สถานปลดทุกข์ ‘ชีวิตที่เปราะบาง’ ปัญหาทางใจไม่ใช่แค่เงิน-งาน เมื่อ ‘บ้าน’ ไม่ได้สวยงามเสมอไป

สถานปลดทุกข์ ‘ชีวิตที่เปราะบาง’
ปัญหาทางใจไม่ใช่แค่เงิน-งาน
เมื่อ ‘บ้าน’ ไม่ได้สวยงามเสมอไป

ปัจจุบันเปลี่ยนไปไม่เหมือนเก่า ‘ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า’ ที่เคยเป็นมุมอับ คนไร้บ้านจำนวนมากใช้เป็นที่หลับนอน ให้ผ่านพ้นไปในแต่ละคืน

กลิ่นฉุนที่คุ้นจมูก กลายเป็นหอมสดชื่นจากสบู่ที่ได้ถูอาบ หอมน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ติดมากับเสื้อผ้าซักใหม่ หอมน้ำยาทำความสะอาดจากห้องน้ำ ‘สดชื่นสถาน’ หากกระหายได้ก็ดับได้ด้วยตู้น้ำ หลังจากที่มูลนิธิกระจกเงา และ กทม.เอาจริงเรื่องคนไร้บ้าน แก้ปัญหากลุ่มเปราะบาง หลายชีวิตก็เปลี่ยนไป

5-20 บาท คือจำนวนเงินที่ ‘คนไร้บ้าน’ ต้องเสียให้กับการปลดทุกข์หรือชำระร่างกายในแต่ละครั้ง เพราะ ‘ราชดำเนิน’ ไม่มีห้องน้ำให้เดินไปเข้าได้ฟรี ครั้นไปพึ่งวัดก็เคยถูกปิดประตูใส่

Advertisement

“ปล่อยราดไปเลยก็มี”

“ใครไม่เจอไม่มีทางรู้หรอก ชีวิตที่ต้องคอยแอบ แอบแม้กระทั่งเข้าห้องน้ำ”

“ผมอยากเอาเงินไปซื้อข้าว ไม่ใช่เก็บไว้เข้าห้องน้ำจนไม่เหลือให้ซื้อข้าวกิน”

Advertisement

“ขอบคุณที่มีพื้นที่ให้ผมปลดทุกข์”

เสียงส่วนหนึ่งในนิทรรศการ หลังจุดแจกอาหารของสำนักงานเขตพระนคร สะท้อนเรื่องราวชวนทำความเข้าใจอีกหนึ่งพาร์ตของมนุษย์ เป็นพื้นที่ให้เขียนให้กำลังใจคนไร้บ้าน ปัจจุบัน ‘โกดังเก็บของ’ ถูกทรานส์ฟอร์มสู่ ‘สดชื่นสถาน’ (มูลนิธิกระจกเงา) โครงการที่ได้รับความร่วมมือจากนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร มาช่วยออกแบบแลนด์สเคปภายใต้ธีม ‘โอบอุ่น โอบกอด โอบเอื้อ’ กลุ่มวีพาร์ค และ กทม.ร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้ใต้สะพานโอเพ่นและสดชื่นมากขึ้น ระยะกลางจะกลายเป็น Art Space และในอนาคตอันใกล้เตรียมพัฒนาเป็น ‘สวน 15 นาที’ ให้คนทั่วไปใช้สอย และเป็นพื้นที่สร้างกิจกรรมให้คนไร้บ้านไปในตัว

หากแวะเวียนไปแถวนั้น จะเจอกับ สำราญ คุณอนันต์ ประจำการอยู่ที่สุขาสดชื่นหญิง ได้ 3 เดือนกว่า เป็นสตรีวัย 62 ปี ที่ได้รับโอกาสในโครงการ ‘จ้างวานข้า’ ดูแลห้องน้ำให้คนไร้บ้าน คนทั่วไปและนักท่องเที่ยวด้วยความตั้งใจ คลีนถึงขนาดได้รับคำชมอยู่เสมอว่า “ห้องน้ำหอมมาก” ในขณะที่ เอ็ม หนุ่มขาจรในวัย 22 ปี คือหนึ่งในผู้ใช้บริการปลดทุกข์ในห้องน้ำแห่งนี้

สองเรื่องราวทั้ง ‘หมดหวัง’ และ ‘ยังสู้’ รวมอยู่ในจุดเดียวกัน ใต้สะพานย่านถนนพระอาทิตย์ ใจกลางพระนคร

⦁เป็นมาอย่างไร ถึงได้มาทำงานตรงจุดนี้?

