“สงวน คุ้มรุ่งโรจน์” หลากรสชีวิต นักข่าวลูกจีน

เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีสำหรับคนที่คลุกคลีอยู่ในสนามข่าว โดยเฉพาะเมื่อมีการเสวนาวิชาการหรือข่าวการเคลื่อนไหวทางการเมือง

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนจะจดจำกันได้ คือ เขาจะยกโทรศัพท์มือถือถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวตลอดเวลาในชื่อ “Sa-nguan Khumrungroj” อัพเดตความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์รวดเร็วรายนาที

แรกเมื่อเขาปรากฏตัวบางคนคาดคะเนว่าเขาเป็นสายให้เจ้าหน้าที่ บ้างก็ว่าเขาอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว บ้างบอกว่าเป็นสื่อมวลชน แต่ระบุไม่ได้ว่ามาจากสำนักไหน

ใครๆ ก็เรียกเขาว่า “เฮียหงวน”

Advertisement

สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวอาวุโสผู้คร่ำหวอดในข่าวภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน หันหลังให้สำนักข่าวที่สุดท้าย เมื่อได้รับคำสั่งจากสำนักข่าวในฮ่องกงให้ไปทำข่าวที่ชายแดน “เวียดนาม-พม่า” คล้ายเป็นตลกที่คนทำงานขำไม่ออก

ในวัย 62 ปี เขาใช้เฟซบุ๊กเป็นที่เผยแพร่ข่าวสาร ทั้งเรื่องราวที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน การวิเคราะห์ข่าว จนถึงเรื่องราวที่แหล่งข่าวส่งข้อความมาบอกเขาส่วนตัวจนตอนนี้มีผู้ติดตามเฉียด 1.5 หมื่นคน

เกิดที่เยาวราชในครอบครัวยากจน ก๋งกับพ่อเป็นช่างไม้ทำงานรับจ้าง ในสมัยที่ลูกจีนไม่มีบทบาทถูกกีดกันไม่ให้รับราชการ สงวนในวัยเด็กพูดภาษาจีนคล่องกว่าภาษาไทย มีแนวคิดอนุรักษนิยมแบบจีนโบราณ

Advertisement

อายุ 12 ไปเรียนต่อมัธยมที่ไต้หวันในสมัยของ เจียง ไคเชก รู้จักกับนักเรียนไทยหลายคนที่ไปเรียนที่นั่น ก่อนศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมหาวิทยาลัยที่ไต้หวัน

“เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลทุกอย่าง เราจะอยู่ได้เราต้องมีเพื่อน ต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพกัน เราอยากเป็นมหาอำนาจแล้วพร้อมหรือยัง มหาอำนาจต้องทำให้คนอื่นเคารพ มีศักดิ์ศรี เป็นผู้นำ”

กลับมาไทยเริ่มสอนหนังสือภาคค่ำที่โรงเรียนจีน และเริ่มอาชีพนักข่าวที่แรกกับหนังสือพิมพ์จีน “ศิรินคร” (เกียฮั้วตงง้วน) ในช่วง 6 ตุลาคม 2519

40 ปีในสายอาชีพนักข่าว เขาทำข่าวหลายแวดวงกับสำนักข่าวกว่า 40 แห่งในหลายประเทศ ทั้งในรูปแบบประจำ ฟรีแลนซ์ หรือกระทั่งเขียนให้ฟรี

เคยเป็นที่ปรึกษากรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และอาจารย์พิเศษบรรยายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมหาวิทยาลัย

ในวันที่นัดพบพูดคุยกันเฮียหงวนพกรูปปึกหนึ่งมาเล่าเรื่องราวให้ฟังถึงแต่ละเหตุการณ์ที่พาเขาไปพบแหล่งข่าวที่หลากหลาย อาทิ ลี กวนยู, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สม รังสี, ฮันซูหยิน, ชีเช็ง, เติ้ง ลี่จวิน, เติ้ง เสี่ยวผิง

กระทั่งรูปที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรียืนเล่นหนวดเครานักข่าวหนุ่มหน้าตี๋

“ม.ร.ว.เสนีย์ชอบมาดึงหนวดเรา (หัวเราะ) เพราะเราเด็กไง ตอนเป็นหนุ่มเราเป็นอาตี๋ อ่อนน้อมจริงๆ ไม่ก้าวร้าวเหมือนตอนนี้ หอบพะรุงพะรังไปทุกงาน”

