สืบจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่

หมายเหตุ: สรุปย่อจากงานศึกษาค้นคว้าของ สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช จันทบุรี อ่านฉบับเต็มในคอลัมน์ “สืบจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่จันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 เว็บไซต์มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th

 

อินโดนีเซีย, ไทย, ไต้หวัน มีภาษาดึกดำบรรพ์ร่วมกัน

เพราะเคยอยู่บน “แผ่นดินซุนดา” ผืนเดียวกัน ก่อนน้ำแข็งละลายท่วมโลกจนต้องแยกจากกันเป็นหมู่เกาะและแผ่นดินใหญ่

Advertisement

ภาษาอินโดนีเซีย เป็นภาษากลุ่มเดียวกับภาษามาลายู และภาษายาวีในภาคใต้ของไทย

ภาษากลุ่มนี้ถูกจัดให้เป็นพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน และถูกตีความว่าเป็นภาษาชั้นลูกหลานที่สืบสาแหรกมาจากพวกฟอร์โมซ่าบนเกาะไต้หวัน ซึ่งถือกันว่าเป็นต้นตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน

คำเดิม ในภาษาอินโดนีเซียมักจะเป็นคำยาว ส่วนใหญ่จะมีสองพยางค์ขึ้นไป ซึ่งตรงข้ามกับคำเดิมในภาษาไท-ไต รวมถึงไทย ที่มักเป็นคำสั้นคำเดี่ยว หรือคำควบกล้ำ

Advertisement

คำหยิบยืม ในภาษาอินโดนีเซียรักษาเค้าโครงเดิมไว้ได้แม้เวลาจะผ่านไปยาวนาน ในขณะที่คนพูดภาษาไท-ไต โดยเฉพาะพวกไทยมักควบรวมคำยาวให้เป็นคำสั้นในเวลาไม่นานนัก

แต่ถึงจะมีความแตกต่างในรูปแบบของการใช้ภาษา ก็ไม่ใช่อุปสรรคมากมาย เพราะฝ่ายหนึ่งไม่ค่อยเคลื่อนไหวเมื่อเทียบกับอีกฝ่าย เมื่อทำความเข้าใจก็สามารถค้นหาคำที่คาดว่าเป็นคำดั้งเดิมโดยใช้ภาษาอินโดนีเซียเป็นพื้นฐาน เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับคำไท-ไต โดยเทียบเคียงกับคำไทยเป็นหลัก

ในจำนวนนี้มีหลายคำตรงกันกับคำศัพท์มาตรฐานภาษาออสโตรนีเซียน ซึ่งรวมภาษาไท-กะไดไว้ด้วย แต่มีคำอีกหลายสิบคำที่ไม่ปรากฏในคำศัพท์มาตรฐานฯ และถูกตีความว่าเป็นคำร่วมรากเดียวกัน แสดงการพ้องเสียงและพ้องความหมายอย่างค่อนข้างชัดเจนจนไม่อาจตัดทิ้งไปเฉยๆ ได้

pra01180259p1 (1)

คำพิเศษ

คำพิเศษที่แสดงความเป็นมาของไท-ไตอย่างสำคัญมากคำหนึ่ง คือคำว่า ผู้ ซึ่งตรงกับภาษาอินโดนีเซียว่า empu ampu pu- และ bu- เป็นคำเก่าแก่ร่วมรากมาแต่ดั้งเดิม รวมถึงคำว่า ภู พุ ปุ ผุด ปุด แปลว่า “มีบางสิ่งผุดโผล่ขึ้นมา”

เป็นคำเริ่มต้นในการไขความหมายของคำพิเศษอื่นๆ อีกหลายคำ เช่น คำเรียกอาหารมื้อหลักพื้นฐานของพวกไท-ไตตั้งแต่สมัยโบราณคือคำว่า ปลา มีลำดับพัฒนา มาจากคำว่า pulau ของอินโดนีเซีย เกิดจาก pu + laut แปลว่า บางสิ่งผุดโผล่ขึ้นกลางน้ำกลางทะเล หรือเกาะ