ตอนแรกป้าไม่มีงานทำ ลำบากมาก ลูกก็ป่วย ไม่มีเงิน ไปของานใครทำก็ไม่ได้เลย พอดีมีน้องที่กวาดถนนเขาสงสาร เลยบอกว่าลองมาสมัครที่นี่สิ ทุกวันศุกร์ต้นเดือน เผื่อได้งานทำ 2 เดือนแรกที่สมัครเขาเต็มอยู่ พอเดือนต่อมาก็ได้ไปสัมภาษณ์ ไปลงสนาม ลองกวาดจุดต่างๆ ทุกวันอังคาร ตอนแรกป้าก็ไปกวาดที่ตรอกข้าวสาร ประมาณ 6 กม. แล้วก็กวาดตรงที่จะไปเสาชิงช้า ตรงแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้วย

⦁‘สดชื่นสถาน’ มีบริการอะไรบ้าง?

บริการซักผ้าวันละ 30 คิว ถ้าอยากได้เร็วก็มารับบัตรคิวตั้งแต่ 6 โมง เริ่มซัก 9 โมง มี 2 ช่วง ช่วงเช้าป้าก็จะมาให้ถึงตรงนี้ก่อนตี 5 ห้อยป้ายไว้ มารับเวลาไหนก็ได้ เป็นซักอบแห้งของ Ottori มีน้ำยาซักผ้า ปรับผ้านุ่ม ล้างห้องน้ำ ครีมอาบน้ำ สบู่ ยาสระผม เวลาหมดก็เอาของมาเติมให้ มูลนิธิดูแลดีมาก น้ำยาที่ใช้ก็อย่างดีมีคนบริจาค พอมีคนมาเข้าห้องน้ำก็จะชมว่า ‘ห๊อมหอม สะอาดมาก (ยิ้ม)’ แล้วก็มีตู้น้ำดื่มเย็นด้วย ใช้เท้ากด มีคนมาดื่มกันทั้งวัน

เขาดีนะ ให้พวกป้าวันละ 500 บาท ค่าข้าวอีก 50 เป็น 550 แต่ป้าก็ตะเกียกตะกายไปรับฟรีกิน เพื่อที่จะเอาเงินเก็บไว้ใช้จ่าย

⦁เป็นคนที่ไหน?