เขาบอกว่าหลายครั้งเป็นความโชคดีที่เข้าถึงแหล่งข่าวได้โดยบังเอิญ แต่เรื่อง “ฟลุค” ชนิดนี้ ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเส้นทางนักข่าวของเขา จนน่าคิดว่าคงไม่ใช่เพียง “โชคชะตา” ที่พาเขาไปยืนอยู่ในที่ที่มีข่าว

สงวน คุ้มรุ่งโรจน์-2

– เริ่มทำข่าวที่แรกกับหนังสือพิมพ์จีนในไทย?

หนังสือพิมพ์จีนเงินเดือนสมัยนั้นแค่พันกว่าบาท ผมเป็น “ซิงตึ๊ง” ตอนนั้นเหมือนคนจีนแผ่นดินใหญ่มาเซ่อๆ ซ่าๆ ยิ่งกว่าบ้านนอกเข้ากรุง มองโลกสวยหมด ข่าวชิ้นแรกที่แปลคือจะสร้างสนามบินหนองงูเห่า คิดดูเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว กว่าจะได้หนองงูเห่าคือสุวรรณภูมิตอนนี้ผ่านมาตั้งกี่ปี

ตอนนั้นรู้สึกแสนซวยสำหรับวงการ เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รัฐบาลสั่งปิดหนังสือพิมพ์ทั้งหมด หนังสือพิมพ์เรารอดเพราะเป็นหนังสือพิมพ์จีนที่จดในนามของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล หนังสือพิมพ์จีนยุคนั้น ประธานกรรมการเป็นอธิบดีกรมตำรวจก็มี รองนายกฯ ก็มี

ยุคหนึ่งนักศึกษาขับไล่ต่อต้านจอมพลประภาส จารุเสถียร แต่ในที่สุดจอมพลประภาสรวบรวมพวกพ่อค้าคนจีนมาตั้งบริษัทเงินทุนสหไทย ที่สวนมะลิ ก็เสียความรู้สึก พวกนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตย เพราะถือแต่ผลประโยชน์

– ตอนนี้หนังสือพิมพ์จีนในไทยมีกี่ฉบับ?

6 ฉบับ ลดน้อยลงแต่ยังไม่ตายและไม่ยอมตาย ยังมีคนอ่าน ยังมีนักท่องเที่ยว สมัยก่อนต้องมีทุกแผง แต่เดี๋ยวนี้หาซื้อยากหน่อย เยาวราชยังมี โรงแรมก็วางให้อ่านฟรี บางฉบับมีเว็บ เสียดายว่าตอนนี้มี 6 ฉบับแต่ข่าวที่เอามาไม่ใช่ข่าวสังคมไทยหรือข่าวสังคมจีนในไทย กลายเป็นว่าจีนแผ่นดินใหญ่หรือบริษัทมีเดียบางแห่งซื้อหนังสือพิมพ์ที่นี่ บางฉบับเป็นของกวางตุ้ง บางฉบับเป็นของฮ่องกง แม้กระทั่งคนของพรรคการเมืองก็เคยซื้อ กลายเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ไป

– ทำงานกับหนังสือพิมพ์ต่างประเทศด้วย?

ที่อยู่ยาวหน่อยก็คือหนังสือพิมพ์จีนที่สิงคโปร์และฮ่องกง รวม 40 กว่าแห่ง เนชั่นก็เคยทำ ชีวิตผมเป็นฟรีแลนซ์ ที่เคยประจำคือ อาซาฮีชิมบุนของญี่ปุ่น เคยอยู่เกียวโตสั้นๆ ครึ่งปี

ที่สิงคโปร์ทำอยู่ 15 ปี ทุกคืนตอน 2 ทุ่มต้องเอาพาดหัวให้รัฐบาลเซ็นเซอร์ เพื่อนคนสิงคโปร์ไปสัมภาษณ์ฝ่ายค้านมา เทปต้องเอาไว้ในห้องสมุด เวลารัฐบาลจะโจมตีฝ่ายค้าน นักข่าวต้องไปเป็นพยานว่าฝ่ายค้านเคยด่ารัฐบาล

ฮ่องกงทำ 10 ปี เป็นผู้สื่อข่าวพิเศษ ไม่ได้ทำเฉพาะข่าวเมืองไทย ทำครอบจักวาลทั่วภูมิภาค อยากเขียนอะไรก็เขียน ผมอาจจะได้เปรียบกว่าคนอื่นที่รู้ภาษาจีน-ภาษาอังกฤษ อยากไปไหนก็ไป ไม่ต้องจำกัดตัวเอง

– เคยคิดไหมว่าจะมาเป็นนักข่าวตลอดชีวิต?

