‘ศรีเทพ’ เมืองมรดกโลก ในหลากหลายมิติ

‘ศรีเทพ’ เมืองมรดกโลก ในหลากหลายมิติ

‘ศรีเทพ’ เมืองมรดกโลก ในหลากหลายมิติ

นับแต่ “เมืองโบราณศรีเทพ” ได้รับรองเป็นมรดกโลก (World Heritage) ทางวัฒนธรรม จากองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2566

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

เรื่องของเมืองโบราณ “ศรีเทพ” ก็มีการเผยแพร่ออกไปมากมาย นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ก็จัดเต็ม จัดหนัก ด้วยเนื้อหา “ศรีเทพ มรดกโลก” ทั้งเล่ม ด้วย 7 บทความ จากนักวิชาการ, นักเขียน 7 ท่าน ได้แก่

รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, กฤช เหลือลมัย นักเขียนเรื่องวัฒนธรรมอาหาร, รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี นักวิชาการประวัติศาสตร์, ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ กรรมการในคณะกรรมการติดตามคืนโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย และคณะอนุกรรมการด้านวิชาการเพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย และ ศิวพงศ์ สีเสียดงาม ผู้ทำวิทยานิพนธ์ศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรที่เมืองศรีเทพ

ADVERTISMENT

เห็นความชำนาญของแต่ละท่าน ศรีเทพที่จะนำเสนอต่อไปนี้จึงครบถ้วน และครบรสอย่างยิ่ง

มหาสถูปเขาคลังนอก สถูปขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพทางด้านทิศเหนือ (ภาพจาก Facebook เพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)

เริ่มจากภาพเบื้องหลัง ก่อนที่จะได้เป็น “มรดกโลก” ของเมืองโบราณศรีเทพนั้น กรมศิลปากรดำเนินงานทางโบราณคดีและวิชาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2531 เพื่อค้นหาหลักฐานและข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งเมืองศรีเทพเคยมีความสำคัญในระดับภูมิภาคและรอยอารยธรรมยิ่งใหญ่เอาไว้มากมาย

ADVERTISMENT

เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ สองฝั่งแม่น้ำป่าสัก มีร่องรอยการตั้งชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ราว 3,000 ปีลงมา โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำป่าสักตอนกลางแถบอำเภอศรีเทพ อำเภอชัยบาดาล อำเภอพัฒนานิคม และอำเภอวังม่วง ที่พบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายสิบแหล่ง

เทวรูปพระสุริยะเทพซึ่งพบจากเมืองศรีเทพ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พัฒนาการของเมืองโบราณศรีเทพ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะร่วมสมัยทวารวดีและเขมรก่อนเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 12-15) ภายในอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย เมืองศรีเทพอาจเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง หรือศาสนาในระยะใดระยะหนึ่ง 2.ระยะร่วมสมัยเขมรสมัยเมืองพระนครตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ 16-18) ศิลปะทวารวดีและวัฒนธรรมของพุทธศาสนาเถรวาทเสื่อมลง ถูกแทนที่ด้วยศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนครตอนปลาย (ศิลปะบาปวน-นครวัด-บายน) 3.ระยะหลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 ไปแล้ว เมืองศรีเทพกลายเป็นเมืองร้างที่พระธุดงค์เรียกว่า “เมืองอภัยสาลี”

แผ่นทองดุนรูปพระวิษณุ จากพิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน (ภาพจาก https://www.nortonsimon.org/art/detail/F.1972.19.2.S)

ส่วนการศึกษาเรื่องเมืองศรีเทพเริ่มต้นโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เมื่อ พ.ศ.2447 พระองค์เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ตั้งพระทัยจะค้นหาเมืองโบราณ ด้วยเหตุที่ว่าพื้นที่เมืองเพชรบูรณ์อยู่ระหว่างเมืองสุโขทัย ลพบุรี และพิมาย ควรที่จะมีปราสาทบ้าง หากสิ่งที่พระองค์ทรงพบเมื่อเสด็จถึงเมืองศรีเทพคือ “ศิลาจารึก”