เป็นคนเขตภาษีเจริญ ตอนแรกเป็นพนักงานราชการ กองทัพอากาศ เกษียณอายุก็มาขายกาแฟหน้าบ้านได้ 4 เดือน ซื้อเคาน์เตอร์ซื้ออะไรมา ลงทุนประมาณ 20,000-30,000 บาท ก็คิดว่า โอ้โห! เราลงทุนขายอันนี้ไม่ต้องไปที่อื่นเลย ให้ลูกชายช่วยขายเพราะต้องเลี้ยงลูก 5-6 ขวบ แฟนเขาไปทำงาน เขาก็ไปส่งกาแฟเพราะขายดีมาก คนสั่งที 20-30 แก้ว ขาย 15 บาท แก้วใหญ่ 20 บาท ไม่เอาเปรียบลูกค้า ทีนี้ลูกชายป้าไปส่งกาแฟประมาณ 30 แก้ว ก็ถือไปแล้วถีบจักรยานใช้มือข้างเดียว ข้อเท้าข้างขวาก็ดังปึ๊ก! ถีบแล้วจังหวะมันพลาด ประมาณทุ่ม ลูกชายบอก ‘แม่มันเริ่มปวด’ เส้นตรงข้อเท้าข้างขวา เราบอกว่า งั้นลองกินยาก็ได้ ตัวนี้ดี แผงละ 20 บาท เราก็บอกแบบชาวบ้านๆ ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นเยอะไง พอกินไปประมาณ 4-5 ทุ่ม เขาตะโกนเรียก มันเริ่มปวดหนัก ขาบวมเปล่ง แล้วตัวร้อนจี๋เหมือนไฟเลย ทำไงดี ก็ไปหาหมอตอนเช้า แต่ตัวกระดุกกระดิกไม่ได้เลย ลุกขึ้นนั่งแล้วมันแปลบ ร้องลั่นเลย เราก็ไปขอวีลแชร์ที่ รพ.ศิริราช หลังจากนั้นเขาก็ขึ้นบ้านไม่ได้อีกเลย ต้องนั่งอยู่กับแยงไม้ข้างล่าง ป้าเอาแก้วกาแฟอันใหญ่ๆ ให้เขาฉี่ ตั้งกระโถนไว้ให้ถ่าย เขาก็บอกแม่ ‘หนูจะไม่กินเยอะ เดี๋ยวกินเยอะแล้วถ่าย’ สงสารมาก เขานั่งอยู่ตรงนั้นเกือบปี เปิดพัดลมให้ตอนกลางคืนแล้วก็จุดยากันยุง แต่ป้ากับลุงก็ไม่ค่อยได้นอน ต้องคอยดูเขา เพราะเดี๋ยวมันปวดซ้าย-ปวดขวา ป้ารักษาเขาจนไม่มีตังค์เลย ต้องไปหาข้าววัด

⦁ชีวิตตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ได้รับหน้าที่ให้ทำอะไรตรงจุดนี้?

ทำความสะอาด ล้างส้วม 2 ห้อง และห้องอาบน้ำ 2 เวลามีคนเข้ามา 3-4 คนก็เทียวถูบ่อยๆ เช็ดอ่างน้ำ เข้ามาจะได้สดชื่น (ยิ้ม) แบ่งกัน 2 ฝั่งชาย-หญิง ป้าอยู่ฝั่งหญิง สลับกันมารอบเช้า รอบบ่าย ทำงานตั้งแต่บ่าย 1 ถึง 3 ทุ่ม ส่วนรอบเช้าตั้งแต่ตี 5 จนถึงเที่ยง ดีใจมากที่ได้รับโอกาสจากมูลนิธิกระจกเงา พอไปสมัคร เขาบอกเดี๋ยววันอังคารลงสนามเลยนะ โห ดีใจ เพราะมีแต่ค่ารถมา เขาก็ไปเยี่ยมบ้าน เราก็เล่าประวัติชีวิตให้เขาฟัง ป้าลำบากตั้งแต่เด็ก เราเป็นเด็กสลัม

⦁มองคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่อาศัยในสลัมตอนนี้ ยังเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน?

ค่อนข้างเปลี่ยนไป ไม่ใช่ว่าคนสลัมไม่รักอนาคตตัวเอง อย่างป้า ญาติพี่น้องเป็นเด็กสลัมก็จริง แต่ก็รักการเรียน เด็กสลัมก็ไม่ได้ทอดทิ้ง อยากมีความรู้ มีงานดีๆ ทำ แม่ก็สอนประจำว่า ‘ให้เรียนนะ อย่ามาเอาอาชีพแบบพ่อแม่ ลำบาก’ หล่อพระขาย พ่อแม่เราก็สอนดี ดูแลอย่างดี ส่งให้พวกเราเรียน ไม่เกเร ตอนเด็กๆ อยู่แถววัดดงมูลเหล็ก เสื้อผ้าไม่มีหรอก มีแต่คนเขาให้มา เล่นทีก็ต้องจับเสื้อไว้ มันโคลงเคลงเพราะไม่ใช่ของเรา รองเท้าก็คู่เบ้อเริ่มเทิ่ม เนื้อตัวมอมแมม เพราะพ่อแม่เราต้องไปทำมาหากิน

⦁ตอนเป็นเด็กต้องช่วยพ่อแม่ทำงานด้วย?

