เบิกฟ้า ‘(เส้นทาง)รัฐธรรมนูญใหม่’ ไม่ง่ายตั้งแต่ประชามติ

ยังเป็นประเด็นที่สังคมไทยต้องร่วมจับตา

ร่วมลุ้น และร่วมฮึบ!

สำหรับการแก้ไข หรือเขียนใหม่ทั้งฉบับ ‘รัฐธรรมนูญ’ ฉบับใหม่ที่ไม่ง่ายตั้งแต่ขั้นตอนในก้าวแรก

19 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เครือข่ายสมัชชาคนจน จัดงาน ‘เบิกฟ้ารัฐธรรมนูญใหม่’ ดนตรี ‘สามัญชน’ กระหึ่ม คึกคักด้วย ‘ตลาดบ้าน-ป่า’ ชิมช้อปสินค้าพื้นบ้าน อีกทั้งนิทรรศการ ‘เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญคนจน’ บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของเครือข่ายที่ร่วมรณรงค์ให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของคนรากหญ้า

Advertisement

ไฮไลต์ได้แก่ วงสนทนา ‘เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญใหม่’ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรชื่อดัง

⦁สมัชชาคนจน วอนเร่งทำประชามติ
ลุ้นรัฐธรรมนูญใหม่ หวั่นรอนาน ‘ไม่มีที่อยู่กันพอดี’

เปิดเวทีด้วยเจ้าภาพอย่างสมัชชาคนจน ซึ่งส่ง บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ขึ้นเวที โดยเผยว่า สมัชชาฯเคลื่อนไหวมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพกลายเป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐแย่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปทำ มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

Advertisement

“คนจนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง แต่เอาใครไม่รู้มากำหนดอนาคตอีก 20 ปี เลวร้ายมาก

ผลพวงของรัฐธรรมนูญ 2560 คือการออกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากมายมหาศาล ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนนำที่ดินไปปลูกป่าทำคาร์บอนเครดิต ภายในปี 2580 เพื่อรักษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐธรรมนูญแบบนี้เราปล่อยไว้ไม่ได้ ยิ่งปล่อยช้าไป เรายิ่งเดือดร้อน” บารมีกล่าว

ส่วนประเด็นการทำ ‘ประชามติ’ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนมองว่า อย่าไปเสียเวลาให้มากนัก

“อย่าไปเสียเวลาศึกษาการทำประชามติมากนัก เริ่มเลยดีกว่า เดือดร้อนมามากแล้ว รอไปอีก 4 ปี พวกผมไม่มีที่อยู่กันพอดี กระบวนการประชามติต้องตั้งคำถามให้ง่ายให้สั้นที่สุด อย่าไปมีคำถามพ่วง ถามคำเดียวง่ายๆ เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ รีบทำประชามติ ค่อยไปเถียงรายละเอียดตอนที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ควรมีหน้าที่ของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ซึ่งจากการเปิดเวทีรัฐธรรมนูญคนจนไม่มีใครต้องการวุฒิสภา ส่วนเรื่องที่ควรมีคือ การกระจายอำนาจ กระบวนการยุติธรรม

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ เราจะตรวจสอบ หรือกำกับศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ถึงมีอำนาจตัดสินยุบพรรคการเมืองต่างๆ” บารมีทิ้งท้ายด้วยคำถาม

⦁มั่นใจคุ้มค่า ‘ประชามติ 3 รอบ’ 1+2 คำถาม
หมดข้ออ้าง หยุดวงจรเถียงกันไม่จบ

จากนั้นถึงคิว พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม โฆษกพรรคก้าวไกล ที่เห็นต่างกับที่ปรึกษาสมัชชาคนจนในประเด็นทำประชามติ โดยมองว่า ประชามติ 3 รอบนั้น ‘คุ้มค่า’ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรานั้นไม่เพียงพอ แต่ต้อง ‘เขียนใหม่’

“พรรคก้าวไกลเรามองว่า รัฐธรรมนูญ’60 มีปัญหาทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ถูกขีดเขียนโดยไม่กี่คน กระบวนการมีการอ้างประชามติ 2559 แต่ไม่เป็นธรรมตามประชาธิปไตยสากล คนที่ออกมาคัดค้านถูกดำเนินคดี คำถามพ่วงก็ถูกเขียนไม่ตรงไปตรงมา ซับซ้อน และชี้นำโดยเจตนา