ไม่เคยคิดเลย จริงๆ แล้วอยากเป็นครู อยากทำหนัง เคยเล่นเป็นตัวประกอบ เคยเป็นที่ปรึกษาท่านมุ้ยเรื่องจดหมายจากเมืองไทย ที่เห็นเฟซบุ๊กผมจับฉ่ายเพราะชีวิตผมจับฉ่าย เป็นเด็กส่งโอเลี้ยง ทำพาร์ตไทม์ เป็นล่าม ไกด์ผี นักเที่ยวกลางคืน สมัยหนุ่มตามดารางิ้วไปถึงฮ่องกง คลั่งเป็นตี๋บ้า เก็บเพลงจีน เก็บหนัง ที่บ้านหนังสือภาษาไทยน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นจีน ญี่ปุ่น เพราะตำราญี่ปุ่นมีการค้นคว้าวิจัยมากกว่าของไทย สารานุกรมเรื่องข่าว-ประวัติศาสตร์ภูมิภาคอุษาคเนย์ ไทยทำน้อยกว่าญี่ปุ่น น่าเสียดาย

แต่ก่อนนักข่าวทำข่าวยากมาก ต้องรวมคนที่ห้องนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ มีโทรศัพท์เครื่องหนึ่ง มีช่องแจกข่าวของแต่ละสำนักพิมพ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นข่าวราชการ ตอนนั้นท่านผู้นำจะให้สัมภาษณ์นักข่าวไม่กี่คน เป็นพวกนักข่าวอาวุโส ส่วนพวกเด็กๆ ก็อด ต้องรู้จักที่ต่ำที่สูง คารวะเจ๊คนนั้นคนนี้

จำได้ไปทำเนียบวันแรก เจอเจ๊บอกว่ากลับไปฟังข่าวเที่ยงกรมประชาสัมพันธ์เหอะ ผมร้องไห้เลย เป็นซิงตึ๊งเพิ่งกลับมา ภาษาไทยก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ยิ่งอยู่หนังสือพิมพ์จีนก็ถูกหาว่าเล่นงิ้ว เหมือนเป็นหนังสือพิมพ์ลูกเมียน้อย หนังสือพิมพ์ภาษาต่างๆ ควรจะเท่าเทียมกัน

– มีข่าวไหนไปทำแล้วรู้สึกอันตรายที่สุด?

หลายที่ ที่เขมรก็อันตราย เราอยู่ 3 ปี 1990-1993 สมัยสหประชาชาติยังอยู่ มีการซุ่มยิง ความปลอดภัยไม่สูง ส่วนที่พม่าเหตุการณ์ 1988 ตอนนั้นผมทำงานกับหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ ถูกจับสอบสวนว่าเข้ามาได้ไง เขาไม่อนุญาตให้นักข่าวเข้า ผมต้องฝากฟิล์มให้กับสถานทูตสิงคโปร์ ใช้รถทูต แต่เดี๋ยวนี้พม่าเปลี่ยนไปแล้ว

ที่เวียดนามเมื่อ 30 ปีที่แล้วช่วงถอนทหารจากกัมพูชาก็เข้าไม่ได้ ขอวีซ่านักข่าว 1 เดือน แต่เข้าได้ 7 วัน ทุกอย่างลับหมด ต้องมีคนติดตาม ต้องมีล่าม มีคนขับรถที่การต่างประเทศจัดให้ในราคาแพงมาก ช่วงนั้นบุหรี่มาร์ลโบโรมีค่ามากเป็นสินบนนำทาง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีความหมาย (หัวเราะ)

ตอนเหตุการณ์เทียนอันเหมินนองเลือด ผมกลับมาเขียนด่า ถูกจีนแบนไม่ให้เข้าประเทศหลายปี ชีวิตเราความจริงน่าจะตายไปตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เห็นคนในวงการนี้บางคนตายในสมรภูมิ บางคนตกงาน ช่วงวิกฤตคือต้มยำกุ้ง นักข่าวต้องไปขายของเก่าที่มาบุญครอง ขายแจ๊กเก็ต รองเท้า หนังสือ เดือดร้อนมาก อีกช่วงสมัยน้าชาติ วิกฤตนักข่าวถูกปิดหูปิดตาปิดปาก มีนักข่าวติดคุก

สงวน คุ้มรุ่งโรจน์-10

– แหล่งข่าวคนไหนเข้าถึงตัวยาก?