ใช่ ตอนนั้นป้าอยู่กระต๊อบมุงหญ้าคา ในกรุงเทพฯ พ่อทำแคร่อันเบ้อเริ่มเทิ่ม เราก็นอนด้วยกันพี่น้อง 5 คน จะมีคนช่วยให้พวกฝารำแพน ให้สังกะสีมาปิดข้างบนแทนหญ้าคา ตอนเด็กๆ ลำบากมาก

⦁เวลาเห็นคนไร้บ้านแถวนี้แล้วรู้สึกอย่างไร?

น่าสงสารเขานะ บางคนก็ไม่อยากอยู่บ้าน อยากเป็นอิสระ ไม่อยากให้ใครมายุ่ง บางคนที่บ้านก็ห้ามกินเหล้า ใครพูดอะไรด้วยไม่ได้ เขาก็เลยไม่อยากอยู่ แต่บางคนชีวิตลำบากมากจริงๆ

⦁คนที่ใช้บริการห้องน้ำที่นี่ส่วนมากเป็นคนไร้บ้าน?

บางทีก็มาจากต่างจังหวัด เคยถามว่าทำไมมานอนมาอยู่แบบนี้ เขาบอกว่า ‘เบื่อบ้าน’ มีปัญหากับที่บ้าน ทะเลาะกับญาติ เลยพาลูกมาเร่ร่อน บางคนก็เรื่องเงิน บางคนก็ขี้เกียจทำงานมาต่อแถวเอาข้าวฟรีไปขาย 5 บาท 10 บาทก็มี เราถามว่า ‘ทำไมไม่กลับบ้าน มานอนข้างถนนมันดูไม่ดีนะ ถามเพราะอยากรู้ว่าชีวิตของเขาทำไมถึงมาอยู่ตรงนี้ ทำไมไม่อยากมีบ้าน ทำงาน มีเงินใส่กระเป๋า อยากกินอะไรก็ได้กิน มาอยู่ตรงนี้คนจะดูถูกเอาเปล่าๆ

⦁คิดว่าปัญหาหลักๆ มาจากอะไร มองเป็นเรื่องการขาดความอบอุ่น ความเข้าใจกันในครอบครัวเป็นหลัก ที่ทำให้คนตัดสินใจออกมาไหม?

คิดว่าอยู่ที่ตัวเองนะ หรือบางทีอยู่กับครอบครัวแล้วทะเลาะกัน สมมุติป้าอยู่กับคุณ แล้วคุณก็มีแฟนมีลูก ป้าก็อาจจะน้อยใจ พอบอกว่าอย่าทำอย่างนี้นะ บางทีลูกเขาดื้อเราก็ดุไม่ได้ เกิดความไม่เชื่อ ไม่ชอบ

⦁ เขาเล่าต่อไหมว่า พอออกมาแล้วใช้ชีวิตอย่างไร?

เขาก็หาอยู่หากินของเขาไปเรื่อย โดยที่ ‘ฉันไม่พึ่งพี่น้องก็ได้’ อาของป้าก็เป็น เป็นครูแต่มาอยู่ที่นี่ เห็นญาติพี่น้องบอก ตอนนี้ยังไม่เคยเจอเลย เขาก็มีปัญหาครอบครัว แฟนไปมีใหม่แล้วลูกเขาก็เสียพอดี เขาก็เสียใจที่ลูกตายด้วย แล้วทำไมแฟนต้องไปมีคนอื่นอีก ทำไมไม่อยู่กับเขา คอยให้กำลังใจกัน

⦁ เหมือนเป็นจุดพลิกผันด้วยสำหรับบางคน?

ใช่ๆ เรื่องความอบอุ่น เขาก็เลย ‘เออ กูทำอย่างนี้เลยดีกว่า’ เหมือนประชดด้วย พี่น้องไปรับยังไม่เอาเลย ‘ไม่ต้องมายุ่ง ปล่อยให้อยู่อย่างนี้ ไม่กลับหรอก’ กลับไปอยู่กับพี่น้องเดี๋ยวก็มีปัญหาอีก ก็เลยขออยู่ของฉันดีกว่า

⦁ พอจะมีไอเดียที่ทำให้คนไร้บ้านน้อยลงกว่านี้ไหม?

