ชวนสนทนาข้ามโลกหลายมิติ จริงที่สุด ถูกที่สุด วิจารณ์ไม่ได้? การถกเถียงของสังคมไทย ในวันที่แต่ละฝ่ายยืนยัน‘ความรู้เฉพาะทาง’

ผมว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่สังคมไทยเรามาถึงจุดที่เกิดการถกเถียงกันความรู้เฉพาะทาง ความเป็นจริง และความจริงที่สุด ในที่สาธารณะ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยที่เรื่องใหญ่ๆ เหล่านี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีสถาปนิกคนหนึ่งแสดงทรรศนะปกป้องสถาปนิกด้วยกันเอง ว่าหากใครที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางผังเมือง ก็ไม่ควรมาวิจารณ์การจัดผังเมืองของนักผังเมืองอาชีพ

หรืออีกกรณีคือการถกเถียงกันระหว่างนักโหราศาสตร์กับนักพุทธศาสนา ถึงความน่าเชื่อถือหรือความงมงายของโหราศาสตร์ แล้วแถมยังมีนักดาราศาสตร์มาตั้งคำถามต่อว่า หากจักรวาลเปลี่ยนไป โหราศาสตร์จะเป็นอย่างไร

นับว่าเป็นบรรยากาศของการถกเถียงสาธารณะที่เราไม่ได้เห็นกันบ่อยนักในสังคมไทย เพราะที่เห็นบ่อยกว่าคือการเอาจมูกไปคอยสูดดมเรื่องชีวิตส่วนตัวของดารา ว่าใครจะจูบกับใคร ใครจะทักแชตใครด้วยอะไร อย่างไร

Advertisement

ถึงอย่างนั้น การถกเถียงเรื่องความรู้ในสังคมไทยขณะนี้นั้น จะเห็นว่าแต่ละฝ่ายต่างก็ยืนยันในความเชี่ยวชาญ ความรู้เฉพาะทางของตนเองทั้งสิ้น ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นหรือมั่นใจเกินร้อยว่าความรู้ของตนเองจริงที่สุด ถูกที่สุด รู้ที่สุด

สิ่งที่เรายังไม่ค่อยเห็นคือ เราสงสัยในความรู้ของเราบ้างหรือไม่ เราสนใจข้อจำกัดของตนเองบ้างหรือไม่ นักโหราศาสตร์คำนวณความผิดพลาดของตนเองไว้บ้างหรือไม่ แล้วบอกหรือไม่ว่าโอกาสผิดพลาดมีเท่าไหร่ นักศาสนาพุทธเห็นข้อบกพร่องในศาสนาอย่างไรบ้าง ทำไมศาสนาที่ก่อตั้งมานมนานก็ยังมิได้ทำให้โลกดีขึ้นมาได้ แต่ศาสนากลับถูกเอาไปใช้หาประโยชน์ทางการเมืองและการค้า

นอกเหนือจากเนื้อหาทางวิชาการแล้ว ทักษะสองอย่างที่ผมเรียนรู้จากครูบาอาจารย์ฝรั่งคือ

Advertisement

ด้านหนึ่ง เราต้องไม่ใช่แค่กล้า แต่ต้องฝึกฝนที่จะวิพากษ์ โต้เถียง สงสัย และหากจำเป็นคือ ต้องหักล้างความเห็นต่างๆ ที่เราไม่เห็นด้วย ไม่ว่าเขาจะเป็นใครแม้แต่ครูบาอาจารย์เราเอง และไม่ว่าความสงสัยนั้นจะมาจากข้อมูลหรือหลักคิดใดๆ หรือแม้อาจจะมาจากอคติของเราเองก็ตาม นั่นเพราะความสงสัยและการโต้เถียงเป็นบ่อเกิดของความรู้ใหม่

แต่อีกด้านที่ผมเรียนรู้จากครูฝรั่งมาคือ การสงสัยต่อตนเอง การทบทวนตนเอง การวิพากษ์ตนเอง ด้วยการมองหาข้อจำกัดของตนเองอยู่เสมอ

ข้อนี้บางทีครูบาอาจารย์ไทยกลับไม่ได้สอนกันนัก ครูไทยสอนให้ถ่อมตน แต่ไม่ได้สอนให้วิพากษ์ทบทวนตนมากนัก ส่วนหนึ่งคงเพราะครูไทยสอนให้เชื่อครูแล้วความรู้เราก็มาจากครู ก็เลยไม่ทั้งวิพากษ์ครูและไม่ทบทวนตนเอง

พูดง่ายๆ คือ พัฒนาการความรู้ของฝรั่งไม่ได้มาจากการต่อยอดคนอื่นเท่านั้น แต่ยังมาจากการทบทวนตนเองเสมอด้วย ความรู้แบบฝรั่ง ทั้งในแง่ของเนื้อหาและวิธีการ จึงมาจากการถกเถียงกันและทบทวนตนเองกันเสมอ

