สร้างหอแสดงดนตรีที่เชียงใหม่และภูเก็ต สร้างฮาร์ดแวร์เพื่อรองรับซอฟต์เพาเวอร์

วงปล่อยแก่แสดงที่ภูเก็ต (เมืองฝน 8 แดด 4) เมื่อฝนตกผู้ชมกางร่มให้นักดนตรี

สร้างหอแสดงดนตรีที่เชียงใหม่และภูเก็ต
สร้างฮาร์ดแวร์เพื่อรองรับซอฟต์เพาเวอร์

ผมรู้สึกว่าหมกมุ่นอยู่กับพื้นที่เชียงใหม่และพื้นที่ภูเก็ตมาก เมื่อนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราไปแสดงที่เชียงใหม่บ่อย ที่วัดเจดีย์หลวง สวนเฉลิมพระเกียรติ ที่สนามโรงพยาบาลสวนดอก ต่อมาก็ได้ตั้งวงปล่อยแก่ที่เชียงใหม่และวงปล่อยแก่ที่ภูเก็ต ทุกครั้งที่ไปแสดงดนตรีก็รู้สึกว่าทั้งเชียงใหม่และภูเก็ตขาดหอแสดงดนตรีที่ดี (Auditorium) ซึ่งหอแสดงดนตรีเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่เจริญ เป็นความหวังและเป็นเรื่องของจินตนาการ ในการลงทุนสร้างหอแสดงดนตรี เพื่อการสนับสนุนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติของรัฐบาล (Soft Power) ตามคำสั่งที่ 230/2566 ลงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566 เพื่อจะสร้างให้เกิดขึ้นได้จริง

เชียงใหม่และภูเก็ต เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคมยิ่ง มีความเป็นมายาวนาน มีการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนจะเป็นไปอย่างไรก็เป็นเรื่องอนาคต ปัจจุบันทั้งเชียงใหม่และภูเก็ตก็ทำมาหากินกับมรดกเก่าและทรัพยากรที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่เมื่อนักท่องเที่ยวมาพักอยู่ที่เชียงใหม่หรือภูเก็ต 2-3 วัน ก็หมดอารมณ์และเบื่อแล้ว เพราะไม่รู้จะทำอะไรอีก ไม่มีอะไรให้ดู ไม่มีอะไรที่น่าสนใจอีกต่อไป

ขอเสนอให้เชียงใหม่และภูเก็ตจัดสร้างหอแสดงดนตรี ซึ่งทั้ง 2 เมืองต่างก็มีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่มีรสนิยมและสามารถจัดกิจกรรมดนตรีได้อย่างต่อเนื่อง สามารถจะพัฒนาให้เป็น “เมืองดนตรี” ได้ เมื่อเดินทางไปแสดงดนตรีทุกครั้ง ต้องหลบฝนหลบแดด ต้องขนระบบเสียงไปจากกรุงเทพฯ ทุกครั้งที่ไปก็จะมีงานดนตรีให้ทำต่ออีก เมื่อทำงานดนตรีก็คิดถึงหอแสดงดนตรี เพราะการสร้างงานดนตรีทั้งที่เชียงใหม่และที่ภูเก็ต หากมีหอแสดงดนตรีแล้ว งานดนตรีก็จะหรูขึ้นอีกหลายเท่านัก

Advertisement

ความสำคัญของหอแสดงดนตรีถือเป็นหัวใจหลักของเมือง ประดุจท้องพระโรงของเมือง เป็นห้องโถง เป็นโบสถ์วิหาร เป็นหอประชุมหรือศาลาประชาคม ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับทำพิธีกรรมของสังคม เพื่อจะเป็นจุดหลอมรวมจิตใจคนให้เกิดความมั่นคงอบอุ่น น่าเชื่อถือและเกิดศรัทธา

สังคมต้องอาศัยเสียงดนตรีที่ไพเราะดังก้องกังวานอุ้มจิตใจไว้ ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของพิธีกรรม ดนตรีเป็นเรื่องของจิตใจที่จะเชื่อมโยงให้ผู้คนอยู่ร่วมกัน ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ดนตรีเป็นเรื่องของจิตใจเมือง และเป็นเรื่องจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ เมื่อผู้คนได้ยินเสียงระฆังวัด เสียงพระสวด หรือเสียงฆ้องประโคมดนตรี จะทำให้รู้สึกอบอุ่น มีความเชื่อมั่น มีความสุขสงบ และมีความมั่นคง เสียงดนตรีที่ไพเราะจึงเป็นเสียงของจักรวาล มีความละเอียด ประณีต และอยู่สูงกว่าสะดือ