ในส่วนของเนื้อหามีหลายมาตรา หลายส่วน ที่อาจบกพร่องและถดถอยเชิงประชาธิปไตย เมื่อเทียบกับฉบับก่อนหน้า ทั้งโจทย์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือโจทย์ออกแบบสถาบันทางการเมืองต่างๆ ให้ชอบธรรม และตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมถึงตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพ เราเลยมองเป้าหมายว่า แก้ไขรายมาตราไม่เพียงพอ แต่ต้องจัดทำฉบับใหม่

พริษฐ์มองว่า บทสนทนาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำ ฟังผิวเผินอาจเป็นเรื่องเทคนิคซับซ้อน แต่มีรายละเอียดที่สำคัญมาก เพราะจะส่งผล กระทบว่าฉบับใหม่จะออกมาหน้าตาอย่างไร ชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งถ้าถามว่า แล้วกระบวนการจัดทำฉบับใหม่ในมุมของพรรคควรเป็นอย่างไร จุดยืนเราชัดเจนมาตลอดคือ ‘ทำใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. 100%’ เพราะมีความชอบธรรมและตรงไปตรงมาที่สุด แต่เข้าใจว่ามีบางกลุ่มที่จุดยืนต่างจากเราไปบ้าง

“โจทย์ของก้าวไกลคือ เราจะออกแบบกระบวนการอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์ 3 ข้อนี้ คือ 1.ทำอย่างไรให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่เร็วที่สุด 2.เป็นฉบับใหม่ที่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย 3.ต้องเป็นกระบวนการที่โอบรับจุดยืนที่แตกต่างของแต่ละฝ่าย

ดังนั้น ข้อเสนอในเชิงกระบวนการที่ก้าวไกลเสนอมี 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.ต้องมีประชามติกี่ครั้ง หากเราจะเดินตามกฎหมายที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่พูดถึงกันในปัจจุบัน ต้องมีการจัดประชามติอย่างน้อย 2 ครั้งเป็นไฟต์บังคับ ซึ่งต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไปเพิ่มหมวดเกี่ยวกับ ส.ส.ร.และต้องผ่าน 3 วาระของรัฐสภา” พริษฐ์อธิบาย

สำหรับข้อถกเถียงที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ ‘จะต้องมีการทำประชามติเพิ่มอีกครั้งหรือไม่?’ พริษฐ์ตอบว่า ‘ทำตอนเริ่มต้นเลย’

“ที่ผมเรียกว่าประชามติ A ซึ่งจุดยืนก้าวไกลเรายืนยันว่าไม่มีความจำเป็นทางกฎหมาย แค่ B (ก่อนมี ส.ส.ร.) กับ C (หลังมี ส.ส.ร.) ก็พอแล้ว แต่เรามองว่าการทำประชามติรอบแรกมีประโยชน์ทางการเมือง ในการแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างใน 2 มิติ

โดยมิติที่ 1 คือ ต่างที่การตีความกฎหมาย ซึ่งรัฐสภาซีกนึงมองว่า ควรทำแค่ 1 ครั้งแบบก้าวไกล แต่บางคนโดยเฉพาะ ส.ว.ไปตีความคำวินิจฉัยอีกแบบว่าต้องทำ 3 ครั้ง ซึ่งถ้าเรายืนยันจะไม่ได้รับเสียงหนุนจาก ส.ว. เจอทางตัน เพราะคนกลุ่มนี้จะหยิบยกคำวินิจฉัยมาอ้าง แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรายอมทำเพิ่มอีก 1 ครั้ง แม้ไม่จำเป็นทางกฎหมาย แต่ถ้าประชาชนบอกว่าควรมีการจัดทำฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าทำแบบนั้นแล้วประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ เสียงของประชาชนตรงนี้น่าจะมีประโยชน์มากในการไปยันในรัฐสภา ว่าสมาชิกทุกคนต้องโหวตตามเสียงของประชาชน ผ่านการทำประชามติ คนที่ยกข้ออ้างประชามติ 3 ครั้ง ก็จะหมดข้ออ้าง

ประโยชน์ที่ 1 คือแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2.คือแก้ไขความเห็นที่แตกต่างเชิงจุดยืนการเมือง ถ้าเราไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ต่างฝ่ายต่างยื่นร่างฯแล้วไปเถียงกัน แต่ความท้าทายคือ ไม่ได้พึ่งแค่เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนว่า ร่างใดที่จะผ่านสภาได้ต้องได้ไฟเขียวจากทุกฝ่าย ทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ดังนั้น ถ้าไม่หาวิธีแก้ไขในรายละเอียด รัฐสภาจะเถียงไม่จบ

