‘ปาตานี’ 20 ปีผ่านไป ถกปมกฎหมาย (ปิดปาก?) ขวางสันติภาพ

‘ปาตานี’ 20 ปีผ่านไป
ถกปมกฎหมาย (ปิดปาก?) ขวางสันติภาพ

“เข้าสู่ปีที่ 20 มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 21,166 เหตุการณ์ เสียชีวิตไปแล้ว 7,273 ราย และบาดเจ็บ 13,151 คน รัฐบาลใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาไปแล้ว 500,000 กว่าล้านบาท ผ่านนายกฯ ไปแล้ว 8 คน”

มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ จากมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (NUSANTARA) หยิบตัวเลขขึ้นมาแบ กลางสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ภาพความโหดร้ายในช่วงเวลาที่ผ่านมาประจักษ์ชัด

เป็นอีกเสียงที่ขับเน้นความเดือดเนื้อร้อนใจของผู้คนในชายแดนภาคใต้ เป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในบ้านของพวกเขา ที่ขอออกตัวว่าการมาครั้งนี้เพื่อชี้แจงแถลงข้อข้องใจ หลังถูกยัดคดี ‘อั้งยี่ ซ่องโจร’ ยุยงปลุกปั่น เพียงแค่จัดงาน ‘แต่งชุดมลายูในวันฮารีรายอ’ เมื่อปี 2565 เคลื่อนไหวในท้องถิ่นที่เกิดและเติบโต พร้อมนัดพบ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อถกปมการใช้กฎหมายปิดปาก (16 ม.ค.)

Advertisement

เมื่อมายาคติ ‘ไฟใต้’ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ถูกสร้างภาพจำว่าเป็นชายแดนที่เต็มไปด้วยความไม่สงบ ผ่านไปนับ 10 ปี คำว่า ‘สันติภาพ’ ยังไม่มีทีท่าว่าจะก่อร่างได้สำเร็จ คดีความพอกพูน ความเห็นไม่ลงรอยร้าวลึก ปลุกให้เกิดมูฟเมนต์ครั้งสำคัญในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา

เพราะไม่กี่วันหลังจบเวที ‘การบังคับใช้กฎหมายปิดปากภายใต้รัฐบาลเศรษฐา’ หนึ่งในผู้ที่นั่งฟังตั้งแต่ต้นจนจบอย่างจดจ่อ กัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม คว้าชุดมลายู สวมใส่เข้าไปนั่งไฟต์ในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยความร้อนใจ ห่วงใยในประเด็น ‘การใช้กฎหมายปิดปาก’ (SLAPP)

“รัฐบาลกำลังสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน แต่กลับมีการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำต่อนักกิจกรรม โดยมีหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มที่ทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และแสดงออกสิทธิพลเมืองการเมือง”

Advertisement

กัณวีร์กระทุ้งกลางสภาผู้แทนฯอันทรงเกียรติ หวังถึงหูนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพราะเห็นความย้อนแย้งในการสร้างสันติภาพในดินแดน ‘ปาตานี’ หยิบยกหลายเคสรวมทั้งเรื่องราวของ ‘มูฮัมหมัด อลาดี เด็งนิ’ หรือแม้แต่ ‘ซาฮารี เจ๊ะหลง’ ผู้ทำเพจพ่อบ้านใจกล้า ระดมเงินช่วยเหลือครอบครัวของผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรม ที่ไร้การเยียวยาเนื่องจากเข้าไม่ถึงรัฐ แต่กลับถูกตีตราว่าเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง หรืออย่าง ‘อาเต็ฟ โซะโก’ ที่รวมตัวกับเพื่อนๆ ทำกิจกรรมผลักดันสันติภาพในพื้นที่ ทำประชามติจำลอง ก็ลงท้ายด้วยข้อหา

“การบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ ยังเป็นการตบหน้าคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เราใช้สภาในการแก้ปัญหา แต่ใช้กฎหมายไปจัดการกับประชาชน”