สำหรับพื้นที่สร้างหอแสดงดนตรีนั้น จะต้องสร้างในใจเมือง ห่างจากสะดือเมือง (หลักเมือง) ได้ไม่เกิน 500-800 เมตร เพราะสะดือเมืองเป็นพื้นที่สำหรับพิธีกรรม พิธีกรรมเป็นพิธีของชนชั้นปกครอง เป็นพื้นที่ของผู้นำทางจิตวิญญาณหรือคนชั้นสูง หมายถึงผู้มีรสนิยม เสียงดนตรีคือพลังของอำนาจที่จะสามารถขับเคลื่อนสังคมให้อยู่ได้ เสียงดนตรีจึงอยู่กับพิธีกรรม การสร้างหอแสดงดนตรีเพื่อจะขังและเก็บเสียงอันไพเราะไว้ให้ก้องกังวาน เพราะผู้คนต้องการความกังวานของเสียงเพื่อห่อหุ้มจิตใจไว้ ไม่ให้เกิดความกลัว และรู้สึกว่าชีวิตมีความมั่นคง ดังนั้นการฟังวงซิมโฟนีออร์เคสตราจึงต้องนั่งฟังอย่างมีสมาธิ เงียบและสงบ ประดุจอยู่ในงานพิธีกรรม

Advertisement

เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเมืองเหนือที่มีความเป็นมาและเป็นอยู่ต่อเนื่องกว่า 700 ปี มีผู้คนที่หลากหลายเผ่าพันธุ์ (30-40 เผ่าพันธุ์) การสร้างหอแสดงดนตรีจึงต้องอยู่กลางใจเมือง เพื่อจะรวมจิตใจผู้คนก้าวข้ามความหลากหลาย เมืองเชียงใหม่พัฒนาสู่สังคมรถยนต์ซึ่งกลายเป็นภาระสำคัญของชีวิตสมัยใหม่ รถยนต์ได้สร้างมลพิษทางอากาศและเสียง แถมยังเป็นขยะเมือง แค่ขยะรถยนต์ที่จอดอยู่เต็มเมือง เชียงใหม่ก็หมดเสน่ห์แล้ว

ส่วนเมืองภูเก็ตติดต่อกับนานาชาติมาแล้ว 1,500 ปี ภูเก็ตได้ผ่านยุคสมัยต่างๆ เป็นเมืองเส้นทางการเผยแผ่ศาสนา ทั้งพราหมณ์ พุทธ มุสลิม คริสต์ ทุกศาสนาเดินทางมากับเรือทางทะเล ในยุคการล่าอาณานิคม ภูเก็ตก็เป็นเส้นทางการล่าเพื่อหาทรัพยากร เมื่ออังกฤษปฏิวัติแรงงานโดยการใช้เครื่องจักรไอน้ำแทนการขนส่งด้วยแรงสัตว์ ตั้งแต่ พ.ศ.2303 ปลายอยุธยา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโลกครั้งสำคัญ มีโรงงานทอผ้าเป็นอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ยุโรปจึงต้องหาวัตถุดิบจากตะวันออกเพื่อไปป้อนโรงงานและสร้างเป็นสินค้าแปรรูปชิ้นใหม่

ภูเก็ตยังเป็นเส้นทางการค้าและเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว ภูเก็ตมีชายหาด มีเกาะ มีทะเล มีนางเงือก มีชีเปลือย มีเรื่องราวของเมืองผลึก เมืองถลาง

วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราแสดงที่วัดเจดีย์หลวงที่เชียงใหม่ เพราะไม่มีพื้นที่แสดง

ประเด็นภูมิศาสตร์ของสุนทรภู่ เมื่อขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เสนอภูมิศาสตร์ของสุนทรภู่ใหม่ เมื่อ พ.ศ.2490 จากเรื่องพระอภัยมณีว่า มีฉากทัศน์ในทะเลอันดามัน โดยมีเมืองผลึกหรือเมืองถลาง ก็คือเมืองภูเก็ต ข้อเสนอที่ต่างไปจากความเชื่อเดิม ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนอภูมิศาสตร์สุนทรภู่ เรื่องพระอภัยมณีว่า เป็นนวนิยายซึ่งมีพื้นที่ฉากทัศน์อยู่ในอ่าวไทย

เรื่องพระอภัยมณีอยู่ที่เมืองผลึกตรงข้ามกับกรุงลังกา มีเกาะแก้วพิสดาร (เกาะนาควารีซึ่งมีคนเปลือย เกาะนิโคบาหรือนาควารินสินสมุทร) ฉากทัศน์หาดในยาง ที่พระอภัยนั่งเป่าปี่ให้สามพราหมณ์ฟัง “ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย ยังไม่เคยเชยชิดพิสมัย” ใช้ทำนองเพลงพัดชา ที่เมืองถลาง ทะเลอันดามัน มีสะดือทะเล เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เมื่อสุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์โบราณคดี นำมาขยายความเพิ่ม ทำให้เห็นวิธีคิดและมุมมองใหม่ของวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี

ปริศนาเรื่องฉากเมือง ฉากทะเล โลกทัศน์ของตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครที่เป็นนางละเวงวัณฬา ขึ้นครองราชย์กรุงลงกา เสนอเป็นภาพพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ (พ.ศ.2362-2444) ซึ่งเป็นผู้ล่าอาณานิคม ทำให้วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีกลายเป็นบันทึกการต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้นในยุคนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งครองราชย์ พ.ศ.2367-2394 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

