กีดกัน ต่อสู้ ยังหวัง การเมืองเรื่อง ‘อัตลักษณ์’ รัฐธรรมนูญใหม่ต้องรับรอง

กีดกัน ต่อสู้ ยังหวัง การเมืองเรื่อง ‘อัตลักษณ์’ รัฐธรรมนูญใหม่ต้องรับรอง
(จากซ้าย) ศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ลิขิต พิมานพนา, สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ และณัฐมน สะเภาคำ ในวงเสวนา “ สู่ฝัน เพื่อวันที่ดีกว่า #3 There’s Always Spring”

กีดกัน ต่อสู้ ยังหวัง การเมืองเรื่อง ‘อัตลักษณ์’ รัฐธรรมนูญใหม่ต้องรับรอง

‘สิทธิเสรีภาพ’ ไม่ใหญ่เท่าปัญหาปากท้อง แต่ต้องยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่คนส่วนหนึ่งเผชิญมาอย่างยาวนาน ภายใต้เงื่อนไขสุดหินในการกำหนดชะตาชีวิตและความเป็นอยู่ตามวิถีของตน จึงต้องลุกขึ้นสู้ด้วยความหวังผ่านการชุมนุม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ ที่ผู้คนตัวเล็กพอจะทำได้ในการป้องกันตนเอง

แต่ผ่านไปกี่ปี ข้อเรียกร้องยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด คนจนยังสูง กฎหมายยังไม่ถูกแก้ ความเท่าเทียมยังหาไม่เจอ ทว่า การถูกไล่บี้ ดำเนินคดีและคุกคาม ยังมีให้เห็นเป็นว่าเล่น

ยืนยันจากเสียงของ เฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ว่าการชุมนุม 3,000 กว่าครั้งตั้งแต่ 2563-2565 สลายม็อบไปไม่ต่ำกว่า 148 หน แม้ไทยจะเป็นภาคีลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รับรองสิทธิชุมนุมโดยสงบก็ตาม แต่โดยเฉพาะใน ‘ภาคเหนือ’ การเคลื่อนไหวดำเนินไปในหลายพื้นที่เพราะติดพันหลายประเด็นปัญหา ทั้งชาติพันธุ์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิสตรี ไปจนถึง LGBTQ+ นำมาสู่การรวมตัวทวงสิทธิ

Advertisement

เพราะ ‘สิทธิพลเมือง’ ยังคงถูกกีดกันโดยรัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย จึงร่วมกับ ไอลอว์ (iLaw) ก่อตั้ง ‘โครงการ Mob Data Thailand’ ระดมอาสาสมัครโกยข้อมูลจากการสังเกตการณ์ม็อบ เผื่อนำไปผลักดันนโยบายและปกป้องส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และแก้ไข พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะให้สำเร็จ

ก่อนจะสิ้นปีนี้ เปิดพื้นที่ปลอดภัยรอบที่ 3 Amnesty Regional Meet UP ณ mama cafe & studio จ.เชียงใหม่ ให้ผู้ที่ร่วมกันขับเคลื่อนสังคม ล้อมวง ‘สู่ฝัน เพื่อวันที่ดีกว่า #3 There’s Always Spring’ : การต่อสู้ ความท้าทาย และความหวัง การขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในภาคเหนือ สู่บทเรียนเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม’ ขุดคุ้ยเรื่องเล่าของการท้าทาย ด่านสกัดกั้นสิทธิเสรีภาพของ ‘คนชายขอบ’ ย้อนบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อสร้างสังคมที่เห็นค่าประชาชนมากกว่านี้

รณรงค์ Write for Rights 2023 เรียกร้องสิทธิให้กับคนที่ถูกละมิดทั่วโลกคู่ขนานกันไป ผู้ร่วมงานเขียนข้อความส่งกำลังใจ อัญชัญ ปรีเลิศ ผู้ต้องหาการเมืองที่ยังไม่ได้รับเสรีภาพ ถูกจำคุกยาวนานถึง 43 ปี 6 เดือน และปิดจบด้วยเพอร์ฟอร์มานซ์จาก ลานยิ้มการละคร ‘A Bullet have no eyes’ สะท้อนความยากเข็ญของการมีชีวิตปกติ ภายใต้การกดขี่ที่ไม่มีสิทธิส่งเสียง