เราจึงมองว่า ถ้าอย่างนั้นอะไรที่จะเถียงไม่จบ ดึงมาถามในประชามติรอบแรกเลย ประชาชนเห็นแบบไหนเดินแบบนั้น ต้องน้อมรับ” พริษฐ์ระบุ

จากนั้น พริษฐ์กล่าวถึงข้อเสนอแนะในความเห็นของก้าวไกลว่า 1.ถ้าเชิงกฎหมายจำเป็นแค่ 2 ครั้ง แต่ถ้าจะเพิ่มอีก 1 ครั้งก็มีประโยชน์เชิงการเมือง 2.ถ้าจะออกแบบประชามติเพื่อตอบโจทย์ทางการเมือง คำถามควรจะเป็นอย่างไร

“เห็นตรงกันว่าคำถามควรจะเรียบง่าย แต่ในมุมก้าวไกล ถามคำถามที่เรียบง่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำถามเดียว ข้อเสนอของเราจึงเป็น 1+2 คำถาม แยกเป็น 1 คำถามหลัก 2 คำถามรอง ในส่วนของคำถามหลัก ควรเรียบง่ายและกว้าง เช่น เห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการจัดทำฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. ในทางกลับกัน การถามคำถามที่มีเงื่อนไขเยอะ คนที่อาจเห็นด้วยกับการทำฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม เขาจะลำบากใจมาก
ว่าจะลงคะแนนอย่างไร แล้วถ้าเกิดเขาไปลงมติไม่เห็นชอบ เพียงเพราะไม่เห็นชอบกับบางเงื่อนไข เสียงของเขาจะถูกนับรวมกับคนที่ไม่อยากจัดทำฉบับใหม่ โอกาสที่จะมีฉบับใหม่ยากขึ้น” พริษฐ์กล่าว ก่อนย้ำว่า ดังนั้น ข้อเสนอของก้าวไกลคือ ‘ทำประชามติเพิ่มอีกครั้ง’ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และเป็น 1 คำถามหลัก + 2 คำถามรอง

เมื่อถามย้ำว่า เอาประชามติครั้งที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวจัดการความเห็นที่ต่างในหมู่สมาชิกรัฐสภาให้จบก่อนใช่หรือไม่?

พริษฐ์กล่าวว่า ใช่ เพราะถ้าไปดูคำแถลงนโยบายของนายกฯเรื่องรัฐธรรมนูญ เขียนด้วยซ้ำว่าเพื่อแก้ไขปัญหาที่แตกต่างในการใช้กลไกที่เป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่าถ้าเพิ่มอีก 1 รอบ หลายคนอาจมองว่าเพิ่มขั้นตอนและงบประมาณ แต่หากตอบโจทย์การเมืองแบบนี้น่าจะคุ้มค่า

⦁‘เอาเข้าจริงไม่ง่าย’ ยกเคส ‘ชิลี’ ประชามติ 3 รอบยังไม่ผ่าน

อีกหนึ่งนักวิชาการคนสำคัญในวงสนทนา คือ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็น 1 ในคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ เผยว่า สิ่งที่อยากจะพูดให้ชัดอีกประเด็น ซึ่งไม่ค่อยได้ยินคนพูด คือที่มาของฝ่ายบริหาร หรือ ‘นายกรัฐมนตรี’ ที่ยังไม่มีการพูดกัน คือการให้พรรคการเมืองเสนอ 3 รายชื่อในบัญชี

“ดิฉันมองว่ามันทำให้เกิดปัญหาพ่วงตามมา และไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ทำกัน ถ้าจะอ้างว่าให้ประชาชนรับรู้ว่าใครจะมาเป็นว่าที่นายกฯ มันไม่ได้ เพราะจะเกิดความสับสนว่าตกลงใครคือตัวจริงกันแน่ คือส่วนที่คิดว่าน่าจะต้องแก้ไข ถ้าพูดมองในมุมนักวิชาการ” ศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

สำหรับประเด็นประชามติ ศ.ดร.สิริพรรณเผยว่า จริงๆ แล้วโดยส่วนตัวไม่อยากเห็นการทำประชามติหลายครั้ง เพราะแต่ละครั้งมันสิ้นเปลือง ประมาณ 3,200 ล้าน

