อาศรมมิวสิก : รองศาสตราจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าดนตรีในอุดมศึกษาไทย

คามลุง แชง ไวโอลิน และเอริ นาคากาว่า เปียโน

รองศาสตราจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า
ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าดนตรีในอุดมศึกษาไทย

ชื่อ อาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า ไม่ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางนัก รู้แต่ว่าเป็นอาจารย์สอนเปียโนที่เก่ง รู้จักกันอย่างผิวเผินบนความเป็นไปและเปลี่ยนไป ความจริงแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า (Dr.Eri Nakagawa) ถือว่าเป็นผู้เปลี่ยนคุณภาพการศึกษาดนตรีของสถาบันอุดมศึกษาไทย เพราะเธอมีชีวิตที่มีมาตรฐาน เล่นเปียโนเก่ง เล่นดี และเล่นได้ ทั้งการเล่นเปียโนเดี่ยว เล่นเปียโนประกอบเครื่องดนตรีอื่น และเล่นกับวงซิมโฟนีออร์เคสตรา ที่สำคัญก็คือเธอไม่เคยสร้างความผิดหวัง

เดิมการศึกษาดนตรีของไทยนั้นผลิตบัณฑิตดนตรีเพื่อให้ได้ปริญญา การเปลี่ยนมาผลิตบัณฑิตดนตรีที่มีฝีมือและมีคุณภาพนั้น เป็นเรื่องที่ยาก การพัฒนาให้เป็นคนเก่งดนตรีและเป็นคนดีในคนเดียวกันก็ยิ่งยากใหญ่ ความจริงบัณฑิตดนตรีจะต้องมีฝีมือ มีศรัทธาในอาชีพ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ พร้อมทั้งมีบุคลิกดี มีรสนิยม บัณฑิตดนตรีต้องตรงต่อเวลา ซึ่งฟังดูแล้วเป็นเรื่องในอุดมคติมาก แต่ รศ.ดร.เอริ นาคากาว่า เธอเป็นอย่างนั้น

รศ.ดร.เอริ นาคากาว่า จบปริญญาตรีเอกเปียโน ที่เมืองโอซากา (Osaka Kyoiku University) ประเทศญี่ปุ่น ไปศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ที่บอลสเตท (Ball State University) สหรัฐอเมริกา เมื่อจบแล้ว (พ.ศ.2540) ก็เดินทางกลับประเทศไทยติดตามสามีและเข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนดนตรีในมหาวิทยาลัยไทย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2541

Advertisement

ขณะนั้นมหาวิทยาลัยไทยยังไม่พร้อมนัก ยังไม่สามารถรองรับอาจารย์ที่มีมาตรฐานสูงหรือมาตรฐานนานาชาติได้ แม้ว่าจะอยากได้อยากรับไว้ก็ตาม แต่สู้เงื่อนไขและข้อเรียกร้องไม่ได้ อาทิ เรื่องอาคารดนตรีที่ดี ห้องเรียนดนตรีเก็บเสียง (ติดแอร์) คุณภาพเครื่องดนตรี ค่าตอบแทนเงินเดือน คุณภาพนักศึกษา ระบบการจัดการ ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยได้แต่แหงนดูเครื่องบิน อยู่กันแบบไทยๆ

ความหวังที่จะสร้างบัณฑิตดนตรีที่มีฝีมือและคุณภาพสูง ให้เป็นคนดีที่มีเกียรติและเชื่อถือได้ ก็ยังยากอยู่ แต่ก็สามารถสร้างให้นักศึกษาเรียนจบและมีใบปริญญาดนตรีได้ สามารถออกไปทำงานรับราชการได้ ซึ่งอาชีพดนตรีในสังคมมีรายได้น้อยและรายได้ไม่พอกิน งานดนตรียังเป็นงานรับจ้าง อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง อาชีพดนตรีตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน มีรายได้ไม่แน่นอน การเป็นนักดนตรีอาชีพก็ต้องยอมรับกับสภาพความเป็นจริง

สำหรับเด็กที่เข้ามาเรียนดนตรีก็มักจะสอบเข้าเรียนวิชาอะไรไม่ได้แล้ว ไม่มีแม้เครื่องดนตรี ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีฐานะยากจน ส่วนเด็กที่มีสมองดีมีปัญญาเลิศก็จะเลือกเรียนวิชาที่สามารถสร้างฐานะได้ดีกว่าและมีอนาคตสดใสกว่า เช่น วิชาแพทย์ วิศวกร วิชากำไรขาดทุน วิชาเทคโนโลยี เป็นต้น พบว่าเด็กที่เรียนวิชาอื่นๆ ก็เล่นดนตรีเก่งเหมือนกัน เมื่อเรียนวิชาชีพจบออกไปทำงานแล้ว ก็จะมีหมอเล่นดนตรี มีวิศวกรเล่นดนตรี มีสถาปนิกเล่นดนตรี แถมยังเล่นดนตรีได้ดีและดูดีกว่าอาชีพดนตรีเสียอีก ทั้งๆ ที่ดนตรีเป็นงานอดิเรก