ที่พบยาก คือ “ป๋า” สมัยเรายังเด็ก ป๋าบอกว่า “กลับบ้านเถอะลูก” เจอกันอย่างนี้ แกเป็นเตมีย์ใบ้ คนอื่นไม่ค่อยใบ้ ยุคนั้นทหารเลี้ยงนักข่าวด้วยซ้ำ แถลงข่าวเสร็จแล้วมีข้าว นักข่าวก็ชอบของฟรี ยุคนั้นเป็นยุคสงครามเย็น มีการต่อต้านคอมมิวนิสต์ นักข่าวตอนนั้นก็ต้องช่วยชาติ ช่วยต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วย ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้เราคบคอมมิวนิสต์

รอแหล่งข่าวบางครั้งต้องดักหน้าห้องน้ำ ต้องฉวยจังหวะ หรือประชุมเสร็จมีผู้แทนเข้าห้องน้ำ เขากระซิบอะไรกันเราก็เข้าไป ต้องมีเทคนิค นี่คือการทำข่าว ผมจะไม่เอาข่าวประกาศที่ทุกคนมีเหมือนกัน ลอกทีหลังก็ได้ นักข่าวไทยส่วนใหญ่ไม่บุก ก่อนถามคำถามสิ่งที่ทำให้ทำข่าวง่ายและเข้าถึง คือ ต้องไปอ่านประวัติเขา สิ่งที่เขาชอบ และเรื่องภาษาพูดต้องได้บ้าง บางครั้งผมอวดภูมิเพราะอ่านประวัติเขา พ่อคุณชื่ออะไรมีเชื้อจีน ก็สนุก แต่นักข่าวไทยส่วนใหญ่ไม่เปิดแฟ้ม

– หันมาทำข่าวลงเฟซบุ๊กตัวเอง?

โชคดีที่ยุคนี้มีโลกอินเตอร์เน็ต ผมมีความสุขที่ได้ทำข่าวแข่งขัน บางครั้งดูจับฉ่าย คนไม่รู้ว่าเขียนอะไร ผมเขียนมั่วหลายภาษา แต่สิ่งที่โพสต์ผมเก็บไว้เป็นข้อมูลส่วนตัว เดี๋ยวนี้เฟซบุ๊กขึ้นเตือนวันนี้เมื่อปีที่แล้ว 3 ปีที่แล้ว คนไม่รู้นึกว่าบ่นอะไร ผมชอบดูทีวีมาก เห็นอะไรผิดในทีวีก็จะโพสต์ จะว่าจับผิดก็ไม่เชิงเพราะผิดแบบน่าเกลียด

ผมดีใจมาก ออกจากสำนักข่าวมา 5 ปี แต่มีเฟซบุ๊กที่มีคนดูมากกว่าหนังสือพิมพ์รายวัน

– บางครั้งมีข่าวที่คนอื่นไม่มี?

นอกจากหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกมา ยังมีหนังสือพิมพ์เยอรมัน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ขายในสมาคม แต่เราไม่สังเกต บางครั้งเขามีข่าวแปลกนอกจากสื่อหลัก เราควรหัดเรียนรู้ สมาคมเกาหลี สมาคมเวียดนามเขามีอะไรบ้าง หลายต่อหลายครั้งไปส่องเว็บของสมาคมต่างๆ ก็ได้อะไรเยอะ คนอื่นบอกว่าไม่เห็นมีในโทรทัศน์เลยทำไมผมหาได้ บางครั้งเขามีภาษาไทย เดี๋ยวนี้หาข่าวง่ายมาก

– ทุกวันนี้ก็ยังออกไปทำข่าว?

