ฟื้นชีวิต ‘คลองขนมจีน’ เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ ตามหาปลากระทิงที่หายไป

ฟื้นชีวิต ‘คลองขนมจีน’
เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ
ตามหาปลากระทิงที่หายไป

สองฝั่งคลองที่เคยครึกครื้นเต็มไปด้วยการค้าขาย โดยมีเมนู ‘ขนมจีน’ อร่อยเด็ดติดปาก มีชื่อเสียงติดหู เป็นที่คุ้นเคยของคนล่องเรือสัญจรผ่านไปมา จนพื้นที่บริเวณนี้ถูกเรียกขานนามว่า ‘คลองขนมจีน’ แห่งอำเภอเสนา พระนครศรีอยุธยา

ครั้นการพัฒนาขยับมาใกล้พื้นที่มากขึ้น วีถีชีวิตคนริมคลองเริ่มเลือนหาย ซ้ำยังถูกยึดครองด้วยพืชเจ้าปัญหา ‘ผักตบชวา’ ลอยแพแน่นเต็มพื้นที่ จนเรือไม่สามารถสัญจรได้อีกต่อไป สัตว์น้ำว่ายหนีตายหายจากถิ่น

ปัญหาเหล่านี้สะสมนานหลายปี ทำให้เด็กรุ่นหลังที่เติบโตมาไม่ทันวิถีริมน้ำ มองคลองที่เคยเป็นหน้าบ้านทางสัญจร กลายเป็นบ่อน้ำเน่าหลังบ้านขนาดใหญ่ ไม่มีประโยชน์ด้านการใช้งาน จวบจน เนสท์เล่ เพียวไลฟ์ เล็งเห็นความสำคัญ จับมือกับชาวบ้าน ช่วยสร้างการเรียนรู้และฟื้นฟูคุณภาพน้ำ เพื่อคืนวิถีคนริมน้ำให้หวนกลับมาอีกครั้ง

Advertisement

⦁ฟื้นฟูดูแลแหล่งน้ำ คืนวิถีดั้งเดิม ‘คลองขนมจีน’

เนสท์เล่ เพียวไลฟ์ โดยหน่วยธุรกิจน้ำดื่มเนสท์เล่ ประเทศไทย สานต่อ 8 ปีแห่งการเป็นผู้นำด้านการฟื้นฟูดูแลน้ำในประเทศไทย เดินหน้าเปิดโครงการด้านความยั่งยืน เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ (Nestle´ Waters cares for Water) ภายใต้แนวทางหลัก 3 ด้านอย่างครบวงจรเป็นรายแรก ได้แก่ เรียนรู้ ปกป้อง และฟื้นฟู เพื่อส่งต่อแหล่งน้ำให้กับคนรุ่นต่อไปได้มีน้ำสะอาดไว้ใช้ในอนาคต พร้อมขับเคลื่อนคำมั่นสัญญาของหน่วยธุรกิจน้ำดื่มเนสท์เล่ ในการชดเชยน้ำทั้งหมดคืนสู่ชุมชนและธรรมชาติ หรือ ‘Net Water Positive’ ภายในปี 2025 โดยทดแทนน้ำที่เราใช้ทั้งหมดมากถึง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ในการผลิตที่โรงงานเนสท์เล่ วอเตอร์ส ที่พระนครศรีอยุธยาและสุราษฎร์ธานี

โดยคำนึงถึง ‘น้ำ’ เป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีคุณค่าที่เราใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีความสำคัญในการดำรงชีวิต เนสท์เล่ บริษัทอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลก จึงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาโดยตลอด โดยเน้นการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นสู่เส้นทางแห่ง ‘การดูแลและฟื้นฟู’ หรือ Regeneration เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

Advertisement

นาริฐา วิบูลยเสข ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจน้ำดื่ม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) เปิดเผยว่า เนสท์เล่ เพียวไลฟ์ ในฐานะแบรนด์น้ำดื่มชั้นนำระดับโลก มุ่งดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทยอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม เริ่มจากบริเวณโดยรอบโรงงานที่พระนครศรีอยุธยา ดำเนิน ‘โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ’ ตั้งแต่ปี 2558 มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรน้ำในคลองขนมจีนให้กับนักเรียนและชุมชน

“โครงการที่อยุธยาเราประสบความสำเร็จ ในการชดเชยน้ำกลับคืนสู่ชุมชนและธรรมชาติ 100% ยิ่งไปกว่านั้น เราได้คืนวิถีชีวิตดั้งเดิมให้กับชาวบ้าน พัฒนาคลองขนมจีนให้ใสสะอาด มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ มีปลาและผักหลายชนิด นอกจากนี้ชาวบ้านยังสามารถสร้างรายได้จากการเก็บขยะแทนการทิ้งลงแหล่งน้ำอีกด้วย