และนั่นจึงทำให้ความรู้ฝรั่งมาจากการนำความรู้นอกเหนือจากที่ตนเองรู้ เข้ามาเสริมความรู้เดิม หรือแม้แต่หักล้างความรู้เดิมอยู่บ่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น ศาสตร์ที่ผมศึกษาอย่างมานุษยวิทยา ซึ่งไม่ได้มีอายุยืนยาวเท่าโหราศาสตร์จีนหรือพุทธศาสนา ไม่ยืนยาวเท่าดาราศาสตร์ และอายุน้อยกว่าสถาปัตยกรรม แต่มานุษยวิทยาทบทวนตนเองตลอดเวลาในระยะ 100 ปีเศษของสาขาวิชานี้ ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในโลกอุตสาหกรรมและจักรวรรดินิยม

เช่น ทศวรรษ 1890 มานุษยวิทยาเปลี่ยนวิธีการศึกษา จากการฝากคำถามให้นักเดินทางไปถามแทน ไปเป็นการเก็บข้อมูลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกด้วยตัวนักมานุษยวิทยาเอง เพื่อที่นักมานุษยวิทยาจะได้เรียนรู้ชีวิตคนอื่นด้วยตนเองใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ทศวรรษ 1970 นักมานุษยวิทยาตระหนักว่า ความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งมาจากการตีความให้ความหมายของนักมานุษยวิทยาร่วมกับผู้คนที่ศึกษา ไม่น้อยไปกว่าการสังเกตแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

ทศวรรษ 1990 นักมานุษยวิทยาสงสัยว่าวิธีการหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่สาขาวิชานี้อาศัยเป็นรากฐานนั้น ยึดมั่นในความรู้ของตนเองมากเกินไปหรือเปล่า อธิบายชีวิตคนอื่นด้วยอคติตนเองมากเกินไปหรือเปล่า จนไม่สามารถก้าวไปเข้าใจโลกของคนอื่นที่มีรากฐานความคิด การมองโลก การอยู่กับโลก ต่างจากวิทยาศาสตร์ได้

อันที่จริงยังมีข้อถกเถียงอื่นๆ ในสาขานี้เองอีกมากมาย แต่ขอยกที่ชัดๆ เพียงเท่านี้ก่อน เพราะเรื่องที่อยากชวนให้คิดกันต่อคือ เรื่องการเอาความรู้ตนเองเป็นที่ตั้งแล้วลดค่าความรู้คนอื่นนี่แหละ

ข้อสงสัยใหญ่ข้อหนึ่ง เหมือนกับที่โลกวิชาการตะวันตกตั้งคำถามกันมาตั้งแต่หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วว่า หากโลกพัฒนาขึ้น แล้วทำไมคนบางกลุ่มยังทุกข์ยาก อดอยาก หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้น หรือทำลายล้างผู้คนกันแน่

คำถามของนักมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งในยุคสมัยปัจจุบันนี้คือ การที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงไม่สามารถแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ที่มนุษย์คุกคามขูดรีดเอาจากสิ่งแวดล้อมเสียจนเกิดภาวะ “โลกเดือด” อย่างในทุกวันนี้ได้

ในภาวะเช่นนี้ นักมานุษยวิทยาและนักธรณีวิทยาหลายคนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า เราอาจจะกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ทางธรณีวิทยา ที่มนุษย์ส่งผลเปลี่ยนแปลงผืนโลก มากเสียยิ่งกว่าที่โลกเองเปลี่ยนแปลงไปเองทางกายภาพแล้วส่งผลต่อมนุษย์ ซ้ำร้าย การเปลี่ยนแปลงนี้ยังเป็นการที่มนุษย์ก่อผลเสียร้ายแรงต่อโลกทางกายภาพ ทำให้เกิดคำเรียกยุคสมัยของโลกปัจจุบันว่า anthropocene ที่อาจแปลว่า “มนุษยสมัย”

มีข้อถกเถียงอีกต่อมาว่า เราจะโทษมนุษย์ทุกคนได้เชียวหรือ ในเมื่อมนุษย์บางส่วนของโลกเท่านั้นที่เป็นผู้ขูดรีดธรรมชาติอย่างรุนแรง จึงเกิดข้อเสนอย่อยว่า เราอาจต้องเรียกว่ายุคนี้เป็น “ยุคทุนครองโลก” (capitalocene) เสียมากกว่าหรือเปล่า

การทบทวนตนเองของนักมานุษยวิทยานี้นำไปสู่การปรับจุดยืนอย่างสำคัญ คือ การพยายามลดการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางของความรู้

คำอธิบายที่เดิมนักมานุษยวิทยายกให้เหตุผลทางสังคม-วัฒนธรรมและการสร้างทางเลือกในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เป็นแกนกลางของการเข้าใจกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งหมดนั้น กำลังต้องคิดกันใหม่