ถึงในระดับรูปธรรมจะแปลความหมายแตกต่างกันว่า เกาะ และ ปลา แต่ในระดับนามธรรมคือสิ่งเดียวกัน เป็นคำที่บ่งชี้ถึงต้นกำเนิดจากหมู่เกาะและท้องทะเลอย่างมีนัยสำคัญ

เบลือน-เดือน

เบลือน และ เดือน คำพื้นฐานใช้เรียกดวงจันทร์ เป็นธรรมชาติแวดล้อมใกล้ชิดที่คนสมัยโบราณต้องพึ่งพิงเสมอๆ นอกเหนือไปจากดวงอาทิตย์

เป็นคำเดียวกับคำว่า bulan มาจาก bu + jalan แปลว่า บางสิ่งผุดโผล่ขึ้นกลางทะเลแห่งความมืดและเคลื่อนตัวไปบนเส้นทางที่แน่นอน

 

รัง-เรือน

รัง เป็นคำสำคัญในเรื่องพัฒนาการที่อยู่อาศัยของชาวอุษาคเนย์ดั้งเดิมพวกหนึ่ง

คำนี้พัฒนามาจากคำว่า burung เกิดจาก bu + rung แปลว่า บางสิ่งผุดโผล่หัวออกมาจากรวงรัง หรือหมายถึงนก

เป็นคำบ่งชี้ถึงต้นกำเนิดการสร้างที่อยู่อาศัยของผู้คนจากเรื่องนก และการสร้างรังของนก ลงมาเป็นรังของคน ขยายเป็น ruang และ รวง ต่อมาจนถึง ร้าน โรง และ เรือน

pra01180259p2

อ้าย-ยี่

อ้าย และ ยี่ ตรงกับคำอินโดนีเซียว่า ayah และ nyi แปลว่า ผู้ชายและผู้หญิง ที่คาดว่าค่อยๆ พัฒนาไปเป็นการนับในแบบไทย

มนุษย์ดึกดำบรรพ์ในอุษาคเนย์ที่เคยมีชีวิตอยู่ และเป็นเครือญาติชาติพันธุ์ทั่วทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ ตั้งแต่จีน, ไทย, อินโดนีเซีย (เกาะชวา)

คำว่า ยี่ ไม่จำเป็นว่าต้องหยิบยืมมาจากภาษาจีนเสมอไป

บ่าว-สาว

บ่าว และ bawa หรือ bawah ที่มาจาก bahu + wa(h) โดย bahu คือคำเดียวกับ บ่า และ wa(h) แปลว่าการแผ่กว้างออกไป รวมเป็นนามธรรมว่าบางสิ่งแผ่ปกคลุมอยู่บนอีกสิ่ง

หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่าการพาไป พกติดตัวไป การแบกรับภาระ หรือสิ่งที่อยู่ข้างใต้

คำว่า สาว และ sawah ซึ่งมาจากคำว่า sa + wah โดย sa แปลชัดเจนว่าตัวข้า หรือเป็นหนึ่ง เมื่อรวมความหมายแล้วได้ว่าตัวข้าแผ่ออกไป ซึ่งทางอินโดนีเซียหมายถึงผืนดินแผ่ราบหรือนาข้าว

คำสองคำนี้ถูกใช้และพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมเจ้าบ่าว-เจ้าสาวในย่านอุษาคเนย์เกือบทั้งหมด

แรก-แฮก

ในคำว่า แรก และ แฮก กับวัฒนธรรมเก่าแก่ปักกกแฮก ตรงกับคำว่า sarak แปลตรงๆ ว่าการแหกแยกบางสิ่งออกจากกัน มักใช้กับการหย่าร้างแยกทางกัน

แต่ความหมายนามธรรมเหมือนกับคำว่า แทรก หรือ ชำแรก และถูกนำมาตีความร่วมกับพิธีกรรมแรกนา ที่ว่าคือการทำนาจำลองในครั้งแรกก่อนลงมือปลูกจริง

ภาษาอินโดนีเซียและไทย

ทั้งหมดนี้แสดงว่าภาษาดั้งเดิมของคนทั้งสองพวก (อินโดนีเซียกับไทย) มีความข้องเกี่ยวทางเชื้อสายต่อกันอย่างค่อนข้างลึกซึ้ง และยังขยายขอบเขตไปยังเรื่องวัฒนธรรมประเพณีของผู้คนในภายหลังต่อๆ มา

