โขนหน้าจอ สมโภชยิ่งใหญ่ เราเกิดบางนี้…บางประทุน ทุ่มบูรณะวิหารหลวงปู่บุญ ไม่ศรัทธาทำไม่ได้

โขนหน้าจอ สมโภชยิ่งใหญ่ เราเกิดบางนี้...บางประทุน ทุ่มบูรณะวิหารหลวงปู่บุญ ไม่ศรัทธาทำไม่ได้
วิหารหลวงปู่บุญ วัดแก้วไพฑูรย์ เดิมเป็น ‘โบสถ์มหาอุด’ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หรืออาจเก่าไปถึงปลายกรุงศรีอยุธยา

โขนหน้าจอ สมโภชยิ่งใหญ่ เราเกิดบางนี้…บางประทุน

ทุ่มบูรณะวิหารหลวงปู่บุญ ไม่ศรัทธาทำไม่ได้

อย่าเรียกเศรษฐี ให้เรียกผู้มีศรัทธา

คือนิยามที่ พรรษา ขำสัจจา หรือต๋อง ชาวบ้านบางประทุน ผู้ร่วมกับน้าสาว ดำเนินการบูรณะ วิหารหลวงปู่บุญ หรือพระอุโบสถหลังเก่า วัดบางประทุนใน หรือ วัดแก้วไพฑูรย์ ย่านบางขุนเทียน จอมทอง กรุงเทพฯ

ADVERTISMENT

ควักเงินบริจาค 5.5 ล้าน ก่อนจัดงานสมโภช ทำบุญ เลี้ยงพระ พร้อมจ้าง โขนหน้าจอ จากกรมศิลปากร ควักอีกเกือบ 2 ล้าน

ย้ำชัด “เศรษฐีมีเยอะ แต่ถ้าไม่มีศรัทธา ทำไม่ได้”

ADVERTISMENT

ต๋อง บางประทุน เปิดใจว่า เป็นชาวบางประทุน มีความศรัทธาในพระศาสนา และต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เมื่อพบว่าวิหารหลวงปู่บุญทรุดโทรม ตนและน้าสาว (จู สงวนคัมธรณ์) จึงมีแนวคิดบริจาคทรัพย์บูรณะ เป็นเงินราว 5.5 ล้านบาท จากนั้นจึงสมโภช ทำบุญ เลี้ยงพระ และการแสดงโขน โดยมีค่าใช้จ่ายเกือบ 2 ล้านบาท รวมทั้งการบูรณะและการสมโภชเกือบ 8 ล้านบาท

ภายในวิหารหลวงปู่บุญ หลังการบูรณะครั้งล่าสุด

พรรษา ขำสัจจา หรือต๋อง ชาวบ้านบางประทุน ร่วมกับ จู สงวนคัมธรณ์ น้าสาว บริจาคทรัพย์ด้วยศรัทธา บูรณะวิหารหลวงปู่บุญ พร้อมจัดงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ 3 วัน 3 คืน

“เราเกิดบางนี้ คือ บางประทุน เห็นว่าวิหารหลวงปู่บุญทรุดโทรมมาก จึงขอให้ทางวัดทำเรื่องขออนุญาตบูรณะไปยังกรมศิลปากร โดยตนกับน้าสาวร่วมกันบริจาคทรัพย์ จากนั้นจึงจัดงานสมโภช พร้อมกับการฉลองอายุวัฒนมงคล เจ้าอาวาส คือ พระครูวิมลรัตนธาร (หลวงพ่อจรินทร์ กระต่ายแก้ว เจ้าอาวาสวัดแก้วไพฑูรย์) ครบ 80 ปีด้วย จึงทำพ่วงกันไป จัดการค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ เลี้ยงพระ และการเผยแพร่วัฒนธรรม ผมเป็นโขนเก่า เคยอยู่วิทยาลัยนาฏศิลป์ เลยชอบแบบนี้ ชอบไทยๆ จัดเต็มที่ มาเต็มเหนี่ยว ผู้แสดงที่เป็นอาจารย์ก็พวกกัน เพื่อนกัน เราอยากรักษาวัฒนธรรมไว้ไม่ให้สูญหาย เราพอทำได้ จ้างได้ก็จ้างมา ค่าใช้จ่ายร่วม 2 ล้าน ส่วนการบูรณะตกราว 550,000 บาท” ต๋องพรรษา เล่าด้วยใบหน้าอิ่มเอมใจ

