ลอยกระทง 66
ขีดเส้นใต้‘ปลอดภัย’
ในวันเพ็ญเดือน 12
วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่งในปีนี้
ลอยกระทงไม่หลงทาง พุทธศักราช 2566
ตรงกับค่ำคืนนี้ 27 พฤศจิกายน
แม้ก่อนหน้านี้มีกระแสยกเลิกลอยกระทงในโลกออนไลน์ จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม
แต่ในโลกความจริง คาดการณ์ว่า ลอยกระทงปีนี้ เงินจะสะพัดแรงมาก แตะ 1 หมื่นล้านครั้งแรกในรอบ 8 ปี ตามการคาดการณ์ของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
สำหรับบรรยากาศเตรียมอีเวนต์ทั่วไทยก็สุดคึกคัก ยิ่งกระแสออเจ้า ‘พุดตาน’ ร่วมประเพณี ‘จองเปรียง’ กับ ‘พ่อริด’ จากละคร ‘พรหมลิขิต’ ทำฟินทั้งประเทศ

ธุรกิจชุดไทยให้เช่าที่ซบเซาไปพักหนึ่งก็ฟื้นตัวซู่ซ่า โดยเฉพาะในแผ่นดินอยุธยา หน้าวัดไชยวัฒนารามตามระเบียบ
หันมาดูความพร้อมสำหรับคืนนี้ ณ บางกอก กรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรที่เฉลิมฉลองกันทุกเทศกาล
ทีมพ่อเมือง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ย้ำเข้มความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อมีบทเรียนจากปี’65 กรณีความแออัดบน ‘สะพานพระราม 8’ จนปีนี้มีการติดกล้องวงจรปิดถึง 37 ตัว
ส่วน ‘คลองโอ่งอ่าง’ อีกจุดสำคัญ ห้ามจุดพลุเด็ดขาด ขณะที่ในแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการจัดเรือลาดตระเวนตรวจตราละเอียดลออ

ปลอดภัยอันดับ 1 ติดกล้อง 37 ตัว ทั่วพระราม 8
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานงานแถลงข่าว เทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 โดยเผยว่า หลายประเทศทั่วโลกล้วนมีเทศกาลสำคัญ ส่วนกรุงเทพฯ มี 2 เทศกาลสำคัญ คือ Winter Festival หรือเทศกาลลอยกระทง และ Water Festival หรือเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งทั้ง 2 งาน กทม.ร่วมจัดงานกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งที่คนจะนึกถึงเป็นอันดับแรกของทั้งสองเทศกาล คือ เรื่องของการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย เรื่องของปัญหาความปลอดภัย และการรักษาสิ่งแวดล้อม
นั่นจึงเป็นที่มาแนวคิด 3 ปลอด คือ 1.ปลอดจากวัสดุไม่ธรรมชาติ 100% 2.ปลอดจากประทัด โคมลอย พลุ และ 3.ปลอดอันตรายจากโป๊ะ-ท่าเรือไม่แข็งแรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

ในเรื่องของความปลอดภัยจากโป๊ะและท่าเรือที่ไม่แข็งแรง ทางด้าน ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. ได้สั่งการให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ขอให้ประชาชนดูป้ายแจ้งเตือนห้ามใช้งานของโป๊ะและท่าเรือที่ไม่แข็งแรง ส่วนท่าเรือหรือโป๊ะที่สามารถใช้งานได้ จะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ และ สปภ.คอยอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย
นอกจากนี้ กทม.ยังออกประกาศเรื่องมาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันในช่วงวันลอยกระทง ห้ามมิให้จุดพลุ ประทัด และห้ามปล่อยโคมลอย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะดำเนินการกวดขันจับกุมผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด ตรวจสอบผ่านกล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งบริเวณสะพานพระราม 8 จะมีกล้อง CCTV จำนวน 37 ตัว

