับเฉพาะผู้หญิงอายุระหว่าง 35-55 ปีเท่านั้น

– อายุเริ่มต้น 35 ปี ยังน้อยมาก

ในแอฟริกา อายุเท่านี้เป็นยายกันแล้วล่ะครับ

– เคยทำโครงการที่ไหนมาบ้าง

เยอะมาก ทุก 6 เดือน จะมีผู้หญิง 40 คนเดินทางจากประเทศต่างๆ มายังวิทยาลัยเท้าเปล่าของเรา ตอนนี้มี 78 ประเทศทั้งในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง อย่างอัฟกานิสถาน เอเชีย เราทำทั่วทั้งอินเดียไปถึงภูฏาน ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่ก็ 6 ใน 10 ประเทศ เริ่มจากพม่า เมื่อปี 2013 ตามด้วยอินโดนีเซียในปีถัดมา จากนั้นเราไปเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชาในปี 2015 ประเทศล่าสุดคือ ฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว บางที่เข้าไปมากกว่าหนึ่งครั้ง อย่างพม่า กัมพูชา และมาเลเซีย รวมแล้วมีโซลาร์มามาส์ตั้ง 800 คน มีครัวเรือนที่ได้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากโครงการนี้ 50,000 หลังในหมู่บ้าน 500 แห่งทั่วโลก

– ที่เหลืออีก 4 ประเทศอาเซียน?

สิงคโปร์ บรูไน รวยอยู่แล้ว ส่วนไทยกับลาว ผมยังหาพันธมิตรในพื้นที่ไม่ได้ ซึ่งนั่นสำคัญมาก 6 ประเทศที่ทำมาแล้ว ล้วนมีพันธมิตร อย่างในพม่า พันธมิตรของเรามีหลายหน่วยงาน เช่น มูลนิธิพัฒนาเด็กและสตรีเมียนมา ในอินโดนีเซีย ซึ่งยังไม่มีวิศวกรพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นผู้หญิง เราได้แบงก์ออฟอเมริกากับมูลนิธิวาดาห์เป็นพันธมิตร

– วิทยาลัยของคุณมีองค์กรสนับสนุนหรือไม่

แน่นอน เราทำโครงการไม่ได้หรอกถ้าไม่มีพาร์ตเนอร์ วิทยาลัยเท้าเปล่าไม่ได้ทำงานลำพัง แต่มีหน่วยงานให้การสนับสนุน อย่างรัฐบาลอินเดีย ยูเอ็นดีพี และองค์กรสตรีต่างๆ

– หมู่บ้านที่ถูกเลือก เป็นการให้ข้อมูลจากทางรัฐบาลของประเทศนั้นๆ หรือเปล่า

ไม่ครับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเลย แต่เราเดินทางไปลงพื้นที่กันด้วยตัวเองเพื่อดูว่าหมู่บ้านไหนที่อยากจะเลือก ตัวผมเองไม่เชื่อในการรวมศูนย์ มันไม่เวิร์ก แต่เชื่อในพลังของผู้หญิง เลยมาคิดว่าทำไมเราไม่นำพลังไปสู่ผู้คนแล้วปล่อยให้ความรู้ถูกถ่ายทอดต่อไปโดยตัวชุมชนเอง ไม่ใช้วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยอย่างเดียว เราไม่ชอบวิธีคิดด้านการพัฒนาแบบบนลงล่าง ต้องพัฒนาจากระดับล่างขึ้นไป ไม่ใช่จากข้างบนลงมา การเข้าไปในชุมชน ถ้าไปทางระดับคนใหญ่คนโต เขาอาจจะไม่รู้เรื่องราวของหมู่บ้านนั้นจริงๆ

วิทยาลัยเท้าเปล่า

จากหมู่บ้านไปอย่างคุณยาย แต่กลับมาอย่างนางเสือ

นึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นวิศวกรได้ยังไงใน 6 เดือน ทั้งที่อ่านหนังสือไม่ออก

แต่ก็ทำได้ พวกเธอคือ โซลาร์ มามาส์

 

– ผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการ มีการคัดเลือกอย่างไร

เวลาเจอผู้หญิง แค่กินมื้อค่ำด้วยกันครึ่งชั่วโมงก็รู้แล้วว่าคนไหนดีที่สุด การเลือกคนเข้าโครงการ เราไม่มีเช็กลิสต์ ไม่มีใบรายชื่อ แต่พอเจอกันจะได้เห็นการปฏิสัมพันธ์ ได้เห็นว่าเขาทำงานยังไง แค่นี้ก็รู้แล้ว คุณย่าคุณยายที่ถูกเลือก ถามว่า ทำไมเป็นฉันล่ะ ? ถ้าให้ชุมชนเลือก เขาจะเลือกสาวๆ ที่มีการศึกษา และบุคลิกดี ผมบอก ไม่ ! และเธอจะต้องไม่ใช่ภรรยานักการเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่ภรรยานักธุรกิจ วิทยาลัยเท้าเปล่าของเรา รับเฉพาะคนจนเท่านั้น

– คุณยายเหล่านี้ไม่มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมเลย จริงๆ แล้ว อ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ แล้วมีวิธีสอนอย่างไร

เราไม่ได้สอนทฤษฎี แต่เป็นการศึกษาผ่านการปฏิบัติ ให้ลงมือทำจริงๆ แค่ฝึก ฝึก และก็ฝึก แค่มือเท่านั้น ที่จะใช้ในการเรียนรู้เพื่อเป็นวิศวกรพลังงานแสงอาทิตย์ พวกเธอนึกภาพไม่ออกว่าจะกลายเป็นวิศวกร ใน 6 เดือนได้ยังไง แต่ในที่สุด ก็ทำได้ นั่นมันอัศจรรย์มากเลยนะ

– ต้องมี”ตัวช่วย”หรือไม่

มีครับ รูปภาพ ช่วยได้เยอะ เราใช้ตั้งแต่ไอแพดไปจนถึงตุ๊กตา เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้สื่อสารกันได้ เพราะมาจากคนละประเทศ แต่ละคนก็พูดภาษาถิ่นของตัวเอง อังกฤษก็พูดไม่ได้ แต่เขาคุยกันรู้เรื่องนะ คุยผ่านภาษากาย ใช้ภาษามือ

– ทำไมเป็นโครงการที่เลือกเฉพาะผู้หญิง

เพราะผมเชื่อว่าผู้ชายน่ะ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แถมยังทะเยอทะยาน ต้องการเขยิบฐานะทางสังคม (หัวเราะ) แต่ผู้หญิงเป็นอะไรที่ไม่ยอมทิ้งหมู่บ้านของตัวเองไปไหน ดังนั้นเทคโนโลยีจะไม่สูญหายไปหลังจากสอนพวกเธอไปแล้ว เพราะเธอจะอยู่ที่นั่น ทำประโยชน์ให้ชุมชน นอกจากนี้ สมมุติว่าเราสอนผู้ชายคนนึง เขาจะไม่สอนผู้ชายอีกคน เพราะกลัวจะเสียงานของตัวเองไป ในขณะที่พวกผู้หญิงชอบแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองรู้ให้กับคนอื่นๆ นี่คือ หลักจิตวิทยาที่แตกต่างระหว่างหญิงกับชาย

วิทยาลัยเท้าเปล่า
– มีกรณีที่มาฝึก 6 เดือน จากนั้นกลับไปหมู่บ้าน แล้วลืมวิธีการบ้างหรือไม่ เพราะไม่สามารถจดขั้นตอนเป็นตัวหนังสือได้

ไม่มีใครลืมนะ พวกสตรีอิเล็กทริกจะไม่ลืม (ยิ้ม)

– ถ้าอุปกรณ์เสียหาย โซลาร์มามาส์ ซ่อมกันเองได้หรือไม่

แน่นอน เราสอนการดูแลซ่อมบำรุงด้วย ไม่ใช่แค่สร้างหรือติดตั้ง สำหรับชิ้นส่วนที่เสียหรือชำรุด เราจะส่งไปทางเรือจากอินเดีย

– ขอย้อนกลับมาจุดที่ว่า ทำไมโครงการนี้จึงเลือกที่จะช่วยฝึกคนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า แทนที่จะเป็นอย่างอื่น

เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะมี “แสงสว่าง” ซึ่งเป็นพลังงานพื้นฐาน ในบ้านแต่ละหลัง ต้องมีแสงสว่างและพลังงานของตัวเอง ทำเองเลยสิ ถ้าไม่ลงมือ อย่าไปโทษรัฐบาล อย่าโทษบริษัท ต้องโทษตัวเอง หลังจากมาฝึกแล้ว คุณต้องกลับไปที่หลังคาบ้านตัวเอง กลับไปทำประโยชน์ให้หมู่บ้าน นอกจากนี้ไฟยังช่วยในด้านการวางแผนครอบครัวด้วย 1 ปีหลังใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีจำนวนเด็กทารกเกิดน้อยลง (ยิ้ม)