ส.ส.จากพรรคเป็นธรรมตอกย้ำ จับมือพานักกิจกรรมเข้าไปเล่าให้ กมธ.กฎหมายฟัง ถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้ ชนิดที่ต้องตั้งคำถามถึงความแฟร์

หลายเสียง หลากสถานการณ์ แต่ใจความที่จับได้ ‘ถึงเวลาทบทวนกฎหมายที่ปิดปาก’ ชนวนเหตุ ทำลายบรรยากาศ ขวางการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริง

(จากซ้าย) พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, ฮากิม พงตีกอ, ชารีฟ สะอิ, อัญชนา หีมมิหน๊ะ, มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ และ ซาฮารี เจ๊ะหลง

 

มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ
มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

⦁ สถานการณ์ชายแดนใต้ตอนนี้เป็นอย่างไร เข้าใกล้สันติภาพบ้างหรือยัง?

ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 20 ยังคงอยู่ในช่วงการเจรจา ซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลา 10 กว่าปีมานี้ ปีแรกของการเจรจาสันติภาพคือ 2013 เรามีรัฐบาลพลเรือน นำโดย นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่หลังจากนั้นการเจรจาก็เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าสักเท่าไหร่ แต่ในช่วงปลายๆ ของการเจรจากับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทางคู่เจรจาระหว่าง บีอาร์เอ็น (BRN) กับรัฐบาลไทย มีข้อตกลงพูดคุย 3 ข้อคือ หยุดยิง สร้างกลไกหารือ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

ช่วงที่มีการเจรจาครั้งล่าสุดกับ บีอาร์เอ็น เราก็พยายามรณรงค์เรื่องกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ พยายามทำให้พื้นที่เอื้ออำนวยต่อการพูดคุย แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนการทำงานของเราประสบความยากลำบาก คือตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน การดำเนินคดีนักกิจกรรมในพื้นที่มีไปแล้ว 40 กว่าคน ใน 7 กรณีคือ การชุมนุมของเยาวชนปลดแอก, เคสอาร์ฟาน วัฒนะ ซึ่งเป็นคนเจรจาระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านกรณีที่ห้ามไม่ให้มีการขุดศพยาห์รี ดือเลาะ และกรณีชาวบ้านแย่งศพ, กรณีนักข่าวภาคสนามท้องถิ่นไลฟ์สดช่วงวิสามัญและช่วงที่จะนำศพไปฝัง, รวมถึงเคส ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ที่จัดทำประชามติจำลอง, เคสการรวมตัวใส่ชุดมลายูแล้วถูกแจ้งข้อกล่าวหา สุดท้ายคือเคสระดมทุนช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิตจากการปะทะกัน มี 40 กว่านักกิจกรรมในพื้นที่ถูกฟ้องในลักษณะปิดปาก ไม่ให้ทำกิจกรรม และเรายังคาดว่าจะมีอีกประมาณ 20 กว่าคน ที่จะมีหมายเพิ่มขึ้นไปอีก

⦁ ถูกแจ้งข้อหาอะไรบ้าง มีความกังวลอย่างไรในช่วงเวลานี้ ?

ในช่วงที่เจรจารอบล่าสุด เราพยายามประคับประคองสถานการณ์เพื่อเอื้อให้เกิดการพูดคุย ตอนนี้กังวลอย่างมากว่าเมื่อมีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม กระบวนการพูดคุยจะมีปัญหาและหยุดชะงักลง ซึ่งในพื้นที่มีความพยายามอย่างมากในการแสดงอัตลักษณ์ของตัวเอง ก่อนหน้านี้เรามีผ้าขาวม้า ‘กายน์ลือปัส’ หน้านี้ใครที่พกผ้าขาวม้าจะถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของแนวร่วม ซึ่งพวกเราก็พยายามยืนยันว่า ไม่ใช่ แต่เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมในพื้นที่ที่ใช้ผ้าขาวม้าในชีวิตประจำวัน หลังจากนั้น เราสร้าง ‘ซุ้มประตูชัย’ ที่ทางเข้าหมู่บ้าน ก็ถูกมองว่าเป็นหมู่บ้านแนวร่วม สุดท้ายคือเรื่อง ‘ชุดมลายู’ ซึ่งไม่ใช่เคสแรก มีการรณรงค์มา 10 กว่าปีแล้ว เพียงแต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจัดชุมนุมจำนวนมาก ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีคนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่าหลักหมื่น มีการนำธงเข้าไป ทั้งธงของหมู่บ้าน กลุ่มต่างๆ ของเยาวชนเป็นพันๆ ธง มีธงของบีอาร์เอ็นเพียงแค่ผืนเดียว ซึ่งก็ยกเพียงไม่ถึง 10 นาทีก็ถูกห้ามโดยผู้จัด ตกใจกันทั้งฝ่ายความมั่นคงและกลุ่มต่างๆ