Advertisement

สมัยนั้นไม่มีอาคารเรียนดนตรี ไม่มีห้องซ้อมดนตรี ไม่มีห้องแสดงดนตรี ไม่มีอุปกรณ์ดนตรี เมื่อมีการก่อสร้างอาคารใหม่ อาทิ อาคารวิชาแพทย์ วิศวะ บัญชี ทันตแพทย์ อาคารวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หอพัก ฯลฯ ก็ยกอาคารหลังเก่าให้พวกดนตรีไปปรับปรุงอาคารให้เป็นห้องเรียน ซึ่งทุกคนก็ดีใจมากแล้วที่มีอาคารดนตรี แถมดนตรีเป็นวิชาที่น่ารังเกียจอีกต่างหาก ทำเสียงหนวกหูเพราะไม่มีระบบของห้องเก็บเสียง

กิตติรัตน์ ณ ระนอง มอบของที่ระลึกให้ เอริ นาคากาว่า

เมื่อ อาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า มาสมัครเป็นอาจารย์สอนดนตรี ก็รู้สึกดีใจมาก แต่ไม่สามารถหานักเรียนเปียโนในระดับอุดมศึกษาให้สอนได้ ห้องเปียโนก็ไม่มี เครื่องเปียโนก็ไม่มี จึงต้องไปเปิดสอนดนตรีเด็กเล็กที่ศูนย์การค้า (เสรีเซ็นเตอร์) ซึ่งเป็นโครงการใหม่ (Edutainment = Education + Entertainment) โดยเปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกได้เรียนดนตรีกับครูดนตรีที่เก่ง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโรงเรียนสอนดนตรีในศูนย์การค้า สร้างลูกค้าดนตรีใหม่ สร้างผู้ฟังกลุ่มใหม่ สร้างชุมชนคนดนตรีใหม่ด้วย

ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยสามารถเปิดสอนปริญญาตรีดนตรีได้ จึงให้อาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า เข้ามาสอนในระดับมหาวิทยาลัย ลูกศิษย์ที่เรียนเปียโนกับอาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า ต้องน้ำตาเล็ดทุกคน เพราะถ้าหากไม่ได้ฝึกซ้อมมาดี มาเรียนไม่ตรงเวลา ไม่ตั้งใจเรียน ก็ถูกไล่ออกจากห้อง อาจารย์เป็นผู้ที่มีมาตรฐานและมีความคาดหวังสูงมาก ตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กไทย เคี่ยวและแข็งขัน เอาจริงเอาจังมาก ลูกศิษย์ที่เรียนเปียโนกับ ดร.เอริ นาคากาว่า จึงมีความสามารถสูงและมีฝีมือดีทุกคน ชื่อของอาจารย์กลายเป็นราคาความน่าเชื่อถือ

30 ปีที่แล้ว ครูคนไทยที่เก่งดนตรีและมีฝีมือจะสอนอยู่ที่บ้าน โดยเปิดเป็นสตูดิโอดนตรี เนื่องจากมหาวิทยาลัยไทยไม่มีความพร้อมเรื่องอาคารสถานที่ ไม่มีเครื่องดนตรี ไม่มีห้องเก็บเสียง ไม่มีห้องแสดงดนตรี เงินเดือนค่าตอบแทนก็ราคาถูก จึงไม่ค่อยมีใครนิยมเป็นอาจารย์ดนตรีในมหาวิทยาลัย

ดนตรีในมหาวิทยาลัยไทย ตกอยู่ในสภาพด้อยคุณภาพ มีระบบราชการที่ล้าหลัง คุณภาพครูดนตรีจึงมีใบปริญญาและไม่สามารถจะสร้างผลงานด้านฝีมือได้ ส่วนใหญ่ก็ทำงานกระดาษ งานเสมียน และงานประชุมเป็นหลัก ทำงานประกันคุณภาพ การประเมินคุณภาพ ส่วนครูดนตรีที่มีฝีมือก็สอนอยู่ที่บ้าน หรือสอนพิเศษ

อาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า เป็นผู้ยืนหยัดทำหน้าที่ครูดนตรีได้อย่างมั่นคง เธอได้เปลี่ยนเรื่องคุณภาพการศึกษาดนตรีของอุดมศึกษาไทยโดยไม่รู้ตัว เวลาเดียวกันเธอก็เป็นนักแสดงเปียโน ทั้งเดี่ยวเปียโน เล่นเปียโนประกอบเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ เล่นประกอบนักร้อง แสดงเปียโนกับวงออร์เคสตราและวงซิมโฟนีออร์เคสตรา ทำให้สถาบันดนตรีต้องสร้างหอแสดงดนตรี ต้องซื้อเปียโนที่ได้มาตรฐาน ต้องมีวงออร์เคสตราและวงซิมโฟนีออร์เคสตรารองรับทั้งศิลปินระดับนานาชาติด้วย ทำให้การศึกษาดนตรีได้กลายเป็นอาชีพใหม่ ปรัชญาการศึกษาดนตรีเปลี่ยนจากวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน กลายเป็นวิชาของนักปราชญ์ ดนตรีเป็นวิชาที่ต้องลงทุนสูง ดนตรีมีราคาแพง พ่อแม่เริ่มเชื่อถือศรัทธาในการเรียนดนตรี พ่อแม่ที่เป็นหมอก็ส่งลูกเรียนดนตรี เพราะวิชาหมอนั้นมีมาตรฐานสูง มีรายได้ดี แต่ชีวิตนั้นเครียด “หมอรักษาไข้ หมอรักษาคน ส่วนดนตรีนั้นรักษาหมอ”

โปสเตอร์การแสดง

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2567 ที่บ้านเอื้อมอารีย์ เวลา 16.00 น. ซึ่งมีที่นั่งสำหรับผู้ชม 60 ที่นั่ง อาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า ได้มาแสดงเปียโนร่วมกับไวโอลิน คามลุง แชง (Kam-Lung Cheng) คนจีนที่เกิดในปักกิ่ง ไปศึกษาอยู่ในยุโรป ถือสัญชาติเนเธอร์แลนด์ อยู่ที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ได้มาแสดงบทเพลงไวโอลินของเบโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) 2 บท โซนาตาหมายเลข 3 และ 5 และบทเพลงไวโอลินโซนาตาของซีซาร์ แฟรงก์ (Csar Franck) นักประพันธ์เพลงชาวเบลเยียม

หากมีนักดนตรีคนเก่งระดับโลกเข้ามาแสดงในเมืองไทยและต้องการนักเปียโนเล่นประกอบ ก็จะมีชื่อของอาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า เป็นมือวางอันดับต้นๆ รองรับเสมอ หากถามว่ามีนักเปียโนคนอื่นๆ อีกไหม คำตอบก็คือมี แต่ก็ไม่เชี่ยวชาญหรือชำนาญเท่า ปัจจุบันก็มีนักเปียโนในเมืองไทยที่เล่นในระดับนานาชาติได้หลายคน แต่ที่เชี่ยวชาญและช่ำชองเสมอกับอาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า ก็หายากอยู่

เมื่ออาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า เข้าไปสอนดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาไทย ทำให้ระบบเงินเดือน ระบบการทำงาน วิธีทำงานของอาจารย์ดนตรีก็เปลี่ยนไป การสร้างอาคารสถานที่ การสร้างห้องเรียนดนตรี การสร้างหอแสดงดนตรี การสร้างวงซิมโฟนีออร์เคสตราอาชีพรองรับก็เกิดขึ้น การจัดการแสดงดนตรีที่มีคุณภาพสูง การหางบประมาณมาสนับสนุนการเรียนดนตรี การพัฒนาบุคลิกนักเรียนดนตรีก็ได้เปลี่ยนไปด้วย ดูดีมีรสนิยม

ปัจจุบันการศึกษาดนตรีเปลี่ยนไปมากแล้ว มีคนเก่งมากขึ้น ลูกคนที่มีฐานะหันมาเลือกเรียนวิชาดนตรี มีคนดนตรีที่เก่งไม่น้อย ไปเรียนดนตรีต่อในต่างประเทศ มีฝีมือสูงและประกอบอาชีพดนตรีในต่างประเทศ ออสเตรีย เยอรมนี อเมริกา ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น คนไทยฝีมือสูงเหล่านี้ เลือกที่จะอยู่ในต่างประเทศเพราะมีรายได้และสวัสดิการที่ดีกว่า

อาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า ผู้เปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาดนตรีในอุดมศึกษาไทย เธอแต่งงานกับวิศวกรชาวไทย มีลูก 3 คน เธอก็ต้องอยู่ในประเทศไทย เพื่อชีวิตของครอบครัวและอาชีพดนตรี

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image