สำหรับ หลวงปู่บุญ คือพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นพระอธิการระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ช่วงเวลาเดียวกับที่มีผู้สันนิษฐานว่า ศาลาการเปรียญ อันงดงามของวัดถูกสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาในย่านบางประทุนอันตั้งอยู่ใกล้ย่านข้าหลวงเดิมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างบางนางนอง โดดเด่นด้วยความวิจิตรบรรจงของฝีมือจำหลักไม้ที่สลักเสลาเรื่องราวของสุธนุชาดกบนฝาปะกน งดงามเป็นที่เลื่องลือ ก่อนทรุดโทรมลงตามกาลเวลา กระทั่งได้รับการบูรณะภายใต้โครงการ ‘แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง’ ของเครือมติชน จนเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดใช้งานโดยมีการทำบุญเมื่อวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560

ส่วนวิหารหลวงปู่บุญ ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า เดิมสถาปัตยกรรมดังกล่าวเป็น ‘โบสถ์มหาอุด’ (โบสถ์ที่มีทางเข้า-ออกทางเดียว) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสถาปนาอารามในสมัยรัชกาลที่ 3 หรืออาจเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย แม้ไม่มีหลักฐานชี้ชัด ทว่า เทียบเคียงได้กับ ‘วิหารหลวงพ่อดำ’ อุโบสถหลังเก่าสมัยอยุธยาของวัดสิงห์ บางขุนเทียน ซึ่งห่างออกไปไม่ไกล โดยมีลักษณะเป็น ‘โบสถ์มหาอุด’ เช่นกัน

ค่ำคืนวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา มีการจัดงานสมโภชวิหารหลวงปู่บุญ เป็นวันที่ 3 หลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสมบูรณ์

ชาวบ้านมากมายหลั่งไหลเข้าจับจองพื้นที่หน้าเวทีเพื่อรอรับชมแสดงโขนโดยกรมศิลปากร

กระทั่งเวลา 2 ทุ่มเศษ ปี่พาทย์ทำเพลงวา แล้วเริ่มการแสดง โดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ศิลปินชื่อดัง อดีต ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ควบคุมการแสดง, ศิริพงษ์ ทวีทรัพย์ นาฏศิลปินทักษะพิเศษ กำกับการแสดง และ จรัญ พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ จัดทำบท

‘โขนหน้าจอ’ จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร รวมคณะทำงานกว่า 100 ชีวิต ปลูกโรงโขน มีวงปี่พาทย์ เล่นตามขนบโบราณยาวนานถึง 4 ชั่วโมง

ชาวบางประทุนและผู้สนใจหลั่งไหลจับจองพื้นที่ตั้งแต่ช่วงค่ำจนเก้าอี้ไม่พอ บางส่วนยืนและนั่งรอบลานวัด ชมโขนอันตระการตา

ศิริพงษ์เผยว่า การแสดงโขนในวันนี้ มีคณะทำงานเกือบ 100 คน โดยเป็นนักแสดงราว 60 คน นักดนตรีราว 20 คน ใช้เวลาเล่นราว 4 ชั่วโมงเต็ม ตั้งแต่ 20.00-24.00 น. ประกอบด้วยตอนขับพิเภก, พิเภกสวามิภักดิ์, ศึกกุมภกรรณ, สุครีพถอนต้นรัง จนถึงอินทรชิตถูกศรกินนม และจบด้วยทศกัณฐ์พุ่งหอกกบิลพัสดุ์

“โขนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเล่นราว 2 ชม.เศษๆ แต่งานนี้เจ้าภาพแจ้งว่าอยากให้เป็นการเล่นโขนหน้าจอแบบโบราณตามอย่างจารีต ทั้งรูปแบบการแสดง การปลูกสร้างเวที โดยมีวงปี่พาทย์อยู่ด้านหลัง บริเวณทางลาดขึ้นลง” ศิริพงษ์อธิบาย

นับเป็นอีกเรื่องราวชวนประทับใจในศรัทธาแห่งพุทธศาสนิกชนจากหลายชั่วอายุคนที่ร่วมสร้างสรรค์ รักษา และบูรณะสถาปัตย์แห่งแผ่นดินให้คงความงดงามสืบไป

พรรณราย เรือนอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image