ไปคนเดียว ตั้งใจช่วยคน และดมกลิ่น ทำข่าวต้องได้กลิ่นเหมือนสุนัข ผมไม่ชอบโดนสั่ง เจอหัวหน้างี่เง่ามาเยอะ ประเทศไทยไม่เหมือนฝรั่งที่หัวหน้าต้องออกมาเอง นี่เขาสั่งแล้วคิดเองว่าต้องมีอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ใช่

ปีก่อนผมถูกอุ้ม 2 ครั้งที่หอศิลป์กับเมื่อไปทำข่าวฉลาด วรฉัตร เพราะเราอยู่คนเดียว เขารีบอุ้ม ผมตะโกนลั่นเลย ตอนหลังตกกระไดพลอยโจนมาอยู่กับพวกเด็ก ส่วนใหญ่ผมไม่เชียร์คนรวย เพราะจนมาก่อน ผมเห็นความทุกข์ยาก ตอนแรกเด็กบางคนนึกว่าผมเป็นสายให้ตำรวจ ตอนหลังตำรวจสงสัยว่าผมอยู่เบื้องหลังการจัดงานของเด็ก เคยมีคนจัดกิจกรรมที่สกายวอล์กหอศิลป์ เราไม่สบายนอนอยู่ มีตำรวจโทรมาถามได้ข่าวว่าเฮียหงวนอยู่เบื้องหลัง 40 ปีผ่านไปเราก็ยังต้องเผชิญกับพวกนอกเครื่องแบบ

– เวลาแชร์ข่าวจะเรียกชื่อแซ่จีนของนักการเมือง รู้ได้ยังไง?

เคยทำข่าวเลือกตั้งที่มหาดไทย เขาจะมีประวัติ ส.ส. พ่อชื่ออะไร แม่ชื่ออะไร บอกหมด ยุคหนึ่งมีหนังสือเกี่ยวกับทำเนียบ ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งหรือลงสมัคร เป็นคนจีนแทบจะทั้งนั้น เวลานายกฯ หรือรัฐมนตรีได้รับเลือกตั้ง ญาติพี่น้องพ่อแม่เขาจะลงในหนังสือพิมพ์จีน บางครั้งสมาคมแซ่จะลงให้ ถือเป็นเกียรติยศของตระกูล หลายคนผมไม่รู้และไม่แน่ใจ ปรากฏว่าเขามาเปิดเผยตัวเองตามสมาคม เช่น ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ไปร่วมงานสมาคมแซ่แต้ บางคนยังพูดภาษาจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว

เสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจ ไม่ใช่เรื่องจุกจิก เดี๋ยวนี้เราคิดว่าเป็นไทยแท้ด้วยกัน เราไม่ขุดรากเหง้า แต่เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ ถ้าวันหนึ่งเรามีนายกฯเป็นชาวไทยภูเขาหรือแขกซิกข์ เราก็ควรจะเล่าประวัติ แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีคนสะสมชื่อ นี่เป็นไอ้บ้าจริงๆ จดมา 3-4 พันคนแล้ว

– จำแซ่คนได้หมดเลย?

ตอนอยู่หนังสือพิมพ์จีนเขาลงเยอะเลย ไม่รู้ก็ไปที่สมาคม ทำไมผมรู้แซ่ปณิธาน วัฒนายากร เพราะไปศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยว เห็นชื่อผู้จัดการนามสกุลวัฒนายากร มีเทียบชื่อจีนชื่อไทย ถ้าคนอ่านไม่ออกก็ไม่สนใจ หรือชื่อหน้าศาลเจ้าบอกว่าสร้างโดยสิมะเสถียร

สมัยก่อนคนจีนถ้าเป็นไฮโซมักตัดนามสกุลให้สั้นลง พวกทั่วไปนามสกุลยาว เตชะ-แซ่แต้ ตันติ-แซ่ตั้ง ลีลา-แซ่ลี้ ยุคนั้นเขาบังคับ มิฉะนั้นจะไม่มีฐานะทางราชการ กลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3

สมัยก่อนโรงเรียนจีนก็มีเยอะ อย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เรียนโรงเรียนจีน ร.ร.เผยอิงที่ถนนทรงวาด เขาเติบโตมาจากโรงเรียนจีน ก็มาเป็นข้าราชการไทย สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นจีนฮกเกี้ยน แซ่อึ้ง อุทัย พิมพ์ใจชน ก็บอกว่าเป็นไหหลำ สัก กอแสงเรือง ตอนมีตำแหน่งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขณะเดียวกันก็เป็นนายกสมาคมฮกเกี้ยนแห่งประเทศไทย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นนายกสมาคมกวางตุ้งแห่งประเทศไทย พื้นเพคือพระเอกเล่นงิ้ว เจ้าของโรงงิ้ว