ศิลาจารึกที่พบในเมืองศรีเทพ มีหลายหลักด้วยกัน จารึกเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เมืองศรีเทพในวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 11-14 เป็นเมืองสำคัญในลุ่มน้ำป่าสัก ที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีการติดต่อกับดินแดนใกล้เคียงและประเทศจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เมืองศรีเทพจะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรโบราณในราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 ต่อไป ส่วนเนื้อความในจารึกบันทึกเรื่องใดต้องติดตาม

จนวันนี้การศึกษาเกี่ยวกับเมืองศรีเทพก็ขยายไปในมิติที่หลากหลายขึ้น

มีการพิจารณาและตั้งข้อสงสัยว่า เมืองศรีเทพที่ตั้งอยู่ลึกเข้ามาตอนในของแผ่นดิน สามารถระดมแรงงาน และทรัพยากรจากที่ใดมาก่อสร้าง และโบราณสถานเขาคลังใน เขาคลังนอก และปรางค์ศรีเทพ ตลอดจนรูปศิลปกรรมของโบราณวัตถุหลากรูปแบบหลายสมัย ได้อย่างไร เพียงการค้าของป่าไม้น่าจะเพียงพอ ปัจจัยสำคัญหลักที่สันนิษฐานว่าเป็นเงื่อนไขในการสร้างเมืองโบราณนี้คือ “การค้าทองแดง” ส่วนแหล่งแร่ทองแดงในยุคนั้นอยู่ที่ใด เรื่องนี้ต้องติดตาม

มาดูเรื่องเล็กที่อาจไม่เล็กจริง นั่นคือ “สำรับกับข้าว” ของเมืองศรีเทพ

ข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารของชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานรอบๆ เมืองโบราณศรีเทพ ที่สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน มี “กำจัด” เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญ กำจัดที่ให้รสเผ็ดซ่าชาลิ้น และกลิ่นฉุน

กำจัด มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น มะข่วง, พริกพราน เป็นวัตถุดิบอาหารสำคัญ ใช้เป็นเครื่องปรุงแพร่หลายทั่วไปในเขตจังหวัดลพบุรี เพชรบูรณ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่างขึ้นไป และแน่นอนว่าเมืองโบราณศรีเทพด้วย แล้วกำจัดใช้ทำอาหารอะไรบ้างก็ต้องติดตาม

และประเด็นที่ท้าทายยิ่งก็คือ “โบราณวัตถุเมืองศรีเทพ” ในต่างแดน

เป็นที่ทราบกันดีว่า มีการลักลอบขุดโบราณวัตถุจากเมืองโบราณต่างๆ และจำหน่ายแก่นักสะสม โบราณวัตถุศรีเทพในไทยก็เช่นกัน หลายชิ้นอยู่ในการครอบครองของนักสะสมเอกชน และองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา มีพิพิธภัณฑ์ถึง 4 แห่ง ที่สะสมโบราณวัตถุของเมืองโบราณศรีเทพ โดยพิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน เมืองพาซาดีนา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่ามีโบราณวัตถุจากศรีเทพมากที่สุด

ส่วนในประเทศวัตถุโบราณศรีเทพอยู่ในการครอบครองของเอกชนทั้งที่เป็นเอกชน และองค์กร หลายชิ้นกำลังอยู่ในระหว่างการติดตามคืนของคณะกรรมการติดตามคืนโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศอย่างเป็นทางการ โบราณวัตถุที่ว่าเป็นอะไร, อยู่ในการครอบครองใคร เรื่องนี้ก็ต้องติดตาม

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2566

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือบางส่วนของ ศรีเทพ-เมืองมรดกโลก ที่สรุปมาเพื่อเชิญชวนท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามเนื้อหาทั้งหมด และบทความความอื่นๆ จากนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคมนี้ ที่มีบริการพรีออเดอร์ส่งตรงถึงบ้านท่าน (คลิกที่นี่ https://bit.ly/srithep_silapawatthanatham) ที่อ่านแล้วโบราณวัตถุ และโบราณสถานเมืองศรีเทพจะไม่ใช่แค่ อิฐ หิน ดิน ทราย อีกต่อไป

วิภา จิรภาไพศาล
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image