‘สรยุทธ’ คืนจอ ชื่อนี้ยัง ‘ขายได้’ และ ‘ขายดี’

สรยุทธไลฟ์สดครั้งแรก ยอดวิวกว่า 1.2 ล้านครั้ง

สั่นสะเทือนกันไปหลายวงการสำหรับการกลับมาอีกครั้งของสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” และ “เจาะข่าวเด่น” รายการข่าวเรตติ้งกระฉูดทางช่อง 3

หลัง “เฮียสอ” จำต้องโบกมือลาไปเมื่อโดนกดดันรอบด้านจาก “คดีไร่ส้ม” คงเหลือ “น้องไบรท์” ลงสนามรายการเล่าข่าวแย่งชิงตัวเลขผู้ชมอย่างกระอักเลือด

ช่วงเวลาเกือบปีที่สรยุทธหายหน้าไปจากวงการข่าวทางโทรทัศน์ ก็ยังคงอัพเดตภาพชีวิตส่วนตัวผ่านอินสตาแกรม ใช้เวลาพักผ่อน ตระเวนกิน เที่ยว เลี้ยงสุนัขอยู่บ้าน แสดงให้เห็นว่าเขาอยู่ดีมีสุข และยังไม่ได้ปล่อยมือจากรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้”

ที่น่าสังเกตคือแต่ละภาพในอินสตาแกรมจะมีคนกด “ถูกใจ” ไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นจากยอดผู้ติดตาม 1.8 ล้านคน พร้อมคอมเมนต์แสดงความคิดถึง อยากเห็นหวนคืนจอกลับมาอ่านข่าวอีกครั้งในทุกๆ ภาพ

Advertisement

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาเป็นคนที่มีคนรักมากและมีคนเกลียดมากเช่นกัน

ภาพที่เห็นเป็นปกติเมื่อสรยุทธลงพื้นที่จะมีชาวบ้านแห่แหนขอเซลฟี่ ขอกอด ขอหอม คล้ายเมื่อเห็นดาราในดวงใจ อาจเพราะภาพลักษณ์การนำเสนอข่าวที่เข้าถึงชาวบ้านในหลายๆ ครั้งเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อครั้งเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 นอกจากการทำข่าวเกาะติดสถานการณ์แล้วเขายังสามารถระดมเงินทุนและการช่วยเหลือได้ในเวลารวดเร็ว

ความชื่นชอบนี้มากพอที่ประชาชนจะเอ่ยปากเปรียบเปรยหลายครั้งว่าเขาคือ “นายกฯตัวจริง”

ความเป็น “ซุปเปอร์สตาร์” ในวงการข่าวนี่เองที่ทำให้หลายคนออกมาเหยียบซ้ำ เมื่อเกิดกรณีคดีไร่ส้ม ผิดถูกว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม แต่การมี “คนโกง” มานั่งเล่าข่าวเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ในแวดวง “คนดี”

“จรรยาบรรณสื่อ” ถูกทวงถามหนาหูอย่างที่แทบไม่เคยเป็นมาก่อน กระทั่งกับกรณีอื่นที่ควรถูกตั้งคำถามเรื่องจรรยาบรรณเช่นกันยังไม่ต้องรับแรงกดดันขนาดนี้

จน “เฮียสอ” โบกมือลาในที่สุด

และใครบางคนพูดว่า “นี่เป็นการสร้างบรรทัดฐานให้คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

สรยุทธ
เขากลับมาใน ‘สื่อใหม่’

เป็นความกังวลที่มีอยู่เดิมแล้วสำหรับคนทำสื่อโทรทัศน์

นอกจากการแย่งเรตติ้งแบ่งชิ้นเค้กจากเงินโฆษณาที่ไม่ได้มีวี่แววจะเพิ่มขึ้นหลังมีทีวีดิจิทัล ของเล่นใหม่จากเฟซบุ๊กอย่าง “ไลฟ์ สตรีม” ก็ทำให้ต้องร้อนๆ หนาวๆ กัน เมื่อใครๆ ก็สามารถถ่ายทอดสดเหตุการณ์ได้

ขณะที่บทบาท “คนเล่าข่าว” ซึ่งหลายช่องพยายามปั้นคนขึ้นมาในช่วงที่ตำแหน่งว่างลง ก็ยังไม่มีใครมาแทนที่สรยุทธได้

ผู้ชมยังคงจดจำและติดใจลีลาการเล่าข่าวของ “เฮียสอ”