⦁ หลังจากเกิดความเข้าใจผิด ได้เดินหน้าชี้แจงไหม?

เราได้เข้าชี้แจงรองแม่ทัพ กอ.รมน. สิ่งที่ กอ.รมน.ติดใจตอนนั้นมี 2-3 เรื่องคือ ‘คำสัตยาบัน’ ที่เรายืนยันว่าเป็นแค่คำมั่นสัญญาของกลุ่มเยาวชนว่าจะนำความรู้ความสามารถที่มีมาช่วยเหลือสังคม ไม่ได้พูดถึงการต่อต้านรัฐเลย ซึ่งเมื่อชี้แจงทาง กอ.รมน.ก็ไม่ติดใจ แล้วก็ชี้แจงเรื่องธง และเรื่อง ‘ตะเบ๊ะ’ ในขณะให้สัตยาบัน ซึ่งเราก็ยังไม่เข้าใจว่าตะเบ๊ะผิดกฎหมายตรงไหน นอกจากนั้น เรายังโดนข้อหายุยงปลุกปั่น ‘อั้งยี่ ซ่องโจร’ ปกปิดวิธีดำเนินการทั้งที่เราจัดในที่สาธารณะ ไปโดนข้อหานั้นได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ค้างคาใจ เรามองว่าการดำเนินคดีครั้งนี้เป็นไปเพื่อห้ามปรามการร่วมชุมนุม ซึ่งเราคาดว่าปีนี้จะจำนวนเรือนแสน เพราะที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วม 40,000 กว่าคน

สุดท้าย ถ้าคนจีนหรือคนไทยทั่วไปใส่ชุดมลายู ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่พวกเราใส่ชุดมลายูทำกิจกรรม รวมตัวกันเยอะเมื่อไหร่ ก็จะมีปัญหาทันที

⦁ เชื่อว่าสถานการณ์จะบรรเทาลงหรือไม่ มีความคาดหวังอย่างไร?

คิดว่าในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เราจะมีโอกาสในการทำกิจกรรมอย่างอิสระเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้มากขึ้น แต่ค่อนข้างผิดหวังกับกระบวนการที่เกิดขึ้นตอนนี้ซึ่งมีหลายคนถูกฟ้องดำเนินคดี ในวันนี้เรามาชี้แจงว่าสิ่งที่ทำมา คือกำลังทำให้สถานการณ์ในพื้นที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นได้เร็วๆ นี้ ได้ข่าวว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ การทำกิจกรรมของเราในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยทำให้สถานการณ์มันดีขึ้น และประชาชนรู้สึกมีอิสระในการพูดคุยทำกิจกรรมกันมากขึ้น แต่ในวันนี้เราไม่แน่ใจว่ามันจะดีขึ้นหรือจะเลวร้ายลง

⦁ ด้านฝ่ายความมั่นคงเอง มองว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของการใส่ชุดมลายู แต่มีเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง อย่างเรื่องของ ‘ธง’ หรือภาษาที่อยู่ในคัมภีร์?