ช่วงที่ผ่านมาชาวบ้านประสบปัญหาตลอดลำน้ำ ไม่มีการใช้งาน เขาแขวนเรือ เขายกเรือขึ้นไว้บนบ้าน เขาสัญจรไม่ได้ ตอนนี้เรือมีกันน้อยมาก เด็กไม่รู้ว่าคลองมีไว้สำหรับให้เรือแล่นขนาดนั้น พอเราเข้ามาช่วยฟื้นฟูให้มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ครบถ้วน โดยมีความร่วมมือกันกับคนในชุมชน เมื่อเขาเคยอยู่กับน้ำที่เคยสะอาด เขาให้ความร่วมมือและมีความตื่นตัวมาก เห็นได้ชัดจากปลาบางชนิด เขาไม่เคยเห็นในลำน้ำมานานเริ่มกลับมา เช่น ปลากระทิง ปลาแดง ปลาหมู ปลากราย ปลาหลดนา ปลารากกล้วย

ผ่านมา 8 ปีแล้วเป้าหมายของเราชัดเจนขึ้น เพราะถ้าเห็นตั้งแต่แรก น้ำส่งกลิ่นเหม็น แล้วไม่มีใครใช้ ไม่มอง ไม่ดู ไม่มีคนสัญจร กลายเป็นที่ทิ้งขยะอย่างเดียว จนมาวันนี้ถือว่าเป็นอะไรที่สำเร็จมาก ที่สามารถทำให้ชุมชนได้ใช้น้ำอีกครั้ง และได้ทำเป็นแหล่งหากินอีกครั้ง พร้อมผลักดันให้เอาผักตบชวามาสานเป็นกระเป๋าสร้างรายได้อีกด้วย ถ้าทำทุกอย่างให้กลับมาได้ ชาวบ้านจะมีชีวิตที่ดีขึ้นมาก เด็กก็สามารถพายเรือข้ามไปโรงเรียนได้” นาริฐาเล่าความมุ่งมั่น

ด้านดาราดังอย่าง เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข แบรนด์พรีเซ็นเตอร์น้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ ได้นำทีมผู้โชคดีกว่า 30 คน ร่วมทำกิจกรรมพิเศษ เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ คืนสู่ธรรมชาติในชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

“ผมดีใจมากที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมได้มาร่วมอนุรักษ์สายน้ำ ได้มาลงมือทำกับชาวชุมชนจริงๆ ทั้งการเก็บผักตบชวาที่เป็นวัชพืชที่มากับสายน้ำและไม่มีวันหมด นำมาทำเป็นไม้อัดเพื่อทำเฟอร์นิเจอร์มอบให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เสริม และพอเราเก็บผักตบชวาออก ก็ยังช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในน้ำให้กับสัตว์น้ำ และร่วมปล่อยพันธุ์ปลาหายากเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ

ทุกอย่างที่เราทำล้วนเป็นการต่อยอดในเรื่องการคืนสิ่งดีๆ หรือ Regeneration ให้กับชุมชน ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เพราะน้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เราจึงจำเป็นต้องรู้ถึงวิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อส่งต่อทรัพยากรน้ำไว้ให้คนรุ่นหลัง” เจมส์ จิรายุกล่าว

⦁‘ปลากระทิง’ ในความทรงจำ
ความอิ่มหนำวันวานที่เริ่มกลับมา

สุชาติ พันธุ์เพ็ง ตัวแทนชุมชนคลองขนมจีน เล่าว่า เมื่อก่อนคลองขนมจีนเคยประสบปัญหาน้ำในคลองไม่สะอาด รวมทั้งขยะและวัชพืชที่อยู่ในคลองสะสมมาเรื่อยๆ ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนที่ชาวบ้านไม่ได้สนใจดูแลแหล่งน้ำ พอเนสท์เล่ได้เข้ามาทำโครงการต่างๆ ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับชุมชน นักเรียนและชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจ และได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์คลองขนมจีน และจัดการทรัพยากรน้ำด้วยตัวเอง ทำให้คลองเริ่มกลับมาใสสะอาดและอุดมสมบูรณ์ มีปลาในแหล่งน้ำ และสามารถพายเรือสัญจรในคลองตามวิถีชีวิตแบบเดิมได้

“ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมตั้งแต่โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ น้ำรักษ์น้ำ ตั้งแต่ต้นโครงการ 8 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงและการเข้ามาของโครงการสำคัญมากต่อเยาวชน เป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง ส่งผลให้เด็กที่ลงลำคลอง ไปสำรวจคุณภาพน้ำ ไปทำสิ่งที่ดีในลำคลอง สร้างสำนึกรักบ้านเกิดอีกด้วย

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาชุมชนมีรายได้จากการขายขยะกว่า 70,000 บาท จากการแยกขยะอย่างถูกกระบวนการ อย่างตัวขวด ฝาขวด แยกออกมาขาย มันกลายมามีมูลค่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากโครงการ แล้วก็เป็นการลดขยะที่จะทิ้งลงไปในแม่น้ำลำคลอง

