“กองทุนขยะสร้างสุข” พลิกสลัมเป็นชุมชนน่าอยู่

“ขยะ” เป็นปัญหาของสังคมไทยในทุกระดับ ทั้งชุมชนเมืองหรือสังคมชนบท หากขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องของการจัดเก็บและกำจัดอย่างถูกวิธีแล้ว ก็จะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ อย่างมากมายที่ล้วนแต่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม

“ชุมชนป้อมหก” ซึ่งเป็นชุมชนแออัดริมทางรถไฟ หน้าโรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ในอดีตถูกตราหน้าว่าเป็น “สลัม” และมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีมานานหลายปี แต่ภาพในเชิงลบเหล่านี้ได้ถูกลบหายไปในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี เมื่อชุมชนแห่งนี้ได้นำ “ขยะ” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนมาใช้เป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนแห่งนี้ดีขึ้น

จุดทิ้งขยะประเภทต่างๆ
จุดทิ้งขยะประเภทต่างๆ


จาก “โครงการแนวทางร่วมสร้างชุมชนป้อมหกให้น่าอยู่” ที่เกิดขึ้นปี 2555-2556 และได้ถูกขยายผลต่อเนื่องมาจนเป็นปีที่ 2 ในชื่อว่า “โครงการแนวทางร่วมสร้างชุมชนป้อมหกให้น่าอยู่ปีที่ 2 : ป้อมหก Eco Planet ปฏิบัติการชุมชนรักษ์โลก (ต่อเนื่อง)” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้หยิบยกเอาปัญหาขยะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อชุมชนในทุกๆ ด้าน เกิดการประสานความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชน จนขยายผลนำไปสู่การทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

คณิชชา ผอมเอียด ผู้รับผิดชอบโครงการฯเล่าว่า ในอดีตชุมชนแห่งนี้เคยถูกขนานนามว่าเป็น “ชุมชนมักง่าย” บ้านไหนมีขยะก็จะขว้างเหวี่ยงโยนออกมากองทิ้งไว้ฝั่งตรงข้ามบ้านของตนเอง นานวันเข้าก็สะสมเป็นภูเขาขยะส่งกลิ่นเน่าเหม็น ตกกลางคืนก็มีหนูออกมาวิ่งเป็นจำนวนมาก บางบ้านแก้ปัญหาด้วยการเผาขยะ ทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นชุมชนในหมอกควัน

Advertisement

“จากปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็นภาพเช่นนี้ รวมไปถึงสรรพนามที่คนอื่นๆ กล่าวขานถึงชุมชนในเชิงลบ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่อยากจะแก้ไขปัญหา ประกอบกับทาง สสส.เปิดโอกาสให้ได้พัฒนาโครงการและหาแนวทางการสร้างชุมชนให้น่าอยู่ จึงเป็นที่มาของวาระแห่งชุมชนป้อมหกที่ทุกบ้านเห็นตรงกันในเรื่องการจัดการปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม”

คณิชชา ผอมเอียด
คณิชชา ผอมเอียด


จากจุดเริ่มต้นก็ได้เกิดเป็นข้อตกลงหรือกติการ่วมกันของชุมชน เช่น การจัดเก็บทิ้งเป็นเวลา การนำขยะใส่ถุงแล้วมัดปากถุงให้แน่นก่อนทิ้ง มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง มีการนำขยะอินทรีย์จากครัวเรือนไปเพาะเลี้ยงไส้เดือน ทำน้ำหมักชีวภาพ มีแปลงปลูกผักของชุมชน ฯลฯ รวมไปถึงสร้างแรงจูงใจให้คนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งที่แกนนำทำอยู่ เช่น กิจกรรมขยะแลกไข่ ตลาดนัดขยะ ทอดผ้าป่าขยะ เป็นต้น

สร้างความร่วมมือขึ้นมาตามลำดับ จนเกิดเป็น “ธนาคารขยะ” และต่อยอดมาจนถึง “กองทุนขยะสร้างสุข” ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นสวัสดิการในด้านต่างๆ ให้กับสมาชิกและลูกหลานของคนในชุมชน

Advertisement
ปรับพื้นที่ว่างให้ดูสบายตา
ปรับพื้นที่ว่างให้ดูสบายตา


ในปี 2557 ธนาคารขยะมีการคัดแยกและซื้อขายขยะ 332 กิโลกรัม และเพิ่มขึ้นเป็น 616 กิโลกรัมในปี 2558 โดยล่าสุดในปี 2559 ปริมาณขยะที่ถูกจัดเก็บโดยเทศบาลนครหาดใหญ่ของชุมชนยังลดลงถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับปีแรกที่เริ่มทำโครงการ ซึ่งนอกจากปริมาณขยะในชุมชนจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว สภาพแวดล้อมของชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะสมาชิกในชุมชนป้อมหกเกิดจิตสำนึกในการจัดการขยะที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนร่วมกัน

สมพร จันทรวงศ์
สมพร จันทรวงศ์

สมพร จันทรวงศ์ หนึ่งในแกนนำที่เปิดบ้านเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ ในชุมชน เพื่อให้เกิดการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เล่าว่า จากการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลง คนในชุมชนรู้จักวินัยในการออม มองเห็นประโยชน์และคุณค่าของขยะ อย่างกิจกรรมขยะแลกไข่นั้น นอกจากจะทำให้ท้องอิ่มแล้ว ยังเกิดวินัยและเรียนรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะไปในตัว

“การรู้จักคัดแยกขยะทำให้หลายครอบครัวสามารถเลี้ยงชีพได้ในปัจจุบัน ด้วยการมีอาชีพเก็บขยะขาย ซึ่งแม้จะดูต้อยต่ำแต่ก็เป็นอาชีพสุจริตที่สามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในครอบครัวได้”

สมหมาย นิลโชติ หนึ่งในแกนนำเล่าถึงกองทุนขยะสร้างสุขของชุมชนแห่งนี้ว่า นอกจากทำให้มีรายได้จากการขายขยะประมาณ 200-300 บาทต่อสัปดาห์แล้ว กองทุนแห่งนี้ยังมีเงินสวัสดิการสำหรับสมาชิกที่เสียชีวิตถึงรายละ 3,000 บาท และมีเงินหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ชุมชนสะอาดขึ้น แต่ละบ้านก็จะตกแต่งหน้าบ้านให้น่าอยู่ ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ คนในชุมชนสามัคคีกันมากขึ้น มีแปลงผักสวนครัวที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้

ชุมชนสวยงามน่าอยู่มากขึ้น
ชุมชนสวยงามน่าอยู่มากขึ้น


ระยะเวลากว่า 5 ปีที่ชุมชนแห่งนี้ได้พยายามปรับเปลี่ยนตนเอง และร่วมกันลบภาพ “สลัม” ออกไปจากสายตาของคนทั่วไปนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดขึ้นจากการที่ทุกครัวเรือนได้รับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ พูดคุย อบรมให้ความรู้ การหากิจกรรมตามที่แต่ละคนถนัดให้ได้เข้ามามีส่วนร่วม จนเกิดการรับรู้ เกิดความเข้าใจในกติกา และเปลี่ยนจาก “วิธี” ไปสู่ “วิถี” การปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรประจำวัน

วันนี้ “ป้อมหก” จึงเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการปัญหาขยะ ที่ใช้ “จิตสำนึก” และ “ความสามัคคี” ร่วมกันเปลี่ยนแปลงชุมชน จนสามารถลบภาพของคำว่าสลัมออกไปได้อย่างถาวร

ขยะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image