สมัยก่อนคนไม่กล้าพูดต้องปิดบัง เดี๋ยวนี้การมีแซ่ดูโก้เก๋ ไม่ต้องปิดแล้ว ข้าราชการไทยบางคนก็ใช้แซ่ แต่ก่อนเป็นข้าราชการไม่ได้ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ

สงวน คุ้มรุ่งโรจน์

– ข่าวในเฟซบุ๊กหลายครั้งบอกว่ามีแหล่งข่าวส่งข้อความมาบอก?

หลายแวดวง ส่วนใหญ่เป็นนักการทูต ราชนิกูล อดีตรัฐมนตรี ทุกคนเรียกผมว่าเฮียหรือพี่ ต้องรู้ว่าพวกนี้อึดอัดไม่มีที่ระบาย ผมเลยต้องบอกว่า อดีตซี 10 บอกมา เป็นเรื่องจริงแต่บางครั้งเราพูดเว่อร์ แก้ให้สนุก ผมเป็นคนมีอารมณ์ขัน ทั้งที่แต่ก่อนเป็นคนที่เศร้ามาก ตอนหลังคิดว่าเสียดสีโลกดีกว่า

– ข่าวที่คนอื่นบอกมาต้องตรวจสอบไหม?

ต้องตรวจสอบ เพราะบางคนจะให้ผมไปตีอีกคนหนึ่ง ผมไม่เอา ข้อความหลังไมค์อันตรายมาก ต้องบล็อกเหมือนกัน ผมต่อสู้เพื่อความถูกต้องความยุติธรรมคนอื่นมาบอกว่าเป็นสีนั้นสีนี้ไม่ใช่ ผมก็ต่อสู้เพื่อสื่อ เพราะเราเป็นสื่อ ประชาชนพึ่งสื่อปัจจุบันไม่ได้ เราต้องมาทำสื่อของตัวเองเป็นปากเสียงให้ผู้ถูกปิดหูปิดปาก ผมคิดว่าเฟซบุ๊กผมเหมือนพันทิป 2 มีคนมาคอมเมนต์กัน แต่ถ้าหยาบก็ลบ มีนักวิชาการอาจารย์มาคอมเมนต์ให้เราได้ข้อคิด

– ชื่นชอบอะไรในอาชีพนักข่าว?

คือการเขียนประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัว จดบันทึก อาจไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่เราเห็น ที่สัมผัสทุกวันคือชีวิต กงล้อประวัติศาสตร์ต้องเดินต่อไป หยุดไม่ได้

– มองสื่อปัจจุบันอย่างไร?

นักข่าวไทยบางทีหาข่าวไม่ได้ ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ถามปัญหาเดิมไม่รู้จักจบ คนตอบก็โมโห ต้องมีลูกหยอดให้ความเชื่อมั่น ไม่มีประเทศไหนมายั่วยุแบบนี้ อาจเพราะบ้านเรานักข่าวไม่รู้จักทำข่าวเดี่ยว ทำไมต้องรวมกลุ่ม หรืออย่างสื่อญี่ปุ่นบางครั้งงกด้วย เขียนว่าข่าวนี้เป็นของใครถ้าลอกจะดำเนินการตามกฎหมาย แต่เราไม่ใช่ กระทั่งรูปยังเอาไปใช้ไม่บอกที่มา ผมเจอบ่อย แต่ก็มีความสุขเท่ากับเผยแพร่กิจกรรมประชาธิปไตยด้วย

สื่อต้องมีสติ ไม่ควรไปเคลื่อนไหวในทางผิดๆ ปัญหาการเมือง 10 ปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจากสื่อบางเจ้า สื่อต้องเป็นสื่อ แล้วสมาคมเรามีมากเกินไป จนไม่รู้ว่าทำอะไร จริงๆ แล้วสมาคมควรทำหน้าที่คล้ายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีการร้องเรียน แล้วดูตอนนี้จะตั้งสมาคมแห่งชาติอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image