Advertisement

ไม่อยากเป็นเครื่องมือ ขอแค่ศักดิ์ศรี เท่าเทียมคนทั่วไป

ลิขิต พิมานพนา จาก Free Indigenous People (FIP) ชาติพันธุ์ปลดแอก จุดประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ ย้อนไปในช่วงที่ออกมาเคลื่อนไหว อุปสรรคที่พบเจอคือ ‘เสรีภาพในการแสดงออก’

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์จะเห็นได้ว่า ในช่วงสงครามเย็น เป็นช่วงที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลไทยพยายามควบคุมพื้นที่จึงได้ประกาศใช้กฎหมายที่เป็นเครื่องมือขยายอำนาจและจัดการกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ทำให้เห็นถึง ‘กฎหมายกดขี่’ อาทิ ป่าไม้ การคุ้มครองสัตว์ป่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นผ่านโครงสร้างทางการเมืองและกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ไม่ได้อนุญาตให้คนชายขอบได้เข้าไปมีบทบาท

ชาติพันธุ์ จึงไม่ได้ถูกรับอนุญาตให้มีสิทธิกำหนดชีวิตกับอนาคตตนเองได้มาจนถึงทุกวันนี้

“ก่อนหน้านี้มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ภายหลังกลับเป็นเพียงเครื่องมือ เพื่อเพิ่มอำนาจที่ถูกใช้โดยรัฐ เพราะต้องการใช้เป็นเครื่องมือบังหน้าแก่สังคม” ลิขิตชี้ว่าการสู้ของสายทรัพยากรยังน่าห่วง ส่วนมากหวังพึ่ง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะปลดล็อกปัญหาได้หรือไม่

ความหวังแรกเป็นเพียงเรื่องพื้นฐาน ‘กลุ่มชาติพันธุ์เท่าเทียมกับคนทั่วไป’ อยากเห็นเรื่องชาติพันธุ์ กำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่ในระหว่างทางก็ต้องค่อยๆ คลี่คลาย และแก้ไขปัญหา คืนศักดิ์ศรี รื้อประวัติศาสตร์ของพี่น้องชาติพันธุ์ จากนั้นก็อยากให้รัฐบาลไทยออกมาขอโทษและยอมรับการมีตัวตน ซึ่งต้องหาแนวทางในการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ต่อไป

ความหวังที่สอง คือ ‘กระจายอำนาจ’ ที่ผ่านมาเมื่อเราจะต้องคุย หรือต้องการเคลื่อนไหว ต้องบึ่งไปถึงกรุงเทพฯ

“เมื่ออำนาจไปอยู่เพียงแค่ส่วนกลาง ทำให้เกิดข้อจำกัดหลายอย่างในการเรียกร้องอำนาจ ถ้าหากมีการกระจายอำนาจ จะสามารถทำให้คนในสังคมพึ่งพาได้”

‘A Bullet have no eyes’ การแสดงเพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ต โดย ลานยิ้มการละคร

2 นโยบายนี้ ‘สัมพันธ์กัน’ ทวงคืนผืนป่า-ค้าคาร์บอนเครดิต

ลิขิต เล่าต่อเนื่องถึงอีกหนึ่งสถานการณ์ที่ คือการคุกคามของระบบทุนนิยมผ่านเครือข่ายชนชั้นนำ โดยมีรัฐเป็นนายหน้า ซึ่งกำลังเป็นประเด็นในช่วงนี้ หลักๆ คือเรื่อง ‘นโยบายคาร์บอนเครดิต’ ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้อาศัยอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปราะบางในเรื่องสิทธิ