เราเห็นความต่อเนื่องของโครงการ เป็นสิ่งที่ก่อเกิดให้เรามีกำลังใจ เพราะชุมชนเราทำอยู่บนพื้นที่รักษ์ดิน รักษ์น้ำอย่างมีศักดิ์ศรีได้ เพราะการปกป้อง เรียนรู้ ฟื้นฟู จนปีนี้สามารถจัดงานล่องเรือวันลอยกระทงแบบอนุรักษ์ได้ เพราะก่อนหน้าคลองแน่นไปด้วยผักตบชวา มันเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันไปในทุกมิติชุมชน น้ำดี ดินดี เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ชีวิตในลำคลองมากมายกลับมา มีปลาหายากกลับมา เช่น ปลากระทิง มันหายไป

ตอนเด็กผมจับปลากระทิงได้ด้วยมือเพราะมีเยอะมาก ตอนนี้เราจึงรู้ว่าดิน น้ำ สำคัญต่อเรามาก เงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นของมายา ข้าวปลาอาหารจากทุ่งนาและลำคลองเป็นของจริง” สุชาติทิ้งท้าย

⦁‘ขยะเป็นทอง’ ผักตบในคลองก็ (แปรรูป) ขายได้

ขณะที่ เบญจวรรณ อื้อฉาว อีกตัวแทนชุมชนคลองขนมจีน ย้อนเล่าว่า สมัยก่อนชุมชนเราอยู่ชายคลอง ทำขนมจีนขาย พอทำไปหลายหมู่บ้านจนคนเขาเรียกติดปากกันว่า ‘คลองขนมจีน’ ต่อมาปัญหาผักตบชวาแน่นคลอง น้ำเน่าปลาตาย คนก็ทิ้งขยะลงไป ทำให้คลองเน่าเสีย

จนเมื่อ 8 ปีที่แล้วเนสท์เล่เริ่มเข้ามาทำกิจกรรม เก็บขยะจากลำคลอง โดยเอาเยาวชนและคนในชุมชนมาร่วมมือกัน รวมถึงยังมีการปลูกต้นไม้ที่หายไป เช่น ต้นโสน มะดัน มะกอก สายบัว เตย เป็นต้น พอได้ทำกิจกรรมมันเป็นการปลูกฝังคนในชุมชนให้รักษ์สายน้ำ เริ่มรักคลองขนมจีนและช่วยกันดูแล

“จากเดิมที่ชาวบ้านเจอปัญหา เรือไม่สามารถสัญจรในคลองได้ ผักตบชวามันขวาง ตอนนี้น้ำคลองขนมจีนสวยใสขึ้น คนก็สามารถเอาน้ำไปใช้ด้านการเกษตร ทำนา ปลูกผักสวนครัว ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น แล้วยังมีคนเอาเรือมาพายเก็บผักบุ้ง เตย สายบัว จับกุ้ง ซึ่งอันนี้เป็นความมั่นคงด้านอาหาร จากนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะตามมา เห็นได้จากสัตว์ที่เคยอยู่แถวนี้ เช่น แมลงปอ ผีเสื้อ แมลงทับ นกและปลาที่หายไปมันก็เริ่มกลับมา พร้อมกับการผลักดันอนุรักษ์ปลา” เบญจวรรณกล่าว

นอกจากนี้ ยังขยายไปถึงเรื่องความรู้เรื่องขยะรีไซเคิล สอนเรื่องการคัดแยกว่าอะไรขายได้ ขายไม่ได้ แทนที่ทุกคนจะทิ้งขยะลงคลอง คนก็เก็บมาขายเพื่อเสริมสร้างรายได้ ให้ ‘ขยะเป็นทอง’ นอกจากนี้ยังนำผักตบชวาที่เป็นปัญหาขึ้นมาตากให้แห้ง เอามาสานถักทอให้เป็นตะกร้า สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

“เรานึกถึงสมัยก่อนปลากระทิงเยอะมาก ถ้าอยากได้ลงน้ำล้อมก็จับได้เลย เราเห็นตั้งแต่จำความได้ว่าพ่อชอบทานอาหารที่ทำจากปลากระทิงมาก เอาปลากระทิงมาย่าง แกงปลากระทิงใส่กล้วยดิบ ใส่หน่อไม้ หรือยำปลากระทิงใส่ใบพังพวย แต่ว่าตอนหลังหายไป เจอได้น้อยมาก ทางเนสท์เล่จึงช่วยกันอนุรักษ์ปลากระทิง มีบ่ออนุบาลปลาเหล่านั้นที่หายไปโดยเฉพาะ จนตอนนี้รู้สึกว่าช่วง 3-4 ปีหลัง เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ปลาหลด ปลาบู่ ปลาค้าว กุ้งก้ามกราม เริ่มกลับคืนมา” ตัวแทนชาวบ้านคลองขนมจีนเผย ก่อนทิ้งท้ายว่า

ขอฝากถึงทุกคนให้ช่วยกันอนุรักษ์น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งดำรงชีพ หากระบบนิเวศของเราดีขึ้น ทุกอย่างก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image