หากที่ภูเก็ตมีหอแสดงดนตรี (Auditorium) สามารถที่จะสร้างละครเพลง ละครโอเปร่าเรื่องพระอภัยมณีขึ้นใหม่ หรือสร้างเป็นภาพยนตร์โดยใช้ฉากทัศน์ที่ภูเก็ต พระอภัยมณีกลายเป็นมหรสพประจำเมืองภูเก็ต เล่าเรื่องการขับเคลื่อนสังคมผ่านศาสนา การล่าอาณานิคม การขนส่งสินค้า การหาวัตถุดิบส่งป้อนโรงงานในยุโรป ซึ่งละครเพลงหรือโอเปร่าเรื่องพระอภัยมณี ก็จะกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมใหม่ ให้ความบันเทิง ให้ความรู้ในทางประวัติศาสตร์ นักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางมาภูเก็ตจะต้องดู

เมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ต (Prince Albert) พระสวามีของพระราชินีวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ พ.ศ.2404 พระราชินีวิกตอเรียได้สร้างหอแสดงดนตรี (Royal Albert Hall) เป็นที่ระลึก กลายเป็นหอแสดงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ เปิดแสดงเมื่อ พ.ศ.2414 มีที่นั่ง 5,272 ที่นั่ง ซึ่งยังคงเป็นหอแสดงดนตรีที่ยิ่งใหญ่กระทั่งปัจจุบัน

พระอภัยมณีใช้ปี่เป็นอาวุธ แสดงคอนเสิร์ต 16 ครั้ง ทุกครั้งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเป่าปี่ (ปี่พูดได้) เป่าให้ทหารข้าศึกหลับใหลในสงคราม การเป่าปี่ของพระอภัยมณีเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างดนตรีไทยจากดนตรีประโคม (แห่) การเล่นดนตรีในงานพิธีกรรม งานโกนจุก แต่งงาน งานศพ เปลี่ยนไปสู่การเล่นดนตรีเพื่อการฟัง การเดี่ยว (Solo) ใช้เพลงพัดชา ฉุยฉาย ทยอยเดี่ยว เป็นต้น อาศัยศักยภาพความเป็นเลิศของนักดนตรี ซึ่งได้ต้นแบบจากครูมีแขก (พระประดิษฐ์ไพเราะ) เป็นตัวละครพระอภัยมณี นักเป่าปี่ที่เก่งมาก

“ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ” ครูมีแขก (พระประดิษฐ์ไพเราะ) พ.ศ.2330-2415

ครูมีแขก (พระประดิษฐ์ไพเราะ) มีความสนิทสนมกับสุนทรภู่ ทำให้เพลงปี่พระอภัยมณีมีพลัง เป่าทั้งเพลงไทย เพลงแขก มอญ จีน เพลงฝรั่ง หรือเพลงนานาชาติ ในเรื่องพระอภัยมณีได้บรรจุเพลงเอาไว้มาก นิยมใช้ในละคร เพลงสมัยนิยม อาทิ เพลงคำมั่นสัญญา ที่พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง “ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร” ใส่ทำนองโดย สุรพล แสงเอก เพลงหลงรูปละเวง (ม.ล.วัลลภ นวรัตน์) ขับร้องโดย สมสกุล ยงประยูร เพลงชมละเวง ผลงานไสล ไกรเลิศ ขับร้องโดย ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา เป็นต้น

หอแสดงดนตรีต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความกล้าหาญ มีรสนิยม และมีบารมี ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้นำที่มองเห็นอนาคตจึงจะสร้างหอแสดงดนตรีได้สำเร็จ การสร้างหอแสดงดนตรีที่เชียงใหม่และที่ภูเก็ต จะต้องลงทุนในการสร้างเมืองครั้งใหญ่ โดยมีที่จอดรถอยู่ใต้หอแสดงดนตรีอย่างน้อย 1,000 คัน แล้วกวาดเอารถที่จอดอยู่ข้างถนนในเมือง เอารถลงไปจอดในชั้นใต้ดินของหอแสดงดนตรีให้หมด แค่นี้เชียงใหม่และภูเก็ตก็เจริญขึ้นทันที

สร้างหอแสดงดนตรีเสร็จแล้ว ก็เชิญวงดนตรีขนาดใหญ่ระดับโลกมาแสดง อาทิ วงนิวยอร์กฟีลฮาร์โมนิก วงลอนดอนซิมโฟนีออร์เคสตรา วงโตเกียวฟีลฮาร์โมนิก วงปักกิ่งซิมโฟนีออร์เคสตรา วงเบอร์ลินฟีลฮาร์โมนิก วงซิดนีย์ซิมโฟนีออร์เคสตรา วงสิงคโปร์ซิมโฟนีออร์เคสตรา เป็นต้น

เมื่อวงดนตรีระดับโลกมาแสดงก็ถือเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า เชียงใหม่และภูเก็ตได้พัฒนาเป็นเมืองชั้นนำแล้ว เป็นการยกระดับคุณภาพสังคมด้วยการลงมือทำ ชาวโลกก็จะบินมาเที่ยวมาดูที่เชียงใหม่และภูเก็ต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image