เราว่ายากอยู่นะที่เขาจะกลับบ้าน เพราะว่าชีวิตเขาอยากจะใช้อย่างอิสระ ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวาย บางทีญาติเอาเขาไปแล้วก็ไปบ่น ไปด่า ขาดความเข้าใจ บางคนครอบครัวพูดกันไม่รู้เรื่อง ‘ไม่ต้องมาสอนฉันหรอก’ ส่วนใหญ่จะเป็นอะไรประมาณนี้

⦁ ถือว่าสะท้อนปัญหาสุขภาพจิตและครอบครัวของคนไทยในอีกมุมหนึ่ง?

ใช่ บางคนก็ประชด ไปติดเหล้าติดยา ฉันไม่สนหรอก ตัวคนเดียวนอนตรงไหนก็ได้ ป้ายังถามเลยนะ มีคนที่ขาด้วนเพราะโดนรถชน เวลาเขาเอาลูกมาเข้าห้องน้ำ ถามว่าทำไมไม่พากลับบ้าน ไม่พาไปเรียนหนังสือ เขาบอกไม่ไปหรอกอยู่ตรงนี้ดีแล้ว พอถามเด็กว่า ‘ทำไมหนูไม่ไปเรียนล่ะลูก?’ เขาบอกว่า ‘แม่ไม่สนใจหนูหรอก’

⦁ สมัยก่อนผ่านอะไรมาบ้าง มีอะไรอยากให้กำลังใจคนที่ท้อแท้ ให้กลับมาสู้อีกครั้งเหมือนที่เราผ่านมาได้?

ป้าทำหมดนะ ก่อสร้าง ล้างขวด ช้อนลูกน้ำ ก็ดิ้นรนถามหางานเขาไปเรื่อยๆ (น้ำตาคลอ) ตอนที่ลูกป่วยก็เคยไปถาม ‘รับคนล้างจานไหม’ เขาบอกขายของไม่ดีเลย ช่วงโควิดกำลังจะไปเขาก็ไม่รับ หูย บางทีก็คิด ‘หรือเราไปขอทานดูดีกว่า’ ชวนแฟน เพราะเห็นจากข่าว สงสารคนแก่ ชีวิตป้าลำบากกว่านี้เยอะ ตอนนี้ยังพอมีคนเอาข้าวมาแจกให้กิน ตอนป้าเด็กๆ ไม่ได้มีกินหรอก ทำแต่ไข่ตุ๋น ต้องใส่น้ำเยอะๆ นะ เพราะพี่น้อง 5 คน กินผัดไข่กันทุกวัน แม่ซื้อมาครึ่งสลึง ผัดแตงกวา ผัดบวบ ต้องใส่น้ำให้เยอะๆ เข้าไว้ แล้วก็น้ำปลาถ้วยนึง ไข่ต้มกินไม่ได้แบ่งกันไม่พอ พ่อแม่ทำยังไงก็ได้ประทังให้เราโตขึ้นมาได้ เราก็สงสารเหมือนกัน สองคนทำงานได้วันละ 40 บาทเอง

⦁ ถ้ามีสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ทำให้คนมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวหรืออยู่ได้ด้วยตัวเอง น่าจะช่วยให้ปัญหานี้ลดลงไหม?

ก็น่าจะดีนะ ถ้าเพิ่มเบี้ยสูงอายุ เพราะตอนนี้ป้าเป็นหนี้เยอะมาก เจ้าของมูลนิธิกระจกเงา เขาไปบ้านป้า วันที่ 7 ธ.ค.นี้เขาก็เรียกประชุม ให้คูปองของแห้ง

⦁ มูลนิธิกระจกเงา เข้ามาช่วยเหลือเราอย่างไรบ้าง?

ช่วยให้งานเราทำ คนแก่งานหายากมาก ที่นี่ดีนะได้วันละ 550 ก่อนหน้านี้ป้าแทบจะเป็นบ้าเลย ตังค์ก็ไม่มี ทีนี้มีคนบอกว่าที่วัดจำปา ตลิ่งชัน มีแจกข้าวฟรี ป้าก็ไปกับลุง บางทีไม่มีตังค์ก็เดินไปไกลลิบเลย ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงเกือบ 10 โมง ได้ข้าวคนละ 2 กล่อง ตอนหลังพอลูกหายพอที่จะไปได้ ก็ไปกันได้คนละ 2 เป็น 6 กล่อง กินเช้าคนละกล่อง เก็บไว้กินตอนเย็น กลางวันก็ไม่ต้องกิน

⦁ ถ้าเลือกได้ระหว่างแจกแบบนี้ กับให้งานทำ?

