ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | พัชรี เกิดพรม |
เผยแพร่ |
ปัญหาเดิมๆ ที่เกษตรกรต้องพบเจอเสมอคือผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ หากมีลู่ทางทำตลาดในผลผลิตชนิดอื่น ก็นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจหากจะเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น
กิตินัน นุ้ยเด็น เกษตรคนรุ่นใหม่ในโครงการของกระทรวงการเกษตร ที่ไร่ อ.การเกษตร (สามพี่น้อง) ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล จัดเป็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ จากสวนยางพาราที่มีอายุเกิน 25 ปี มาเป็นไร่กล้วยหอมและกล้วยไข่ สร้างรายได้อย่างงาม อีกทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย มีการสั่งเข้าไปขายเป็นจำนวนมาก
หลังจบปริญญาตรี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กิตินันเลือกที่จะใช้ชีวิตหลังการเรียนจบการศึกษาด้วยการทำการเกษตรแบบเต็มรูปแบบร่วม 3 ปี บนพื้นฐานรายได้เฉลี่ยเดือนละ 30,000-50,000 บาท จากการศึกษาหาความรู้ ลงมือทำ จนประสบความสำเร็จ สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีความสุข กับไร่มะละกอ และไร่กล้วย พืชเศรษฐกิจที่มีการบริหารจัดการจนอยู่ระดับแนวหน้าของจังหวัด นับเป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนยางพาราเป็นไร่กล้วยไข่ที่มีผลผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รายได้งาม
“ผมตัดสินใจโค่นต้นยางพาราซึ่งแก่มากและราคามีการผันผวนอยู่ตลอดเวลา เริ่มแรกหันมาทำไร่มะละกอซึ่งการดูแลค่อนข้างจะยากกว่า หากเทียบกับการปลูกกล้วย โดยตนได้ลงกล้วย 2,000 ต้น และตั้งเป้าหมายว่าจะลง 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ที่เหลือเป็นยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน แม้มะละกอจะราคาจะดีกว่า แต่กล้วยมีตลาดที่กว้างกว่า ทำให้เกษตรกรมีรายได้เป็นกอบเป็นกำพอสมควร ทันทีที่กล้วยให้ผลผลิตที่พอเหมาะกับการเก็บ คนเก็บจะทำการฟันต้นทิ้งในทันที เพื่อให้ต้นกล้วยรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่ กล้วยไข่ได้กลายเป็นรายได้หลัก
“ก่อนหน้ารายได้หลักมาจากสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน บนพื้นที่ 20 ไร่ หลังตัดสินใจไถกลบสวนยางพารามาปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์และพันธุ์แขกดำ จำนวน 400 ต้น ตามด้วยปลูกกล้วยหอมทองและกล้วยหอมไข่ 2,000 ต้น ในระยะ 2-3 วัน สามารถให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้มากถึงคราวละ 100 กิโลกรัม ส่งขายในตลาดพื้นที่ จ.สตูล และตลาดในชายแดนเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยราคากล้วยหอมและกล้วยไข่ กิโลกรัมละ 15-20 บาท อยู่ที่ขนาดความสุกงอมของกล้วย”
กิตินันเล่าอีกว่า กล้วยจะให้ผลผลิตเร็ว ออกนานถึง 8 เดือน เก็บครั้งละไม่น้อยกว่า 30-100 กิโลกรัม ตลาดกว้าง อนาคตสดใส ปลูกและดูแลง่าย ในขณะที่มะละกอราคาดี กิโลกรัมละ 20-30 บาท ให้ผลผลิตนานถึง 12 เดือน เก็บครั้งละไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัม
“หลักสำคัญในการทำการเกษตรคือ ดิน น้ำ และการจัดการ หากดินดีจะปลูกอะไรก็งอกงาม และน้ำไม่ขาดก็จะยิ่งดี นอกจากนี้ต้องรู้จักเรียนรู้การบริหารจัดการไร่และพืชสวนทางการเกษตรของตนเองในการปลูกพืชผักแบบสวนผสม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ขณะที่กล้วยปลูกและดูแลง่ายกว่ามะละกอ ตลาดกว้างแม้ราคาจะถูกกว่ามะละกอ ส่วนตัวก็วางแผนที่จะปลูกเพิ่มเติมอีก” กิตินันกล่าว
อดินัน นุ้ยเด็น อายุ 64 ปี เกษตรกรชาวสวนผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไร่ อ.การเกษตร (สามพี่น้อง) เล่าว่า เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จต้องกล้าคิด กล้าตัดสินใจ เมื่อยางพาราหมดอายุ ต้องตัดสินใจให้ได้ว่าควรเปลี่ยนเป็นพืชอะไร ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพดิน และการบริหารจัดการ ลูกหลานที่เป็นเกษตรกรนำผลผลิตขายออกสู่ตลาด จำหน่ายผลผลิต อาทิ มะละกอฮอลแลนด์ แขกดำ รวมทั้งพืชผักสวนครัว ปาล์ม และผลไม้ต่างๆ โดยมีตลาดมารับถึงที่
ไชยพงศ์ ทะนันชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า เนื้อที่เพาะปลูกกล้วยในพื้นที่ จ.สตูล มีทั้งหมด 950 ไร่ ปลูกในพื้นที่ อ.ควนโดน มากสุด 420 ไร่ โดยผลผลิตในปี 2559 ได้จำนวน 319 ตัน ซึ่งแปลงของเกษตรกรจุดนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากสวนยางพารามาเป็นไร่กล้วยและมะละกอ จากเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หันมาปลูกกล้วยให้กิโลกรัมละ 20-30 บาท/กิโลกรัม มีการบริหารจัดการแบบครบวงจร มีตลาดรองรับ และกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้อีก ซึ่งทางเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอพร้อมจะส่งเสริมให้เป็นจุดเรียนรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่นได้ต่อไป
พร้อมกันนี้ ยังมีนโยบายส่งเสริมอาชีพโดยเน้นให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายแหล่ง ด้วยการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามความถนัด ทั้งประมง ปศุสัตว์ และเกษตร หากเกษตรกรที่สวนยางพาราหมดอายุ สนใจจะปรับเปลี่ยน สามารถมาศึกษาดูงานได้ที่จุดเรียนรู้ หรือติดต่อทางเกษตรจังหวัดเพื่อติดต่อดูงานได้