ในเรื่องของธงและอะไรทุกอย่าง เราชี้แจงไปยัง กอ.รมน.หลายรอบแล้ว เรื่องธง ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนนำเข้ามา และธงที่นำเข้ามาทั้งหมดเป็นพันๆ ธง ส่วนธงที่มีปัญหามีเพียงผืนเดียว ในธงผืนเดียวเองก็ยกขึ้นมาไม่ถึง 10 นาทีด้วยซ้ำไป ทางคณะทำงานก็เข้าห้ามแล้ว ซึ่งเราก็ได้ชี้แจงไปยัง กอ.รมน.ตั้งแต่ต้น

ส่วนคำต่างๆ ที่รัฐกล่าวหาว่าเป็นการปลุกระดม เรายืนยันมาตลอดว่าสิ่งที่พูดในวันนั้น คือการให้รักษาอัตลักษณ์ ตัวตนของเราไว้โดยไม่ได้เรียกร้องให้สู้กับภาครัฐ หรือเกิดกระบวนการแบ่งแยกดินแดนอะไร เพียงแต่เรียกร้องว่า ‘เราต้องรักษ์ความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเรา’ ทีนี้คำแปลที่ภาครัฐนำไปแปล เราก็รู้มาตั้งแต่ต้นแล้วว่า เป็นคำแปลที่มาจากไอโอ ซึ่งเราก็คิดว่าไม่ควรที่จะนำคำแปลจากไอโอมาใช้

⦁ ยืนยันว่าเป็นเพียงการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อสื่อสารเรื่องของ ‘สันติภาพ’ ซึ่งทำกันมาหลายปีแล้ว?

เรารณรงค์เรื่องของชุดมลายู ปีนี้เป็นปีที่ 11 ไม่ใช่แค่ปี 2 ปีนี้ เรารณรงค์ เราแต่งกาย รวมตัวกันมาก่อนหน้านี้มานานแล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นปัญหา ปีที่เป็นปัญหาคือปี 2565 และปี 2566 ก็ไม่ได้เป็นปัญหา

⦁ จะเดินหน้าต่อ ไปยื่นหนังสือถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกหรือไม่?

เรามาที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้จะยื่นหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ เพื่อชี้แจง และจะส่งหนังสือไปยังทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรที่อยู่ในประเทศไทยด้วย

ซาฮารี เจ๊ะหลง
สมาคมพ่อบ้านใจกล้า

⦁ เยียวยาเหยื่อแดนใต้ แต่กลับโดนฟ้อง เรื่องราวมีความเป็นมาอย่างไร?

หลังจากช่วงโควิดเป็นต้นมา เราเก็บสถิติกรณีของการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวน 76 ราย ผมกับเพื่อนๆ ได้ตั้งชมรมพ่อบ้านใจกล้า และทำกิจกรรมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเราถือว่าเป็นการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ครอบครัวของผู้ที่ถูกวิสามัญฯ ที่มีเด็กกำพร้า ผู้หญิง คนแก่ ระดมทุนตั้งแต่ปี 2021 ทั้งหมด 15 เคส ในวงเงินกว่า 13,000 ล้านบาท หลังจากนั้นมีนาคม 2023 ทางดีเอสไอก็ได้นำหมายค้นจากศาล มาค้นบ้าน และเรียกสอบปากคำ กรณีกล่าวหาว่าผมนำเข้าข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ใช้หลักการอิสลาม คำว่า ‘ชะฮีด’ (การเสียชีวิตพลีชีพเพื่อศาสนา) มาหลอกลวงประชาชนในการระดมทุน

ประเด็นที่ 2 โดนกล่าวหาเรื่องการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ไม่เกิน 100,000 บาท เพียงแค่ 4 เคส ซึ่งเราก็มีข้อกังขาต่อที่มาของการตั้งเป็นคดีพิเศษ ในวงเงินที่ไม่ถึง 100,000 บาท ไม่แน่ใจว่าเป็นคดีพิเศษได้อย่างไร ซึ่งทางเราได้ขอคำชี้แจงจากดีเอสไอ ก็ยังไม่ได้รับ โดยดีเอสไอจะชี้แจงเป็นหนังสือ ถึงมติที่ประชุมและเหตุผลของการตั้งเป็นคดีพิเศษขึ้นมา

⦁ มองการดำเนินคดีในลักษณะนี้ มีมูลเหตุจากอะไร?

เรามองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะการระดมทุนช่วยเหลือด้านต่างๆ ในประเทศไทยมีทั่วทุกภูมิภาค แต่ทำไมกรณีช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ครอบครัวของผู้ที่รัฐมองว่าเป็นผู้เห็นต่างและใช้กำลังอาวุธต่อต้านรัฐนั้น เราได้ช่วยเหลือครอบครัวพวกเขาแต่กลับถูกฟ้อง ผมมองว่าการใช้คดีปิดปากนักกิจกรรมที่ช่วยเหลือไม่ว่าจะด้านมนุษยธรรม ด้านอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ด้านการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในฐานะนักกิจกรรมที่ใช้สันติวิธี ผมมองว่าเขาไม่ได้ปิดปากแค่นักกิจกรรม แต่กำลังปิดปากสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล ผมขอยืนยันว่าการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ใช่อาชญากรรม

ฮากิม พงตีกอ
ประธานกลุ่ม The Patani

⦁ แม้แต่การเคลื่อนไหวขององค์กรนักศึกษาก็ถูกมองด้วยข้อหาร้ายแรง ว่ามีเจตนาแบ่งแยกดินแดน?

ผมมาพูดในประเด็นที่มีกรณีองค์กรนักศึกษาองค์กรหนึ่งชื่อ ‘เปลาจาร์ บังซา’ (Pelajar Bangsa) ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เป็นช่วงที่เยาวชนทั้งในกรุงเทพฯและในพื้นที่ เขาเรียนรู้ประชาธิปไตย มีการชุมนุม เรียกว่าประชาธิปไตยเบ่งบาน เป็นช่วงเวลาที่มีกระบวนการพูดคุย จัดเวทีต่างๆ ขณะที่นักศึกษาก็มีองค์กรที่จะพูดในประเด็นปาตานี ปัญหาเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งประมาณ 50-60 คน ที่เขานั่งคุยกันมาประมาณ 2 ปีแล้วว่าอยากตั้งองค์กร และเราเห็นความพยายาม ซึ่งวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา เขาก็ประกาศก่อตั้งองค์กรขึ้น ประกาศว่าจะทำอะไร สิ่งที่เขาทำในวันนั้น มีการเชิญวิทยากร นักวิชาการ เข้ามาพูดคุยในหัวข้อสันติภาพ มีเชิญนักการเมืองมาด้วย ทั้งพรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม พรรคประชาชาติ ผมเข้าใจว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เพราะประชาชนเลือกก้าวไกลเยอะมาก ตอนแรกเขาตั้งใจจะเปิดตัวองค์กรก่อน แต่ก็ตัดสินใจมาเปิดตัวหลังเลือกตั้ง ด้วยสถานการณ์ที่คนสนใจการเลือกตั้ง

ผมก็ไปในฐานะวิทยากรจากพรรคเป็นธรรม และ The Patani ในงานก็มีการพูดคุยเกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือ RSD ไปจนถึงการทำประชามติในประเด็นต่างๆ ผมก็ไปพูดว่า การทำประชามติต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีกฎหมายรองรับ แต่ในหน้างาน นักศึกษาเขามีนิทรรศการวิชาการอยู่ ตั้งคำถามว่า ‘เราจะทำประชามติถามประชาชนดีไหมว่า ทางออกของปาตานีคือการทำประชามติเอกราช’ เป็นการจำลองโดยที่ไม่มีการประกาศผล เราไปในงานก็รู้ว่าเป็นการจำลอง พอหลังจากงานเป็นช่วงที่ยังไม่ได้ฟอร์มรัฐบาล ก็จะมีหลายฝ่ายโดยเฉพาะความมั่นคง ที่ใช้ประเด็นนี้ออกสื่อ แล้วกลายเป็นว่างานวันนั้นเป็นงานประชามติแบ่งแยกดินแดนโดยนักศึกษา

⦁ การถูกมองว่าเชื่อมโยง ‘บีอาร์เอ็น’ คิดปัญหาเกิดจากความเข้าใจผิด ทัศนคติ หรืออะไร?