ป้าว่าให้งานดีกว่า อย่าง ‘จ้างวานข้า’ ดีใจมากเลยที่เขาให้ไปกวาด ได้วันละ 250 บาท หลังจากนั้น 3 อาทิตย์ก็เรียกไปทำงานที่คลัง ได้วันละ 500 ‘หูย มีงานทำแล้วเว้ย มีเงิน’ ได้ทำกับลุงคนละวัน จ่ายเป็นรายวัน ดีใจมากๆ มีเงินมาซื้อของให้ลูกกับหลาน (ยิ้ม) ช่วงนั้นไม่มีตังค์เลย ข้าวสาร น้ำยาจะล้างจานยังไม่มี ซื้อแฟ้บมา 10 บาท ต้องแบ่งไว้ซักผ้า และล้างจานนิดหน่อย ต้องทนเอา เพราะตอนเด็กๆ เราลำบากกว่านี้อีก ‘ช้อนลูกน้ำ ล้างขวด’ ทำหมดทุกอย่าง ช้อนจากใต้ถุนแล้วก็เอามาใส่กะละมังไปขายตอนเด็กๆ กระป๋องละ 8 บาท แต่มันไม่ได้ถึง 8 บาทหรอก (น้ำตาไหล) เพราะมันก็ตาย มันจม ได้แต่ที่ยังลอยอยู่ ประมาณ 4 บาท รับจ้างดูแลคนแก่ เอาทุกอย่าง บางวันเขาให้ไปช่วยขายปลาทู ได้ 200 บาท อย่างน้อยไปซื้อข้าวกินวันพรุ่งนี้

⦁ เหมือนเราต้องกัดฟันสู้ให้พ้นไปในแต่ละวัน?

สุดๆ สู้ในแต่ละวันไป โอ้โห น้ำปลาจะกินยังไม่มีเลย บางวันมีกล้วย มีข้าวและไข่ต้มคนละใบที่เหลือจากวัด ยังนึกในใจ โอ้โห ชีวิตเรามันอย่างนี้เลยเหรอวะเนี่ย (หัวเราะ) พาลูกมาลำบากแท้ๆ เลย

⦁ แต่ถ้าเลือกได้ ก็ไม่ได้อยากมีชีวิตแบบนี้?

ใช่ มีคนสงสารป้าเลยชวนไปทำงานอยู่ที่กองทัพอากาศ เขาเห็นเราขยัน ไม่ย่อท้อ เอางานทุกแบบ ตอนนั้นพ่อแม่ตายแล้ว เราก็พูดรูป ‘พ่อจ๋า แม่จ๋า เดือนมีนาคมวันเกิด วันที่ 24 ขอให้ลูกได้นะ อยากมีงานทำ จะได้มีเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน’ ป้าไปทำงานคนแรกของแผนกตลอด 6 โมงเช้า ช่วงนั้นดีมาก แต่พอเกษียณขายของได้ไม่เท่าไหร่ลูกก็ป่วย มีแค่เงินเกษียณ 200,000 กว่า เราลงทุนขายกาแฟ ขายขนมด้วย ก็ค่อยๆ หมดไป ตอนหลังลูกมาป่วย ป้าก็ยอมเสีย ‘ช่างมันเหอะ หายแล้วเขาจะได้มาเลี้ยงลูกเขา’ ถ้าเกิดว่าป้าตายไปห่วงลูกมากที่สุด แต่เราก็บริจาคร่างกายไว้

หลังจบบทสนทนา เหลือบไปเห็น เอ็ม หนุ่มวัย 22 ปี คนไร้บ้านย่านถนนพระอาทิตย์ นั่งผ่อนคลายกลาง ‘สดชื่นสถาน’ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขาเปิดใจถึงการย้ายจากหัวลำโพง สู่พระนคร ในฐานะหนึ่งในผู้ที่เปราะบางกลางเมืองใหญ่

⦁ อยู่ตรงนี้มานานแล้วหรือยัง กิน อยู่ ใช้ชีวิตอย่างไร?