ปีนี้ กทม.เข้มดูกล้อง 37 ตัวทั่วพื้นที่
รวมถึงควบคุมระเบียบจัดลำดับคิวของผู้ลอยกระทงให้ปลอดภัย และมีการควบคุมจำนวนคนในแต่ละโป๊ะและท่าเรือ โดยจะมีการดูแลเป็นพิเศษในจุดที่จัดงานใหญ่ และคาดว่าจะมีประชาชนร่วมงานจำนวนมาก อาทิ สะพานพระราม 8 คลองโอ่งอ่าง การจัดงานของกระทรวงวัฒนธรรม ที่วัดอรุณราชวรารามฯ และการจัดงานของรัฐบาลที่คลองผดุงกรุงเกษม เป็นต้น
บก-น้ำ ย้ำเข้ม ดับเพลิง กู้ชีพ (เรือ) ลาดตระเวนพร้อม!
ความพร้อมของ กทม.ในการดูแลความปลอดภัยทั้งทางบก และทางน้ำในเทศกาลลอยกระทง สปภ.ร่วมกับสำนักการแพทย์ จัดเรือดับเพลิงและเรือกู้ชีวิต ลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 20.9 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เรือเจ็ตสกี จำนวน 2 ลำ เรือกู้ชีพ โรงพยาบาลวชิระ จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
ช่วงที่ 2 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าถึงสะพานตากสิน ประกอบด้วยเรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เรือกู้ชีพ โรงพยาบาลตากสิน จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
ช่วงที่ 3 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงสะพานพระราม 9 ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เรือกู้ชีพ โรงพยาบาลเจริญกรุง จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
ทั้งนี้ พื้นที่ลอยกระทงบริเวณสวนสาธารณะและริมคลอง รวมถึงจุดท่าเทียบเรือและโป๊ะ จะจัดเจ้าหน้าที่จุดละ 2 นาย พร้อมรถดับเพลิง รถไฟส่องสว่าง ถังดับเพลิงและอุปกรณ์ช่วยชีวิต ประกอบด้วย เสื้อชูชีพ ห่วงยางช่วยชีวิต เชือกช่วยชีวิตไว้ด้วย
แค่ตั้งจิตอธิษฐาน กระทงดิจิทัล คลองโอ่งอ่าง
อีกประเด็นน่าสนใจ แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว นั่นคือการลอยกระทงดิจิทัล โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ กทม.เชิญชวนประชาชนลอยกระทงดิจิทัลกลางคลองโอ่งอ่าง รณรงค์แนวคิดการลอยกระทงในรูปแบบใหม่ เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม ชมกระทงแบบดิจิทัลบนพื้นผิวน้ำคลองโอ่งอ่าง ผ่านโปรเจ็กเตอร์ขนาดใหญ่ พร้อมกิจกรรมการแสดง Street Performance และชิมอาหารย้อนยุค บริเวณเชิงสะพานบพิตรพิมุข คลองโอ่งอ่าง โดยผู้ที่มาร่วมงานไม่ต้องนำกระทงมาเอง เพียงแต่ต้องนำโทรศัพท์มือถือติดตัวมาด้วยเพื่อร่วมระบบลอยกระทง
“บางท่านอาจจะลอยกระทงอยู่ที่บ้านได้ผ่านระบบออนไลน์ หรือเลือกที่จะลอยปัญหาที่ต้องการแก้ไขมาให้ กทม.ช่วยดูแลได้ผ่านระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งจะมีการเพิ่มฟีเจอร์เข้าไปในเร็วๆ นี้” ศานนท์กล่าว
พูดง่ายๆ คือ การลอยกระทงในทราฟฟี่ฟองดูว์นั้น ประชาชนสามารถลอยเรื่องที่อยากให้ผู้บริหารทำ หรือปรับปรุง ซึ่งจะส่งเรื่องไปยังสำนัก และเขตต่างๆ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเพิ่มฟังก์ชั่นในทราฟฟี่ฟองดูว์
จากกระทง สู่ขยะ ตี 5 ต้องจบ!
สำหรับการจัดเก็บกระทงอันงดงามที่สุดท้ายจะกลายเป็น ‘ขยะ’ ชั่วข้ามคืน ชัชชาติเผยว่า ได้สั่งการให้เก็บขยะให้หมดภายในเวลา 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น โดยปีที่แล้วมีกระทงมาจากธรรมชาติ 95.3% กระทงจากโฟม 4.7% ซึ่งกระทงธรรมชาตินำไปทำเป็นปุ๋ยหมักต่อ ส่วนกระทงโฟมจะถูกฝังกลบนั่นเอง

“ปีนี้คาดว่าคนจะออกมาลอยกระทงเยอะ ไม่มีสถานการณ์โควิดแล้ว การเดินทางท่องเที่ยวกลับคืนมา แต่อย่างที่บอกลอยแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ดี หรือแค่ตั้งจิตอธิษฐานก็ได้” ชัชชาติแนะทางเลือกไม่เพิ่มขยะในแม่น้ำลำคลอง
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของมาตรการกรุงเทพมหานครในปีนี้ที่มีต่อเทศกาลสำคัญของคนไทย เพื่อให้ลอยกระทงอย่างปลอดภัย ไม่เป็นภาระของพระแม่คงคาที่ควรได้รับการขอขมาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ศศวัชร์ คมนียวนิช