มันมีประเด็นน่าสนใจอยู่ 2 เรื่องในช่วงนั้น คือโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ออกมาพูดว่า อาจคาบเกี่ยวกับแผนภาพใหญ่ของบีอาร์เอ็น และในช่วงเวลานั้นมีการส่งเรื่องถึง สมช.ให้ช่วยสอบว่าเรื่องนี้คืออะไรแต่ไม่มีใครกล้าตอบ ส่งเรื่องกลับให้ กอ.รมน. กลายเป็นไม่มีใครกล้ายืนยันว่าวิธีคิดของนักศึกษาที่ ‘อยากเปลี่ยนผ่านความรุนแรงไปสู่การเมือง’ เป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง ล่าสุดก็มีการฟ้อง 5 คน เป็นนักศึกษาที่เป็นผู้จัด 3 คน เจ้าภาพและวิทยากรอีก 2 คน หนึ่งในนั้นคือผม ถูกฟ้องในประเด็นเดียวกัน คือมาตรา 116

ผมได้เห็น กอ.รมน.ภาค 4 มีบทบาทสำคัญ คือเป็นเลขาฯ และโฆษกที่พูดถึงพวกเรา ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับแนวคิดของภาครัฐที่มีนโยบายที่ไม่ชัดเจนว่าจะกำหนดชะตาอย่างไร

⦁ การถูกดำเนินคดี ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในพื้นที่ด้วยหรือไม่?

ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา และส่งเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรไป สิ่งที่เราไปรับฟังก็เป็นคดีมาตรา 116 ร่วมกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มีการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะสร้างความปั่นป่วน เราก็เลยต้องไปแก้ต่าง

สิ่งที่กระทบมากตอนนี้ คือส่วนร่วมของนักศึกษาที่จะมาเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ จาก 2 ปีที่ผ่านมา ที่เขาพยายามก่อตั้งองค์กร เราก็จะเห็นได้ว่าองค์กรนี้ไปต่อยาก พวกเขารวมตัวกันไม่ได้แล้ว เพราะหลังจากนั้นก็มีการเรียกสอบพยาน สมาชิกหลายคนก็ถูกเรียกไป มีการพูดถึงเงินกู้ กยศ. เราจึงเห็นแล้วว่าลำบากที่นักศึกษารุ่นนี้จะเข้ามามีส่วนร่วมต่อประเด็นที่แหลมคม เรื่องระดับนโยบายและโครงสร้างพวกนี้ แต่คิดว่ายังทำงานเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม

อัญชนา หีมมิหน๊ะ
กลุ่มด้วยใจ

⦁ ประเด็นที่มีการพูดคุยกันในโซเชียลจำนวนมาก คือการที่มีกลุ่มผู้สวมใส่ชุดมาลายูถูกแจ้งข้อกล่าวหาอาญา ชุดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคดีอย่างไร?

แม้จะมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่ความรุนแรงยังคงอยู่ ทั้งที่ประจักษ์ให้เห็นเป็นภาพ และที่มองไม่เห็น นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนยังคงถูกโจมตี ล่าสุดคือกรณี แต่งกายด้วยชุดมลายู ใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เนื่องจากการปฏิบัติต่อเชื้อชาติมลายู มุสลิม มีความพยามชี้แจงโดยเจ้าหน้าที่ว่า การแต่งกายไม่ใช่ประเด็นในการแจ้งข้อหา แต่เป็นภาพจำนวนมากที่ส่งผลให้รัฐมีความหวาดกลัวต่อการนำเสนออัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในพื้นที่ ส่งผลให้มีความพยายามดำเนินการทางกฎหมาย โดยการนำภาพที่ปรากฏเผยแพร่ออกไปว่ามีธงของบีอาร์เอ็นอยู่ในงานดังกล่าว ซึ่งเราไม่อาจทราบได้ว่าธงนั้นเป็นของบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ และนามของผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ได้ถือธงนั้น ซึ่งเป็นการเหมารวม ตีตรา

ทำให้เรามองเห็นว่านี่คือการบังคับใช้กฎหมายโดยเลือกปฏิบัติด้วย

อธิษฐาน จันทร์กลม
ภูษิต ภูมีคำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image