3 เดือนได้แล้ว ออกจากบ้านเพราะตกงาน ก่อนหน้านี้เป็น รปภ. แต่พอโควิดมาก็ไม่มีงานทำ ตรงนี้เป็นชุมชนคนไร้บ้าน ก็อาศัยอาหารแจกฟรี ส่วนใหญ่เป็นข้าวผัดกะเพรา พอประทังชีวิตได้ บางทีได้มาเยอะก็จะนำไปแจกคนอื่นต่อ ถือว่าเพียงพอสำหรับอาหาร

⦁ รู้สึกอย่างไรบ้างที่ตรงนี้มีจุดที่อาบน้ำ ซักผ้า กินน้ำได้ฟรี?

รู้สึกดี ตอบโจทย์ น่าจะช่วยชีวิตคนได้เยอะเลย

⦁ ก่อนหน้านี้อยู่ที่ไหนกัน?

แต่ก่อนอยู่กระจัดกระจายกันทั้งเขตพระนครเลย รวมแล้วที่มาอยู่ตรงนี้ทั้งหมดน่าจะราวๆ 100 คน และอีก 200 คน อยู่ที่ตรอกสาเก ส่วนใหญ่อยู่สนามหลวง แต่บางคนยังติดภาพของสนามหลวงอยู่ว่าเป็นที่ที่เขาเข้าได้ เพราะพวกเขานอนกันมาตั้งแต่สมัย 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ตอนนี้เขาไม่ให้เข้าไปแล้ว กั้นเอาไว้สำหรับจอดรถ

⦁ แต่ละวันการใช้ชีวิตลำบากอย่างไรบ้าง ออกจากบ้านมามีเงินติดตัวบ้างไหม?

ลำบากที่สุดคือการเดินทาง บางทีก็อยากไปที่อื่น แต่ว่ามันแพง ทั้งค่าใช้จ่าย ค่ารถ เรามีเงินติดตัวอยู่ 100-200 บาท ไป-กลับ บางทีรถเมล์ก็ต้อง 2-3 ต่อ บางทีคำนวณไม่ลงตัว เงินหมด ก็ต้องเดินเอาแทน

⦁ เคยไปไกลสุดที่ไหน ไปทำอะไรที่นั่น?

เคยไปบางซื่อ ที่นู่นเคยไปนอนได้ มีห้องน้ำให้ มีข้าวแจกด้วย แต่ว่าจะเข้มงวดกว่า บางทีเขากวดขันกันไม่ให้แจก แต่ตรงนี้โอเคกว่า ก็เลยเลือกมาอยู่ตรงนี้ บางคนมีบ้านเขาก็มาเอาอาหาร อาบน้ำ มีหลายแบบ

⦁ จากที่เคยคุยแต่ละคนเจอปัญหาอะไรกันบ้าง?

จำนวนหนึ่งเลย เขาก็มาจากสลัมคลองเตย ที่ต่อให้มีบ้านก็เป็นแค่ที่นอนเท่านั้น ไม่ได้มีห้องน้ำ บางคนก็สู้ค่าน้ำค่าไฟไม่ไหว ที่ว่าแพงแล้ว เอาเข้าจริงคนในสลัมเขาบวกเข้าไปอีก 2-3 เท่าไม่ได้จ่ายเท่าบิลการไฟฟ้า แต่ส่วนตัวอยู่ที่หัวลำโพง ไร้บ้านมานานแล้ว เวลาได้ทำงานทีถึงมีที่อยู่อาศัย สมัยก่อนหัวลำโพงเป็นชุมนุมคนไร้บ้าน ตอนนี้เขากวดขัน แต่ที่นี่ไม่ได้กวดขันเปิดให้คนไร้บ้านอยู่โดยเฉพาะ

⦁ คิดเห็นอย่างไรบ้างที่มีจุดแบบนี้?