การสืบค้นให้ได้ใจความในชั้นที่ลึกถึงก้นบึ้งนั้น จำเป็นต้องขยายกรอบคิดเดิมที่จำกัดเฉพาะภาษาอินโดนีเซียและไท-ไตออกไป ให้ครอบคลุมทั้งตระกูลไท-กะได และกลุ่มภาษาฟอร์โมซ่าบนเกาะไต้หวัน เกิดสภาพภาษาสามเส้าหรือสามขาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสอบทานซึ่งกันและกัน

จะพบร่องรอยสำคัญบางอย่างว่าภาษาดั้งเดิมของอินโดนีเซีย ซึ่งถือกันว่าเป็นชั้นลูกหลานของออสโตรนีเซียนนั้น เป็นภาษาที่มีความเสถียรมากทั้งในแง่ของรูปคำและความหมายขั้นพื้นฐาน เมื่อเทียบกับพวกไท-กะได และแม้แต่พวกฟอร์โมซ่า ทั้งยังเป็นความเสถียรที่มีความเก่าแก่มากกว่าสองพวกนั้น เช่น

คำที่ใช้เรียก ไก่ ของอินโดนีเซียเหมือนกับคำเรียก นก ของฟอร์โมซ่าคือ ayam หรือ *qayam โดยนักวิชาการกำหนดให้ฟอร์โมซ่าเป็นต้นกำเนิด แล้วความหมายเคลื่อนมาเป็นสัตว์เลี้ยงในภายหลัง

ส่วนความหมายของทางอินโดนีเซียกลับสื่อถึงการเหยียบย่ำเป็นรายทาง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสัตว์ปีกขี้เกียจบินชนิดนี้ แม้แต่พวกไท-กะไดก็ยังใช้ในความหมายนี้จนถึงปัจจุบันในคำว่า ย่ำ หรือรอยตีน

เคยอยู่ร่วมกันมาก่อน

ภาษาดั้งเดิมของทั้งสามพวกนั้นคาดว่าเคยอาศัยอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินจมหายสาบสูญแห่งซุนดาโบราณ ก่อนค่อยๆ ทยอยแยกย้ายกระจัดกระจายไปตามเส้นทางจากใต้ขึ้นเหนือในช่วงปลายยุคน้ำแข็งหรือยุคน้ำทะเลกำลังหนุนท่วมโลกอย่างช้าๆ

โดยภาษาอินโดนีเซียทำหน้าที่รักษาและเชื่อมโยงคำดั้งเดิมระหว่างภาษาทั้งสามพวกเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ สวนทางกับความเชื่อของนักวิชาการกระแสหลักอย่างสิ้นเชิง

คำว่า ไท-ไต ที่สืบค้นบนเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างไท-กะไดและออสโตรนีเซียน มีความหมายลึกไปกว่าผู้คนที่มีสถานภาพทางสังคมและอยู่เป็นหลักแหล่ง

เป็นคำที่คาดว่าหดสั้นจากคำอินโดนีเซียว่า lantai และ landai ซึ่งแปลว่าพื้นข้างใต้ ชั้นข้างล่าง พื้นราบ ลานกว้าง หรือในอีกความหมายว่า “ผู้เคลื่อนย้ายมาจากวิถีชาวลุ่มแห่งอุษาคเนย์”

มนุษย์ดึกดำบรรพ์ในอุษาคเนย์ที่เคยมีชีวิตอยู่ และเป็นเครือญาติชาติพันธุ์ทั่วทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ ตั้งแต่จีน, ไทย, อินโดนีเซีย (เกาะชวา) ภาพสันนิษฐานรูปร่างมนุษย์ยุคแรก เมื่อ 500,000 ปีมาแล้ว
มนุษย์ดึกดำบรรพ์ในอุษาคเนย์ที่เคยมีชีวิตอยู่ และเป็นเครือญาติชาติพันธุ์ทั่วทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ ตั้งแต่จีน, ไทย, อินโดนีเซีย (เกาะชวา) ภาพสันนิษฐานรูปร่างมนุษย์ยุคแรก เมื่อ 500,000 ปีมาแล้ว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image