“ระบบของนโยบายนี้คือ ถ้าประเทศไหน บริษัทอะไร ได้มีการปล่อยคาร์บอน ก็ต้องมีพื้นที่ให้ดูดซับคาร์บอนสู่แหล่งที่มาเหมือนเดิมซึ่ง ท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้ไปรับเรื่องนโยบายนี้มาเพื่อที่จะมาปรับเปลี่ยนใช้ภายในประเทศ”

นโยบายนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วเกิดขึ้นได้ แต่สัมพันธ์กับนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ก่อนหน้านั้น โดยพื้นที่ของไทย ถ้าหากเคลื่อนไหว 40% จะสามารถบอกได้ว่าแต่ละพื้นที่ได้ปล่อยคาร์บอนมาจากไหนบ้าง กี่เปอร์เซ็นต์ เปรียบเสมือนทิศทางที่จะนำไปสู่การขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งสัมพันธ์กับทุนใหญ่ที่ต้องใช้ทรัพยากรในการสร้างคาร์บอนอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องหาพื้นที่ในการประกาศ ว่ามีการดูดซับคาร์บอนได้เท่าไหร่” ลิขิต ย้อนความถึงที่มา ซึ่งชาติพันธุ์ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะชาติพันธุ์ทางภาคเหนือและตามป่าชายเลน ที่มีความเปราะบางเรื่องสิทธิในการใช้ทรัพยากร ทำให้มีข้อจำกัดมากมายในการยืนยันสิทธิของตนเอง

กดขี่น้อยลง แต่ยังไม่รับรองสิทธิ ผูกขาดทรัพยากร ต่อรองไม่ได้

ภาพรวมความเปราะบาง ของกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ ในมุมของ อ.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ สรุปปัญหาหลักๆ คือ ความมั่นคงในที่อยู่ การเข้าถึงที่ดิน การใช้ทรัพยากร ซึ่งสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตใช้ทรัพยากรไม่เหมือนคนเมือง อยู่บนฐานกฎหมายและนโยบายที่ไม่เคยได้รับรองสิทธิของพวกเขา

หากมองย้อนกลับไปถึงสาเหตุ จะพบว่ามาจากนโยบายของรัฐในการดึงอำนาจการตัดสินใจทุกเรื่องเข้าสู่ศูนย์กลาง กีดกันคนที่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 63 จนถึงปัจจุบัน

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ ผ่านกฎหมายที่กำหนดขึ้นมา กำจัดอำนาจของชุมชนในการใช้ทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐและความเปิดกว้างทางการมือง ในแต่ละช่วงเวลา

อ.สงกรานต์ อธิบายอีกว่า แม้แต่ตอนที่การเมืองเปิดกว้าง กฎหมาย นโยบายก็ยังมีลักษณะกดขี่เหมือนเดิม อาจจะไม่ได้สิทธิเพื่อกำหนดอนาคตตัวเอง 100% แต่อย่างน้อยก็พอมีพื้นที่ที่ให้ประชาชนสามารถใช้เครื่องมืออื่นๆ ต่อรองกับรัฐและเอกชนได้ ไม่ให้รุกเข้ามาในพื้นที่ของเขามากจนเกินไป ขึ้นอยู่กับช่วงที่การเมืองเปิด ว่าให้เขาจะเคลื่อนไหวได้หรือไม่

หลังช่วงรัฐประหาร 2557 มี ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ เกิดกฎหมายที่ให้รัฐส่วนกลางผูกขาดทุกอย่างไว้เหมือนเดิม แม้จะเคลมว่า ‘ทวงคืนผืนป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว’ แต่ผืนป่ากลับถูกแย่งไปจากชุมชน กฎหมายถูกใช้อย่างเข้มข้นขึ้น เห็นได้จากสถิติคดีและการจับกุมที่เพิ่มมากขึ้น ช่วงนั้นการเมืองเป็นระบอบปิดเคลื่อนไหวไม่ค่อยได้ จึงมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดรุนแรงไปอีก

“ช่วงที่ผ่านมากลุ่มกฎหมายป่าไม้ ที่พยายามปรับแก้เรื่องทรัพยากรต่างๆ มี 4-5 ฉบับ แต่หลักการไม่เคยเปลี่ยน คือ การไม่อนุญาตให้มีชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเพิ่มอยู่อาศัยหรือเนิ่นนาน ก็ไม่อนุญาตและไม่มีการรับรองสิทธิการเป็นอยู่ของชุมชนที่อยู่มาก่อน ในอนาคต เมื่อไม่มีการรับรองหลักการเรื่องสิทธิการกำหนดอนาคตตนเอง หรือการปกครองตนเอง เปลี่ยนแปลงได้มากสุด คือ การกดขี่น้อยลง แต่สิทธิจะไม่ได้รับการรับรอง” อ.สงกรานต์ เชื่ออย่างนั้น

ร่วมเขียน “Write for Rights 2023” เรียกร้องสิทธิให้ผู้ถูกละเมิดทั่วโลก

เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ ‘ชาติพันธุ์’ กำหนดอนาคตเองได้

อ.สงกรานต์ เรียกร้องว่า ถ้าหากจะมุ่งผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ อยากจะให้มีบทบัญญัติที่ชาติพันธุ์มีสิทธิ ‘กำหนดอนาคตตัวเองได้’

“อยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลไทย รับรองสิทธิในการมีชีวิตอยู่ที่ดี เพื่อเป็นฐานให้เราสามารถผลักดันให้รัฐบาลทำให้ดีที่สุด

“ปัญหาเชียงใหม่ถึงแม้จะแก้ไม่ได้ภายใน 1 ปี แต่ต้องมีมาตรการเป็นรูปธรรม ทำไม่ได้ก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่บอกว่าทำแล้ว แต่ถ้ามาละเมิดสิทธิของเรา รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบเช่นกัน เป็นข้อเรียกร้องหนึ่งที่อยากให้ผลักดันเพื่อให้รัฐบาลรับรองสิทธิของพวกเรา” ย้ำ

หากมองในแง่ระบบ หลังจากปี 2557 ในสายตาของ อ.สงกรานต์ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น ไม่มีการชุมนุมใหญ่ๆ ได้เห็นแต่ วิธีที่รัฐบาลจะใช้จัดการปัญหา แต่ยังไม่เห็นรูปธรรม

“ถ้าหากเกิดการชุมนุมเล็กๆ ขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์รัฐบาลพอสมควร เพราะยังไม่ได้เห็นถึงการจัดการในปัจจุบัน”

อ.สงกรานต์ เชื่อว่า หากจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวให้เข้มแข็ง จึงจะสามารถทวงสิทธิคืนมาได้ ต้องทำให้เข้มแข็งมากพอแล้วค่อยมาหารือกันเพื่อผลักดันในประเด็นต่างๆ ขณะที่การต่อสู้ทางการเมืองมีประเด็นคือ การยึดอำนาจรัฐ จะแก้ไขปัญหาได้หมดหรือไม่ รวมถึงประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่โดยที่รัฐเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่จริง

ในขณะที่เรื่องสิทธิ หากเรามองในแง่ของพัฒนาการ มันคือการต่อสู้เพื่อให้ได้รับรองเรื่องหนึ่งที่ต้องการ แต่ก็สามารถขยายได้เรื่อยๆ ตามพัฒนาการคนในสังคมนั้นๆ เรื่องสิทธิ จึงเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีสิ้นสุด ดังนั้น หากเราจะขอให้บรรลุวัตถุประสงค์ก่อนแล้วค่อยมาจัดการเรื่องสิทธิ จะทำให้เกิดปัญหาที่ผิดหวังอย่างแน่นอน

“เริ่มจากเรื่องสิทธิ และดูว่าจะจัดขบวนอย่างไร หลายเรื่องไม่จำเป็นต้องไปสู่การยึดอำนาจจากรัฐด้วยซ้ำ แต่เป็นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่ต้องการการยอมรับของคนในสังคมก่อน ท้ายที่สุด อาจจะนำไปสู่การรับรองในเชิงนโยบายกฎหมาย” คือความเห็นส่วนตัวของ อ.สงกรานต์ เพราะหากสังคมไม่รับรู้ปัญหา การได้กฎหมายก็ไม่ได้รับรองว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

