แท็งก์ความคิด : พหุวัฒนธรรม

แท็งก์ความคิด : พหุวัฒนธรรม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแนะนำให้นำหนังสือมาเป็นของขวัญปีใหม่

หนึ่งในหนังสือที่แนะนำมีชื่อ “จอร์จทาวน์ เกาะปีนัง” รวมอยู่ด้วย

หนังสือเล่มนี้ สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม พิมพ์เป็นครั้งที่ 2 ถือเป็นฉบับพิเศษ

Advertisement

มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ ร่วมกันเขียน

ประกอบด้วย ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ดร.ปัทม์ วงค์ประดิษฐ์ ดร.อิสรชัย บูรณะอรรจน์ และกิตติคุณ จันทร์แย้ม

ดร.เกรียงไกร เป็นรองศาสตราจารย์ ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Advertisement

ดร.ปัทม์ เป็นอาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดร.อิสรชัย จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกิตติคุณ จันทร์แย้ม เป็นนักวิจัยด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ

จากคุณสมบัติของผู้เขียน ทำให้เรื่องราวของเมืองมรดกโลกที่อยู่ใกล้ๆ ประเทศไทย ถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าอ่าน

ชวนให้ไปเยี่ยมชม เมืองจอร์จทาวน์ แห่งเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย สักคราว

หากใครมีโอกาส มีเวลา และสตางค์ อาจวางแผนแวะเวียนไปสัมผัสบรรยากาศเมืองมรดกโลกในประเทศเพื่อนบ้านก็ตามสบาย

เพียงแต่ก่อนเดินทางไป ขอแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นข้อมูล

เพราะใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะไปซึมซับเมืองจอร์จทาวน์ได้อย่างใกล้ชิดกว่าใกล้ชิด

ได้เสพความสุขจาก “พหุวัฒนธรรม” ณ พื้นที่แห่งนั้น

แค่ข้อมูลประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอ ก็ทำให้รู้ถึงความสำคัญของเมืองจอร์จทาวน์และเกาะปีนัง

ทราบถึงความสัมพันธ์ของทวายกับราชอาณาจักรอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสยามประเทศ

และเนื่องด้วยพื้นที่เกาะปีนังเป็นทางผ่านการค้าทางเรือ เมื่อชาติตะวันตกขยายการค้าและอิทธิพลมาทางตะวันออก

เกาะปีนังก็มีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก โดยเฉพาะดัชต์และอังกฤษ

หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจความเป็นมาของผู้ปกครองทางภาคใต้ของไทย มาเลเซีย และชาวตะวันตก

อ่านแล้วได้เห็นความเป็นอยู่ของคนยุคก่อน

เห็นการค้าระหว่างประเทศที่ต้องใช้เรือ และเรือก็ต้องมีที่แวะพักและรวบรวมเสบียง

เมื่อชาติตะวันตกเลือกเกาะปีนังเป็นที่พำนัก ณ ที่นั่นจึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าอีกแห่งที่เจริญรุ่งเรือง

เมืองจอร์จทาวน์ที่เดิมมีสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่น เมื่อนานาชาติ ทั้งชาวมาเลย์ ชาวจีน ชาวอินเดีย ชาวตะวันตก และอื่นๆ เข้าไปอยู่อาศัย

วัฒนธรรมกับวัฒนธรรมก็เริ่มกลมกลืนกัน

ผู้ที่มาเป็นชาย แต่งงานกับญาติในท้องที่ มีบุตรหลานออกมาเป็นคนปีนัง

แต่ละชาติล้วนมีวัฒนธรรม เมื่อคนหลายชาติมาอยู่ด้วยกัน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมก็ปรากฏ

ยิ่งมาอยู่กันแบบปักหลักปักฐาน วัฒนธรรมก่อเกิดการผสาน ก่อเกิดเป็นเสน่ห์ของ “พหุวัฒนธรรม”

หนังสือ “จอร์จทาวน์ เกาะปีนัง” ได้เปรียบเทียบพัฒนาการของวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์อันกลมกลืนท่ามกลางการเติบโตของโลก

หนังสือเล่มนี้ยังบ่งบอกความสำคัญของการค้าที่ทำให้เกาะกลายเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ

เกาะปีนังนี้คือตัวอย่างหนึ่ง และอีกตัวอย่างหนึ่งคือเกาะสิงคโปร์

ข้อดีของการรับทราบข้อมูลจากหนังสือ ทำให้สนใจไปเยือนเมืองจอร์จทาวน์

แต่ที่สำคัญกว่าความอยากไปเที่ยว คือ การมอง “จอร์จทาวน์” ในมุมที่ไม่ใช่คนแปลกหน้า

ยิ่งได้ซึมซับความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของที่นั่น แล้วยิ่งรับทราบการผสมผสานวัฒนธรรมพื้นเดิมกับวัฒนธรรมใหม่

ยิ่งรู้สึกถึงคุณค่าของเมืองจอร์จทาวน์

ภายในหนังสือยังอธิบายสถาปัตยกรรมในเมืองที่มีทั้งแบบเดิม และแบบที่มีการผสมผสาน

ใครที่ไปเยี่ยมเยือนเมืองจอร์จทาวน์ แค่เดินเล่น หากมีความเข้าใจสถาปัตย์ที่อยู่เบื้องหน้าก็เพิ่มรสชาติในการไปเยือนแล้ว

ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับ “พหุวัฒนธรรม”

ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีลักษณะเป็น “พหุวัฒนธรรม”

เพียงแต่ต้องนำ “พหุวัฒนธรรม” มาสานต่อ เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์

เท่าที่ติดตามความเคลื่อนไหว หลายจังหวัดก็พยายามชูจุดเด่นตรงนี้

เทศบาลนครยะลามีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพหุวัฒนธรรมอยู่เสมอๆ

หากไม่มีความรุนแรง การเผยแพร่จุดแข็งของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะสร้างประโยชน์ให้คนในพื้นที่ได้เต็มๆ

ถ้าสามารถลดความคิดเรื่องแผ่นดินเธอแผ่นดินฉัน แล้วเพิ่มความคิดว่านี่คือแผ่นดินของเรา

จากนั้นร่วมกันสร้างสรรค์ ป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าที่นี่มีสิ่งที่มีคุณค่าควรมาสัมผัส

บางที 3 จังหวัดภาคใต้จะกลายเป็นเพชรที่เปล่งประกายบนแผนที่โลก

“พหุวัฒนธรรม” ในพื้นที่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนให้มาเยือน

แต่ทุกอย่างจะสำเร็จได้ ต้องเริ่มต้นที่ความปลอดภัย

หยุดใช้ความรุนแรงในพื้นที่ ยอมรับความแตกต่าง และพัฒนา “พหุวัฒนธรรม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image