วิทยาลัยเท้าเปล่า

– นอกจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคมอย่างไรบ้าง

ชุมชนเคารพผู้หญิงมากขึ้น เพราะเธอมีทักษะที่แม้แต่ผู้ชายในชุมชนไม่มี หรือบางครั้งแม้แต่คนในประเทศก็ไม่มีใครมีทักษะนี้ด้วยซ้ำ ผู้หญิงก็มั่นใจในตัวเอง มีความเชื่อมั่น รู้สึกมีศักดิ์ศรี สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เองได้ พวกเธอจากหมู่บ้านไปอย่าง “คุณยาย” แต่กลับมาอย่าง “นางเสือ” ถูกเรียกว่า “โซลาร์มามาส์” เธอเป็นวิศวกรพลังงานแสงอาทิตย์ กลับมาติดตั้งแผงบนหลังคาบ้านด้วยความมั่นใจ เธอทำให้ชุมชนมีไฟฟ้าใช้จากการเรียนรู้แค่ 6 เดือนในขณะที่วิศวกรต้องเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยถึง 5 ปี เธอจะบอกว่า นี่ ! ฉันมีความสุขดี ไม่ต้องมีคุณ (สามี) ก็ได้ ฉันไม่ต้องการคุณอีกต่อไป (หัวเราะ)

– มีเสียงสะท้อนจากวิศวกรอาชีพบ้างหรือไม่

มีคนหงุดหงิดนะ (ยิ้ม) เขาบอกว่า ย่ายายพวกนี้ไม่ใช่วิศวกร แต่เป็นแค่ช่างเทคนิคเท่านั้น ผมบอก ไม่ใช่ ! พวกเธอเป็นวิศวกร ความแตกต่างก็แค่การมีประกาศนียบัตรหรือไม่มี เท่านั้นเอง

– แล้ววิทยาลัยเท้าเปล่า มีการมอบประกาศนียบัตรไหม หลังจบการฝึก 6 เดือน

ไม่มีครับ ถ้าทำงานได้ ทำไมยังต้องการประกาศนียบัตรที่บอกว่า ฉันเป็นวิศวกรนะ ประกาศนียบัตรคือหมู่บ้านของตัวเอง คือชุมชนที่คุณรับใช้ต่างหาก แล้วจะต้องการกระดาษแปะบนผนังทำไมอีก ?

– บุคคลที่ยึดถือเป็นแบบอย่าง

วิทยาลัยเท้าเปล่า เดินตามแนวคิดของท่าน “มหาตมะคานธี” ซึ่งมีจิตวิญญาณแห่งการรับใช้มวลชน และความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

– ในอนาคตมีแนวโน้มจะทำโครงการแบบนี้กับผู้ชายบ้างไหม

ไม่! ไม่เอา ไม่เอาโซลาร์ปาปาส์ ขอแค่โซลาร์ มามาส์ (ยิ้ม)

บังเกอร์ รอย

 

งานประชุมสมัชชาโลกเพื่อสตรี หรือ The world Assembly for women (WAW!) เป็นการประชุมระดับนานาชาติซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเปล่งประกายคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดหลักของนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี โดยมีการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงทั้งในญี่ปุ่นและประชาคมโลก จัดขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2014 โดยมีผู้นำระดับสูงที่เกี่ยวกับสตรีจากทั่วโลกเดินทางเข้าร่วม ต่อมา ครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2015 มีผู้นำจากหน่วยงานนานาชาติกว่า 130 ราย โดยมีการถกเถียงในประเด็นด้านการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับบทบาททางเพศ, แม่เลี้ยงเดี่ยว, ผู้หญิงกับความก้าวหน้าในสายงานวิทยาศาสตร์, การศึกษา และสุขาภิบาลสำหรับสตรี เป็นต้น

01-ภาพเด่น

สำหรับครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2559 โดยเน้นประเด็นสุขภาพของสตรี ผู้หญิงกับกีฬา เศรษฐกิจ สันติภาพและความมั่นคง โดยจะมีการอภิปรายแบบโต๊ะกลมถึงรายละเอียดอย่างลงลึกในวันที่ 2 ของการประชุม ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษเกี่ยวกับความก้าวหน้าของสตรีในบทบาทที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image