ชนิดที่ว่าต่อให้ “ก๊อปปี้” ได้เหมือนแค่ไหนก็ยังทำไม่ได้แบบสรยุทธ

ขณะเดียวกันตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ สถานการณ์น้ำท่วมที่ภาคใต้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง แต่ยังไม่มีใครลงไปให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ข่าวโทรทัศน์ก็ไม่ได้เกาะติดสถานการณ์อย่างที่ควรจะเป็น ผู้คนเริ่มคิดถึงชื่อของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” หลังเขาเคยแสดงบทบาทเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่มาแล้ว

แล้วเขาก็กลับมา

แฟนเพจ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” ถูกสร้างขึ้น

วันที่ 29 ธันวาคม ประเดิมคลิปแรกพาชิมอาหารมีคนเข้าไปดูหลักแสน ก่อนเขาจะแจ้งข่าวทางอินสตาแกรมว่ากำลังหัดลองเล่นเฟซบุ๊ก

และเริ่มเดินทางลงภาคใต้ในวันที่ 8 มกราคม โพสต์คลิปวิดีโอเป็นภาพฝนตกบนท้องถนนระหว่างเดินทางผ่านประจวบคีรีขันธ์ ความยาวเพียง 40 วินาทีโดยที่ไม่มีเสียงบรรยายใดๆ มีคนกดเข้าชมกว่า 2 แสนครั้ง

ไลฟ์สดครั้งแรกจากปากพนัง นครศรีธรรมราช พาชมสภาพน้ำท่วมและพูดคุยกับชาวบ้าน มีคนกดเข้าชม 1.2 ล้านครั้ง

เฟซบุ๊กสรยุทธเกาะติดรายงานสถานการณ์น้ำท่วมจากในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากคนใต้ผู้ประสบอุทกภัย และเริ่มระดมเงินทุนให้ความช่วยเหลือผ่านมูลนิธิครอบครัวข่าว

ภายใน 2 สัปดาห์นับตั้งแต่สร้างเพจ มีคนกดติดตาม 3 แสนกว่าคน และตัวเลขกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ชื่อของสรยุทธยัง “ขายได้” และ “ขายดี”

สรยุทธ

ลงพื้นที่ได้ใจชาวบ้าน ชื่อนี้การันตีฝีมือ

จั่วหัวเรื่อง “สรยุทธคืนจอ” ไปถามนักวิชาการและนักพูดประสบการณ์ยาวนาน สุขุม นวลสกุล ตอบกลับมาทันที

“ผมว่าก็เป็นสิทธิของเขา ทำไมเขาจะทำไม่ได้”

ก่อนที่จะออกตัวว่าไม่เห็นด้วยตั้งแต่ที่มีการบีบให้สรยุทธยุติบทบาทจากคดีไร่ส้มแล้ว

“จริงๆ แล้วผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ไปบีบเขาให้ออกจากรายการ เพราะเขายังไม่ได้ถูกลงโทษถึงที่สุด และรายการที่เขาทำขึ้นมาก็ไม่ได้บังคับใครดู”

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ผู้คนฮือฮาในการกลับมาครั้งนี้ของสรยุทธนั้นอาจารย์สุขุมให้ความเห็นว่า เพราะสรยุทธเป็นคนมีศักยภาพเคยทำสำเร็จมาแล้วจึงเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อคนที่เคยเห็นฝีมือในการช่วยเหลืออุทกภัยที่ผ่านๆ มาของสรยุทธก็คงยังเชื่อฝีมืออยู่

“ทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ทันอกทันใจเหมือนสมัยนั้นที่มีรายงานทางโทรทัศน์ต่างๆ มันถึงเหตุถึงการณ์ น่าสนใจครับ”

สุขุม นวลสกุล
สุขุม นวลสกุล

 

สำหรับกระแสความสนใจเรื่องความเดือดร้อนจากน้ำท่วมภาคใต้นั้น สุขุมปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าการปรากฏตัวของสรยุทธมีส่วนให้เกิดความสนใจเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่เขาไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง

“ผมไม่ทราบ แต่เท่าที่ทราบการที่มีข่าวว่าคุณสรยุทธลงมาเล่นเรื่องพวกนี้ ก็เรียกความสนใจเพิ่มขึ้นได้เยอะ”

ส่วนภาพการลงพื้นที่อย่างจริงจังของสรยุทธนั้น อาจารย์สุขุมบอกว่าต้องแยกส่วนกับภาพการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล เพราะในมุมของสื่อมวลชนก็ยังมีสถานีโทรทัศน์อีกหลายช่อง ตามปกติหากสรยุทธยังทำหน้าที่อยู่ก็จะมีการแข่งขันกันเยอะ

และกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ที่มีการเปรียบเทียบภาพวันที่สรยุทธลงพื้นที่ภาคใต้ ขณะที่ทำเนียบรัฐบาลยังมีการออกกำลังกายตามปกติทั้งที่มีปัญหาเร่งด่วนจ่ออยู่ตรงหน้า อาจารย์สุขุมบอกว่าก็เป็นเรื่องที่มีคนวิจารณ์กันอยู่

“แต่ก็คงจะต้องยอมรับว่าจริงๆ แล้วการช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นถึงขนาดไม่ทำอย่างอื่น ผมว่าไม่ใช่เรื่องที่จะไปล้อท่านนายกฯ ถ้าท่านจะออกกำลังแต่ในเวลาเดียวกันท่านก็สั่งการทำพร้อมกันไปได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องหยุดทุกอย่างเพื่อเรื่องนี้ แต่ถ้าท่านลงไปในพื้นที่เกิดเหตุก็จะได้ใจ ได้รู้สึกเหมือนว่าคนเราเห็นใจกันมาถึงที่ เห็นความพยายาม อย่างผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ตามบ้านมีใครโผล่เข้าไปก็น้ำหูน้ำตาไหล มีความรู้สึกว่าตัวเองได้รับความเป็นห่วงมาก

“ฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งก็คงจะไปแล้ว”

อาจารย์สุขุมปิดบทสนทนาไปพร้อมรอยยิ้ม

05

เสรีภาพสื่อ?

เมื่อเฟซบุ๊กเปิดกว้างเกินจะถูกควบคุม

ปรากฏการณ์ “สรยุทธคืนจอ” ครั้งนี้ไม่ได้น่าจับตาเฉพาะแรงสั่นสะเทือนในวงการสื่อ แต่เกิดคำถามตามมาในหลายแง่มุม

คำถามต่อการทำงานของรัฐบาล หลังประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของอุทกภัยครั้งนี้น้อยเกินไป และให้การช่วยเหลือไม่ทันท่วงที ทั้งที่ทุ่มงบมหาศาลไปกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งรวมถึงการจัดการอุทกภัย หลังคนไทยเพิ่งเข็ดขยาดจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

พรั่งพร้อมทั้งงบประมาณ กำลังคน และช่องทางการสื่อสาร

ขณะที่ประชาชนร่ำร้องความช่วยเหลือจากพิธีกรรายการข่าว มากกว่าจะเรียกหาหน่วยงานภาครัฐ

อีกคำถามต่อ “จรรยาบรรณสื่อ” เมื่อสรยุทธถูกบีบออกจากหน้าจอโทรทัศน์ แต่กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งบนจอสมาร์ทโฟนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยมีผู้ติดตามรับชมจำนวนมาก เหล่านี้มีสิ่งใดแตกต่างกัน

ต้องจับตาต่อไปถึงกระแสหลังจากนี้ว่าจะมีใครออกมาทัดทาน ทวนคำที่เคยยืนยันว่าจะสร้างบรรทัดฐานให้คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคมหรือไม่

หรือหากตั้งคำถามในแง่จรรยาบรรณใครจะมาตรวจสอบจริยธรรมของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่สามารถถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กได้อย่างทัดเทียมกัน

มองเลยไปถึง พ.ร.บ.สื่อฉบับใหม่ในมือ สปท.ที่องค์กรวิชาชีพสื่อกำลังยื่นคัดค้านกันอยู่ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นกฎหมายที่มุ่งการควบคุมและอาจเปิดช่องให้อำนาจรัฐแทรกแซงได้

หากบังคับให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เหล่าผู้คนที่มุ่งมาใช้สื่อออนไลน์อย่าง สรยุทธ สุทัศนะจินดา, ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์, วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา และคนอื่นๆ ที่กำลังก้าวตามมา เหล่านี้ต้องขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพื่อสื่อสารทางเฟซบุ๊กหรือไม่

ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปแล้ว แนวคิดที่มุ่งการกำกับควบคุมแบบเดิมอาจใช้ไม่ได้ในโลกที่การสื่อสารง่ายดายและเปิดกว้าง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอกย้ำความสำคัญของสื่อทางเลือก

เมื่อสรยุทธไม่ได้บังคับให้ใครมาดู และประชาชนก็เรียกร้องต้องการในยามวิกฤต

69

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image