ดีมาก ไม่ต้องมาไล่คนไร้บ้าน ทั้งๆ รู้ว่าไล่ไม่ได้เพราะเขาไม่มีที่ไป อย่างน้อยก็ยังมีที่รองรับ เหมือนเราก็ไม่รู้ว่าจะไปตรงไหน เอาเข้าจริงสมัยนี้ถ้าคนไร้บ้านจากที่อื่น เขารู้ว่ามีที่อาบน้ำ มีจุดแจกข้าว ก็คงไม่ต้องให้ใครไล่ คงมาอยู่ที่นี่กันเอง

⦁ พอจะมีไอเดียที่ถ้าทำได้ น่าจะทำให้คนไร้บ้านลดลงมากกว่านี้?

หลักๆ ก็คงต้องพึ่งเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี การจ้างงานทุกอย่างก็เพิ่มขึ้นหมด การศึกษาก็เข้าถึงง่ายขึ้น ทุกอย่างก็น่าจะดีไปด้วย เราไม่ได้มีปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ใช้ชีวิตได้ดีในแต่ละวัน

⦁ ตอนนี้มีงานทำไหม?

ตอนนี้ตกงานอยู่ แต่มูลนิธิกระจกเงา มีการจ้างงานให้ทำตลอด บางครั้งเราก็รับจ้างกวาดขยะใน กทม.

⦁ แล้วนอนที่ไหน อาศัยในบ้านสำหรับคนไร้บ้านหรือเดินหาเอาเอง?

เคยเห็นอยู่ว่ามีบ้าน แต่เขาก็คิดค่าน้ำ-ค่าไฟด้วย สร้างที่อยู่อาศัยไว้ให้แต่ว่าค่าน้ำ-ค่าไฟเขาก็ไม่ได้ออกให้ เหมือนเราเช่าอยู่ดี แต่ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะอยู่ ค่าน้ำ-ค่าไฟก็ไม่ต้องเสียหลายต่อด้วย เพราะไม่คิดเพิ่ม

⦁ บางคนก็มีปัญหาครอบครัว เลยออกมาไร้บ้านด้วยใช่ไหม คิดว่าจุดนี้สะท้อนอะไร?

หลายอย่างเลย ทั้งอาชญากรรม ทั้งการศึกษาที่เข้าถึงยาก รวมถึงเศรษฐกิจด้วย การจ้างงานน้อยมาก

⦁ ถ้าเกิดว่ามีเงินอุดหนุนกลุ่มเปราะบางจากรัฐบาลเป็นรายเดือน น่าจะช่วยได้หรือไม่ หรือควรมีหน่วยงานมาดูแลเรื่องปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า?

ก็คงต้องทำควบคู่กันหลายอย่าง หลักๆ แล้วต้องบำบัดกับคนที่มีปัญหาจากยาเสพติด แม้แต่คนติดเหล้าก็ตาม เพราะพอติดจัดๆ บางทีมันไปกระทบเรื่องเงิน กลายเป็นปัญหาครอบครัว ทำงานก็โดนไล่ออกเพราะพฤติกรรมมีปัญหา คนที่ติดเหล้าส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียดในการทำงาน การดิ้นรนใช้ชีวิต เพราะเงินไม่ได้หาง่ายเหมือนแต่ก่อน

⦁ เงินสำหรับคนไร้บ้าน?

มีค่ามากๆ 25 สตางค์หล่นเก็บตลอด หล่นอยู่กลางถนนก็เก็บ ข้ามถนนไป ก็ระวังนิดหนึ่ง รู้ว่าเสี่ยงแต่พอซื้ออะไรได้ ก็เก็บๆ ไว้ ตอนนี้มี 100 กว่าบาท

⦁ ตรงนี้มีแผนปรับปรุง อยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่อะไรมากที่สุด?

ที่สุดเลยคือ อยากให้มีพื้นที่บำบัดสำหรับคนที่ติดเหล้า บุหรี่ เอาจริงๆ คนติดยาก็มีไม่น้อย ก็ยังปราบไม่ได้ มีเล็ดลอดตลอด กลายเป็นปัญหาวนลูปในสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image