“เราก็ไม่อยากเห็นการทำประชามติ ก. (ครั้งแรก) ที่ไอติมพูด แต่คำถามคือ ‘ถ้าไม่ทำ ในที่สุดมันจะแก้ได้ไหม’ เป็นสิ่งที่ตอนนี้คณะกรรมการฯถามความเห็นกัน และอยากมีข้อยุติที่สร้างฉันทามติเพื่อที่จะเดินหน้าได้ และเชื่อว่าวันที่ 25 ธันวาคมนี้ ที่จะมีการประชุมจะมีความชัดเจนขึ้น

ประการที่ 2 หากไปดูคำวินิจฉัยของศาลจะมีคีย์เวิร์ดอยู่ 2 คำคือ 1.อำนาจในการแก้ไขเป็นของรัฐสภา ดังนั้น เราก็อยากการใช้การทำประชามติมาเป็นแนวทางให้รัฐสภา รัฐสภาจะฟังหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง

2.ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบก่อน ตรงนี้คือคำหลักที่อาจจะนำมาสู่การที่ต้องทำประชามติ ก. ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่ได้อยากทำ แต่เพราะเราอยู่ภายใต้นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มายาวนาน” ศ.ดร.สิริพรรณเผย

ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า เมื่อมาถึงกระบวนการประชามติ พูดในนามส่วนตัว ที่แน่ๆ ตนเป็นหนึ่งในคนจำนวนต้นๆ ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญ 2560 หมดอิทธิฤทธิ์ไปเสียที ก็อยากจะเห็นมันถูกแก้ในกระบวนการที่เหมาะสม ได้เนื้อหาที่ทันสมัย ตอบโจทย์พี่น้องประชาชน

“ที่อยากจะเล่าให้ฟังอาจดูเหมือนเป็นเรื่องต่างประเทศ แต่มันอาจจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับสังคมไทย คือ ชิลี ล่าสุดทำประชามติไปวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่ผ่าน และเป็นการทำประชามติครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2021 ที่ไม่ผ่านเพราะประชามติครั้งแรก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดได้มาเป็นฝ่ายก้าวหน้าและร่างรัฐธรรมนูญที่นักวิชาการทั่วโลกมองว่าก้าวหน้าที่สุดในโลก

แต่พอประชาชนทำประชามติ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ประชาชนบอกว่ามันก้าวหน้าเกินไป ไม่ผ่าน เกิดขึ้นเมื่อกันยายน 2022 รัฐบาลไม่ยอมท้อถอย ตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา โดยสภาร่างประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนที่สภาแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ 24 คน และประชาชนเลือกมาอีก 51 คน มาทั้งจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง ปรากฏว่าฝ่ายขวาได้รับเลือกตั้งมาเป็นกรรมาธิการยกร่างมากกว่าฝ่ายซ้าย เพราะครั้งที่แล้วประชาชนเข็ดฝ่ายซ้าย ครั้งนี้รัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาขวาจัด มีเนื้อหาที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น อาจจะทำให้ การทำแท้ง กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ทำประชามติเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่ผ่าน

นี่คือสังคมที่ถูกดึงระหว่างซ้ายจัดและขวาจัด ตอนนี้ประธานาธิบดีบอกว่า ผมจะไม่ทำประชามติอีกแล้ว จะใช้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ ฉบับที่ใช้ทุกวันนี้ร่างมาตั้งแต่สมัยเผด็จการปิโนเชต์ ตั้งแต่ 1980 แต่เขาแก้มาเรื่อยๆ จนเนื้อหาจริงๆ เป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมากแล้ว เพียงแต่ประชาชนยังไม่ได้รู้สึกว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน มาจากประชาธิปไตย เขาจึงใช้เวลา 3 ปีที่ผ่านมาทำประชามติไป 3 ครั้ง เลือกตั้ง ส.ส.ร. 2 ครั้ง” ศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

ศ.ดร.สิริพรรณอธิบายว่า ชิลีเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีมาก ไม่ใช่ประชาชนเขาไม่รู้เรื่อง นี่คืออุทาหรณ์ที่บอกตัวเองว่าในการทำประชามติ เราจะทำอย่างไรที่จะได้เสียงฉันทามติที่รับฟังและโอบอุ้มความเห็นต่างทั้งหลายทั้งปวงได้