นั่นคือเกิดข้อเสนอใหม่ว่า อันที่จริงแล้ว สังคม วัฒนธรรม และปัจเจกภาพของมนุษย์นั้น เป็นเพียงหนึ่งในความเป็นไปได้ของการมีชีวิต ท่ามกลางพลังอำนาจนอกเหนือการควบคุมของมนุษย์มากมาย

การจะเข้าใจมนุษย์ได้ จึงยังต้องสนใจความเป็นไปได้อื่นๆ อันเกิดจากความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต นั่นคือต้องคำนึงถึงบทบาทที่สิ่งอื่นๆ ที่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ ว่าสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อการเลือกและการไม่ได้เลือกกระทำของมนุษย์อย่างไรด้วย

ดังนั้น นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด หรือการพลิกผันทางเทคโนโลยี ล้วนมีผลต่อมนุษย์อย่างที่เราจะไม่เอาใจใส่ต่อตัวตนอันเป็นเอกเทศของสิ่งที่มิใช่มนุษย์เหล่านี้ไม่ได้

ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาจึงพยายามหาความสัมพันธ์ที่นอกเหนือจากมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น งานศึกษาจุลินทรีย์กับคน งานศึกษาเห็ดกับคน งานศึกษาการสื่อสารของสิ่งมีชีวิตอื่นกับคน งานศึกษาเทคโนโลยีกับคน

ตลอดจนการศึกษาการอยู่กับโลกในแบบที่แตกต่างไปจากแบบที่โลกวิทยาศาสตร์หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมและจักรวรรดินิยมยึดถือและเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็นโลกแบบไสยศาสตร์แบบใดๆ รวมทั้งไสยศาสตร์ของดวงดาวอย่างโหราศาสตร์ และศาสนาตะวันออกแบบต่างๆ รวมทั้งศาสนาพุทธ

ความรู้เหล่านี้ไม่เพียงต้องไม่ถูกลดทอนให้กลายเป็นคำอธิบายเชิงเหตุเชิงผลแบบวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความโง่งมงาย เป็นวิทยาศาสตร์ขั้นแรกเริ่ม หรือเป็นกุศโลบายในการสอนจริยธรรม แต่นักมานุษยวิทยารุ่นหลังๆ พยายามเข้าใจว่ามีหลักคิดอะไรที่แตกต่างจากหลักความเข้าใจแบบวิทยาศาสตร์ ที่อคติแบบวิทยาศาสตร์เข้าไม่ถึง

ทั้งหมดนี้เพื่อค้นหาทางเลือกใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมกับโลก ค้นหาความเข้าใจที่แตกต่างไปจากอคติแบบสมัยใหม่ หรือแม้แต่อคติแบบศาสนาใหญ่ๆ ของโลก

ในเมื่อโลกที่อยู่มาภายใต้การนำของวิทยาศาสตร์และศาสนาใหญ่ๆ ของโลกปัจจุบันไม่สามารถหาทางออกให้กับโลกปัจจุบันได้ทั้งหมด ในเมื่อความรู้แบบนี้เองนั่นแหละที่ก่อปัญหาจนนำมาสู่ภาวะโลกเดือดและการขูดรีดทั้งคนและธรรมชาติดังในปัจจุบัน ทำไมเราจะไม่ลองเผื่อใจว่าความรู้และโลกวิถีแบบอื่นๆ จะเปิดแนวทางใหม่ๆ ให้กับเราได้

ในโลกที่ผู้คนอาศัยจุลินทรีย์มากกว่าฆ่าจุลินทรีย์ ฟังเสียงธรรมชาติมากกว่าความรู้ของมนุษย์เอง ยอมรับบทบาทของข้าวของเครื่องใช้ไม่น้อยกว่าจิตวิญญาณและความเชื่อของมนุษย์ด้วยกันเอง อยู่กับสิงสาราสัตว์ไม่น้อยกว่าอยู่กับคนด้วยกันเอง อาจมีความรู้ที่พ้นจากยุคสมัยที่มนุษย์พัฒนาการทำร้ายโลกซุกซ่อนอยู่

นักพุทธศาสนาที่ใจกว้าง ย่อมรู้ดีว่าศาสนาพุทธไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิตมนุษย์ นักโหราศาสตร์เองเขาย่อมรู้ว่าเขาทำอะไรได้แค่ไหน แต่ก็อย่าเข้าใจว่า เพียงความเก่าแก่ของศาสตร์จะเป็นความถูกต้อง นักดาราศาสตร์ก็อย่าลืมว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่ได้ด้วยตนเองและยังมีส่วนในความเลวร้ายที่กระทำต่อโลกและผู้คนปัจจุบัน

ส่วนนักมานุษยวิทยาอย่างผม ก็จะตรวจสอบตนเองต่อไปอย่างสม่ำเสมอจนอาจจะหมดหน้าที่ไปสักวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image