แบ่งเพศ แบน ‘อัตลักษณ์’? ชวนปลุกเพาเวอร์ สร้างการยอมรับ

ณัฐมน สะเภาคำ นักวิจัยอิสระสายสตรีนิยม และผู้ก่อตั้งกลุ่ม Sapphic Pride (Feminist LBQ+ advocacy) เท้าความถึงจุดเริ่มต้น ของการตั้งกลุ่มที่เกิดจากการไม่เชื่อคนรุ่นก่อน

พบเห็นปัญหามาตลอดไม่ว่าจะประเด็นชาติพันธุ์ สิ่งแวดล้อม แต่ในชีวิตประจำวันปัญหาที่อยู่รอบตัวมากที่สุด คือ การใช้กฎสถานศึกษาแล้วยึดโยงเกี่ยวกับเรื่องเพศค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะการแบ่งแยกชาย-หญิง ถามว่าแล้วกลุ่ม LGBTQ+ ต้องปฏิบัติตนอย่างไร?’

มหาวิทยาลัยใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเคสบายเคส พอเกิดความขัดแย้งจึงได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มขึ้นในช่วงเวลาที่โซตัสเริ่มตาย เราจึงไม่สามารถทนกับการใช้อำนาจในรูปแบบการบังคับได้ ซึ่งเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราเป็นอย่างมาก และการได้เข้าไปอยู่ในกลุ่ม เหมือนกับการได้รับสิทธิ เพราะการ ‘ถูกยอมรับ’ ในปัจจุบันต่างจากคนรุ่นเก่า ที่ต้องได้รับราชการ หรือมีฐานะทางสังคม

“รู้กันอยู่แล้วว่าชีวิตในสังคมมันแย่มาก ประเทศก็แย่มาก ในแต่ละวันเราจะทำให้ดีขึ้นอย่างไร ก็ต้องเริ่มจากการเข้าร่วมกลุ่มเข้าร่วมกิจกรรมที่เขาทำกัน มีกลุ่มเยาวชนน้อยมากที่มาร่วมเข้ากลุ่มกับเราเพราะสนใจในประเด็นเรื่อง LGBTQ+ ซึ่งเขาก็เริ่มผลักดัน เคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เขารู้สึกว่า เป็นรางวัลที่ถึงแม้จะไม่ได้เงิน แต่มันฟิน ได้ทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง..” นักวิจัยอิสระสายสตรีนิยม ให้เหตุผล

ณัฐมน ขยี้ปัญหาที่ถูกมองข้ามอย่าง Sexual Harassment ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งในเมือง เป็นประเด็นที่ไม่สามารถพูดคุยได้อย่างโจ่งแจ้ง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกมองข้าม จึงต้องสร้างกลุ่มมาเพื่อนั่งพูดคุย ฮีลใจกันเอง

ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ชายคุกคามผู้หญิง แต่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็โดนคุกคามได้เหมือนกัน

ณัฐมนเห็นว่า ‘ประเด็นอัตลักษณ์’ เป็นประเด็นที่หลายๆ คนไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก ไม่ว่าจะคนภายในกลุ่มและคนภายนอก จึงทำให้เห็นถึงความแก่งแย่ง ทั้งๆ ที่ควรจะรวมกลุ่มกันเพื่อผลักดันและเคลื่อนไหว

“คาดหวังให้หลายๆ คนหันมาสนใจเรื่องเพศ ยิ่งเพาเวอร์เยอะ ก็ยิ่งเรียกร้องสิทธิได้” ณัฐมนมั่นใจ

เชื่อว่าถ้าช่วยกันแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง ปลุกให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาในสังคม จะเกิดการช่วยกันแก้ เพราะเห็นว่าในอนาคตอาจะส่งผลถึงพวกเราทุกคน ได้เช่นกัน

สุภัทตรา น้อยสอาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image