ตัดภาพมาที่ไทย ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ถ้าจะทำประชามติวันนี้ มี พ.ร.บ.ประชามติ 2564 อยู่ ซึ่งผ่านสภาชุดที่แล้วมา เป็นหลักคือต้องใช้เกณฑ์ในการผ่าน 2 ชั้น คือ

1.ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องไปใช้สิทธิเกินครึ่ง คำถามคือ เชื่อมั่นหรือไม่ว่าจะมีประชาชนไปใช้สิทธิเกินครึ่ง

2.ใน พ.ร.บ.ประชามติปี 2564 ไม่ได้มีแค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่มีช่องให้ไม่แสดงความคิดเห็นด้วย มี 3 ช่อง ด้วยความที่อยากเห็นประชามติผ่านไม่ว่าจะต้องทำ 2 หรือ 3 ครั้ง และอยากเห็นจุดเริ่มต้นของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เร็วๆ และไม่อยากให้กระบวนการร่างนานด้วย

“อยากจะเห็นการขับเคลื่อนไปโดยเร็ว ในฐานะคนสังเกตการณ์ทางการเมือง อยากเห็นพื้นที่ที่โอบรับความแตกต่าง และช่วยกันผลักดันให้ประชามติไม่ว่า 2 หรือ 3 ครั้งผ่าน การจัดทำรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเห็นชอบในระยะสั้น และมีเนื้อหาที่รับรองสิทธิของประชาชน แต่ไม่ต้องเยิ่นเย้อ” ศ.ดร.สิริพรรณเผย

⦁เชื่อฉบับใหม่มีแน่ แต่ต้องทำอย่างระวัง ‘พลาดไปคือร่วงเลย’

ปิดท้ายที่ นิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวว่า ตนยุ่งกับรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ตนไม่เห็นด้วย รณรงค์ไม่ให้ไปโหวต เห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีคำว่าการกระจายอำนาจ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีแต่ความมั่นคง

“ผมเป็นกรรมการฯอยู่ตอนนี้ มีประสบการณ์มากพอ เห็นการเกิด การแตก การดับ ของรัฐธรรมนูญ หน้าที่ที่ทำตอนนี้ต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่สำเร็จให้ได้ ถ้าไม่สำเร็จตอนนี้เราจะอยู่กับมันไปอีกนาน” นิกรกล่าว ก่อนเผยประเด็นที่ ‘แอบน้อยใจ’

“วันนี้รับฟังความเห็นวันสุดท้าย แอบน้อยใจว่า ส.ส.ทำแบบสอบถามตอบกลับมาเพียง 221 คน ผลปรากฏว่า คำถามเว้นหมวด 1-2 กับ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีความเห็นที่ใกล้เคียงกัน ส่วนคำถามที่มีความเห็นพ้องกันคือ เห็นควรต้องทำประชามติรอบที่ 1 78% และรอบสุดท้ายต้องทำ 79% ส่วน ส.ว.ตอบแบบสอบถามกลับมาเพียง 69 คน

ที่เราทำกันมามันเป็นเรื่องยากจริงๆ ไม่ได้เป็นการเตะถ่วง เพราะถ้าพลาดไปคือร่วงเลย ยอมให้เป็นแบบนั้นไม่ได้ เราต้องระมัดระวังมาก” นิกรกล่าว

ส่วนกระบวนการประชามติ นิกรเสนอแก้ไขว่า 1.เกินกึ่งหนึ่ง และ 2.ให้ใช้ตามเสียงข้างมาก รวมถึงการออกเสียงประชามติเรื่องอื่นพร้อมๆ กับการเลือกตั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม ไม่รอกฎหมายประชามติ ถ้าจะให้ทันต้องเสนอโดย ครม.เท่านั้น เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูป

ส่วนที่มาของ ส.ส.ร.นั้น นิกรกล่าวว่า เสนอการเลือกตั้งทางอ้อมในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี คนชรา คนพิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มละ 2 คน และนักวิชาการต่างๆ ส่วนการเลือกตั้งทางตรงมาจากจังหวัดละ 1 คน

“ผมเชื่อว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เชื่อไปก่อน ถ้ามันจะไปตายก็ไปตายข้างหน้า” นิกรกล่าว และเอ่ยด้วยว่ายังมีเวลาเสียใจอีกเยอะ อย่าไปเสียใจระหว่างทาง มันเสียขบวน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image